ไหมทอง คงเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูสำหรับคนไทยมากนัก แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นรู้จักกันดี ในฐานะไหมของคนไทยที่ปราศจากสารเคมีใดๆ และมีเนื้อผ้าที่นุ่ม เบา สบายน่าสวมใส่ ซึ่งเป็นผ้าไหมทอมือฝีมือชาวบ้านล้วนๆ จากธุรกิจไหมทองของ J.T.Silk เอสเอ็มอีไทยที่ยังปราศจากคู่แข่ง แม้ภาคเหนือของไทยจะสามารถเลี้ยงไหมพันธุ์นี้ได้ก็ตาม
ธนวพร มีชัย เจ้าของผลิตภัณฑ์ไหมทองภายใต้แบรนด์ J.T.Silk จ.เชียงใหม่ เล่าว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.2544 ทางบริษัทฯ ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์จากไหมไทย ที่ใช้ผลผลิตจากรังไหมสีเหลือง ที่เกิดจากเส้นไหมจากยีนคุณภาพ นำมาสาวเป็นเส้นไหม ซึ่งถือว่าเป็นเส้นไหมที่มีคุณภาพดี ที่ในประเทศไทยแทบจะไม่มีคู่แข่งเลย คือ สายพันธุ์ กสก.11 ปลูกที่จ.เชียงใหม่ โดยมีเปลือกหนา สีของเปลือกรังไหมที่สม่ำเสมอ ในขณะที่เส้นไหมจะมีความเหนียวและแข็งแรง เรียบ นุ่มนวล และมีสีเลื่อมมันสดใส ซึ่งถือเป็นคุณภาพของเส้นไหมระดับดีเยี่ยม
โดยในช่วงแรกเป็นการส่งออกเส้นไหมเพียงอย่างเดียวไปประเทศญี่ปุ่นในราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท เนื่องจากผู้เป็นสามี (นายฮิโรโตะ เอมามิ) เป็นชาวญี่ปุ่น ทำให้ได้เปรียบในการการทำตลาด และเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างดี แต่ต่อมา ธนวพร ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับเส้นไหม และเพิ่มมูลค่าในการส่งออก จึงต้องการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จึงเริ่มหันมามองศักยภาพในการทอผ้าไหมของชาวบ้านในภาคเหนือ ที่มีฝีมือพร้อมอวดสายตาชาวโลกได้เป็นอย่าง
“หลังจากที่เราได้เริ่มให้ชาวบ้านนำเส้นไหมทองมาทอเป็นผ้าผืนแล้ว อย่าง ไหมยกดอก มัดหมี่ และผ้าไหมลวดลายโบราณ ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า จากงานทอที่เป็นการทอมือทั้งหมด ใช้กี่กระตุก และเลือกใช้สีธรรมชาติ ต่อมาจึงนำมาตัดเย็บเป็นชุดนอน และเสื้อสำเร็จ ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ด้วย ต่อมาจึงแตกไลน์เป็นผ้าพันคอ (ราคา 650-3,000 บ.) ผ้าคลุมไหล่ และล่าสุดเราผลิตรังไหม 150 บาท/ 20 รัง และ 1 รังใช้นวดหน้าได้ 5 ครั้ง) นวดหน้าเพิ่มความชุ่มชื้น ก็ได้รับการตอบรับดีจากประเทศญี่ปุ่น”
เมื่อถามว่าไหมทอง ทำไมขณะนี้มีแต่แบรนด์ J.T.Silk เจ้าเดียวที่ผลิต ธนวพร บอกว่า การเลี้ยงไหมทองนั้นนั้นง่ายมาก แต่เนื่องจากต้องลงทุนสถานที่เลี้ยงหม่อนไหมอย่างดี เป็นแบบระบบปิด ปราศจากเชื้อโรค ซึ่งต้องใช้เงินทุนสูง และเสี่ยงต่อการสูญเสียไหมทั้งหมดได้ หากโรงเลี้ยงไม่สะอาด ก็จะตายกันทั้งหมด ส่งผลให้มีกำไรน้อย และมีความเสี่ยงสูง ทั้งๆ ที่ในภาคเหนือของไทยสามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี จากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม
“ลักษณะเด่นของไหมทองอยู่ที่ความนิ่ม ไม่ใช้สารเคมีในทุกกระบวนการผลิต ในขณะที่เส้นไหมก็มีความมันวาว จากความยาวในแต่ละเส้นอยู่ที่ 1,200-1,300 เมตร ส่วนราคาขายอยู่ที่หลาละ 600 บาท ในขณะที่ราคาไหมธรรมดาอยู่ที่ 400 บาทเท่านั้น ด้วยราคาที่สินค้าไหมทองของเราสูงกว่าเจ้าอื่น ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับพรีเมียมที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากเส้นไหม และรักธรรมชาติ”
สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นั้น ทาง J.T.Silk มีผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ลูกค้าเลือกสรรทุกๆ 2 เดือน แต่ยังคงไม่ทิ้งสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่ม อย่าง ผ้าห่ม และปลอกหมอน ที่เพิ่งวางตลาดไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกลุ่มลูกค้ามีทั้งชาวไทยและต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี เป็นต้น
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ไหมทองของ J.T.Silk วางจำหน่ายที่ พาวิลเลี่ยนไนท์บาซาร์ ห้อง A 33 145 ถ.ช้างคลาน จ.เชียงใหม่ ในขณะที่โรงงานผลิตอยู่ที่ จ.ลำปาง ซึ่ง ธนวพร บอกว่า ขณะนี้ตนเองรู้สึกภูมิใจกับธุรกิจตัวนี้มาก เพราะเป็นธุรกิจที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ จากการขยายตลาดด้วยการออกงานที่จ.เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ รวมถึงได้รับการดูแลจากสถาบันหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาพรรณไหมอีกด้วย
***ติดต่อ 05-435-8545, 08-1993-8501*** หรือที่ www.sse-thailand.com***