xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส 'อัมพวา' กระแสบูม! “ประโยชน์” หรือ “ทำลาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ติดตามทิศทางการพัฒนา "อัมพวา" ผ่านผู้นำที่สร้างอนาคตใหม่
เจาะลึกเบื้องหลังวิธีคิดและวิธีการขับเคลื่อนอย่างถึงแก่น
เรียนรู้การตีโจทย์ "ภูมิ-สังคม" และการสร้างผู้ประกอบการบนหลักการ "การมีส่วนร่วม"
แบ่งปันประสบการณ์ผู้นำหลายมิติ จะให้ดีต้องปรับบทบาทและหน้าที่ให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

การเปิดตลาดน้ำยามเย็นอัมพวาในวันที่ 11 สิงหาคม 2547 เป็นกลยุทธ์แรกของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชนของตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในพื้นที่เพียง 2.5 ตารางกิโลเมตรกับประชากรประมาณ 5 พันคนเท่านั้น จนถึงวันนี้การพัฒนาผ่านมากว่า 3 ปีแล้ว การเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ เกิดขึ้นไม่เพียงแต่กับอัมพวาเท่านั้น แต่ขยายวงออกไป โดยมีการท่องเที่ยวเป็นแกนหลักในการทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ขณะที่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นโดยมีเป้าหมายการเป็นเวนิสตะวันออกของจังหวัดสมุทรสงครามกำลังดำเนินไป

"ผู้จัดการ" สัมภาษณ์พิเศษ ร้อยโท พัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา ถึงผลลัพธ์และทิศทางการพัฒนาจากวันแรกจนถึงวันนี้ ในวาระครบ 4 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา ในฐานะผู้สร้างอนาคตใหม่ให้กับหน่วยเล็กๆ ของประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความแข็งแกร่งและความยั่งยืนในระดับใหญ่

ทิศทางการพัฒนาอัมพวาจากวันแรกจนถึงวันนี้มาถูกทางหรือไม่ อย่างไร

ร้อยโท พัชโรดม - ต้องบอกก่อนว่าเป้าหมายไม่ใช่จะทำให้คนอัมพวารวย แต่มองมิติต่างๆ ในการพัฒนา เริ่มด้วยมิติทางเศรษฐศาสตร์คือการทำให้คนอัมพวาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หมายถึงการมีรายได้จากการค้าขายสินค้าที่ผลิตได้ที่บ้านโดยไม่ต้องเสียค่าขนส่งและค่าดำเนินการ เพราะสุดท้ายเมื่อต้นทุนสูง ต้องขายราคาสูงก็ขายได้ยากและแทบไม่เหลือกำไร กลไกตลาดมีช่องว่างอยู่ตรงนี้ จากเป้าหมายที่มองคือเมื่อลดช่องว่างนี้ลงทำให้ราคาสินค้าในอัมพวาขายได้ถูก ทำให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง ถือว่าจากสิ่งที่ตั้งไว้วันนี้อัมพวาไปได้ตามนั้น

เมื่อมิติเศรษฐศาสตร์ทำให้เกิดรายได้ อีกมิติหนึ่งคือมิติสังคม เพราะรายได้จากการเปิดตลาดน้ำฯ เพียง 3 วัน ไม่ได้ทำให้ร่ำรวย แต่มีรายได้ในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น ประเมินว่าวันนี้อัมพวามีรายได้จากการท่องเที่ยว 250 ล้านบาท ขณะที่มีประชากร 5 พันคน หัวเฉลี่ยประมาณ 5 หมื่นบาทต่อคนต่อปีเป็นรายได้เสริม ซึ่งอาชีพหลักยังคงมีอยู่ เช่น ทำการเกษตร รับราชการ มิติทางสังคมเป็นการทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น นี่คือเรื่องจำเป็น ส่วนใครที่เก่งสามารถส่งออก หรือขยายธุรกิจได้ไกล เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ก็เชื่อว่าทำไม่ได้ทุกคน เพราะฉะนั้น ต้องทำให้มิติในภาพรวมเกิดได้ก่อน จะส่งเสริมคนใดคนหนึ่งไม่ได้

มาถึงวันนี้เป็นไปตามเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน

ร้อยโท พัชโรดม -ถึงวันนี้ 4 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือเงินกู้นอกระบบที่ชาวบ้านต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 10 ในปัจจุบันหายไปหมด เพราะ เมื่อมีช่องทางให้หารายได้ก็ไม่จำเป็นต้องกู้อีก เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตบางส่วนที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ทำให้ต้องหาวิธีแก้ปัญหา ถึงแม้จะไม่อยากกู้นอกระบบแต่กู้ในระบบไม่ได้ เกิดปัญหาหนี้สินพอกหางหมู เมื่อเกิดมิติทางเศรษฐกิจทำให้เก็บออมได้ เชื่อว่าถ้าคนอัมพวาไม่กอดอกอยู่กับบ้านก็สามารถขายของได้ทุกอย่าง แม้กระทั่ง ตะลิงปลิง เห็นได้ว่า 3 ปีหลังจากเปิดตลาดน้ำฯ การเติบโตค่อนข้างเร็วมาก

ใช้หลักการอะไรในการกำหนดทิศทาง

ร้อยโท พัชโรดม -ยึดหลักพัฒนาโดยเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง จริงๆ ก็เข้ากับเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงพยายามบอก ถ้าคนในท้องถิ่นนำมิติทุนทางสังคม คือภูมิสังคม คือการนำเรื่องภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และลักษณะภูมิประเทศมาเป็นทุนในการพัฒนา ส่วนรัฐต้องเข้าไปช่วยเรื่องกระบวนการจัดการที่ผ่านมารัฐเข้าไปทำหน้าที่บางส่วน เช่น ให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ภาพรวม ทำในเรื่องกว้างๆ และที่สำคัญคือการให้กระบวนการคิดกับภาคประชาชน

