xs
xsm
sm
md
lg

3 นักวิชาการออกโรงโต้ค้านชนฝา ‘Network Franchise’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรณีที่ “จิรยุพพงศ์ สุขสมหทัย” นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ว่าได้เตรียมผลักดันระบบธุรกิจใหม่ “Network Franchise” ซึ่งเป็นการผสมผสานระบบธุรกิจระหว่าง MLM กับ Franchise เข้าไว้ด้วยกันเพื่อส่งเสริมการตลาด และจะเปิดรับสมัครสมาชิกสมาคมฯ และผู้สนใจเข้ารวมรับฟังระบบดังกล่าวภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

กับข่าวดังกล่าว ผศ. ดร. สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อดีตเลขาธิการ และกรรมการฝ่ายกฎหมายสมาคมธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย ได้แสดงความคิดเห็นผ่านwww.manager.co.th ไว้ว่า

“ผมเห็นว่า แนวคิดและหลักการของระบบแฟรนไชส์มีความแตกต่าง และไม่เหมือนกับการทำธุรกิจแบบขายตรง แม้จะกล่าวว่าเป็นระบบเครือข่าย แต่แฟรนไชส์เป็นระบบเครือข่ายสาขา ที่ต้องมีหน้าร้าน มีรูปแบบร้านที่ชัดเจน มิใช่กรณีของบุคคลแบบขายตรง

การนำรูปแบบทั้งสองไปปะปนกัน ผมเห็นว่าจะสร้างความสับสน และสร้างปัญหาให้กับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์มากกว่าจะชวยส่งเสริม ประการสำคัญผมเกรงว่า ประชาชนอาจสับสน และเป็นช่องทางให้ผู้สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์ถูกหลอกลวงได้ ผมคิดว่าน่าจะลองพิจารณาแนวคิดนี้ใหม่ครับ”

นักวิชาการร่วมต้าน ‘คิดง่าย แต่ทำยาก’

ขณะที่ความคิดเห็นของนักวิชาการท่านอื่นต่อกรณี Network Franchise โดย สิทธิชัย ทรงอธิกมาส นักวิชาการด้านธุรกิจแฟรนไชส์ กล่าวว่า ในหลักการแล้วไม่ควรที่จะนำระบบ MLM กับแฟรนไชส์มารวมกันเพราะจะทำให้เกิดความสับสนมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่ปัญหาที่แก้ยากขึ้น

ถ้ามองในมุมธุรกิจจะคิดว่ารวมได้ เหมือน MLM ก็นำไปสู่ปัญหาแชร์ลูกค้า ทั้งๆ ที่ไม่ได้หลอกแต่ทำให้คนอื่นเข้าใจผิด รวมถึงแฟรนไชส์ปัจจุบันก็ยังเข้าใจผิดกันอยู่ ฉะนั้นการจะนำข้อดีของ 2 ระบบมารวมกันดูเข้าใจง่าย แต่เข้าใจยาก ฉะนั้นไม่น่าที่จะนำมารวมกัน

“การเอาข้อดีมาแก้ข้อเสีย ซึ่งการนำอะไรมานั้นข้อเสียก็ต้องตามมาอยู่แล้ว อยู่ตรงที่ว่าบางสิ่งเอาข้อดีมาแก้ข้อเสียก็โอเค หรือนำสิ่งหนึ่งมาแก้ข้อเสียของอีกสิ่งหนึ่งได้อย่างเหมาะพอดี แต่การทำแบบนี้พูดง่ายแต่ทำยาก

โดยเฉพาะข้อเสียของ Franchise กับ MLM นั้นตรงกัน คืออาศัยคนอื่นทำธุรกิจให้ ส่งผลต่อคนเข้าใจผิดได้ง่าย MLM ไม่ต้องใช้ระบบแบบ Franchise ข้อดีของแฟรนไชส์ก็ไม่ช่วยในหลักการของ MLM ต้องการพัฒนาระบบตัวเอง ฉะนั้นระบบ MLM ระบบ Franchise เป็นคนละเรื่อง”

ด้าน พีระพงษ์ กิตติเวชโภคาวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า การสร้างระบบ MLM ในระบบแฟรนไชส์ขัดแย้งในเชิงธุรกิจที่ไม่ทำกัน จะเห็นข้อห้ามของสมาคมแฟรนไชส์ในสหรัฐอเมริกาที่ว่าห้ามดำเนินธุรกิจเป็นปิระมิดหรือ MLM

