xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.จับนักวิจัยชนนักธุรกิจ หวังขนงานวิจัยลงจากหิ้งสู่ห้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) จัดอบรม Lab to Market Boot Camp คาดหวังผลักดันงานวิจัยสวทช.มาผสานช่องว่างการทำงานระหว่างนักวิจัยและนักธุรกิจ เพื่อจุดประกายไอเดียผลักดันงานวิจัยออกสู่ตลาด เพื่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของเศรษฐกิจระดับประเทศ

ศ. ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) จัดการอบรม Lab to Market Boot Camp ให้แก่นักวิจัยและนักธุรกิจ ที่ได้รับการบ่มเพาะจากอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Thailand Science Park) เพื่อพัฒนาแนวความคิดและนวัตกรรมการเป็นผู้ประกอบการ ในสาขาต่างๆ และก่อให้เกิดไอเดียที่นำไปต่อยอดในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นจุดขาย

สำหรับ Boot Camp เป็นขั้นแรกของโครงการ Lab to Market เพื่อให้นักวิจัยกับนักธุรกิจมาระดมสมอง ฝึกคิดไอเดียใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับลูกค้าและแก้ปัญหาสังคม ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีการเชื่อมโยงกัน เข้าใจกันมากขึ้น นักธุรกิจจะเข้าใจว่านักวิจัยทำงานอย่างไร ส่วนนักวิจัยก็จะเข้าใจว่านักธุรกิจต้องการสร้างผลิตภัณฑ์แบบไหน อันเป็นเป้าหมายของโครงการนี้ที่จะช่วยปรับกระบวนการทำงานให้ทั้งสองฝ่ายได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้าใจกัน และเพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีของ สวทช. ไปสร้างธุรกิจที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคม

“ข้อสรุปของกิจกรรมนี้คือ อย่างแรก ทำให้รู้ว่าลูกค้ามีหลากหลาย ความต้องการหลากหลาย จะตอบโจทย์ความต้องการที่มีหลากหลายได้อย่างไร สองคือ เมื่อวางแผนแล้ว อาจจะไม่ได้ทำตามแผนเสมอไป เพราะการวางแผนในห้องประชุมที่ไม่ได้รู้สถานการณ์จริง อาจเป็นการวางแผนที่ผิดพลาดก็ได้ ถ้าหากเรายังยืนยันที่จะทำธุรกิจในแผนที่รู้ว่าไม่มีทางประสบความสำเร็จ ก็จะมีแต่ความเสียหาย ฉะนั้น จึงต้องทำความเข้าใจกับสถานการณ์ แล้วปรับกระบวนการให้เหมาะสม”

ทั้งนี้ การจัดอบรมครั้งนี้ทำให้นักวิจัยได้เห็นภาพกว้างขึ้น ก่อนที่จะทำวิจัยเชิงลึก ควรจะสำรวจตลาด ความต้องการ ความจำเป็น หรือโอกาสของเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้นเสียก่อน เพราะปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการลงทุนไปหลายล้านบาทเพื่อสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาชิ้นหนึ่ง แต่ไม่รู้จะนำไปใช้ทำอะไร จึงต้องนำเงินอีกก้อนหนึ่งมาทำวิจัยการตลาด ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะต้องลงทุนครั้งเดียวแล้วเห็นภาพ และมั่นใจว่างานวิจัยที่ลงทุนทำจะเกิดประโยชน์ที่ตอบโจทย์สังคมและเชิงเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น