xs
xsm
sm
md
lg

ชี้สิ่งทอไทยยังมีหวัง แนะใช้ JTEPA เจาะตลาดแดนปลาดิบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายดำริ สุโขธนัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
แนะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสิ่งทอ ปรับตัวฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัว เผยข้อมูล ตลาดส่งออกญี่ปุ่นยังมีโอกาส กระตุ้นใช้ประโยชน์จากข้อตกลง JTEPA

นายดำริ สุโขธนัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ รวมทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย เนื่องจากปริมาณการบริโภคในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกเครื่องนุ่งห่มหลักที่สำคัญของไทยลดลง แต่ในตลาดอื่น ๆ นั้น ไทยยังส่งออกได้ดี ทว่า ผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ควรเร่งพัฒนาศักยภาพเพิ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังขาดองค์ความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น ช่องทางการจัดจำหน่าย ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยเกี่ยวกับตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโลก ซึ่งนับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสินค้าและตลาดของ SMEs เพื่อก้าวเข้าถึงตลาดสากล

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินโครงการ ศูนย์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อศึกษาวิจัยข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะ เพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง จัดอบรมเตรียมพร้อมให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ด้านนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตลาดเครื่องนุ่งห่มในเดือน ม.ค. – ต.ค.51 ที่ผ่านมา ไทยยังคงส่งออกไปยังตลาดสหรัฐเป็นอันดับหนึ่ง คือ 1,332 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับสองกลุ่มสหภาพยุโรป(EU15) 876 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอันดับที่สาม คือญี่ปุ่น 179 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หากเทียบกับสถิติปี 2007 แล้วพบว่า สหรัฐนั้นมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงถึง 10.11 % สวนทางกับ กลุ่มสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.61 % และ 9.13% ตามลำดับ โดยสินค้าเครื่องนุ่งห่มที่มีความต้องการสูงในตลาดโลกคือ สูท เครื่องแต่งกายเป็นชุด แจ๊กเก็ต เสื้อเบลเซอร์และกางเกง ซึ่งปัจจุบัน ไทยเริ่มเสียส่วนแบ่งการตลาดดังกล่าวให้กับตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ตลาดสิ่งทอไทยสามารถส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียนเป็นมูลค่า 807 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.95% สหรัฐอเมริกา 310 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.87% สหภาพยุโรป(EU15) 287 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.24% และญี่ปุ่น 228 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.25% โดยสินค้าสิ่งทอที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก คือ ผ้าทอที่ทำด้วยใยยาวสังเคราะห์ ด้ายใยยาวสังเคราะห์ โดยเฉพาะในตลาดอินโดนีเซีย โดยส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอของไทยในตลาดโลกยังคงทรงตัว ส่วนสินค้าสิ่งทอที่มีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้น คือ เส้นใยสั้นเทียม ซึ่งมีอัตราการขยายมากขึ้นถึง 105 % ในปี 2007 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในตลาดตุรกีและปากีสถาน

นายอาทิตย์ ระบุว่า จากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัว จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องหาตลาดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งตลาดที่น่าจับตามองคือ กลุ่มรัสเซียและสหรัฐอาหรับอามิเรตส์ (UAE) เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจนั่นคือประเทศญี่ปุ่น เพราะมีทั้งกำลังซื้อสูงและมีการบริโภคเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่เปลี่ยนแปลงไปตามแฟชั่นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ไทยและญี่ปุ่น ยังเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกัน ( The Japan - Thailand Economic Partnership Agreement หรือ JTEPA) ซึ่งเป็นโอกาสดีจะใช้ประโยชน์ในเชิงการค้า

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของญี่ปุ่นเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก มีมูลค่าการนำเข้า 29,350 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มถึง 22,595 ล้านเหรียญสหรัฐ และหลังจากที่ประเทศไทยได้ทำข้อตกลง ความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น ( The Japan - Thailand Economic Partnership Agreement หรือ JTEPA) ไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 แล้วพบว่า ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเป็นอย่างมากจากการได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษด้านภาษีนำเข้าเหนือกว่าประเทศคู่แข่งในการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น เป็นผลให้การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2551 มีมูลค่า 363.4 ล้านเหรียญ โดยเป็นการขยายตัวถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี และผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่มีต่อสินค้าเสื้อผ้าไทย พบว่า ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสูงถึง 8,000 เยน หรือ 3,000 บาท ต่อหนึ่งชิ้น และมีความต้องซื้อเสื้อผ้า Brand Name ของไทยถึงร้อยละ 74 ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงมีโอกาสสูงมากในการพัฒนาสินค้าเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น