xs
xsm
sm
md
lg

‘เจ้าจ๋อ’ เบเกอรี่ไทยขายความแปลก จุดประกายดีไซน์กล้วยเขย่าวงการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เบเกอรี่แบรนด์ “เจ้าจ๋อ” มาจากไอเดียของ “ธนัช นพจิรากุล” หนุ่มเมืองเชียงใหม่ มีจุดเด่นด้วยรูปทรงคล้ายผลกล้วย พร้อมกับรสชาติแปลกใหม่ประยุกต์กรรมวิธีการทำเบเกอรี่หลายๆอย่างเข้าไว้ด้วยกัน จนชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในเมืองเชียงใหม่ และล่าสุดต่อยอดขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์กระจายทั่วประเทศ

ที่มาของธุรกิจนี้ เกิดขึ้นหลังจากเขาประสบความล้มเหลวจากธุรกิจฟาร์มเลี้ยงนกกระจอกเทศ จนต้องหยุดกิจการลงเมื่อปี 2548 พร้อมกับภาระหนี้สินที่ค้างกับธนาคารอีกกว่า 2 ล้านบาท
ธนัช นพจิรากุล เจ้าของกิจการ
ธนัช เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ว่า ตัวเองค่อนข้างอ่อนด้านการตลาด ประกอบกับในเวลานั้นตลาดนกกระจอกเทศค่อนข้างซบเซา ทำให้ธุรกิจไม่ประสบการณ์ความสำเร็จ หลังจากต้องหยุดทำฟาร์มนกกระจอกเทศลง พยายามคิดหาธุรกิจใหม่ที่สามารถนำทรัพยากรเดิมมาใช้ต่อได้ด้วย จึงมองที่ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงวัวนม และคิดต่อไปว่า ถ้าจะทำนมออกขาย ก็ควรมีขนมปังกินควบคู่ไปด้วย ซึ่งไอเดียนี้ กลายเป็นการจุดประกายไปสู่ธุรกิจใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ

“พอคิดว่าจะทำขนมกินคู่กับนม ผมจึงไปเรียนการทำเบเกอรี่พื้นฐาน พร้อมกับเริ่มเดินสำรวจตลาดเบเกอรี่ พบว่ามีแต่แบรนด์ต่างประเทศ ทำให้ผมอยากจะทำขนมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง สามารถสื่อให้นึกถึงความเป็นไทยได้ ขณะเดียวกันก็มีจุดเด่นไม่เหมือนใคร ผมเลยคิดถึงการปั้นขนมเป็นรูปทรงคล้ายกับกล้วย เพราะสามารถทำได้ง่ายเหมาะกับอุตสาหกรรมเล็กๆ อย่างเรา และตั้งชื่อให้ล้อกัน คือ “เจ้าจ๋อ” เพราะลิงเป็นสัตว์ที่น่ารัก และใกล้ชิดกับคนไทย” ธนัช อธิบาย

รูปแบบเบเกอรี่เจ้าจ๋อเป็นการผสมผสานวิธีการทำขนมเบเกอรี่หลายๆ แบบ วัตถุดิบใช้แป้งสาลีเกรดเดียวกับที่ทำขนมเค้ก จึงได้ความนุ่มฟูสูง เพิ่มสีสันด้วยสีผสมอาหารลงในแป้ง ภายในสอดด้วยไส้รสชาติต่างๆ แล้วนำไปนิ่ง ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับการทำซาลาเปา ส่วนเวลาขายหน้าร้านจะนำทอดอีกครั้งกับเนย เหมือนกับเครป รสชาติที่ออกมาหวานหอม ผิวนอกกรอบ แต่เมื่อกัดลงไปจะสัมผัสกับรสนุ่มเหมือนซาลาเปา ประกอบกับไส้ที่ปรุงรสมาอย่างดี

ธนัส เล่าต่อว่า คิดสูตรโดยลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง กับให้คนรอบข้างทดลองชิม ใช้เงินทุนเริ่มต้นกับธุรกิจนี้ แค่หลักพันบาทเท่านั้น และเมื่อได้สูตรที่ลงตัวแล้ว จึงไปทดลองตลาดด้วยการออกบูทในงานเทศกาลอาหารของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปลายปี 2548 โดยขายคู่กับเครื่องดื่มประเภทนมด้วย ผลปรากฏว่า เบเกอรี่เจ้าจ๋อขายดีมาก ส่วนเครื่องดื่มชานมกลับไม่ดีนัก
รูปทรงคล้ายกล้วย ทอดกับเนย
“ช่วงเวลา 7วันในการออกบูท วันแรกๆ ลูกค้าสนใจเข้ามาทดลองซื้อไปชิมจำนวนมาก เพราะความแปลกใหม่น่าสนใจ ประกอบกับการทอดโชว์สดๆ ทำให้มีกลิ่นหอมเรียกลูกค้าได้เป็นอย่างดี และในวันต่อๆ มา ลูกค้ารายเดิมกลับมาซื้อซ้ำอีก ทำให้ผมมั่นใจว่า ขนมที่เราคิดขึ้น ไม่เพียงแค่รูปลักษณ์เรียกความสนใจได้เท่านั้น แต่รสชาติก็มีดีไม่แพ้กัน ทำให้ผมเห็นโอกาสจะต่อยอดธุรกิจนี้” ธนัช เสริม และเล่าต่อว่า