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โอกาสการทำงานระหว่างรัฐกับพ่อค้าแม่ค้าจะร่วมกันตลอดเวลา ผมพยายามบอกว่า ถ้านักท่องเที่ยวมาอัมพวา เจอแม่ค้าก่อนหรือนายกฯ ก่อน คำตอบคือเจอแม่ค้าก่อน เพราะฉะนั้น คนที่จะรับแขกคือแม่ค้าไม่ใช่นายกฯ แต่ต้องเป็นทีมเดียวกัน เพราะฉะนั้น เมืองจะถูกเอ่ยถึงในทิศทางที่ดีหรือไม่ดีอยู่ที่แม่ค้าหรือภาคประชาชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอนด้วยวิชาการ เพราะสุภาษิตไทยมีอยู่แล้ว แค่ “ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” นั่นคือ การเป็นเจ้าบ้านที่ดี ไม่ต้องอธิบายให้ซับซ้อน ดูแลว่าจะกินอยู่ยังไง สบายดีไม ซึ่งเป็นเสน่ห์ของคนไทยไม่ต้องปรุงแต่งแต่มาจากใจ

เมื่อการร่วมมือของภาคประชาชนหรือชุมชนเกิดขึ้น งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย เคยทำไว้ บอกว่าการมาเที่ยวซ้ำของนักท่องเที่ยวอยู่ที่อัธยาศัยไมตรีมากกว่าตัวสินค้าหรือสถานที่ กลายเป็นว่าเราถูกบอกเล่าจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาแล้วพูดต่อๆ กันไปด้วยความประทับใจที่ดี เหมือนการตลาดแบบขายตรง ซึ่งสามารถบรรยายรายละเอียดได้ดีกว่าที่เรานำเสนอผ่านสื่อซึ่งอาจจะได้ในแง่ของภาพรวม เพราะการนำข้อเท็จจริงออกไปจากปากคนที่เข้ามาสัมผัสจะนำไปสู่ความยั่งยืน

จะทำให้การท่องเที่ยวยั่งยืนได้อย่างไร ก็ต้องอยู่ที่ภาคประชาชนเป็นหัวใจในการทำให้เกิด แต่ต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการในอัมพวามีความหลากหลายมีตั้งแต่คนจบ ป.4 ถึงระดับปริญญา เพราะฉะนั้น มิติด้านความรู้จึงมีไม่เท่ากัน

การค้าระดับโลกมีอยู่ 2 คำคือ ฟรีเทรดกับแฟร์เทรด ในระบบการค้าที่เปิดเสรีให้ใครก็ได้ทำ แต่ในความเป็นจริงความรู้ที่มีไม่เท่ากันทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เช่น ถ้าโอเรียนเต็ลอยากมาทำโฮมสเตย์ คนในพื้นที่ย่อมจะสู้ไม่ได้ เพราะความเป็นมืออาชีพ วันนี้จึงต้องมองที่ความเป็นธรรมก่อนที่จะมองเรื่องของเสรีภาพ เป็นธรรมในแง่ของการทำให้อยู่ในระดับเดียวกันและสู้กันได้

ถ้าบอกว่าสมุทรสงครามคือเวนิสตะวันออก ในอนาคตอัมพวาไม่ได้แข่งกับดำเนินสะดวก แต่กำลังจะแข่งกับภูเก็ต เมื่อถึงตอนนั้นโอเรียนเต็ลจะมา การมาตอนนั้นคนของเราจะสู้ได้อย่างไร ต้องเป็นเรื่องของความเป็นธรรม เป็นเรื่องของโลกาภิวัฒน์ ขณะที่เรากำลังพัฒนาคนของเราขึ้นมา และเมืองเรากำลังเปิดออก เราต้องทำให้คนของเราไม่แพ้

เปรียบเทียบการพัฒนาระดับเมืองกับระดับประเทศ อย่าไปมองว่าเราจะเอาผลไม้เราไปขายจีนเพราะคนจีนมีเป็นพันล้านคน ตรงข้ามจีนมีคนพันกว่าล้านที่ผลิตผลไม้ส่งมาขายเรา แล้วเราจะทำอย่างไร สุดท้ายสู้ไม่ได้ เพราะคนละขนาด จะเอาคนที่ไม่เคยค้าขายกับคนที่ค้าขายมาทั้งชีวิตมาสู้กันไม่ได้ เพราะฉะนั้น การพัฒนาผู้ประกอบการเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่การพัฒนาเมือง

สรุปได้ว่าอัมพวาเดินมาถูกทาง

ร้อยโท พัชโรดม- ถูก แต่สิ่งที่ต้องดูต่อไปคือเป้าหมายของการเดิน เพื่อปรับทิศทางการเดินต่อไป ถ้าสังเกตจะเห็นสิ่งที่เปลี่ยนไป วันนี้กระแสการเที่ยวเมืองเก่ากับตลาดน้ำเติบโตมาก จาก 3 ปีที่แล้วเราเริ่มเดินเป็นคนแรก การมองการพัฒนานอกจากมองตัวเอง ต้องมองรอบๆ มองข้างนอกด้วยว่าเราสามารถให้คนของเราสู้กับเขาได้ไม๊ ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน

การแข่งขันหมายถึงเป็นการแข่งขันในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นการปรับปรุงและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเก่งขึ้น ไม่ใช่การแข่งขันที่ไม่ดี เช่น การใช้สงครามราคา หรือการโจมตีกัน และเมื่อคนอื่นเห็นโอกาสจากเราเราก็ต้องยอมรับ และมองว่าเป็นเรื่องดี ประเทศไทยมีท้องถิ่นอยู่ 7-8 พันแห่งทั่วประเทศ ถ้าหน่วยเล็กๆ อย่างนี้มีความเข้มแข็งในระดับเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยจะเข้มแข็งได้จากระบบที่เป็นหน่วยย่อยๆ แบบนี้ ซึ่งจะเป็นได้ต้องพัฒนา

อัมพวาในวันนี้มองว่าไปได้แค่ 10 ก้าวจาก 100 ก้าว เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องใช้เวลายาวนาน ไม่รู้ว่ากี่ปี จะยั่งยืนหรือไม่อยู่ที่คนในท้องถิ่นนั้น ที่สำคัญคือเมืองต้องขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่ เดิมคนอัมพวาที่เหลืออยู่มีแต่คนแก่กับเด็ก เพราะวัยทำงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญ มีความรู้ความสามารถเคลื่อนเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งโทษเขาไม่ได้เพราะเมื่อก่อนไม่มีโอกาส

แต่เมื่อมีโอกาส เช่น เจ้าของ ‘ฐณิชาฌ์รีสอร์ท’ เคยบอกว่าอยากเปิดบริษัทขายเครื่องสำอางเพราะจบด้านเคมี แต่พอมาทำโฮมสเตย์แล้วอยู่ได้และอยากดูแลแม่ด้วยก็ทำให้ลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ แล้วกลับมาทำธุรกิจที่นี่ เพราะอยากได้ความสมดุลในชีวิตด้วย เพราะสำหรับคนที่จบ ป.ตรีอยู่กรุงเทพฯ รายได้ 1 หมื่นบาท มีค่าใช้จ่ายมากมาย จนไม่มีเงินเก็บ แต่อยู่ที่นี่ถึงรายได้น้อยกว่า แต่อยู่ได้สบายกว่าและเติบโตได้เหมือนกัน

บางทีการเป็น fighter ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเพราะไม่รู้ว่าจะแพ้หรือชนะ แต่อยู่ที่นี่ไม่แพ้แน่ เพราะมีคนเข้ามาพัก สามารถขยายธุรกิจต่อไป เช่น ทำสปาโดยใช้ความรู้ที่เรียนมาเข้าไปร่วมด้วย แทนที่จะวิ่งออกไปสู้ในสนามใหญ่ แต่หันมาตั้งรับแล้วปรับความคิดเราใหม่ นี่เป็นสิ่งสำคัญ เป็นการสร้างเวทีใหม่ของคนอัมพวาที่ต่อสู้และสร้างความเข้มแข็งเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

ปัจจุบันผู้ประกอบการ 80-90% เป็นคนในพื้นที่ เชื่อว่าจะเกิดความผูกพัน ต้องไม่อยากให้น้ำหน้าบ้านเน่า ไม่อยากให้หิ่งห้อยหมดไป แต่ปัญหาคืออาจจะขาดองค์ความรู้ เพราะคนที่มาเกี่ยวข้องในการพัฒนานี้มีตั้งแต่จบป.4 ถึงปริญญา เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรให้องค์ความรู้ในการจัดการการท่องเที่ยวอยู่ในระนาบเดียวกัน เพราะป.4 ก็มีสิทธิ์ที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาเท่ากับคนจนป.ตรี

ต่อไปคือการพัฒนามิติทางความคิด เพราะคนที่จบป.4 อาจจะมองเรื่องผลประโยชน์ที่อยู่ตรงหน้า แต่คนจบปริญญาตรีอาจจะมองความยั่งยืน ทำให้ทั้งสองคนนี้คุยกันไม่รู้เรื่อง จะต้องทำอย่างไรจึงจะปรับให้ความคิดไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

มองว่าคนข้างนอกได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงไปของอัมพวา

ร้อยโท พัชโรดม -อัพวาเป็นกรณีศึกษา มีหลายกลุ่มเข้ามาเรียนรู้ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง งานวิจัยมากมายของนักศึกษา ฯลฯ แต่จุดอ่อนคือการมองอัมพวา อย่ามองเรื่องโครงสร้างจะเดินผิดทาง เช่น กลับไปหาเรือ 10 ลำมาทำตลาดน้ำ แต่ให้มองที่กระบวนการ คือกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นหัวใจของความสำเร็จ ไม่อย่างนั้นจะไปไม่รอด

ต้องกำหนดกลยุทธ์ย่อยเพื่อแก้ปัญหาหรือปรับตัวเองให้เดินไปในทิศทางที่เป็นเป้าหมาย แต่วันนี้ปัญหาหนักคือ มิติทางสังคมเมื่อเคลื่อนไปแล้วจะค่อนข้างเร็ว 3 ปีที่แล้วรัฐเป็นคนนำ แต่ปีที่ 4 รัฐต้องวิ่งตาม วันนี้ต้องดูแลให้คนในท้องถิ่นอยู่ในเส้นให้ได้ มิติการทำงานเปลี่ยนหน้าที่และบทบาท คนที่จะเห็นว่าแถวที่เดินนั้นตรงหรือเอียงก็คือคนที่เดินข้างหลังหรือคนสุดท้าย เพราะฉะนั้น ต้องเปลี่ยน solution เพื่อให้เห็นว่าแถวเดินตรงหรือไม่ บางครั้งผู้นำหรือรัฐก็ต้องถอยออกมา

