xs
xsm
sm
md
lg

‘ภญ.สุภาภรณ์’ ผู้สร้างตำนาน “อภัยภูเบศร” สมุนไพรเพื่อชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ วันนี้ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร “อภัยภูเบศร” ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างสูง ต่างกับเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว การใช้สมุนไพรไทยรักษาโรคแผนปัจจุบันยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก ทว่า ความมุ่งมั่นของ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร พัฒนาให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร “อภัยภูเบศร” ก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าว รวมถึง เป็นหัวหอกสำคัญในการพัฒนาวงการสมุนไพรไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล


สำหรับที่มาของสมุนไพร “อภัยภูเบศร” ต้องย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ในเวลานั้น คือ เภสัชกรหน้าใหม่ จากรั้วมหิดล วัยเพียง 20 ปีต้นๆ แต่เลือกมาประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ต.ท่างาม จ.ปราจีนบุรี แทนที่จะอยู่ในเมือง ด้วยสำนึกอยากช่วยเหลือสังคมชนบท

และด้วยบทบาทเภสัชกรทราบดีว่า ในแต่ละปีประเทศไทยต้องผูกขาดนำเข้ายารักษาโรคจากต่างชาติหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเธอให้นิยามว่าเป็นการล่าเมืองขึ้นของโลกยุคใหม่ ทางรอดของประเทศ จำเป็นต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ โดยนำภูมิปัญญาไทยกลับมาสู่วิถีชีวิต ผ่านการพัฒนาสมุนไพรไทยทดแทนยานำเข้า

“ประมาณปี 2526 เราเริ่มจากสมุนไพรง่ายๆ รักษาโรคพื้นฐาน เช่น เสลดพังพอนรักษาโรคเริม แล้วนำไปส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้จักพึ่งตัวเอง ไม่ต้องกินยาต่างชาติ กระทั่งปี 2529 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ซึ่งโรงพยาบาลได้เริ่มวิจัยและผลิตยาสมุนไพรขึ้นใช้เองในโรงพยาบาล” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ เผย

อย่างไรก็ดี การผลิตยาดังกล่าว ไม่ได้หวังผลการค้า สิ่งสำคัญอยากให้ชาวบ้านได้ใช้ยาราคาถูก กระทั่ง ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เกิดการเลิกจ้าง ชาวบ้านที่ตกงานจำนวนมาก ขอร้องซื้อยาสมุนไพรไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ ทางโรงพยาบาลเวลานั้น เห็นว่า เป็นโอกาสดีในการเผยแพร่สมุนไพรไทย รวมถึง ช่วยเหลือสังคม จึงเริ่มผลิตภัณฑ์จำหน่าย โดยใช้กลยุทธ์ขายขาด ในอัตรา ซื้อ 3,000 บาท ลดให้ 30% เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ยาในราคาเหมาะสม ต่างกับยาต่างชาติที่ตั้งราคาบวกจากต้นทุนกว่า 100-200%

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ อธิบายต่อว่า เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักไม่ได้หวังผลการค้า การดำเนินธุรกิจจึงเป็นรูปแบบมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร รายได้ 70% จะมอบให้แก่โรงพยาบาล อีก 30% นำไปพัฒนาสมุนไพร และทำประโยชน์เพื่อสังคม

ทั้งนี้ ยังมีภารกิจหลักอีกประการของมูลนิธิ คือ การสร้างรายได้ สร้างงานให้ชุมชน ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกได้เข้าส่งเสริมให้ชาวบ้านชุมชนบ้านดงบัง จ.ปราจีนบุรี ปลูกพืชสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อป้อนวัตถุดิบสมุนไพรให้โรงพยาบาลนำไปแปรรูปเป็นยา

