xs
xsm
sm
md
lg

“กุ้งอบ ชูชกยิ้ม” ร้านดังบ้านโป่ง ปิ๊งไอเดียร้านนี้มีแต่กุ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บริเวณหน้าตลาดสหกรณ์ปลาสวยงาม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นที่ตั้งของร้าน “กุ้งอบ ชูชกยิ้ม” มีจุดขายทุกเมนูมีกุ้งเป็นพระเอก โดยที่มาของธุรกิจนั้น เป็นอีกตัวอย่างของผู้ประกอบการเล็กๆ ในการปรับตัวแก้ปัญหาสู่โอกาสธุรกิจใหม่

เจ้าของร้าน “กุ้งอบ ชูชกยิ้ม” คือ “เดชา แก้วทิมา” หนุ่มวัย 41 ปี ชาวราชบุรีโดยกำเนิด โดยหลังจบการศึกษาปริญญาตรี จากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ม.รามคำแหง และทำงานโรงงานผลิตเครื่องสำอาง ในกรุงเทพฯ สักพัก ก่อนกลับมาทำงานประจำในโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่บ้านเกิด

และเนื่องจากครอบครัวมีธุรกิจฟาร์มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามอยู่ด้วย จำนวน 15 ไร่ เขาจึงดูแลธุรกิจฟาร์มเลี้ยงกุ้งควบคู่กับงานประจำ ซึ่งต่อมาลาออกมาลุยธุรกิจเลี้ยงกุ้งจริงจัง และเช่าพื้นที่เพิ่มขยายฟาร์มเลี้ยงเป็น 80 ไร่ โดยตลาดจะส่งออกไปขายต่างประเทศทั้งหมด

**พลิกวิกฤตสร้างธุรกิจใหม่

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่อยู่แวดวงเลี้ยงกุ้ง เขาและผู้เลี้ยงกุ้งทุกรายพบปัญหาเหมือนกัน คือ พ่อค้าคนกลางกดราคา “กุ้งตัวเมีย” ซึ่งเป็นกุ้งขนาดเล็ก เนื่องจากเกษตรกรไม่นิยมเลี้ยงให้เติบใหญ่ เพราะกุ้งตัวเมียจะออกไข่ เกิดความสิ้นเปลืองในการเลี้ยงไม่คุ้มกับราคาขาย ฉะนั้น เกษตรต้องรีบเอากุ้งตัวเมียออกขายก่อนวางไข่ ทำให้พ่อค้าคนกลางอาศัยข้อได้เปรียบนี้ กดราคาซื้อแค่ กิโลกรัม (กก.) ละ 120 บาท ขณะที่รับซื้อกุ้งตัวผู้ กก.ละ 250 บาท


อีกทั้ง ตัวเขาเจอปัญหาเจ้าของพื้นที่เช่า ขอเรียกคืนพื้นที่ ทำให้เหลือฟาร์มเลี้ยงกุ้งส่วนตัวแค่ 25 ไร่ ไม่เพียงพอจะเลี้ยงเพื่อส่งออก ต้องหาทางพลิกแพลงธุรกิจ โดยนำกุ้งที่เลี้ยงมาอบซอสด้วยสูตรที่คิดขึ้นมาเองทำกินกันในครอบครัว ไปลองขายตามงานแสดงสินค้าต่างๆ เป็นเวลากว่า 1 ปี ผลตอบรับกลับมาดีเกินคาด มีลูกค้าประจำ กลับมาซื้อใหม่เสมอๆ ทำให้เห็นโอกาสมาจับธุรกิจกุ้งอบซอสอย่างจริงจัง ลงทุนประมาณ 200,000 บาท เช่าพื้นที่เปิดร้านเมื่อปี 2545 บริเวณตลาดสหกรณ์ปลาสวยงาม ต.หนองอ้อ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งอยู่ยาวมาถึงปัจจุบัน ตั้งชื่อร้าน “กุ้งอบ ชูชกยิ้ม” เพราะต้องการเรียกความสนใจจากลูกค้าให้สะดุดหูตั้งแต่ได้ยิน และสื่อความหมายว่า คนกินเก่งอย่างชูชกยังต้องยิ้ม แสดงว่าอร่อยมาก

“ก่อนที่จะเปิดร้าน ผมจะไปชิมรสชาติกุ้งอบซอสร้านต่างๆ แล้วนำมาปรับปรุงเพื่อให้ได้รสชาติที่คนส่วนใหญ่ชอบ มีทั้งความสดใหม่ หอมมัน และที่สำคัญกว่านั้น ต้องมีวิธีคุมคุณภาพอาหารให้สม่ำเสมอ ซึ่งเคล็ดลับของซอสเป็นสูตรเฉพาะตัว บอกได้แค่ว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่น้ำมันที่ใช้อบ ขณะที่ส่วนผสมทั้งหมดเป็นวัตถุดิบในประเทศ โดยวิธีทำเริ่มจากนำกุ้งผ่าหลังแช่ในน้ำซอส 5-10 วินาที นำไปทอดน้ำมันเดือดจัด 5-7 นาที” เจ้าของร้าน เผยที่มาของสูตรกุ้งอบซอส

