xs
xsm
sm
md
lg

‘จักสาน บ้านกวี’กระจูดไทยไปโลด ฝีมือชาวบ้านขึ้นชั้นอินเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสานกระจูดที่สืบสานจากรุ่นสู่รุ่นของบ้านมาบเหลาชะโอน จ.ระยอง บวกกับการต่อยอดของผู้นำรุ่นใหม่ช่วยผลักดันให้สินค้าบ้านเกิด พลิกโฉมดีไซน์เป็นสากล พร้อมกับมาตรฐานอันที่ยอมรับ สามารถก้าวไกลถึงตลาดระดับสากล

ผลิตภัณฑ์กระจูดในชื่อ “จักสาน บ้านกวี” สร้างสรรค์โดย “กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานกระจูด บ้านมาบเหลาชะโอน” หมู่ 5 ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีที่มาเนื่องจากในพื้นที่มีหนองจำรุง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “บึงสำนักใหญ่” พื้นที่กว่า 3,871 ไร่ เป็นแหล่งน้ำสาธารณะประจำชุมชน ชาวบ้านอาศัยใช้น้ำ และหาปลาจืด รวมถึงเก็บต้นกระจูดที่ขึ้นอยู่จำนวนมาก มาใช้ผูกมัดสิ่งของต่างๆ และสานเป็นเสื่อใช้ในครัวเรือนเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว

ต่อมาเริ่มมีพ่อค้ามารับซื้อเสื่อกระจูด เพื่อไปทำเป็นกระสอบใส่น้ำตาล ทำให้ชาวบ้านมาบเหลาชะโอน มีรายได้เสริมหลังจากทำเกษตร อย่างไรก็ตาม ปัญหาในเวลานั้น คือ ชาวบ้านต่างคนต่างทำ และสานได้แค่เสื่ออย่างเดียว จึงโดนกดราคา ต่อผืนที่ใช้เวลาสานกว่า 2-3 วัน ขายได้แค่ร้อยกว่าบาท ชาวบ้านจึงมีความต้องการตรงกันที่อยากจะพัฒนาสินค้าให้หลากหลายยิ่งขึ้น หวังเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น

มนตรี ยิ้มเยื้อน หนุ่มวัย 35 ปี ผู้นำกลุ่มฯ ขยายความต่อว่า ครอบครัวของเขา ก็มีอาชีพจักสานกระจูดมายาวนาน เช่นเดียวกันชาวบ้านคนอื่นๆ กว่า 60 หลังคาเรือน และเพื่อแก้ปัญหาข้างต้น เขาได้เข้ามามีหน้าที่เป็นตัวแทนชุมชนติดต่อกับอุตสาหกรรมจังหวัด จึงได้รับความช่วยเหลือ ส่งวิทยากรเข้ามาอบรมแปรรูปกระจูด รวมถึง จัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าโอทอป เมื่อปี 2544 มีสมาชิกเริ่มต้น 17 คน

“หลังจากเริ่มมีรูปแบบหลากหลายขึ้น ตลาดก็มากขึ้น ประกอบกับที่พวกเราได้ไปออกงานแฟร์ต่างๆ ได้เจอเทรดเดอร์ ทำให้มีออเดอร์กลับมา พร้อมกับได้คำแนะนำจากลูกค้า ซึ่งผมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ช่วยให้เรามีทิศทางในการออกแบบต่างๆ ได้ชัดเจนตรงกับความต้องการของตลาด” มนตรี เสริม พร้อมเล่าต่อว่า

ที่มาของชื่อแบรนด์ “จักสาน บ้านกวี” นั้น เพราะท่านสุนทรภู่ กวีเอกของไทยเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของ จ.ระยอง อีกทั้ง ในนิราศเมืองแกลงที่ท่านสุนทรภู่ได้ประพันธ์ไว้ กล่าวถึงการทำจักสานกระจูดของชาวแกลง สื่อให้เห็นว่า ภูมิปัญญานี้สืบทอดอยู่คู่กับชาวระยองมาแต่ช้านานแล้ว