จากนั้น เริ่มทำเป็นรถเข็นเช่าพื้นที่ขายบริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลแอร์พอร์ต รายได้ต่อวันดีขึ้นตามลำดับจาก 1 พันกว่าบาท ขึ้นมาเป็น 3 พันกว่าบาท และมีลูกค้าขาประจำ จากนั้น ขยายเช่าพื้นที่เช่าในห้างต่างๆ ถึงวันนี้ในเชียงใหม่ มีทั้งสิ้น 4 สาขา ได้แก่ ในห้างเซ็นทรัลแอร์พอร์ต กาดสวนแก้ว ห้างคาร์ฟู และห้างโลตัส แต่ละสาขายอดขายไม่ต่ำกว่า 3 พันบาทต่อวัน รวมถึงได้จดเครื่องหมายการค้า “เจ้าจ๋อ” และจดอนุสิทธิบัตรวิธีการผลิตไว้ด้วย

นอกจากจะเพิ่มสาขาด้วยตัวเองแล้ว เขาได้ขยายธุรกิจด้วยการปล่อยแฟรนไชส์ กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆอีก 6 สาขา โดยกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 12,000 บาท ได้รับสิทธิ์ พร้อมอุปกรณ์เริ่มต้น และป้ายโลโก้ รวมถึงการสอบสูตรการทำ โดยมีกำหนดว่า สาขาแฟรนไชส์ต้องรับวัตถุดิบไส้จากส่วนกลาง อีกทั้ง ได้ขายสิทธิ์ในรูปแบบของมาสเตอร์แฟรนไชส์ มูลค่า 300,000 บาท สำหรับจังหวัดที่มีศักยภาพทางตลาดสูง โดยประเดิมขายสิทธิ์ให้ตัวแทนในกรุงเทพฯเรียบร้อยแล้ว

เหตุที่เลือกปล่อยขายแบบมาสเตอร์แฟรนไชส์ควบคู่กับปล่อยแฟรนไชส์ด้วยตัวเอง เพราะต้องการกระจายความรับผิดชอบให้ทั่วถึง โดยจะให้สิทธิ์ตัวแทนทำตลาดได้อิสระ และเพื่อให้แบรนด์ติดตลาด ใช้วีธีประชาสัมพันธ์เปิดตัวในงานแสดงสินค้าต่างๆ พร้อมกับออกโปรโมชั่นตลอดเวลา รวมถึงพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เสริมสม่ำเสมอ เพิ่มเติมจากปัจจุบัน ที่มีทั้งหมด 7 ไส้ ประกอบด้วย คัสตาร์ด ซุปข้าวโพด เผือก สังขยาใบเตย หมูหยองมายองเนส หมูสับเห็ดหอม และพิซซ่า ส่วนราคาขายอยู่ชิ้นละ 10-15 บาท (แล้วแต่ทำเล) โดยกำไรต่อชิ้นสูงกว่า50%

เจ้าของธุรกิจ ระบุว่า การผลิตเวลานี้ ยังเป็นแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือน มีพนักงานประมาณ 5-6 คน ต่อวันผลิตได้ประมาณ 1,500 ลูก ซึ่งยังเพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่ในอนาคตหากธุรกิจเติบโตดีเช่นนี้ต่อไป คงมองไปที่ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพื่อขยายกำลังผลิต รวมถึงปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรฐานสากลอย่าง GMP ,HACCP ต่อไป ส่วนหนี้ที่ค้างธนาคารกว่า 2 ล้านบาทเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน ใกล้จะชำระคืนได้ครบถ้วนแล้วจากธุรกิจเบเกอรี่ที่เขาแค่อยากทำเสริม แต่ทุกวันนี้กลายเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้ดีจนไม่คิดจะกลับไปทำฟาร์มเลี้ยงวัวนมอีกแล้ว

*******************************************

เปิดยุทธศาสตร์ “เจ้าจ๋อ” บุกกรุง

นายธีระศักดิ์ จันทร์ซางเพ็ญ ผู้ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ “เจ้าจ๋อ” ในพื้นที่กรุงเทพฯ เผยว่า ได้เริ่มเปิดสาขาด้วยตัวเองแล้วประมาณ 2 เดือนที่ห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ และกำลังเปิดเพิ่มเองอีก 4 จุด ได้แก่ อีกจุดในห้างเดอะมอลล์บางกะปิ ห้างเดอะมอลล์งามวงศ์วาน และบนสถานีรถไฟฟ้า อีก 2 จุด อยู่ระหว่างคัดเลือกสถานี ทั้งหมดคาดว่าจะเปิดได้ในต้นเดือนมิถุนายนนี้

ส่วนแผนการขายแฟรนไชส์ให้ผู้อยากทำธุรกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ วางกรอบว่า ผู้สนใจต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000 บาท ได้รับคีออสสำเร็จรูป ซึ่งจะออกแบบให้เหมาะสมกับทำเล และอุปกรณ์ต่างๆ ครบชุดพร้อมเริ่มขายได้ทันที แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงเป็นรายๆไป ไม่จำเป็นต้องสั่งอุปกรณ์ครบชุดก็ได้ ทำให้เงินลงทุนอาจลดลงไปอีก โดยมีกำหนดว่าต้องรับวัตถุดิบจากส่วนกลาง ทั้งนี้ จากการทดลองตลาดเปิดสาขาแรกเอง สามารถคืนทุนได้ภายใน 3เดือน

******************************************

โทร.089-635-1226 ,081-883-0457

กำลังโหลดความคิดเห็น