อย่างวันนี้ จะมีการทำวิจัยใหม่เพื่อให้เห็นภาพการพัฒนาที่ชัดเจนขึ้น การวิจัย การเก็บข้อมูล เพื่อกลับมาดูตัวเองว่าที่เราเดินไป กระบวนการคิดภาคประชาชนยังเดินไปตรงกับเราหรือเปล่า นักท่องเที่ยวยังเห็นเหมือนเราหรือเปล่า ถ้าไมเหมือนเรามีอะไรไปปรับหรือเปล่า ทุกอย่างที่ทำต้องกึ่งวิชาการ การคิดเองฝันเองจะไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ถึงจุดหนึ่งจะไปไม่ได้หรือไม่ใช่ เช่น เห็นว่ามีคนมามาก แต่ถ้ามาเป็นพันคนแล้วกลับไปด่าทั้งพันคนก็เจ๊ง ต้องมีการตรวจสอบ

กรอบวิธีการทำงานตอนนั้นกับตอนนี้เปลี่ยนไป ถ้าเปรียบอัมพวาเป็นลูกบอล ปีแรกเราออกแรงผลักให้มันกลิ้ง เมื่อมันกลิ้งแล้ว วันนี้ต้องคอยปรับไม่ให้ตกขอบ ยิ่งมันหมุนไปอย่างเร็ว ถ้าไปเร่งให้หมุนอีกโอกาสจะตกขอบจะสูงขึ้น หน้าที่ตอนนี้คือยกขอบให้มันสูงขึ้นเพื่อให้ลูกบอลอยู่ในราง บางอย่างเร็วไปก็ไม่ดี ช้าไปก็ไม่ได้ ที่สำคัญคือองค์ความรู้ที่ยังเป็นปัญหาซึ่งต้องปรับให้ได้

มองการเปลี่ยนแปลงของที่อื่นอย่างไร

ร้อยโท พัชโรดม -จากที่เคยพูดคุยแลกเปลี่ยน หลายแห่งเริ่มมีปัญหา เช่น ตลาดร้อยปีที่สามชุก เมื่อคนเริ่มไปมากขึ้น การตั้งของขายหน้าร้านทำให้คนในบ้านไม่พอใจ กลายเป็นปัญหา อย่าลืมว่า กระบวนการคิดของคนเป็นพลวัต เมื่อก่อนคนในบ้านอาจจะไม่คิดว่าคนจะไปเยอะ แต่เมื่อคนเยอะความคิดเปลี่ยน ต้องยอมรับว่าคนมีกิเลสทำให้เกิดความขัดแย้ง หรืออีกเรื่องคือความแตกต่าง ขณะที่สามชุกเกิดขึ้นมาและดูแลมาตลอดโดยคณะกรรมการซึ่งเทศบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องมาก่อน แต่วันนี้เทศบาลกำลังจะเข้าไปทำให้เกิดความขัดแย้ง ขณะที่บางน้ำผึ้งเป็นการจัดการโดยอบต.ทั้งหมดมีการจัดระเบียบกำหนดกฎเกณฑ์การวางขายสินค้าไว้ล่วงหน้า และอัมพวาเกิดจากเทศบาลเป็นฝ่ายริเริ่ม แม้ว่าจะเป็นเรื่องตลาดน้ำเหมือนกัน แต่การจัดการต่างกัน

คนที่มาดูงานอยากมาดูเพื่อให้รู้ว่าทำอย่างไร แต่ส่วนใหญ่ดูไปแล้วรู้แค่ว่าอัมพวามีตลาดน้ำกับหิ่งห้อย แล้วก็จะกลับไปทำบ้าง เอาไปแต่เปลือกแต่ไม่ได้เอาแก่นความคิดไป มีคนมาดูบอกว่าที่บ้านเขามีหิ่งห้อยมากกว่าที่นี่อีก ผมก็ไม่ได้เถียง แต่โจทย์ผมไม่ได้อยู่ที่หิ่งห้อยมากหรือน้อย โจทย์คือการเข้าถึงต่างหาก เพราะถ้าการไปดูหิ่งห้อยยากลำบากเกินไป หรือต้องเดินทางหลายชั่วโมง ไปดูแค่15 นาที จะไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากพอ แต่ที่อัมพวาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไม่ไกล มาแล้วมีอาหารอร่อย บรรยากาศดี ได้นั่งเรือ มีโฮมสเตย์ราคาไม่สูง กินอิ่มหลับสบาย นี่คือภูมิสังคมที่ออกมาเป็นสูตรของแต่ละแห่งโดยตัวของมันเอง

โมเดลของความคิดคืออะไร

ร้อยโท พัชโรดม- โจทย์คือ สมุทรสงครามตามเป้าหมายสุดท้ายต้องไปสู่เวนิสตะวันออก แต่จะเป็นได้จริงต้องมาจากการที่นักท่องเที่ยวเป็นคนพูด เพราะฉะนั้น กิจกรรมย่อยที่มีพื้นฐานมาจากการเดินทางด้วยน้ำต้องเกิดขึ้นให้มากที่สุด ไม่ใช่แค่นั่งเรือไปดูหิ้งห้อย แต่ต้องมีอย่างอื่นอีก เช่น นั่งเรือไปเที่ยววัด นั่งเรือไปเที่ยวตลาดน้ำที่อื่นๆ ฯลฯ ถ้าตราบใดที่กิจกรรมอยู่บนถนนก็จะไม่ใช่เวนิสตะวันออก นี่คือแก่นของความคิด