โดยได้อธิบายถึงความแตกต่างในระบบ MLM กับระบบแฟรนไชส์ ว่า MLM เป็นการกระจายผลประโยชน์ให้คนในวงจรให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการใช้สินค้าสร้างเป็นเครือข่ายกระจายผลประโยชน์เป็นลำดับชั้น และ MLM ได้ประโยชน์ไม่มีทุนก็ลงทุนได้ ด้วยการเป็นพนักงานขายด้วยความสมัครใจ จากการซื้อสินค้าใช้และได้ค่าคอมมิชชั่นจากการขายให้สมาชิกอย่างต่อเนื่องได้ประโยชน์จากการสร้างสมาชิก สร้างตัวแทนขายเอาประโยชน์มาแลก

ส่วนแฟรนไชส์ เป็นการลงทุนของนักธุรกิจ ขยายเครือข่ายไปกับบริษัทแม่ไม่ใช่การเป็นพนักงาน แต่เป็นนักลงทุนที่อาศัยโนว์ฮาว แบรนด์ เกื้อหนุนการลงทุน บางรายนำระบบ Member มาใช้ไม่มีการแบ่งประโยชน์เป็นลำดับชั้น แต่มีร้านค้า สร้างธุรกิจให้มีความเข้มแข็งอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นแฟรนไชส์ได้

“การสร้างระบบ MLM ในระบบแฟรนไชส์ ขัดแย้งในเชิงธุรกิจเขาไม่ทำกัน เพราะธุรกิจ MLM ไม่ต้องมีร้าน กระบวนการคนละวิธี อย่างเล่นบาส เล่นบอล คนละวิธี ต้องมองดูหลักการและจุดสุดท้ายว่าได้อะไร

มาบอกว่าแฟรนไชส์โตไม่ได้ ไม่ใช่ ที่โตไม่ได้เพราะเข้าใจแฟรนไชส์ผิด ถ้านำ 2 ระบบมารวมกันให้ดูที่หลักการ เพราะแฟรนไชส์ต้องอาศัยตัวร้าน หลักแฟรนไชส์ไม่ได้ขายสินค้าแต่เป็นการสร้างระบบให้คนมาทำธุรกิจ ฉะนั้นการถ่ายทอดระบบแฟรนไชส์ไม่ใช่ขายสินค้าแต่เป็นการสร้างระบบเพื่อเชื่อมโยง แต่ MLM เป็นการขายสินค้า ผ่องถ่ายไปยังคนผลิต ตัวกลาง สู่ร้านรีเทล ตัดกระบวนการขายลดค่าโฆษณา ส่วนร้านรีเทลยิ่งดีถ้าดึงผู้บริโภคมาเป็นคนขาย”

นายกฯ แฟรนไชส์ไทยแจง 5 สาขาดำเนินการแล้วเวิร์ค

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามไปยัง “จิรยุพพงศ์” ถึงประเด็นดังกล่าวเขากล่าวว่า การสร้าง Network Franchise เป็นการผสมผสานข้อดีของกลยุทธ์การทำธุรกิจของทั้ง 2 ระบบเข้าด้วยกันเพื่อส่งเสริมการตลาด เป็นประเด็นที่ชูขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาระบบแฟรนไชส์ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการใช้เงินลงทุนเพื่อขยายเครือข่าย

“เป็นการนำหลักการง่ายๆ มาใช้ เพราะปัญหาที่เจอของแฟรนไชส์ในปัจจุบันคือการขยายสาขาไม่ได้เพราะโลเคชั่นไม่มีหรือราคาค่าเช่าที่สูงเกินไป ทำให้แฟรนไชส์หลายรายต้องเจ๊งไป แต่ Network Franchise จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ไม่ต้องมีโลเคชั่นก็สามารถขายสินค้าบริการได้ โดยนำระบบ MLM เข้ามาช่วยไม่ต้องมีโลเคชั่นก็อยู่ได้ด้วยกำไร”

จิรยุพพงศ์ ได้กล่าวถึงรูปแบบการลงทุนมี 2 รูปแบบได้แก่ อย่างแรกคือผู้ลงทุนไม่มีเงินลงทุนที่จะมีหน้าร้านแต่ลงทุนโดยการนำสินค้า บริการมาขายเป็นตัวกลางหรือยี่ปั๊วะให้กับร้านค้าทั่วไปซึ่งจะใกล้เคียงกับรูปแบบของ MLM แต่มีความต่างคือขายให้กับร้านค้าไม่ได้จำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรง และอีกรูปแบบหนึ่งคือการลงทุนมีหน้าร้านของตนเอง และสามารถสร้างเครือข่ายให้กับบุคคลเพื่อนำสินค้า บริการที่มีไปจำหน่ายต่อได้

