ขนมหน้าตาธรรมดาที่หลายคนคุ้นเคย แต่เมื่อนำมาจับแต่งตัว ด้วยแพคเกจที่สวยสะดุดตา และรับประทานง่าย พร้อมปรับรสชาติให้กลมกล่อม เอาใจกระแสคนรักสุขภาพที่ไม่เน้นขนมที่หวานจนเกินไป อาศัยประสบการณ์ในวงการเบเกอรี่มานานกว่า 10 ปี แล้วหันกลับมาเข้าสู่วงการนี้อีกครั้งภายใต้แบรนด์ “กินจุ” ที่แม้จะเริ่มต้นธุรกิจไม่สวยนักในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่เมื่อหันกลับมาเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ก็สามารถประคับประคองให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ขึ้นแท่นผู้ผลิตเต็มตัว
ศรีเพ็ญ อลงกต เจ้าของร้านขนมแบรนด์ “กินจุ” (Kin-Ju) เล่าว่า ธุรกิจนี้ถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่ฟื้นคืนชีพมาอีกครั้งหลังจากที่ตนเองเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวจากอาชีพทำเบเกอรี่มาหลายปี โดยจากเดิมที่ตนเองเป็นผู้ที่ชื่นชอบการทำเบเกอรี่มาก จึงเรียนเพิ่มเติมตามสถาบันสอนทำเบเกอรี่ต่างๆ ในเมืองไทย จนกระทั่งตัดสินใจเปิดร้านขายเบเกอรี่อย่างจริงจังนาน 10 ปี กับร้าน “เพ็ญบ้านขนมอร่อย” ที่ประสบความสำเร็จในการทำเบเกอรี่จนร่ำรวย ทำให้คิดจะออกจากวงการเบเกอรี่ หลังเริ่มรู้สึกว่าตนเองได้เดินทางมาถึงจุดอิ่มตัว ประกอบกับต้องเผชิญกับปัญหาในเรื่องของคนที่เป็นปัญหาทั่วไปของธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก
“หลังจากที่เราอยู่วงการด้านเบเกอรี่มานานกว่า 10 ปี จนเริ่มรู้สึกอิ่มตัว จึงหันเหอาชีพไปในด้านอื่น เช่น การเปิดศูนย์จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ร้านเช่าดีวีดี และวีซีดี ภาพยนตร์ รวมถึงธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็ต้องเจอกับปัญหาเดิมๆ จนกระทั่งเพื่อนชักชวนให้กับกลับเข้าสู่วงการเบเกอรี่อีกครั้ง ด้วยการร่วมหุ้นซื้อแฟรนไชส์โรตี บอย แต่ก็ต้องปฏิเสธไป เพราะคิดว่าหากจะกลับมาทำธุรกิจด้านเบเกอรี่อีกครั้งคงจะลงทุนทำเองคนเดียว”
และแล้วโอกาสก็มาถึงทำให้ ศรีเพ็ญ ตัดสินใจสร้างโรงงานเพื่อผลิตเบเกอรี่ และขนมต่างๆ อีกครั้ง ตามสูตรของตนเอง ซึ่งสินค้าก็ไม่ได้เจาะจงไปที่เบเกอรี่อย่างเดียว แต่เป็นขนมที่รับประทานง่าย เหมาะกับการซื้อไปจัดเลี้ยง หรือไปเป็นของขวัญของฝาก เริ่มต้นด้วยการคิดสูตรขนมขึ้นเองอย่างสินค้าที่ขายดี เช่น เค้กวุ้นน้ำมะพร้าว เอแคลล์มะพร้าวอ่อน นมสดมะพร้าวอ่อน เค้กลูกตาล ที่ใช้ชีสโรยบนหน้าเค้กจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นชีสอย่างดี กลิ่นไม่รุนแรง ซึ่งรับประทานเข้ากันดีกับเค้กลูกตาลที่ไม่หวานจนเกินไป ในขณะที่ถ้วยกระดาษหลากสีสันที่ใช้เป็นภาชนะใส่ขนมเค้ก ก็เป็นมาตรฐานที่ใช้สำหรับใช้บรรจุอาหารได้ (Food Grade) ซึ่งสีจากถ้วยกระดาษจะไม่ตกลงไปในเนื้อเค้ก สร้างสีสันให้กับผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี พ่วงด้วยอีกหนึ่งเมนูที่เป็นอาหารคาวคือขนมผักกาด หรือไชเท้าก้วย ภายใต้แบรนด์ “กินจุ” ที่ปัจจุบันมีขนมกว่า 20 รายการ
“ในช่วงที่เราเริ่มเปิดร้านกินจุ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมนัก เนื่องจากเป็นเวลาของการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล มีความไม่สงบในบ้านเมือง ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนชะลอการใช้เงินเป็นอย่างมาก ในขณะที่เราลงทุนขยายสาขาอย่างรวดเร็วตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เราจึงหันกลับมาดูทำเลใหม่ที่ค่าเช่าไม่สูงเกินไปนัก เพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด สุดท้ายจึงตัดสินใจยุบสาขาทั้งหมด มีเพียงหน้าร้านแห่งเดียวในขณะนี้คือ ตลาด อ.ต.ก. ย่านจตุจักร ล็อค ที่ 9/5 ใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อใช้เป็นหน้าร้านขายสินค้า และเป็นสถานที่ให้ลูกค้าสำหรับจัดเลี้ยงมารับสินค้า ซึ่งธุรกิจไปได้ค่อนข้างดี แต่ก็ถือว่ายอดขายก็มีลดลงบ้างตามสภาวะเศรษฐกิจ ที่เกือบทุกร้านค้าในตลาด อ.ต.ก. ก็ล้วนได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจด้วยกันทั้งสิ้น”
สำหรับกลยุทธ์ทางรอดให้กับธุรกิจของร้านกินจุ ศรีเพ็ญ บอกว่า ตนเองไม่ท้อต่อการทำธุรกิจนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาตนเองผ่านมาทำธุกรกิจมากหลากหลายประเภท ที่ต้องพบเจอกับปัญหาที่แตกต่างกันไป หรืออาจเรียกได้ว่าตนเองเผชิญกับปัญหามาเกือบทุกรูปแบบ แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี โดยอาศัยปรัชญาง่ายๆ ที่ว่า “มีปัญหาก็ต้องค่อยๆ แก้กันไป และต้องมีทางออกที่ดีสำหรับทุกปัญหา” ซึ่งตนเองก็ยึดถือมาโดยตลอด และครั้งนี้ ศรีเพ็ญ ใช้กลยุทธ์ในการทำตลาดให้กับร้านกินจุ ด้วยการเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตอย่างเต็มตัว เน้นการขายส่งให้กับร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่ของไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการเจรจาธุรกิจ โดยศรีเพ็ญ เชื่อว่าทางออกดังกล่าวจะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด เนื่องจากเป็นการลดทุนได้หลายด้าน ทั้งในเรื่องค่าเช่าที่เปิดหน้าร้าน ลดการจ้างงาน ในขณะเดียวก็มุ่งมั่นในกระบวนการผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งเชื่อแน่ว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันนี้
***สนใจติดต่อ 08-1205-5545, 08-1205-5505***