“ป่านศรนารายณ์” หรือ SISAL เป็นไม้ทรงพุ่ม เรียวยาวคล้อยหอก ปลายใบมีหนาม ต้นกำเนิดที่ประเทศเม็กซิโก โดยหลวงอรินทร์ชาติสังหาร นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และได้ขยายพันธุ์แจกจ่ายให้ชาวบ้านในจังหวัดใกล้เคียง ปลูกเป็นไม้ประดับ และแปรรูปเป็นเชือกสมอเรือ
และด้วยสายพระเนตรยาวไกลของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เล็งเห็นว่าเส้นใยจากป่านศรนารายณ์ มีคุณสมบัติเส้นใยเหนียว แข็งแรง และทนทาน เหมาะสมจะนำเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรม นำมาสู่การเปิดโอกาสให้แม่บ้านกลุ่มเล็กๆ ในชุมชนหุบกะพง ต.เขาใหญ่ จ.เพชรบุรี ได้เรียนรู้งานหัตถกรรมจากป่านชนิดนี้ จนปัจจุบัน ผลงานนี้ขึ้นชั้นสินค้าเด่นประจำจังหวัด และก้าวไกลไปสู่ต่างแดน
อารยา เดื่อมขันธ์มณี ประธานกลุ่มสตรีจักสานป่านศรนารายณ์ หุบกะพง จ.เพชรบุรี เล่าย้อนเหตุการณ์ในเวลานั้นให้ฟังว่า เดิมชาวบ้านมีอาชีพทำนาเป็นหลัก กระทั่งปี 2517 สมเด็จพระนางเจ้าฯ มีพระราชกระแสรับสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมส่งเจ้าหน้าที่เข้าสอนงานหัตถกรรมจากป่านศรนารายณ์แก่ชาวบ้านในชุมชน เพื่อเป็นรายได้เสริม เพราะเห็นว่า เป็นแหล่งปลูกพืชชนิดนี้จำนวนมากนับพันไร่
“เริ่มแรกมีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มแค่ 10 คน โดยเริ่มทำแบบง่ายๆ เป็นอาชีพเสริมหลังการทำนา ซึ่งหน่วยงานภาครัฐหลายๆ แห่ง เช่น กรมพัฒนาชุมชน ได้พาไปออกงานแสดงสินค้าต่างๆ จึงมีคำสั่งซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มรวมตัวทำกันอย่างจริงจัง ถึงปัจจุบัน กลายเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนแล้ว” อารยา เผยที่มาของกลุ่ม
จุดเด่นของงานหัตถกรรมป่านศรนารายณ์ คือ ความแข็งแรงทนทาน อายุใช้งานกว่า 10 ปี ซักทำความสะอาดได้ สีไม่ตก และไม่ขึ้นรา และเมื่อรวมกับฝีมือการออกแบบที่หลากหลายเข้าไปด้วย ทำให้ถูกใจลูกค้าตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่น คนทำงานจนถึงกลุ่มผู้ใหญ่ ระดับคุณหญิงคุณนาย ทั้งในและต่างประเทศ
ณัฐระวี เดื่อมขันธ์มณี ลูกสาวที่เข้ามาดูแลด้านการตลาด เผยว่า การออกแบบจะเน้นให้ตรงความต้องการของตลาดแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะแบบสีสดใส เหมาะกับตลาดยุโรป และวัยรุ่น หรือสีธรรมชาติ สำหรับลูกค้าญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะออกแบบโดยแม่ และตัวเธอ ที่แม้จะไม่ได้เรียนด้านศิลปะโดยตรง แต่อาศัยเรียนรู้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์ และจับกระแสแฟชั่น ตลอดจนใช้คำแนะนำของลูกค้ามาประยุกต์
โดยรวมแล้วมีกว่า 100 แบบ ทั้งกระเป๋า เข็มขัด รองเท้า หมวก ฯลฯ ราคาขายเริ่มตั้งแต่ 35 บาทจนถึง 3,500 บาท ซึ่งกระเป๋าเป็นสินค้าขายดีเป็นอันดับหนึ่ง ปัจจุบัน มีรายได้เข้ากลุ่มหลักแสนบาทต่อเดือน สร้างรายได้ให้สมาชิกกลุ่ม จำนวน 60 คน ประมาณ 8,000 บาท/คน/เดือน
สำหรับตลาดส่งออกต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อเมริกา เวียดนาม ฯลฯ ซึ่งได้ลูกค้าเหล่านี้ จากการออกงานแสดงสินค้าต่างๆ ดังนั้น การออกงานแสดงสินค้าใหญ่แต่ละครั้ง ต้องมีสินค้าแบบใหม่ ไม่ต่ำกว่า 10 แบบ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับลูกค้ารายเดิม และเพิ่มโอกาสหาลูกค้ารายใหม่ ส่วนตลาดในประเทศนั้น มีตัวแทนรับไปจำหน่ายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ห้างสรรพสินค้าต่างๆ และสยามสแควร์ เป็นต้น
ณัฐระวี เผยต่อว่า ทางกลุ่มฯ พยายามพัฒนาตัวเองให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการผลิตได้ปรับปรุงจนได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ได้คัดสรรเป็นสินค้าโอทอประดับ 5 ดาวของจังหวัด รวมถึง จดเครื่องหมายการค้าของตัวเอง ในชื่อ “อารยา” (Araya) เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การส่งออกยังเป็นลักษณะลูกค้านำไปติดแบรนด์ของเขาเอง แต่ในอนาคตถ้าเป็นไปได้ อยากจะส่งออกภายใต้แบรนด์ “อารยา” เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้มากขึ้น
เธอ ยอมรับว่า ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยๆ ทำสินค้าออกมาเลียนแบบและขายตัดราคาหลายราย แต่ไม่ได้สร้างปัญหาให้มากนัก เนื่องจากคุณภาพสินค้ายังห่างไกลกันมาก ดังนั้น ลูกค้าต่างชาติจึงยินดีจะจ่ายแพงกว่าเพื่อแลกกับคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญจริงๆ นั้น คือ ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการของลูกค้า เพราะสินค้าเป็นงานฝีมือแฮนด์เมดที่ใช้ความประณีตสูง และบางรูปแบบจะมีคนสานได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งพยายามแก้ไขโดยหาสมาชิกกลุ่มเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาฝึกฝนยาวนาน และใช้ความอดทนอย่างสูง
“ถึงแม้ว่าตอนนี้ ประเทศไทยจะมีปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินบาทแข็ง หรือน้ำมันแพง แต่สิ่งที่เราภูมิใจ คือ ยอดขายของเรา ไม่ได้น้อยลงเลย แต่กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับผู้ผลิตอื่นๆ ซึ่งดิฉันเชื่อว่า มาจากที่เรารักษาคุณภาพ และพัฒนารูปแบบตลอดเวลา ทำให้ลูกค้าต่างชาติกลับมาซื้อซ้ำ โดยไม่ต่อราคาเลย ขณะที่คนไทย เวลามาเที่ยวเพชรบุรีก็จะนึกถึงผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ด้วย” ณัฐระวี กล่าวอย่างภูมิใจ
**************************
โทร.032-471-678