**จับคอนเซ็ปท์ร้านนี้มีแต่กุ้ง

เดชา เผยถึง ในช่วงปีแรกมีเฉพาะเมนูกุ้งอบซอสอย่างเดียว กลุ่มลูกค้าจะซื้อกลับบ้าน 100% ยอดขายเริ่มแรกประมาณ 40,000 บาท/เดือน และค่อยๆ ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงสิ้นปี 2545 เพิ่มเป็น 140,000 บาท/เดือน พอขึ้นปีที่สอง เพิ่มเติมเมนู “กุ้งอบวุ้นเส้นเห็ดหอม” จากนั้น มีเมนูอื่นๆ ตามมาอีก เช่น กุ้งผัดพริกไทยดำ ต้มยำกุ้ง ไข่เจียวกุ้ง ผัดกระเพรากุ้ง เป็นต้น รวมทั้งหมดประมาณ 10 กว่าเมนู โดยคงเอกลักษณ์ของร้าน ทุกเมนูต้องมีกุ้งเป็นพระเอก ในราคาขายที่ไม่สูงเกินไป อย่างกุ้งอบซอส ครึ่งกก. 100 - 175 บาท (แล้วแต่ขนาด) กุ้งอบวุ้นเส้น หม้อละ 90 บาท และต้มยำกุ้ง หม้อละ 90 บาท เป็นต้น ซึ่งจากเมนูที่หลากหลายขึ้น ช่วยให้ยอดขายเพิ่มเป็นประมาณ 200,000 กว่าบาท/เดือน หรือเฉลี่ยใช้กุ้งประมาณ 50 กก./วัน

“เคยมีลูกค้ามาบอกผมว่า อยากให้มีเมนูซีฟู๊ดอื่นๆ ด้วย แต่ผมกลับมองคิดว่า นี่เป็นเอกลักษณ์ของเรา ให้ลูกค้าจดจำได้ว่า ถ้าอยากกินเมนูกุ้งต้องมาที่ร้านนี้ ซึ่งกว่าจะได้แต่ละเมนูออกมา ผมจะทดลองให้แน่ใจว่า คุมรสชาติให้นิ่งได้แน่นอน และสามารถทำได้รวดเร็วทันใจลูกค้า ซึ่งผมจะใช้วิธีบันทึกวัตถุดิบ ส่วนผสม และสัดส่วนทั้งหมด ส่วนในร้านจะมีบ่อเลี้ยงกุ้งให้ลูกค้าสั่งจับเป็นๆ แล้วทำในครัวเปิดโชว์กระบวนการประกอบอาหารว่า สดและสะอาดจริง” เดชา กล่าว และเผยต่อว่า

หลังจากประสบความสำเร็จ ได้ขยายสาขา 2 ที่ กม. 8 ต.หัวโพ – บ้านแพ้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี ยอดขาย 2 สาขา รวมกันประมาณ 300,000 กว่าบาท/เดือน กลุ่มลูกค้า ส่วนใหญ่มาเป็นครอบครัว นิยมซื้อกลับไปกินบ้าน 70% และกินที่ร้าน 30% ส่วนวัตถุดิบกุ้งที่ใช้ในร้านทั้งหมดเป็นกุ้งก้ามกราม ซื้อใน จ.ราชบุรี โดยกว่า 80% เป็นกุ้งตัวเมีย อายุเลี้ยง 8 เดือน เมื่อนำไปประกอบอาหารแล้วรสชาติไม่แตกต่างจากกุ้งตัวผู้เลย แต่ต้นทุนถูกกว่ามาก และได้ช่วยเหลือเกษตรกรเลี้ยงกุ้งในท้องถิ่นด้วย

**เปิดตลาดเชิงรุกกระตุ้นยอดขาย

อย่างไรก็ตาม สัญญาณเตือนภัยหนึ่งที่ “เดชา” มองเห็น คือ ยอดขายระยะ 1-2 ปีหลัง ไม่มีอัตราขยายตัว วิเคราะห์ว่า เกิดจากเมนูใหม่น้อยเกินไป ประกอบกับที่แล้วมา ไม่เคยทำตลาดประชาสัมพันธ์ คอยแต่ให้ลูกค้าเข้ามาหาที่ร้านเอง ดังนั้น ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ได้ปรับแผนการตลาดใหม่ กำหนดจะออกเมนูใหม่ทุกๆ 2 เดือน และเน้นทำตลาดเชิงรุกเข้าถึงลูกค้า โดยกู้เงินจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) จำนวน 172,000 บาท เพื่อทำบรรจุภัณฑ์ และแผ่นพับให้บริการส่งถึงบ้าน

อีกทั้ง ทำรถเคลื่อนที่ ตระเวนออกขายใน จ.ราชบุรี และใกล้เคียง อีกทั้ง สร้างบูทแบบเคลื่อนย้ายสะดวก สำหรับไปออกร้านตามงานต่างๆ โดยมีเมนูง่ายๆ เหมาะกับสถานที่ เช่น กุ้งอบซอส และกุ้งอบวุ้นเส้น เป็นต้น ตั้งเป้าว่า จะขยายจุดวางบูทเคลื่อนที่ประมาณเดือนละ 1 จุด ตั้งเป้า จากการตลาดดังกล่าว ถึงสิ้นปีนี้จะช่วยเพิ่มยอดขายประมาณ 20%

“อาหารประเภทกุ้งเป็นเมนูที่ต้องสบายใจถึงกิน แต่สถานการณ์เศรษฐกิจและบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ลูกค้าหลายรายเลือกกินของง่ายๆ แทน ดังนั้น เราในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการ ต้องรู้จักปรับตัว ซึ่งผมได้เข้าอบรมการเขียนแผนธุรกิจกับเอสเอ็มอีแบงก์ ทำให้เกิดไอเดียตลาดใหม่ๆ แต่ก็จะคงแนวทางว่า ให้ลูกค้าจดจำเราในฐานะแบรนด์ที่คู่กับเมนูกุ้งต่อไป” เดชา กล่าวทิ้งท้าย

โทร.032-342-370 , 081-580-4432 และ 085-914-2852


* * * * * คลิกเพื่อดูแผนที่ไปร้าน * * * * *
กำลังโหลดความคิดเห็น