xs
xsm
sm
md
lg

‘บานาน่า’ สแน็คกล้วยเงินล้าน ยกระดับผลไม้ไทยชนขนมนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาจเพราะ “กล้วย” เป็นผลไม้พื้นบ้าน หากินง่าย และราคาถูก ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งมองข้ามคุณค่า แต่ด้วยไอเดียสร้างสรรค์จากผู้ประกอบการ จ.กาญจนบุรี พลิกโฉม และเพิ่มค่าผลไม้ไทยชนิดนี้แปรรูปเป็นสแน็ค ให้ความอร่อย คู่กับประโยชน์ทางโภชนาการ เพิ่มทางเลือกแก่ผู้บริโภค นอกเหนือจากขนมกินเล่นในท้องตลาด


สแน็คกล้วยดังกล่าว ใช้ชื่อง่ายๆ ว่า “บานาน่า” มีที่มาโดย “จินตนา สระสำอาง” เจ้าของธุรกิจ หลังจบการศึกษาทางคหกรรมศาสตร์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ และเข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำบริษัทในเมืองกรุง กว่า 10 ปี จนถึงจุดอิ่มตัว ตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวที่บ้านเกิด อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี

“ช่วงนั้น ขนมมันฝรั่งยี่ห้อหนึ่งได้รับความนิยมมาก ซึ่งเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ประกอบกับในท้องถิ่น มีกล้วยอยู่มาก สินค้าล้นตลาด ทำให้เกิดความคิดว่า หากนำกล้วยมาแปรรูปเป็นสแน็คบ้าง จะทำให้เด็กๆ มีขนมกินเล่นที่อร่อย และมีประโยชน์ นอกจากนั้น ยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่นด้วย” จินตนา เล่าถึงประกายแนวคิดเมื่อ 10 ปีก่อน

เนื่องจากมีพื้นฐานทางคหกรรม ช่วยให้เธอสามารถพลิกแพลงสูตรกล้วยสแน็คได้หลากหลาย ถึงวันนี้ มีมากกว่า 10 รสแล้ว อาทิ รสสาหร่าย รสบาร์บีคิว รสพิซซ่า รสลาบ รสกุ้ง รสช็อกโกแลต และรสชาเขียว เป็นต้น ส่วนกล้วยที่นำมาทำ เจาะจงเป็น “กล้วยน้ำว้า” ค่อนข้างดิบเท่านั้น เพราะมีรสชาติดั้งเดิมเหมาะกับส่วนผสมที่จะปรุงเข้าไป ขั้นตอนหลังจากคัด และทำความสะอาดแล้ว นำไปสไลด์เป็นแผ่นบางๆ ทอดในน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะไม่มีกลิ่นหืน หลังจากนั้นนำไปคลุกกับเครื่องปรุง ก่อนจะบรรจุซอง ทุกขั้นตอนและทุกส่วนผสมไม่ใส่สารกันเสีย หรือผงชูรส สามารถเก็บไว้ได้นาน 6 เดือน

เจ้าของธุรกิจ เผยว่า ใช้เงินลงทุนเริ่มแรกประมาณ 50,000 บาท ดำเนินธุรกิจในนามกลุ่มสตรีพัฒนากล้วยน้ำว้าไทย เน้นทำตลาดขายส่งตามโรงเรียนต่างๆ ใน จ.กาญจนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง และด้วยกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ เด็กๆ การตั้งราคา จึงเน้นให้ต่ำไว้ก่อน เริ่มที่ซองละ 3 บาท (25 กรัม) 5 บาท (40 กรัม) และ 20 บาท (120 กรัม) ต่อซองมีกำไรประมาณ 7% เท่านั้น หรือยอดขาย 100 บาท กำไรแค่ 7 บาท แต่ถือหลัก กำไรต่อหน่วยน้อย แต่ขายในปริมาณมาก

ในช่วงแรก ธุรกิจเดินไปได้ลำบาก มีปัญหาทั้งในด้านเงินทุนหมุนเวียน ถึงขนาดยอมเอาโฉนดที่ดินไปจำนอง รวมถึง โดนต่อต้านจากครู เพราะถูกเข้าใจผิดว่า เป็นขนมขยะไร้คุณค่าทางอาหาร แต่หลังจากค่อยๆ ทำความเข้าใจ อธิบายให้เห็นคุณค่าทางโภชนาการของกล้วย ถูกนำมาแปรรูปเป็นสแน็คง่ายต่อการกินขึ้น ช่วยให้การตลาดดีขึ้นมาตามลำดับ