เพราะฉะนั้น การทำตลาดน้ำฯ ก็เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาในพื้นที่ก่อน จากนั้นก็ผลักให้ลงน้ำคือนั่งเรือ เมื่อนั่งแล้วจะเห็นเมือง เห็นบ้านริมคลองที่สวยงาม เห็นมิติความหลากหลาย ถึงวันหนึ่งถ้าไม่มีหิ่งห้อย คนก็อยากจะนั่งเรือมากขึ้นทำให้เกิดสินค้าท่องเที่ยวใหม่ เพราะในอนาคตที่นี่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปแน่นอนจากกระแสการพัฒนาการใช้ที่ดิน แต่จะเร็วหรือช้าเท่านั้น แต่ชีวิตเราต้องอยู่เราจึงต้องปรับ

ที่อื่นควรจะคิดอย่างไรเพื่อให้ตอบโจทย์

ร้อยโท พัชโรดม- วันนี้เราเดินมาแค่ 10 ก้าวเท่านั้น สิ่งที่เราคิดมันใหญ่แต่สิ่งที่เราทำมันเล็ก หนังสือ Think Big บอกว่าคิดให้ใหญ่แต่ทำเล็ก เพราะส่วนใหญ่ที่คิดใหญ่แล้วทำใหญ่ก็เลยเจ๋ง เพราะสเกลที่ต้องเข้าไปจัดการมันเยอะมาก ถามว่าคิดใหญ่แล้วสิ่งที่คิดก็คือเวนิสตะวันออกแต่ทำเล็กคือตลาดน้ำ

อย่าลืมว่าที่นี่มี 30 กว่าอบต. วันนี้เคลื่อนไปแค่ 2 ตำบล เช่น ไปเที่ยวคลองโคนซึ่งอยู่บนเรือ ไปนั่งเรือไหว้พระ 9 วัด เที่ยวโดยเรือ นี่คือทุนทางภูมิศาสตร์ ที่นี่มี 300 กว่าคลองโดยธรรมชาติ และเชื่อว่าไม่มีจังหวัดไหนอยากแข่งด้วยการลงทุนขุดคลองมากขนาดนี้เพราะต้องใช้เงินมหาศาล และคนท้องถิ่นไม่ได้มีวิถีชีวิตอยู่กับน้ำหรือพายเรือไม่เป็น หมายความว่าให้ดูจากภูมิสังคมแล้วพัฒนาจากตรงนั้นขึ้นมา

แต่โจทย์ที่ยากคือ ส่วนใหญ่คนในพื้นที่ไม่เห็นตัวเอง ตอนเป็นนายกฯ ใหม่ๆ ชาวบ้านเสนอให้รถทัวร์วนเข้ามาในตลาดอัมพวา เพราะไม่เชื่อว่าจะมีคนมาเที่ยว และเห็นรถผ่านไปหัวหินไปชะอำ แต่ที่สำคัญคือต้องมีตัวตนไม่อย่างนั้นนักท่องเที่ยวไม่มา ความยากคือแม่ค้าหรือนักท่องเที่ยวมาก่อน จะทำอย่างไรให้ลงตัว

ผู้บริหารท้องถิ่นต้องคิดเหมือนผู้บริหารประเทศ ต้องคิดทุกมิติทั้งการคลังจะหางบประมาณมาจากที่ไหน มิติพาณิชย์จะส่งเสริมการลงทุนอย่างไร ฯลฯ เรามองว่าถ้ามีคนจ่ายค่าที่พักในอัมพวาในราคาคืนละ 1 หมื่นบาทได้ เขาจะใช้จ่ายวันละเท่าไร หมายความว่าอีกมิติที่เรามองคือคุณภาพนักท่องเที่ยว เพราะมองการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า เพราะคน 10 คนเข้ามาอาบน้ำคนละ 10 ลิตร จะมีน้ำเสีย 100 ลิตร

วิธีบริหารจัดการที่ใช้ได้ผล

ร้อยโท พัชโรดม -เปรียบอัมพวาเหมือนบริษัท มีชาวบ้านเป็นหุ้นส่วนบริษัท แต่ละคนทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ชาวบ้านเป็นฝ่ายผลิต ข้าราชการอาจจะเป็นฝ่ายบุคคล ผู้บริหารกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ และการขาย เพื่อให้การประสานงานกันของบริษัทไปได้ด้วยดี ไม่เช่นนั้นอาจจะผลิตไม่พอขาย หรือผลิตได้มากแต่ขายไม่ออก วันนี้ผมอาจจะเป็นซีอีโอของบริษัทอัมพวา แต่วันหนึ่งอาจจะถูกปลดจากผู้ถือหุ้นคือชาวบ้าน

ถ้าตัวชี้วัดคือเรื่องของมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม วันนี้ถือว่าโอเค แต่ถ้าถามถึงความยั่งยืนยังอีกไกล นี่คือโจทย์ใหญ่ สิ่งที่ทำให้เราสำเร็จได้ คือการมีส่วนร่วม มองชาวบ้านเป็นหุ้นส่วนเมื่ออัมพวาเติบโตจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ลูกหลานอยู่ดีกินดีขึ้น ยอมรับว่าการขึ้นมาได้นั้น ชาวบ้านก็คาดหวังให้นโยบายที่บอกไว้ทำได้จริง แต่ที่สำคัญคือชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการทำ เพราะผมทำคนเดียวไม่ได้และเขาเลือกผมมา

ที่สำคัญเรื่องแรกคือการทำให้ชาวบ้านยอมรับ ไม่ได้ทำให้เชื่อแต่ทำให้คิด เพียงแต่ไกด์ให้ เพราะถ้าเราคิดเราต้องทำ หรือถ้าคิดอะไรแล้วไม่ยุติธรรม เราต้องทำให้ยุติธรรมทุกอย่าง และให้น้ำหนักกับกลุ่ม เพราะถ้ามี 10 กลุ่มจะมีคนทำงาน 10 คน แต่ถ้าให้น้ำหนักกับคนจะมีคนทำงานคนเดียว เพราะฉะนั้น กลุ่มต้องมาก่อน ถ้ามีความขัดแย้งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะในครอบครัวเดียวกันยังคิดต่างกันแต่อยู่กันได้ แต่ความขัดแย้งจะนำไปสู่วิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา แต่บางทีสังคมไทยไม่สอนให้คิดแตกต่าง ถ้าผู้นำคิดผิดก็พากันลงเหว

