การทำสวนครัวสำหรับคนเมืองหลวง ในอดีตดูเหมือนจะเป็นความฝันที่เป็นไปได้ยาก แต่ปัจจุบันวิวัฒนาการด้านการปลูกต้นไม้ ได้มีการพัฒนาไปเพื่อเอาใจคนที่ต้องการเนรมิตพื้นที่อยู่อาศัยเพียงไม่กี่ตารางเมตร ให้กลายเป็นสวนผัก หรือแปลงผักอัตโนมัติ โดยสามารถปลูกบนพื้นคอนกรีตได้
หลายคนคงไม่เชื่อว่า แปลงผักที่เรากำลังพูดถึงนี้ สามารถปลูกบนพื้นคอนกรีตได้จริง ซึ่งเจ้าของแนวคิดดังกล่าว เป็นกลุ่มวิศวกรผู้ผลิตเรือเหาะ และเรือดำน้ำ ที่ชื่อว่า นายทวียศ ศรีสกุลเมฆี กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทอาร์ แอนด์ ดี คลินิค จำกัด ที่มองเห็นปัญหาของเกษตรกรไทย ที่มีปัญหาเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดิน จึงได้คิดค้นหาวิธีช่วยเหลือเกษตรกร จนได้ออกมาเป็นแปลงผักสำเร็จรูปขนาดเล็ก ที่ใช้ดินเพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำแปลงผักได้
นายทวียศ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของแนวคิดดังกล่าวมาจากที่บ้านเกิดของผม มีปัญหาเรื่องดินเค็ม เพราะอยู่ติดทะเล ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ ทางนักวิชาการเกษตร และเกษตรกร ได้พยายามนำผืนดินที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ มาปรับปรุงโครงสร้างของดินขึ้นมาใหม่ แต่ต้องใช้เวลาในการปรับสภาพดินไม่ต่ำกว่า 5 ปี และต้องใช้ความพยายามอย่างมาก อีกทั้งยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะได้ผลผลิตเทียบเท่ากับการปลูกพืชบนดินที่อุดมสมบูรณ์
ทั้งนี้ จากระยะเวลาในการปรับปรุงดิน ซึ่งต้องใช้เวลานานมาก ที่สำคัญก็ไม่รู้ว่าดินจะดีพอสำหรับการปลูกพืชหรือไม่ และในระหว่างการรอ เกษตรกรจะมีรายได้จากอะไร ผมจึงได้คิดหาวิธีและพบว่าจริงแล้ว การปลูกพืช หรือ การปลูกผักสวนครัว สามารถทำได้ โดยใช้ดินเพียงเล็กน้อยในกระบะเพาะสำเร็จรูป และสามารถปลูกได้ทุกหนทุกแห่งแม้แต่บนพื้นคอนกรีตที่ไม่สามารถปลูกอะไรได้อย่างในเมืองหลวงที่หาพื้นดินปลูกพืชได้ยาก
อย่างไรก็ตาม การปลูกผักด้วยกระบะเพาะสำเร็จรูป จะมีข้อจำกัดในการให้น้ำ ซึ่งทางบริษัทได้คิดอุปกรณ์และจานกระจายน้ำฝอยยูเล็ม (ULEM) ขึ้น ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษโดยกระจายน้ำฝอยเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร และความละเอียดของน้ำฝอย 10 ไมครอน และใช้น้ำน้อยเทียบเท่ากับการใช้ระบบน้ำหยด และใช้กระแสไฟฟ้าเพียง 0.65 Amp เป็นการควบคุมการทำงานและการให้น้ำอย่างอัตโนมัติ ทำให้ไม่จำเป็นต้องพรวนดิน และเติบโตได้เร็วกว่าการปลูกผักทั่วไป
สำหรับกระบะเพาะสำเร็จรูป ได้มีการออกแบบให้น้ำสามารถไหลผ่านออกมาได้ โดยที่น้ำไม่ขังอยู่ภายในกระบะ กรณีที่ฝนตก ส่วนปริมาณน้ำที่ให้ผ่านอุปกรณ์กระจายน้ำฝอยยูเล็ม เป็นการให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งทำให้หน้าดินไม่เสียหรืออัดแน่น จึงไม่จำเป็นต้องพรวนดิน โดยขนาดของกระบะเพาะขนาดมาตรฐาน คือ กว้าง 1 เมตร ยาว 3 เมตร หรือ ตามลูกค้าสั่ง อย่างไรก็ตาม ขนาดของกระบะที่ทางบริษัทออกแบบมาโชว์จะไม่ใหญ่มาก