xs
xsm
sm
md
lg

กระจูดไทยสร้างชื่อกระฉ่อน ต่างชาติปลื้ม!ภูมิปัญญาชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อพืชอย่าง “กระจูด” มีเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ กระจูดเป็นพันธุ์พืชจำพวกกก และมีเฉพาะบางที่เท่านั้น ที่เป็นแหล่งหนองบึง แต่สำหรับที่บ้านห้วยลึก ม.6 ต.ท่าสะท้อน กลับกลายเป็นแหล่งที่เหมาะสมในการเติบโตของกระจูด ส่งผลให้ในสมัยก่อนชาวบ้านละแวกนั้นนำมาทอเสื่อ เพื่อนำไปแลกเป็นข้าวสาร น้ำปลา กับคนต่างคน รวมถึงทอเมื่อไว้ใช้งานเองด้วย ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น

จนเมื่อปี 2538 กรมการพัฒนาชุมชนได้เข้ามาจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน (กพสม.) ทำให้นางปรีฑา แดงมา ได้รับการคัดเลือกเป็นประธาน กพสม. ของหมู่บ้านห้วยลึก และปัจจุบันได้รับตำแหน่งประธานกลุ่มจักสานเส้นใยพืช (กระจูด)

ถึงแม้นางปรีฑา จะเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนี้เพียงไม่นาน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความชำนาญ และคลุกลีอยู่ในแวดวงของงานหัตถกรรมมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ได้เล่าว่า การจัดตั้งกลุ่มฯ นี้ขึ้นเกิดจากกลุ่มสตรีในหมู่บ้านต้องการหาอาชีพ และมีรายได้เพิ่ม จึงคิดที่จะนำกระจูดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น จึงได้ขอความช่วยเหลือจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จ.สุราษฎร์ธานี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มาให้คำแนะนำ และทำการฝึกสอน โดยเน้นการตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์แบบต่างๆ เช่น หมวก กระเป๋า ที่รองแก้ว ที่รองจาน แฟ้มเอกสาร กระเป๋าเดินทาง เบาะรองนั่ง และของใช้เบ็ดเตล็ด ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์การจักสานกระจูดเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ปัจจุบันการจักสานกระจูด ได้กลายเป็นอาชีพเสริมที่ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านห้วยลึก สามารถพัฒนาฝีมือการจักสานออกมาได้อย่างสวยงาม จนได้รับรางวัลต่างๆ หลายประเภท ส่งผลให้สมาชิกมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกสู่ตลาดจนเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไปได้เป็นอย่างดี ซึ่งความสำเร็จดังกล่าว เราเชื่อว่ามาจากคุณภาพของวัตถุดิบ คือ คุณภาพของต้นกระจูด ที่มีความแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ น้ำกร่อย ที่จะทำให้กระจูดมีความคงทน เส้นเหนียว มัน ปล้องสั้น นุ่ม เส้นเล็ก และยิ่งนำมาประกอบการภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้นำกระจูดมาคลุกน้ำตม (น้ำดินเหนียว) ส่งผลให้กระจูดมีความคงทน เหนียวมากขึ้น และเมื่อนำมาจักสานจะทำได้ง่าย ขึ้นเช่นเดียวกัน”

ส่วนด้านการทำการตลาดนางปรีฑา บอกว่า เป็นหน้าที่ของลูกชาย คือ นายชยาวัฒน์ แดงมา ที่ถึงแม้จะไม่ได้เรียนมาทางการการตลาดมาโดยตรง แต่ด้วยความที่รักในบ้านเกิด และต้องการเห็นคนในหมู่บ้านมีรายได้ และมีอาชีพที่มั่นคง จึงได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ในการเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การออกแบบ การศึกษาการทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้กระจูดของบ้านห้วยลึก เป็นที่รู้จักมากขึ้น

โดยนายชยาวัฒน์ เล่าว่า ตนเองมีความตั้งใจที่จะให้ชาวบ้านในหมู่บ้านที่เติบโตมามีความเข้มแข็ง และยั่งยืน ด้วยธุรกิจที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่มีทักษะในการนำพืช อย่างกระจูดมาจักสาน ซึ่งหากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะช่วยทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น จะเริ่มจากการนำกระจูดมาย้อมสี เพื่อเพิ่มความสดใส และถูกใจบริโภค รวมถึง การนำหนัง เมล็ดพืช และโลหะ มาผสมผสานในผลิตภัณฑ์เพิ่มความทันสมัยให้มากยิ่งขึ้น

“การทำการตลาดจะเป็นหน้าที่ของผมทั้งหมด โดยหลังจากที่มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แล้ว จึงได้นำไปขายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ซึ่งก็ได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงลูกค้าชาวต่างชาติด้วย ที่สั่งให้ผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายต่อเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และฝรั่งเศส เป็นต้นซึ่งแต่ละประเทศจะชื่นชอบรูปแบบและสีสันที่แตกต่างกัน ซึ่งลูกค้าประเทศในแถบยุโรปจะนิยมสินค้าของตกแต่งบ้าน ในขณะที่ชาวเอเชีย จะชื่นชอบสินค้าที่คละกันไปทุกประเภท”


ส่วนกระบวนการผลิตในช่วงที่มีออเดอร์จากต่างประเทศ เข้ามาในจำหนวนหลักหมื่นชิ้นนั้น ทางกลุ่มจักสานเส้นใยพืช (กระจูด) จะกระจายงานไปตามจังหวัดใกล้เคียงที่มีกระจูดขึ้นเยอะ เช่น จ.นครศรีธรรมราช, พัทลุง และ นราธิวาส ส่วนขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพทุกอย่างจะมาสิ้นสุดที่ทางกลุ่มฯ เองทั้งหมด เพื่อการรักษามาตรฐาน และความพึงพอใจของลูกค้าไว้ให้ยาวนานที่สุด

สำหรับการเจาะตลาดในต่างประเทศในอนาคต นายชยาวัฒน์ กล่าวว่า ตนเองได้มองตลาดใหม่อย่าง แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ ที่ถือว่าเป็นตลาดที่โอกาสยังเปิดกว้างมาก โดยคาดว่าในอีก 3-5 ปี ผลิตภัณฑ์จักสานจากระจูด จะยังเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากผู้บริโภคนิยมผลิตภัณฑ์ที่เกิดมาจากธรรมชาติมากขึ้น

***สนใจติดต่อ 0-7729-4008, 0-2618-3660, 081-892-4677 หรือที่ www.kajood.com***


กำลังโหลดความคิดเห็น