สำหรับที่นี่กระบวนการมีส่วนร่วมเกิดขึ้นมากมาย เช่น การเลือกประธานกลุ่มร้านค้าแผงลอย มีชาวบ้านไปเลือกมากเพราะกลัวว่าจะไม่มีคนทำงาน สำหรับบทบาทความเป็นผู้นำของนายกฯ ไม่ได้หมายความว่าต้องไปยืนข้างหน้าตลอด แต่ยืนให้เหนือออกไป ในบทบาทของการเป็นพี่เลี้ยง เพราะเมื่อติดปัญหาชาวบ้านจะคิดถึงและเข้ามาหาได้ตลอด

ประเทศไทยสับสนระหว่างคำว่าปกครองซึ่งหมายถึงการสั่ง กับบริหารซึ่งหมายถึงการระดมพลังความคิด เพราะการทำอย่างไรให้คนคิดและร่วมกันทำจะประสบความสำเร็จมากกว่าการบอกให้ทำ ซึ่งถ้าไม่ทำจะถูกไล่ออก การทำนั้นไม่ได้ทำอย่างเต็มความสามารถเพราะไม่มีใจให้กับองค์กร

บริษัทนี้ไม่ได้กำไรสูงสุดแต่หวังว่าจะมีอายุ 100 ปี ความยั่งยืนสำคัญ โดยทำอย่างมุ่งมั่นและรับผิดชอบ เพราะยิ่งเขาไว้ใจเรายิ่งต้องรับผิดชอบ ส่วนผลจะออกมาอย่างไรเป็นอีกเรื่อง เพราะถ้าเราทำจริงแล้วไม่สำเร็จเชื่อว่าชาวบ้านจะเห็นใจ

มีสูตรสำเร็จหรือไม่

ร้อยโท พัชโรดม -มิติการทำงานเป็นพลวัตไม่มีสูตรสำเร็จ จริงๆ ปัญหาเป็นตัวสร้างประสบการณ์ให้สังคม และต้องให้สังคมช่วยสร้าง solution เพื่อแก้ปัญหา เช่น คนมาเที่ยวอัมพวา 1 พันคน หรือ 1 หมืนคน หรือ 1 แสนคน จะทำให้เกิดปัญหาแน่นอน แต่ปัญหาที่เกิดนั้นต่างกัน เป้าหมายในการมาเที่ยวต่างกัน เช่น บางคนชอบความเงียบชอบธรรมชาติ บางคนชอบคาราโอเกะ จะบอกว่าอะไรผิดถูกไม่ได้ และนักท่องเที่ยวที่มามาพร้อมอาชญากรรมเพราะเราไม่รู้ว่าคนที่มาเที่ยวมาเพราะอะไร

วันนี้ต้องถามตัวเองว่ามาเกินความสามารถในการรองรับหรือไม่ ถ้ามาเดือนละ 4 หมื่นคน ปีหนึ่งก็ 4.8 แสนคน จังหวัดสมุทรสงครามนี้มีประชาชากร 1 แสนกว่าคนเท่านั้น แต่กระบวนการจัดการเข้าไปเมื่อไรก็ไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่บางเรื่องเกิดเร็ว เช่น ปี 2548 ที่อัมพวามีรถหาย 3 คัน แต่ติดกล้องได้ในปี 2549 หรือรถมาหลายพันคันทำให้ที่จอดไม่พอ กว่าจะสร้างต้องรองบประมาณและกว่าจะเสร็จอีกหลายปี เร็วสุด 4 ปี บางปัญหาแก้ไม่ได้ทันที ที่สำคัญปัญหาที่ไม่คาดคืออัตราการเติบโตก้าวกระโดดเกินคาด

มองปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างไร

ร้อยโท พัชโรดม -อย่างไรก็ตาม เรื่องการท่องเที่ยวอย่าคิดเรื่องเม็ดเงินก่อน แต่มองความสมดุลเพื่อค่อยๆ แก้และปรับแล้วเพิ่ม เหมือนแบกข้าวค่อยๆ เพิ่มวันละนิด ซึ่งวันนี้ไม่สื่อให้คนมาเหมือนช่วงแรกๆ แต่สื่อให้เที่ยวอย่างเข้าใจ ที่สำคัญคือ มีการพูดถึงว่าเป็นปัญหาเพราะดีกว่าไม่รู้ว่าคือปัญหา

วิธีมองปัญหา มองทั้งระบบว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เช่น พูดถึงเรือหิ่งห้อยว่าบริการไม่ดีหรือเสียงดัง ถามว่าปัญหาเกิดจากอะไร ถ้าคนพื้นที่ไม่รู้จักการท่องเที่ยวดี มองแต่เงิน รัฐต้องให้ความรู้ ซึ่งผู้ประกอบการเรือด้วยกันจะรู้ว่าเรือลำไหนไม่ดี จะต้องเป็นคนบอกออกมา รัฐจะเข้าไปจัดการให้ นี่คือโซลูชั่น