เพราะส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้า จะเป็นกลุ่มผู้พักอาศัยในคอนโด หรือ บนดาดฟ้าตึกแถว ที่เรียกกันว่าสวนผักลอยฟ้า ดังนั้น ขนาดกว้าง 1 เมตรยาว 3 เมตรจึงเป็นขนาดที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดและวัสดุ ซึ่งราคาของขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 3 เมตร ราคา 8,000 บาท เป็นราคารวมค่าติดตั้งทั้งระบบทั้งการติดตั้งระบบน้ำ เตรียมดิน และเมล็ดเพาะ ส่วนราคาอุปกรณ์กระจายน้ำฝอยยูเล็มราคา 250 บาท และนอกจากกะบะเพาะสำเร็จรูป ตัวไฮไลท์ของทางบริษัทอีกตัวหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน คือ กระโจมเพาะเห็ด มีขนาดกว้าง 1.60 เมตร ยาว 1.20 เมตร และสูง 2 เมตร สามารถเพาะเห็ดได้จำนวน 140 ก้อน ใช้การให้น้ำในระบบกระจายน้ำฝอยยูเล็มเช่นกัน และในส่วนของตัวกระโจมเพาะเห็ดจะมีการติดตั้งเครื่องวัดความชื้น ซึ่งเป็นตัวเซ็นเซอร์อัตโนมัติ เมื่อได้ความชื้นตามที่ตั้งไว้ตัวกระจายน้ำยูเล็มก็จะหยุดการทำงาน ทำให้เพาะเห็ดได้โดยไม่จำเป็นต้องคอยให้น้ำ ผลผลิตที่ได้จะเติบโตรวดเร็ว ช่วยให้เพาะเห็ดสายพันธุ์แปลกที่เพาะยากได้
สำหรับกระโจมเพาะเห็ดนี้ได้ความสนใจจากนักวิชาการ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเห็ด ซื้อเพื่อนำไปใช้กับการทดลองเพาะเห็ดสายพันธุ์ใหม่ และเหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นต้องการจะเพาะเห็ดจำหน่ายได้ซื้อเพื่อนำไปทดลองและศึกษาก่อนจะลงทุนทำฟาร์มเพาะเห็ดจริง ซึ่งราคากระโจมเพาะเห็ดรวมค่าติดตั้งและอุปกรณ์ทั้งหมด ราคากระโจมละ 28,000 บาท กระโจมนี้สามารถตั้งบนพื้นคอนกรีตได้เช่นเดียวกับกระบะเพาะสำเร็จรูป ซึ่งกระบะเพาะสำเร็จรูป หรือ กระโจมเห็ด เมื่อเราไม่ต้องการจะใช้แล้วสามารถพับเก็บได้
นอกจากกระโจมเพาะเห็ด ยังมีตู้เพาะเห็ด ที่พัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ที่ทุกอย่างจะถูกควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติที่อากาศภายนอกไม่สามารถผ่านเข้าออกได้เลย ช่วยให้การเพาะเห็ดที่ไม่สามารถเพาะได้โดยทั่วไป สามารถเพาะในตู้เพาะเห็ดชนิดนี้ได้ และยังตั้งเป็นตู้โชว์ได้อีกด้วย ราคาอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท ตู้เพาะเห็ดนี้จะคุ้มก็ต่อเมื่อเราเพาะเห็ด หรือ ปลูกพืชที่ไม่สามารถปลูกในอุณหภูมิปกติได้ หรือเห็ดพิษ และนำผลผลิตที่ได้นำมาวิจัยต่อ ซึ่งเห็ดบางชนิด ถ้าสามารถเพาะได้ ราคากิโลกรัมละเป็นหลักหมื่นเลยที่เดียว ส่วนตู้เพาะเห็ดนี้ได้มีการขายให้กับลูกค้าชาวต่างชาติที่สนใจ
นายทวียศ เล่าในตอนท้ายว่า จริงแล้วในส่วนของกระบะเพาะสำเร็จ กระโจมเห็ด หรือตู้เพาะเห็ด ทำขึ้นมาเพื่อต้องการจะแนะนำอุปกรณ์กระจายน้ำฝอยยูเล็ม ให้เป็นที่รู้จักมากกว่า ซึ่งต้องการให้เกษตรกรได้มีการนำไปใช้เพราะช่วยเกษตรกรให้ใช้น้ำได้น้อยลง และยังสามารถป้องกันแมลงได้ในระดับหนึ่ง เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ทุรกันดารขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก
สนใจโทร.0-2295-2990