เครื่องปั้นดินเผา “บ้านมอญ” สินค้าขึ้นชื่อของ จ.นครสวรรค์ ได้รับการยอมรับในความสวยงาม คุณภาพ และราคาย่อมเยา ผู้มาเยือนมักหาซื้อเป็นของที่ระลึกเสมอ และด้วยประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ รวมกับวิถีชีวิตที่สืบทอดภูมิปัญญาดั่งเดิมรุ่นต่อรุ่น ทำให้ทุกวันนี้ ชุมชนแห่งนี้ไม่ได้มีดีแค่เครื่องปั้นดินเผาเท่านั้น แต่กำลังก้าวสู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ รอคอยนักท่องเที่ยวมาสัมผัส
** ย้อนรอยดินเผาบ้านมอญ **
หมู่บ้านมอญ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ต.บ้านแก่ง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ กว่าจะมาเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาระดับประเทศเช่นวันนี้ ต้องย้อนรอยไปเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว เมื่อชาวมอญที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปั้นโอ่งดินเผา จำนวน 4 ตระกูล ได้แก่ ครอบครัว “เลี้ยงสุข” , “ช่างปั้น” , “เรืองบุญ” และ “แก้วสุทธิ” ได้ล่องเรือจาก อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มาถึงบริเวณนี้ ครอบครัวมอญดังกล่าว นำดินเหนียวจากบริเวณบึงใน อ.บ้านแก่ง ทดลองปั้น และเผา ปรากฏว่า ได้เครื่องดินเผาคุณภาพดี จึงอาศัยทำเลนี้ ประกอบอาชีพเรื่อยมาถึงปัจจุบัน
ป้าเป้า เลี้ยงสุข วัย 60 ปี ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผา และทายาทหนึ่งในตระกูลเริ่มแรก เล่าว่า ชาวบ้านในชุมชนบ้านมอญ จำนวนกว่าร้อยหลังคาเรือน ประกอบอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาแทบทุกคน เรียนรู้กันตั้งแต่จำความได้ ผ่านการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ปู่ยาย สู่พ่อแม่ กระทั่งถึงลูกหลาน โดยจุดเด่นที่ทำให้ดินเผาบ้านมอญ ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ เพราะมีดินเหนียวคุณภาพสูง ปั้นง่าย เผาแล้ว เนื้อดินไม่แตกกราน ซึ่งวัตถุดิบจะขุดจาก “บึงเขาดิน” ซึ่งมีพื้นที่ดินกว่า 600 ไร่ อยู่ห่างจากหมู่บ้านแค่ 500 เมตร นอกจากนั้น ชาวบ้านได้คิดค้นรูปแบบใหม่ๆ พัฒนาลวดลายออกไปมากมาย ไม่จำกัดแค่ปั้นโอ่งเท่านั้น
** ตลาดตอบรับดินเผาขึ้นชื่อ **
สำหรับผู้สัญจรผ่านไปมาเส้นทางถนนนครสวรรค์ – บ้านแก่ง จะพบเห็นหน้าร้านขายเครื่องปั้นดินเผาของชาวบ้านมอญวางเรียงรายขนาบสองข้างทางยาวหลายกิโลเมตรให้เลือกซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก
นางมาลี เรืองบุญ รองประธานกลุ่มฯ และอีกหนึ่งทายาทตระกูลยุคเริ่มแรก เสริมให้ฟังว่า ร้านค้าเหล่านี้ เป็นแหล่งที่พ่อค้าคนกลางจะมารับเครื่องปั้นดินเผาไปขายต่อทั่วประเทศ เช่น ส่งร้านค้าของที่ระลึกในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และร้านขายของตกแต่งบ้าน และสวน ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต เมืองพัทยา ฯลฯ แม้กระทั่งเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ก็ยังมารับดินเผาบ้านมอญไปขายต่อ เพราะราคาเมื่อเทียบกับแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาอื่นๆ ถูกกว่าเกือบครึ่งทีเดียว อีกทั้ง มีพ่อค้ารับซื้อส่งออกไปต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ ดินเผาบ้านมอญเคยได้รับคัดสรร เป็นสินค้าโอทอป 5 ดาว ของประเทศ ด้านตลาดมียอดสั่งซื้อสูงขนาดผลิตแทบไม่ทัน หากเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ต่อเดือน มีรายได้หลักแสนบาท ส่วนชาวบ้านรับจ้างผลิต ถ้าฝีมือดีรายได้ไม่ต่ำกว่าหมื่นบาทต่อเดือน และจากความนิยมของตลาดเช่นนี้ สถาบันการเงินของรัฐ อย่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ได้มาสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในชุมชน กว่า 15 ราย จำนวนรวม 1.5 ล้านบาท โดยใช้เครื่องหมายโอทอปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้การผลิตคล่องตัวยิ่งขึ้น
** ต่อยอดท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม **
ด้วยความพร้อมในทรัพยากร และภูมิปัญญาประจำท้องถิ่นดังกล่าว ชุมชนบ้านมอญจึงได้รับสนับสนุนให้ก้าวสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในรูปแบบหมู่บ้านโอทอป เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว (2548) ผ่านงบประมาณสนับสนุนของจังหวัด จำนวน 4 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ และอบรมความรู้ให้ชาวบ้าน เป็นต้น
รองประธานกลุ่ม อธิบายว่า กิจกรรมท่องเที่ยวบ้านมอญ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าพักผ่อนแบบโฮมสเตย์ มีบ้านที่ปรับปรุงพร้อมให้บริการได้จำนวน 10 กว่าหลัง รับรองผู้พักได้กว่า 50-60 คน ซึ่งห้องพัก ส่วนใหญ่ ไม่ได้ตกแต่งในรูปแบบรีสอร์ทหรูหราแต่อย่างใด เพราะอยากให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาอยู่อาศัยเหมือนกับชาวบ้านในท้องถิ่นจริงๆ
คิดค่าบริการคนละ 250 บาทต่อคืน มีกิจกรรมประกอบด้วย ช่วงเช้าเจ้าของบ้านจะชวนผู้เข้าพักตักบาตร ช่วงสายพาชมการผลิตเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่ต้นจนออกจากเตาเผา ทั้งขั้นตอนผลิตแบบโบราณที่ปั้นด้วยแป้นหมุนมือ และเผาด้วยเตาโบราณ หรือกรรมวิธีผลิตสมัยใหม่ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ลงมือปั้นเองด้วย
นอกจากนี้ เด็กๆ ในชุมชนบ้านมอญ จะรับหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ พาไปเที่ยวสถานที่สำคัญในท้องถิ่น เช่น พาไป “วัดเขาดิน” ซึ่งเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์น่าประทับใจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) เคยประทับพัก เมื่อคราวเสด็จประพาสต้น อีกทั้ง พาไปดู “บึงเขาดิน” แหล่งวัตถุดิบในการทำปั้นดินเผา ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำในบึงได้
นางมาลี เผยว่า เวลานี้ นักท่องเที่ยวยังเข้ามาใช้บริการไม่มากนัก ส่วนใหญ่มีแค่กลุ่มนักศึกษามาพักผ่อนช่วงปิดเทอม ซึ่งปัญหามาจากขาดประสบการณ์ในการประชาสัมพันธ์ คนทั่วไปไม่รู้ว่า บ้านมอญมีการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม กำลังเร่งพัฒนา เช่น หาช่องทางเชื่อมโยงกับบริษัททัวร์ เพื่อให้นำนักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้บริการ หรือในวันสำคัญต่างๆ ชาวบ้านในชุมชนจะพร้อมใจกัน ย้อนอดีตแต่งกายชุดมอญ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจแก่การท่องเที่ยว
* * * * * * * * * * *
โทร.0-5636-2407 , 0-5622-1966