น้ำพริกอาหารหลักที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน แต่ละภูมิภาคหรือแต่ละชุมชนจะมีน้ำพริกที่แตกต่างกันออกไป ทำให้บ้านเรามีสูตรน้ำพริกนับพันชนิดให้เลือก และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบน้ำพริก ในงาน “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 4” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน 2550 ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ปีนี้ไฮไลท์ การจัดงานอยู่ที่น้ำพริก ซึ่งได้มีการคัดสรรน้ำพริกจากทุกภูมิภาคมาประชันกันกว่า 1,000 ชนิด
สำหรับหนึ่งในน้ำพริกที่นำเสนอในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในน้ำพริกที่จะนำมาโชว์ในงาน เป็นสูตรน้ำพริกที่อาจจะไม่คุ้นหน้าคุ้นตาคนไทย เท่าไหร่นัก เพราะเป็นสูตรน้ำพริกของชาวไทยทรงดำ หรือ ที่รู้จักกันนามของ ลาวโซ่ง บ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยน้ำพริกนี้มีชื่อว่า แจ่วปิ และแจ่วมะเอือดด้าน
จากการศึกษาวิจัยเรื่องน้ำพริกในชุมชนเมื่อปี 2549 ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าแจ่วปิเป็นน้ำพริกยอดนิยมที่สุดของชุมชนนี้ ซึ่งทุกครอบครัวมักจะมีติดสำรับอยู่เป็นประจำมาช้านาน ชื่อดูคล้ายน้ำพริกกะปิ แต่วิธีการต่างกันมีรสชาติเฉพาะตามแบบฉบับของลาวโซ่งบ้านดอน ชาวลาวโซ่งนิยมกินแจ่วปิมาก ทั้งแบบ แจ่วปิมะขามอ่อนพริกสด ซึ่งมักปรุงสดๆ กินหมดที่เดียวกับ แจ่วปิสูตรมะขามเปียกพริกเผา ซึ่งมีครบ 3 รส เปรี้ยว เค็ม หวาน ชาวลาวโซ่งนิยมทำที่ละมาก แล้วเก็บไว้ทานได้บ่อยๆ นาน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหน้านา ซึ่งต้องลงแรง แจ่วปิ หน่อไม้ต้ม กับปลาเผา กับผักในนาที่หากินได้ กับก็แปลงให้เถียงนากลายเป็นภัตตาคารชาวทุ่งไปได้อย่างสบายๆ
ป้าชวา หรือ นางชวา ลุมเพชร หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายแจ่วปิ เล่าว่า ชาวลาวโซ่ง ที่บ้านดอน อำเภออู่ทอง ส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำนามาตามแบบพ่อแม่ สนใจ และชอบทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก พอเริ่มสาวก็ออกไปร่วมทำอาหารในงานบุญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศีลเดือน (การทำบุญเลี้ยงผีปู่ย่า ซึ่งชาวลาวโซ่งสามารถเลือกทำได้ตามสะดวกโดยมีเกณฑ์ว่าจะทำในเดือนคู่ คือ เดือนยี่ เดือนหก เดือนแปด เดือนสิบสอง ยกเว้นเดือนสิบ ที่มีในหมู่บ้าน) ซึ่งปัจจุบันป้ายังเป็นแม่ครัวใหญ่ประจำชุมชน และมีลูกค้าประจำเป็นลูกหลานในชุมชน มาสั่งให้ป้าทำน้ำพริก รสชาติที่คุ้นลิ้นจากบ้านเกิดไปกินยามต้องไปอยู่อาศัยไกลถิ่น
นอกจากนี้ ป้าก็ยังได้เป็นตัวแทนของชุมชนไปประกวดตำแหน่งในระดับจังหวัดมาแล้ว และแจ่วปิของป้าชวาก็ได้คว้ารางวัลชนะเลิศมาแล้ว จากเดิมป้าทำกินและได้ลูกหลานเป็นลูกค้า มาวันนี้ แจ่วปิของป้าชวาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีการส่งไปขายในหลายแห่งในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยทำใส่ถุงขายกิโลกรัมละ 150 บาท โดยป้าชวาจะทำน้ำพริกแถบทุกวัน ทำครั้งหนึ่งประมาณ 6-7 กิโลกรัม ลงทุนประมาณ 200 บาทถึง 300 บาท ไม่รวมกระปิ (ทำเอง) หรือ ของที่ป้าหาได้ในชุมชน
สำหรับส่วนผสมของแจ่วปิ ประกอบด้วย พริกแห้งบ้างช้าง กะปิ กระเทียม หัวหอมแดง น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ มะขามเปี๊ยก ถั่วลิสงคั่วดำให้ละเอียด เนื้อหมูสับรวนให้สุก ขั้นตอนการปรุง เริ่มจากนำน้ำพริกมาย่างหรือคั่วให้สุกหอม ย่างหัวหอมและกระเทียมให้หอม ตำพริกเผาให้ละเอียดแล้วเอาหัวหอมเผา กระเทียมเผาใส่ตำให้ละเอียด ใส่มะขามเปียก กะปิ น้ำตาล และถั่วคัวป่น ตำให้ละเอียด นำไปผัดกับน้ำมันด้วยไฟอ่อน ปรุงรสด้วยน้ำปลา ชิมรสให้มี เปรี้ยว เค็มหวาน
ส่วนแจ่วมะเอือดด้าน จะต่างจากแจ่วปิ ตรงที่ส่วนผสมและรสชาติน้ำพริกที่มีความเผ็ดเป็นตัวนำ เผ็ดจัด หรือ เผ็ดโดด ดังที่ชาวบ้านมักพูกว่า มันเผ็ดโด่เด่ เมื่อจะกินต้องเหยาะน้ำปลาใส่ให้พอขลุกขลิก มีรสชาติ เผ็ดๆ เค็มๆ เปรี้ยวๆ น้ำพริกชนิดนี้ไม่ใส่เนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม แต่ความโดดเด่นจะอยู่ที่กลิ่นและรสของมะแข้นที่มีความฉุนเฉพาะตัว ถ้าไม่มีมะแข้นก็ไม่ใช่แจ่วเอือดด้าน
โดยส่วนผสมของแจ่วมะเอือดด้าน พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง น้ำปลา มะขามเปียก มะแข้น น้ำตาลทราย วิธีปรุง ย่างพริกแห้ง ย่างกระเทียม หัวหอม และมะแข้น ตำพริก หัวหอม กระเทียม และมะแข้นเข้าด้วยกัน ใส่มะขามเปียก ใส่เกลือ ตำให้เข้ากันละเอียดปานกลาง พอมองเห็นพริกและมะแข้น (มะแข้น เป็นไม้ป่า ปัจจุบันจะต้องเอามาจากทางจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีชาวลาวโซ่งอยู่อาศัยกันมาก) น้ำพริกมะเอือดด้าน จะกินคู่กับเนื้อสัตว์ประเภทต้ม ย่าง และทอด
087-906-8402