หน่วยงานภาครัฐจับมือหนุนอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ขยายการผลิตเครื่องจักรต้นแบบสู่เชิงพาณิชย์ ระบุปีที่ผ่านมา ช่วยลดการนำเข้ากว่า 60,000 ลบ. และปรับปรุงเครื่องล้าสมัยให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ระบุหนุนให้สานต่อโครงการต่อเนื่อง
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมเครื่องจักรกลไทย และสถาบันไทย-เยอรมัน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมให้เอกชนไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผลิตเครื่องจักรต้นแบบงานอุตสาหกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งในปี 2550 ที่ผ่านมา ประสบผลสำเร็จหลายตัว ได้แก่ เครื่องทำแห้งเยือกแข็งสูญญากาศ (Vacuum Freeze Dryer) เครื่องตัดวัสดุด้วยน้ำแรงดันสูง หรือ Water Jet Cutting Machine เครื่องจักรกลระบบ CNC 5 แกน เครื่องพิมพ์สำหรับบรรจุภัณฑ์ Modular Unit เป็นต้น ทั้งนี้ จะช่วยทดแทนการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง จากที่ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าเครื่องจักรเหล่านี้ถึงกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังปรับปรุงเครื่องจักรล้าสมัยที่มีจำนวนมากกว่า 80,000 เครื่อง ให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายโฆสิต กล่าวต่อว่า น่าภาคภูมิใจที่คนไทยสามารถพัฒนาขีดความรู้ ความสามารถ ในการผลิตเครื่องจักรขึ้นเองได้ ซึ่งในอนาคตประเทศไทยอาจไม่ต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศแล้ว หากยังมีการพัฒนาศักยภาพของเครื่องจักรกลอย่างต่อเนื่องให้ประสิทธิภาพทัดเทียมกับต่างชาติ ซึ่งนั่นก็หมายความว่านอกจากรัฐบาลเองจะสามารถลดการสูญเสียเม็ดเงินที่จะต้องนำเข้าเครื่องจักรกลจากต่างประเทศแล้ว ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเครื่องจักรกลถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทุกประเภท และมีผลต่อเนื่องไปถึงการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและภาคเกษตรด้วยนั่นเอง