ปลาทะเลภาคใต้ขึ้นชื่อเรื่องความสดใหม่ เมื่อนำมาแปรรูปได้ความอร่อยไปอีกแบบ อย่างเช่นผลิตภัณฑ์ ‘ปลาหวานต่อคำ’ จาก จ.ปัตตานี แม้สถานการณ์ความสงบในพื้นที่จะเป็นอุปสรรค แต่ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ด้วยจุดขายรสชาติอร่อยสดใหม่พ่วงด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูง
วิทยา ใยแก้ว เจ้าของสินค้า เล่าว่า ชื่อ “ปลาหวานต่อคำ” สื่อถึงความอร่อยจนหยุดไม่อยู่ กินคำต่อคำต่อไปเรื่อย ๆ เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่วัตถุดิบสดใหม่ ทำมาจากปลา เพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ ปลาข้างเหลือง และปลาหลังเขียว มีคุณสมบัติ เมื่อแปรรูปเป็นปลาหวานแล้ว เนื้อจะนุ่ม หอม อร่อย หาไม่ได้จากปลาชนิดอื่นๆ
“กระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมีเรือประมงที่ออกหาปลาตอนกลางคืนจะนำมาปลามาส่ง หลังจากนั้นนำปลาไปดองกับน้ำแข็งเพื่อให้ปลาสด แร่เนื้อ แยกเนื้อกับก้างปลาออกจากกัน ส่วนก้างปลานำมาทำเป็นก้างหวานได้อีก ปลา 100 กิโลกรัมจะได้ก้างปลา 27-28 กิโลกรัม หลังจากนั้นนำไปล้างให้สะอาด แล้วนำไปหมักเกลือกับน้ำตาล 3-4 ชั่วโมง นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วสามารถนำไปทอดได้ทันที” วิทยา เผยถึงกระบวนการผลิต
แม้จะเป็นสินค้าชาวบ้าน แต่เรื่องสุขอนามัยในการผลิตได้มาตรฐาน ทุกขั้นตอนไม่ใช้สารเคมีใด ๆ มาเจือปนทั้งสิ้น มีเพียงเกลือกับน้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการหมักเท่านั้น
นอกจากความอร่อยแล้ว จุดเด่นของปลาข้างเหลือง และปลาหลังเขียว อยู่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะก้างปลาจะได้ทั้งโปรตีนและแคลเซียมไปพร้อม ๆ กัน เหมาะสำหรับเป็นอาหารของผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุที่ต้องการโปรตีนและแคลเซียมสูง ๆไปช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กระดูก
“ในแง่ของรสชาติ ผมได้รับการอนุเคราะห์จากคุณภาณุ อุทัยรัตน์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี) การันตีความอร่อย โดยอนุญาตให้เราใช้โลโก้ รับประกันความอร่อยของจังหวัดปัตตานี นอกจากนี้เรายังแนะนำเทคนิคการทอดปลาให้ลูกค้าเพื่อคงคุณภาพปลาด้วย โดยแนะนำทอดส่วนที่ถูกแล่ก่อนด้วยไฟอ่อน ๆ กะปริมาณการทอดให้พอเหมาะกับสมาชิกบนโต๊ะอาหาร เนื่องจากหากทานไม่หมดปลาที่เหลือจะถูกน้ำตาลรัดตัวทำให้ปลาแห้งไม่อร่อย สำหรับปลาที่ยังไม่ได้ทอดควรเก็บรักษาคุณภาพไว้ในตู้เย็น” เจ้าของสินค้า ระบุ
ด้วยความอร่อยสดใหม่จากทะเลแท้ๆ ประกอบกับเป็นเมนูเพื่อสุขภาพ จึงไม่แปลกใจว่าทำไม “ปลาหวานต่อคำ” ถึงได้รับความสนใจจากผู้ซื้ออย่างสูง เมื่อนำผลิตภัณฑ์มาออกร้านขายที่กรุงเทพฯ ในโครงการ MARKET PLACE ณ บริเวณกระทรวงอุตสาหกรรม ตามคำเชิญของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธนาคารในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
วิทยา เผยว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น กระทบต่อธุรกิจอย่างมาก การออกมาทำตลาดนอกพื้นที่ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากส่วนกลาง ซึ่งการมาออกบูทที่กรุงเทพฯ ช่วยให้ได้ออร์เดอร์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบันกำลังการผลิตเนื้อปลาประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อเดือน ก้างปลาประมาณ 700-800 กิโลกรัมต่อเดือน
ทั้งนี้ ในจังหวัดปัตตานีมีผู้ผลิตสินค้าปลาหวานรายหลักเพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งจะแยกกลุ่มลูกค้ากันอย่างชัดเจน โดยอีกรายมุ่งตลาดส่งออก ขณะที่ “ปลาหวานต่อคำ” เน้นตลาดในประเทศ ลูกค้าหลัก คือ ส่งไปจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคอีสาน ซึ่งนิยมกินปลาหวานกับข้าวเหนียว ใช้ช่องทางขาย ด้วยวิธีโทร.สั่ง แล้วจัดส่งสินค้าถึงบ้านผ่านบริษัทขนส่งต่าง ๆ ราคาขายเนื้อปลาหวานกิโลกรัมละ 170 บาท ส่วนก้างปลาหวานกิโลกรัมละ 160 บาท ค่าขนส่งคิดตามระยะทาง
สำหรับอุปสรรคธุรกิจนั้น เขาเผยว่า นอกจากปัญหาความสงบแล้ว ยังติดขัดเรื่องเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งแก้ไขโดยขอเงินสนับสนุนจากเอสเอ็มอี แบงก์ มูลค่า 1.6 ล้านบาท ส่วนแผนในอนาคต เตรียมซื้อห้องเย็นเพื่อสต็อกวัตถุดิบได้มากขึ้น และปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย รวมถึงการผลักดันให้ปลาหวานต่อคำผ่านมาตรฐานต่าง ๆ เช่น HACCP, ฮาลาล เป็นต้น
*********************************
โทร.086-964-7334 และ 084-632-1584