กลุ่มลูกค้าของ “จักสาน บ้านกวี” กว่า 80% ส่งออกต่างประเทศในแถบยุโรป ผ่านบริษัทผู้แทนจำหน่าย ราคาส่งอยู่ที่ 30-1,500 บาท เมื่อไปถึงปลายทาง ราคาจะถูกบวกขึ้นกว่า 8 เท่าตัว ส่วนอีก 20% จะขายปลีกในประเทศ ต่อเดือนมียอดขายประมาณ 150,000 – 200,000 บาท สร้างรายได้ให้สมาชิกที่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 66 คน เฉลี่ย 3,000 – 8,000 ต่อคนต่อเดือน

แม้ปัจจุบันจะมีกลุ่มผลิตกระจูดทั่วประเทศ รวมกว่า 40 กลุ่ม โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคใต้ ที่มีชื่อเสียงด้านนี้มาก แต่ทางกลุ่มฯ ก็มีตลาดเข้ามาสม่ำเสมอในระดับผลิตไม่ทันต่อเนื่อง จากข้อได้เปรียบ จ.ระยอง อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ทำให้เดินทางถึงแหล่งจำหน่ายสะดวกรวดเร็ว และต้นทุนถูกกว่า

ส่วนด้านตัวสินค้า และการผลิต แม้จะเป็นงานทำมือ แต่ด้วยระบบบริหารภายในกลุ่มช่วยให้สินค้าออกมาได้มาตรฐานสม่ำเสมอ เช่น ในการสานจะมีแม่แบบขึ้นรูปช่วยให้ขนาดรูปทรงออกมาเท่าๆ กัน พร้อมตั้งกำหนดจะออกแบบใหม่ๆ อย่างน้อยเดือนละ 1 แบบ เพื่อตอบสนองตลาดได้ต่อเนื่อง รวมถึง เน้นงานจำพวกตะกล้ารูปทรงต่างๆ ในสีธรรมชาติให้เป็นเอกลักษณ์ประจำกลุ่ม

นอกจากนั้น ในการบริหารกลุ่ม รายได้จากยอดขายทั้งหมดจะมีหัก 30% เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายภายในกลุ่มทั้งหมด ถ้ามีเหลือจะนำเก็บเป็นเงินกองกลางใช้ยามจำเป็น ซึ่งเวลานี้มียอดสะสมเป็นหลักแสนบาท ส่วนการจ่ายค่าแรงให้คู่ทั้งเป็นรายวัน และรายชิ้น โดยจะจ่ายตรงทุกวันที่ 30 ของทุกเดือน ไม่เคยเกิดปัญหาทำงานแล้วไม่ได้รับเงินค่าแรง ทำให้สมาชิกเกิดความรับผิดชอบ และมีกำลังใจในการทำงาน และจากวิธีดังกล่าว นับแต่ตั้งกลุ่มมา ไม่จำเป็นต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากสถาบันการเงินใดๆ เลย รวมถึงได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านโอทอปต้นแบบของ จ.ระยองด้วย

ภายใต้การนำของคนหนุ่มอย่าง “มนตรี” เน้นให้กลุ่มฯ เชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการต่างๆ โดยผ่านการเสนอโครงการต่างๆ เข้าไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณา ทำให้กลุ่มฯ มักได้รับช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น ได้ทุนกว่า 700,000 บาท ปรับปรุงสถานที่ผลิตเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำกระจูด พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของจังหวัดระยอง ทุกสัปดาห์จะมีนักท่องเที่ยว กรุ๊ปทัวร์ต่างประเทศ สถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆ เข้ามาเยี่ยมเยือนดูงานไม่ต่ำกว่า 2-3 คณะสม่ำเสมอ ซึ่งทางกลุ่มฯ คิดค่าใช้จ่าย 30 บาทต่อคน ช่วยเสริมรายได้เข้ากลุ่มฯ อีกทางหนึ่ง

สำหรับเป้าหมายในอนาคตนั้น มนตรี ระบุว่า จะพัฒนาสินค้าไปสู่ตลาดส่งออก 100% เพราะมองว่า เป็นตลาดใหญ่ และยั่งยืนมากกว่า ซึ่งกว่าจะถึงจุดนั้นได้ ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพสูง ประกอบกับฝีมือการผลิตที่ประณีตยิ่งขึ้น อีกทั้ง อยากจะพัฒนาการย้อมด้วยการใช้สีธรรมชาติ ถ้าทำได้จะเป็นรายแรกในประเทศ และก้าวสู่เจ้าตลาดสินค้านี้อย่างแน่นอน

***************************

0-3864-7079 , 086-045-3938








กำลังโหลดความคิดเห็น