ซึ่งข้อดีของทั้ง 2 ระบบที่นำมาใช้ โดยได้ยกให้เห็นจุดเด่นของแฟรนไชส์คือระบบเทรนนิ่ง ที่ต้องมีการสอนหรืออบรมให้กับผู้ลงทุนหรือแฟรนไชส์ก่อนออกไปทำธุรกิจ หรือการมีค่ารอโยตี้เพื่อนำมาบริหารการจัดการ ส่วนระบบ MLM จุดเด่นคือการขยายสาขาได้รวดเร็วฉะนั้นทำเลจึงไม่มาเป็นอุปสรรคแต่อย่างใดเพราะใช้ตัวบุคคลเป็นผู้จำหน่าย หรืออย่างจุดอ่อนของแฟรนไชส์ คือ บางรายไม่มีการบริหารหลังการขายทำให้ร้านค้าไม่ประสบความสำเร็จต้องปิดกิจการไป

ทั้งนี้จะเป็นการนำจุดอ่อนจุดแข็งมาพัฒนาเป็นระบบใหม่ ซึ่งมองว่าจะเป็นแนวทางสร้างความอยู่รอด มีค่ารอยัลตี้ให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืนและป้องกันการเกิดแชร์ลูกโซ่

จิรยุพพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ได้มีการทดลอง Network Franchise กับสินค้าของบริษัทมาก่อนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทำในระบบแฟรนไชส์ ภายใต้ บริษัท แอดวานซ์ แอนด์ สมาร์ท อินโนเวชั่น จำกัด ก่อนที่จะมาศึกษาระบบ MLM และนำมาผสมผสานกันเกิดระบบใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 5 สาขาแล้ว ยอมรับว่าช่วงแรกประสบปัญหาต้องใช้เงินไปกว่า 3 ล้านบาทพัฒนาระบบให้เกิดด้วยประสบการณ์แต่เมื่อระบบลงตัวก็นับว่าคุ้มที่ Network Franchise จะเข้ามาแก้ปัญหาในการทำธุรกิจได้ ซึ่งตนจะเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจในระบบใหม่นี้ภายในเดือนกุมภาพันธ์

และกับประเด็นที่นักวิชาการต่างๆ ออกมากระทุ้งว่าจะเกิดความสับสนให้กับผู้ลงทุนนั้น เขา บอกว่า จะไม่เกิดความสับสนขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นระบบที่ใกล้เคียงกับระบบ MLM และแฟรนไชส์ที่มีอยู่เดิม เพียงแต่นำบางส่วนมาผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดความอยู่รอดของผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์และส่งเสริมการตลาดให้ธุรกิจมั่นคงและยั่งยืน

ชู 3 คัสเตอร์ธุรกิจหลัก สร้างความแข็งดันออกนอก

จิรยุพพงศ์ ยังได้กล่าวถึงบทบาทในฐานะนายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย ที่เพิ่งรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า 1.ได้ทำการแบ่งคัสเตอร์ธุรกิจแฟรนไชส์ออกเป็น 3 กลุ่มจากปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 100 ราย ได้แก่ 1.ธุรกิจอาหาร 2.ธุรกิจสปาและความงาม 3. อื่นๆ ทั้งนี้เพื่อเกิดการรวมตัวในการลดคอร์สการดำเนินงานโดยเฉพาะการออกงานโรดโชว์ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้ากรณีการจ่ายค่าพื้นที่มีหารหารเฉลี่ยราคาค่าเช่า ในส่วนนี้คาดจะทำให้ผู้ประกอบการลดราคาค่าเช่าลงมากว่า 5-10 เท่าจากการรวมตัวกันเองโยไม่ผ่านบริษัทรับจัดงาน

2.สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการที่ให้การสนับสนุนจากภาครัฐเช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในการอบรมผู้ประกอบการในหัวข้อต่างๆ ทั้งนี้เพื่อปูพื้นความรู้และสร้างความเข้มแข็งในระบบแฟรนไชส์ เป็นที่ยอมรับในประเทศขยายกิจการมั่นคง จากนั้นจะขยายเครือข่ายไปต่างประเทศก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ประกอบกับการประสบความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมายอมรับว่าแฟรนไชส์ไทยยังมีจำนวนมากที่ขาดความเข้มแข็งทั้งระบบ และเงินทุน

คงต้องติดตามต่อไปว่า Network Franchise จะเข้ามาแก้ปัญหาได้จริง หรือจะสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับผู้ลงทุนต่อระบบการลงทุนต่างๆ อย่างที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน อย่างแชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์พวงมาลัย หรือแชร์รถตู้ ฯลฯ หรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น