4 พันธมิตรจับมือลุยโครงการฟาร์มเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อต้นแบบเชิงพาณิชย์ สร้างอาชีพให้ชาวประมงโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ ชี้ผลตอบแทนสุดคุ้ม ลงทุนยูนิตละ 2.5 – 3 ล้านบาท ได้ผลตอบแทน 3-4 แสนบาทต่อเดือน คืนทุนได้ภายใน 2.5 ปี ระบุตลาดต้องการสูง ขายตัวละ 80 บาท หรืออย่างต่ำกิโลละ 1,200 บาท ขณะที่มูลค่าตลาดยังต้องการอีกไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน ทั้งลูกค้าในและต่างประเทศ
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวระหว่างที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการฟาร์มเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อต้นแบบเชิงพาณิชย์ บ้านดาโต๊ะ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง 4 พันธมิตร ได้แก่ จ.ปัตตานี สหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามปัตตานี สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมอาชีพให้แก่ชาวประมงใน จ.ปัตตานี และใกล้เคียง เนื่องจากในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา สัตว์น้ำทะเลต่างๆ ถูกจับจนลดปริมาณลงอย่างมาก จึงเกิดแนวคิดทำฟาร์มเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อต้นแบบ เพราะพื้นที่ในภาคใต้ของไทย มีความเหมาะในการเลี้ยงฯ ซึ่งท้องตลาดมีความต้องการสูง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน และไต้หวัน ที่นิยมรับประทานอย่างสูง
อย่างไรเสีย การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสูง ดังนั้น ทางสถาบันการศึกษาอย่างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเข้ามาช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนา ขณะที่ทาง สสว. ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินงาน
นายปิยะบุตร เผยต่อว่า โครงการดังกล่าวดำเนินงานมากว่า 2 ปีแล้ว มีผลพอใจพร้อมเปิดโอกาสให้ชาวประมงได้นำรูปแบบจากฟาร์มเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อต้นแบบดังกล่าว ไปต่อยอดใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยมีอัตราการลงทุน ยูนิตละประมาณ 2.5 – 3 ล้านบาท สำหรับ 1 ยูนิตจะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อได้ ประมาณ 60 ถัง หรือประมาณ 50,000 ตัว ให้ผลผลิต 300 กิโลกรัมต่อเดือน หรือ 3-4 แสนบาทต่อเดือน หักค่าใช้จ่ายๆ แล้วสามารถคืนทุนได้ภายใน 2.5 ปี และหากเพาะเลี้ยงหลายยูนิตต้นทุนจะลดต่ำลงด้วย
ส่วนด้านการตลาดหอยเป๋าฮื้อในปัจจุบัน มีมูลค่ารวมมากกว่าหมื่นล้านบาท ราคาขั้นต่ำที่รับซื้อกัน อยู่ที่ กิโลกรัมละ 1,000 - 1,200 บาท หรือเฉลี่ยที่ตัวละ 80 บาท ซึ่งความต้องการของตลาดยังมีสูงมาก ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน ซึ่งเลี้ยงได้ 8 ล้านตันต่อปี ก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจของชาวประมงไทย จะมาลงทุนธุรกิจนี้ โดยนำฟาร์มเลี้ยงหอยเป๋าดังกล่าวไปเป็นต้นแบบในการทดลองเลี้ยง ซึ่งจะมีทั้งนักวิชาการของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ของ สสว. เป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินธุรกิจ
ด้าน ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า ฟาร์มต้นแบบดังกล่าว นอกจากมีประโยชน์ด้านเชิงการค้าแล้ว ยังเป็นฟาร์มต้นแบบในเชิงเทคโนโลยี สามารถเพาะเลี้ยงได้โดยเป็นมิตรกับธรรมชาติ ช่วยอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ อีกทั้ง สามารถควบคุมการผลิต และต้นทุนได้ด้วย ไม่ให้ผลผลิตขาดช่วง หรือไม่ออกมากจนสินค้าล้นตลาด
ทั้งนี้ การเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ ต้องใช้เวลาประมาณ 8 เดือนก่อนที่จะเก็บขายได้ โดยการดำเนินงานของฟาร์มต้นแบบได้นำพ่อแม่พันธุ์หอยเป๋าฮื้อมาจากเกาะสีชัง และเพาะพันธุ์จนสามารถจะออกจำหน่ายผลผลิตงวดแรกได้แล้วในเดือนธันวาคม 2550 นี้
สำหรับผู้สนใจจะมาร่วมทำธุรกิจนี้ สามารถติดต่อได้ที่หน่วยงานพันธมิตรทั้ง 4 แห่งดังกล่าว เช่น สสว. ที่เบอร์ 02-278-8800 ซึ่งเชื่อว่า ธุรกิจนี้ มีอนาคตอย่างสูง เพราะตลาดในและต่างประเทศ มีความต้องการสูง และด้วยเทคโนโลยีที่ร่วมกันพัฒนาขึ้น ประกอบกับการเลี้ยงที่ต้องใช้เวลานานกว่า 8 เดือน ทำให้สามารถคุมการผลิต และกำหนดราคาให้อยู่ในระดับสูงได้สม่ำเสมอ
ทั้งนี้ การทำฟาร์มหอยเป๋าฮื้อควรต้องมาเลี้ยงในพื้นที่ภาคใต้ เพราะความเหมาะสมของสภาพน้ำ ซึ่งเชื่อว่า ความน่าสนใจในการลงทุนจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเสริมเศรษฐกิจในภาคใต้ตอนล่าง อันจะช่วยสร้างความสงบสุขใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย
ด้านนายแวดาโอ๊ะ แวดอเลาะ กรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามปัตตานี เผยว่า ปัจจุบัน สหกรณ์ฯ มีสมาชิกกว่า 30,000 คน ซึ่งการส่งเสริมอาชีพช่วงเริ่มต้นนั้น จะคัดเลือกเฉพาะสมาชิกที่มีความเข้มแข็งก่อน เพื่อให้เป็นต้นแบบในการทำธุรกิจ หลังจากนั้น จะขยายการสร้างอาชีพสู่สมาชิกรายอื่นๆ ให้ทั่วถึงต่อไป