ผู้บุกเบิกสมุนไพร “อภัยภูเบศร” เล่าต่อว่า ชุมชนดังกล่าวเดิมมีฐานะยากจน แต่ปัจจุบัน การปลูกสมุนไพรช่วยให้สมาชิกกลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง กว่า 90 คน มีฐานะมั่นคง และนอกจากอาชีพหลักการปลูกสมุนไพรเชิงอินทรีย์แล้ว มูลนิธิยังส่งเสริมให้ชาวบ้านพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว เช่น ชาวบ้านเรียนรู้พัฒนาการจัดเก็บผลผลิต แปรรูปผลิตภัณฑ์ในชื่อตัวเอง เสริมกิจกรรมหมู่บ้านท่องเที่ยวสมุนไพร ฝึกอบรมนวดไทย เป็นต้น

นอกจากบ้านดงบังแล้ว มูลนิธิ ได้ไปสร้างอาชีพปลูกพืชสมุนไพรให้แก่กลุ่มอื่นๆ เช่น มหาสารคาม กบินทร์บุรี 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มผู้พิการ เป็นต้น รวมแล้วมีสมาชิกกว่า 400-500 คน

“หลายคนเคยตั้งคำถามว่า ทำไมถึงกล้าลงทุนกับชาวบ้าน ทั้งที่จะมีปัญหาตามมาสารพัด เฉพาะแค่ให้เขาเปลี่ยนจากปลูกพืชโดยใช้สารเคมีมาเป็นแนวอินทรีย์ก็ลำบากมากแล้ว ซึ่งคำตอบต้องย้อนกลับมาที่วัตถุประสงค์หลัก เราไม่ได้หวังกำไรสูงสุด แต่อยากให้สังคมไทยพึ่งพาตัวเองได้ โดยนำภูมิปัญญาไทยกลับมาสู่วิถีชีวิต ประกอบกับเมื่อดิฉันลงไปคลุมคลีกับชาวบ้าน จะเห็นได้ถึงความตั้งใจที่บริสุทธิ์ และความพยายามของเขาที่ต้องการเรียนรู้ ก็เป็นแรงกระตุ้นให้เรายึดแนวทางนี้ไว้ ทว่า ในการส่งเสริมใดๆ ก็ตาม ต้องให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต และทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ อธิบาย

กระนั้นก็ดี เธอยอมรับว่า การบริหารงานกลุ่มชาวบ้านเป็นปัญหาที่หนักหนาที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ผลิตตามมาตรฐาน ส่งวัตถุดิบได้ตรงตามกำหนด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องพัฒนากันต่อไป

สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร “อภัยภูเบศร” มี 5 กลุ่ม คือ ยาจากสมุนไพร อาหารสมุนไพร เครื่องดื่มสมุนไพร เครื่องสำอางสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมทั้งหมดมีกว่า100 รายการ ส่วนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่นั้น จะดูตามความต้องการของสังคม ประกอบกับพิจารณาจากพืชที่มีศักยภาพ

ด้านการตลาดผ่านช่องทาง เช่น ร้านภายในโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น ยอดขายสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยล่าสุดปี 2550 นี้ กว่า 120 ล้านบาท


เธอ ทิ้งทายโดยระบุแนวคิดในการทำงานของตัวเองว่า ทุกคนล้วนมีความรู้ ความสามารถแตกต่างกันไป ถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองในจุดเล็กๆ ให้ดีที่สุด และเผื่อแพร่แก่คนรอบข้าง คนตัวเล็กๆ ก็สามารถเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ได้ ไม่ต้องรอจนมีอำนาจหรือยิ่งใหญ่ก่อนแล้วค่อยทำ



ชื่อ : ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร อายุ 47 ปี
รางวัลส่วนตัว : บุคคลเกียรติยศผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (โอทอป) ประจำปี 2550
รางวัลจากการดำเนินโครงการ :
รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2547
รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวดีเด่นปี 2545
รางวัลโครงการดีเด่นของชาติ ประจำปี 2545
รางวัลสมุนไพรไทยคุณภาพ ประจำปี 2544
ฯลฯ

กำลังโหลดความคิดเห็น