อะไรที่มีผลประโยชน์ก็จะเกิดปัญหาได้ แต่สุดท้ายคนที่ได้ผลประโยชน์ต้องมีส่วนรับผิดชอบ เช่น มีการประชุมตอนรถหาย เชิญเจ้าของท่าเรือ 11 ท่า ชมรมร้านค้าแผงลอย และตำรวจมาร่วมประชุมหาทางแก้ ไม่ใช่ปล่อยเป็นหน้าที่ตำรวจเพราะเขาอยากอยู่กับครอบครัวในวันหยุดเหมือนกัน ต้องเริ่มจากผู้ประกอบการด้วยกันเอง ต้องหาทางอยู่ร่วมกันให้ได้ คนในเมืองนี้อยากเป็นอะไรอยู่ที่เขา ไม่ได้อยู่ที่นายกฯ โซลูชั่นอยู่ที่วิธีการคือการนำคนที่เกี่ยวข้องมาสร้างกติกา ผู้นำมีหน้าที่เป็นกรรมการ

แต่ในกรณีของเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจ วันนี้เรานำปัญหาขึ้นมาว่าอยู่ในระดับจังหวัด ต้องแยกคนดีออกมา เพราะเชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ดี คัดส่วนที่ดีด้วยกระบวนการเพื่อแก้ปัญหา ไม่อย่างนั้นแก้ไม่ได้ เช่น ปัญหาเรือหิ่งห้อย มีการประชุมท่าเรือ 11 ท่ามา 3 -4 รอบ ให้กำหนดมาตรฐานตัวเอง สร้างกติกา มีหมายเลข มีชื่อ มีกระบวนการตรวจสอบ แล้วทำประกาศออกมา แล้วบอกว่าถ้ามีการร้องเรียนจะต้องถูกเอาผิด และบีบให้เรือที่มีปัญหามาเข้าระบบ

เมื่อประชาสัมพันธ์เรือมาตรฐานแล้ว ถ้านักท่องเที่ยวใช้บริการเรือไม่ได้มาตรฐาน ความผิดก็ต้องอยู่ที่นักท่องเที่ยว ไม่ใช่อยู่ที่เราเพราะเราบอกแล้ว เป็น 3 เหลี่ยมที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันคือ นายกฯ เรือหิ่งห้อย และนักท่องเที่ยว วิธีคิดแก้ปัญหาด้วยการคิดระบบที่จะแก้ ถ้าคิดจับไม่มีวันจบ

วันนี้มิติของปัญหาซับซ้อนขึ้น กรอบของปัญหาใหญ่ขึ้น บางปัญหาใหญ่ต้องใช้เวทีอื่น เมื่อไม่สามารถใช้งบประมาณท้องถิ่นแก้ปัญหาที่อยู่นอกอัมพวาต้องหาวงนอกมาช่วย เช่น ในฐานะประธานชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นมิติของเอกชนเพื่อนำปัญหาขึ้นไปสู่ระดับจังหวัด หรือพันธมิตรวงนอกที่จะเข้ามาช่วย เช่น การสร้างมาตรฐานอาหารด้วยการให้ร้านกำปั่นมาเป็นตัวอย่าง หรือการใช้งบประมาณจากอีลิทการ์ดเพื่อช่วยพัฒนาการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ต้องใช้หลักการมีส่วนร่วม

การเติบโตเร็วทุกคนอยากกระโดดลงมา แต่มองคนละมิติ ถ้าส่วนใหญ่มองผิดก็ต้องแก้ไข วิธีมองปัญหาสำหรับการพัฒนาต้องมองภาพรวม ปัญหานั้นเป็นของคนส่วนใหญ่หรือไม่กี่คน เมื่อปัญหาคือกระบวนการให้ความรู้ภาคประชาชน ซึ่งมีความรู้ในระดับต่างกัน กลุ่มผู้ประกอบการคือเป้าหมายเพื่อจะได้ไปขยายผลต่อ กลุ่มแม่ค้า กลุ่มเรือหิ่งห้อย ทุกกลุ่มมีความคิดของตนเอง และมีส่วนที่ซ้อนๆ กันอยู่ แต่มองไปในจุดเดือนกันคือจังหวัดสมุทรสงคราม

ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบการที่พักซึ่งวันนี้มีอยู่ 200 ราย ถ้าผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าใจและให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวในเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น การเลือกส่งนักท่องเที่ยวไปเรือหิ่งห้อยที่ดี บอกให้นักท่องเที่ยวเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวที่ดี การบอกนักท่องเที่ยวว่าไม่ต้องขับรถเพราะมีรถโดยสารสะดวกหรือไปทางเรือดีกว่ารถจะได้ไม่ติด หรือบอกนักท่องเที่ยวเรื่องขยะ-น้ำเสีย

หรือปัญหาด้านสินค้า หาพันธมิตรมาช่วยพัฒนาผู้ประกอบการร้านค้าแผงลอย เช่น ตัวผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ความปลอดภัยในอาหาร การให้ความรู้อยู่ตลอดเวลาทำให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น และบางทียังได้โซลูชั่นจากคนนอกที่มองเข้ามา จะทำให้สามารถแก้ปัญหาในมิติต่างๆ ได้มากมาย

อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการไปสู่เป้าหมาย

ร้อยโท พัชโรดม- ปัญหาในวันนี้คือความคาดหวังจากนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวผลักให้ผู้ประกอบการเปลี่ยน เพราะในความเป็นจริงผู้ประกอบการต้องเรียนรู้จากนักท่องเที่ยว แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องทำทุกอย่างที่นักท่องเที่ยวต้องการ สิ่งที่พยายามบอกคือ ถ้าเราจะขายวิถีชีวิตหรือตัวตนของคนอัมพวา เช่น ถ้าเคยถอดรองเท้าเข้าบ้านก็ไม่จำเป็นต้องให้นักท่องเที่ยวใส่เข้าบ้าน หรือถ้านักท่องเที่ยวอยากได้คาราโอเกะก็ไม่จำเป็นเพราะจะเสียงดังแล้วคนที่นี่จะทะเลาะกันเอง