ถึงขณะนี้ สแน็ค “บานาน่า” มียอดขายเฉลี่ยกว่า 2-3 ล้านบาทต่อเดือน ตลาดส่วนใหญ่ 80% คือ ส่งเข้าร้านค้าในโรงเรียนต่างๆ กว่า 3,000 แห่ง ทั้งใน จ.กาญจนบุรี และใกล้เคียง รวมถึง โรงเรียนในกรุงเทพฯ อีกทั้ง ส่งร้านขายของที่ระลึกในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และตลาดมาแรงที่สุด เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว (2549) ได้โอกาสเข้าวางขายในห้างเทสโก้ โลตัส ทุกสาขาทั่วประเทศ ในโซนสินค้าโอทอป โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า ช่วยเปิดตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น

“กลุ่มลูกค้าเริ่มแรกเป็นเด็กๆ ซึ่งเขาเคยได้กินตั้งแต่ตอนเรียนชั้นอนุบาล ประถม มัธยม บางคนเรียนจบไปแล้ว และพอเราได้มีโอกาสเข้าห้างฯ ช่วยให้ตลาดกว้างขึ้น ทำให้คนที่เคยกินตอนเด็กได้กลับมาเจอขนมนี้อีกครั้ง เกิดการบอกปากต่อปาก ช่วยขยายกลุ่มลูกค้าออกไป ไม่ใช่แค่เด็กๆ แล้ว แต่ผู้ใหญ่และคนทั่วไป ก็นิยมมากินด้วย” เจ้าของธุรกิจ เล่าถึงภาพตลาดในปัจจุบัน

ในส่วนการผลิต เป็นแรงงานในท้องถิ่นประมาณ 30 คน และได้กระจายงานส่วนทอดกล้วยไปยังเครือข่าย ใน อ.ทองผาภูมิ รวมแล้วมีสมาชิกกว่า 100 คน สร้างรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 3,000 -10,000 บาทต่อเดือน มีศักยภาพการผลิตได้วันละกว่า 2 ตัน

และแม้จะเป็นผู้ผลิตรายเล็กๆ แต่ด้วยประสบการณ์ของประธานกลุ่ม อย่างจินตนา ไม่ละเลยในเรื่องของการพัฒนาสินค้า จนได้โอทอป 5 ดาว และได้รับรองมาตรฐาน ทั้ง อย. , มผช. , ฮาลาล และ GMP ขณะที่บรรจุภัณฑ์เป็นอีกสิ่งที่ยอมลงทุน จากยุคเริ่มแรก ซอยออกแบบเอง และเมื่อสินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้ว่าจ้างมืออาชีพช่วยออกแบบให้มีความทันสมัยเพิ่มขึ้น และค่อยๆ ทยอยเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่ เพราะเกรงว่า ลูกค้าเดิมจะจำไม่ได้

นอกจากนั้น พลิกแพลงให้ใช้วัตถุดิบได้คุ้มค่าที่สุด โดยออกแบรนด์ใหม่ ชื่อ “ย่ำเขี้ยว” มีความหมายตามภาษาถิ่นว่า อร่อยจนหยุดไม่อยู่ ซึ่งเธอยอมรับว่า ได้ไอเดียจากสแน็คยี่ห้อดังรายหนึ่ง เป็นการนำเศษสแน็คกล้วยที่แตกหักเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งมีรสชาติเข้มข้นสูง มาบรรจุซองเล็ก ๆ ขายแค่ราคา 3 บาท (30 กรัม) มีทั้งหมด 4 รสชาติ ได้แก่ ลาบ สาหร่าย บาร์บีคิว และปาปรีก้า

จินตนา ทิ้งท้ายถึงแผนในอนาคตว่า การตลาด จะเน้นในประเทศเป็นหลัก เพราะเชื่อว่า มีช่องกว้างอีกมากให้ขยายไปได้ ส่วนการพัฒนาสินค้าจะคิดค้นสูตรใหม่ๆ สม่ำเสมอ ขณะที่ด้านผลิต ซื้อที่ดินไว้ปลูกกล้วยน้ำว้าแล้ว จำนวน 150 ไร่ เตรียมพร้อมเป็นแหล่งวัตถุดิบระยะยาว และกำลังติดต่อสถาบันการเงิน เพื่อกู้เงินประมาณ 1.5 ล้านบาท ไว้ปรับปรุง และขยายโรงงานให้มีมาตรฐานสูงยิ่งขึ้น

* * * * * * * * *

โทร.081-408-7889
กำลังโหลดความคิดเห็น