วิธีคิดนี้ยังตอบไม่ได้ว่าถูกหรือไม่ ใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีเรื่องการท่องเที่ยวคนอัมพวาก็ดีขึ้น แต่ถึงแม้จะไม่มีการท่องเที่ยว คนอัมพวาก็จะต้องอยู่รอด เพราะเรามองเป็นอาชีพเสริม จนกระทั่งเมื่อเก่งพอที่จะแข่งกับคนข้างนอกจึงจะเป็นอาชีพหลัก ไม่อย่างนั้นเจ๋ง สิ่งที่ฝันคือเมื่อไรเป็นผู้ขายที่คุมผู้ซื้อได้ก็จะสบาย เพราะไม่ได้ต้องการ นักท่องเที่ยวที่เป็นแมส แต่เป็นนิช ในภาพรวมเคลื่อนไปค่อนข้างดี ถ้าไกด์ได้ถูกทางชาวบ้านจะรับได้เร็ว เราสร้างกติกาที่จะอยู่ร่วมกัน

การทำงานต้องมองปรัชญาก่อน แต่ปรัชญาไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไร แต่เป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าเราจะต้องไปทางนั้น ปรัชญาคือกระบวนการมีส่วนร่วม ปรัชญาของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนคือทุกคนในเมืองนี้มีส่วนร่วม ส่วนรูปแบบวิธีการเป็นเรื่องปลีกย่อย เช่น การให้คนพื้นที่เป็นเจ้าของไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้าจากที่อื่น การมีเทศกิจและการขอใบอนุญาตเพื่อปกป้องชาวบ้านที่นี่ คนเมืองนี้ไม่อยากให้เกิดน้ำเสียไม่ว่าจะมีนักท่องเที่ยวหรือไม่ เพราะฉะนั้น คนที่จะเป็นผู้ประกอบการที่ดีที่สุดคือคนที่นี่

การเป็นเวนิสตะวันออก ถ้าเป็นจิ๊กซอว์ตอนนี้มีอยู่แล้ว 3 ชิ้นคือ ตลาดน้ำ หิ่งห้อย และไหว้พระทางน้ำ ส่วนที่เหลือจะเป็นอะไร ยังตอบไม่ได้ แต่ที่ต้องมีแน่ๆ คือแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำต้องมีเยอะ ที่พักริมน้ำต้องมีเยอะ เรือให้บริการหรือเรือแท๊กซี่ต้องมีมาก แต่ต้องมองมิติและความเป็นไปได้ทางยุทธศาสตร์ด้วย เช่น วันนี้จะผลักดันให้เรือด่วนเจ้าพระยามาทำเรือแท๊กซี่ไม่ได้ เรื่องอย่างนี้รัฐทำไม่ได้ ต้องเป็นกึ่งรัฐกึ่งเอกชน

อัมพวาจังหวะนี้ ต้องหันมาส่องกระจกดูตัวเองเพื่อจะเดินต่อ หมายถึงเติมความรู้และทักษะในการแข่งขัน มาดูปัญหาที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เปรียบเป็นบริษัทเมื่อรุกไปมากๆ วันนี้ต้องเหลียวกลับมา แต่จริงๆ ต้องมองตัวเองตลอดเวลาว่าขีดความสามารถมีแค่ไหน วันนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะไปค้าขายต่างประเทศกันทุกคน แต่ถ้าวันหนึ่งมีความพร้อมก็สามารถจับมือกันไปได้

ได้อะไรจากการมาอยู่ในจุดนี้

ร้อยโท พัชโรดม- 4 ปีนี้ได้บ้านที่ดีขึ้น เพราะผมเป็นคนอัมพวา เมื่อผมตายไปลูกผมก็ยังอยู่อัมพวา หลานผมยังอยู่อัมพวา ทำให้ทุกคนมีโอกาสอยู่ในบ้านที่ดี แค่นั้นพอ การที่จะได้มาทำงานต่อหรือไม่ ประชาชนเป็นคนประเมิน การบ้านแรกคือก่อนที่จะมารับตำแหน่งคือกำหนดนโยบายต่างๆ และ 3 ปีที่ผ่านมาคือสิ่งที่ได้ทำการบ้าน ส่วนวันที่ 31 มกราคม 2551 คือวันสอบ ถ้าเดือนเมษายน 2551 ได้กลับมาอีกครั้งแปลว่าสอบผ่านจะมาทำงานต่อตามนโยบายและเป้าหมายใหม่

การทำงานระดับภาพใหญ่หรือเล็กก็ตาม ประเทศชาติจะเกิดความยั่งยืนได้ ถ้าเรามองว่าประเทศไทยแบ่งเป็นหน่วยย่อยๆ คือมี 7-8 พันองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยย่อยๆ ของขวานเล่มนี้ ถ้าเป็นเหล็กกล้าอยู่ถึง 60-70% จะทำให้ขวานเล่มนี้เข้มแข็ง เป็นความเข้มแข็งที่ได้จากครอบครัวและชุมชน ไม่ใช่จากรัฐบาล เป็นการกำหนดเป้าหมายทิศทางและเดินไป แต่ที่สำคัญคือบนขาของเราเอง บนทุนของสังคม ซึ่งจริงๆ คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ที่ให้ถอดเป็นการกระทำออกมากันเองเพราะไม่ได้บอกวิธีทำ ตราบใดที่อยากได้คำตอบ 10 มีหลายวิธีที่ทำให้ได้ ขึ้นกับแต่ละคน
กำลังโหลดความคิดเห็น