“เครื่องทองลงหิน” เดิมเป็นภาชนะที่ใช้ในครัวเรือนไทย นานกว่า 200 ปี ตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อต้นรัตนโกสินทร์ โดยย่านชุมชน“บ้านบุ” เขตบางกอกน้อย เป็นแหล่งทำเครื่องทองลงหิน สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น
ในอดีตที่ยังไม่มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขัน เครื่องทองลงหินเป็นที่นิยมอย่างสูง จนช่างทำกันไม่ทัน แต่หลังจากมีภาชนะรุ่นใหม่ ทำเลียนแบบจากทองเหลือง และสแตนเลส หล่อปั๊มด้วยเครื่องจักร ซึ่งราคาถูก และทำได้ปริมาณสูงกว่ามากเข้ามาทดแทน ส่งผลกระทบตลาดเครื่องทองลงหินซบเซาลงเรื่อยๆ ถึงวันนี้ กล่าวได้ว่า เหลือแค่โรงงานขันลงหินบ้านบุ “เจียมแสงสัจจา” เป็นผู้ผลิตงานมรดกชิ้นนี้ เพียงรายเดียวในประเทศไทย
เมตตา เสลานนท์ ทายาทผู้รับช่วงงานมรดก ดูแลกิจการทำเครื่องทองลงหินบ้านบุแห่งเดียวในประเทศไทย ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน กว่า 40 ปี เล่าว่า การทำเครื่องทองลงหิน มีขั้นตอนค่อนข้างยาก ต้องใช้ความอดทนสูง ช่างต้องทำงานอยู่หน้าเตาไฟร้อนระอุ โดยการทำแบ่งตามการทำงานของช่างเป็น 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ช่างตี ถือเป็นหัวใจ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญความแม่นยำ และประณีตในการปฏิบัติงานอย่างมาก เริ่มตั้งแต่นำวัตถุดิบ ซึ่งประกอบด้วย ทองแดง 7 ส่วน ดีบุก 2 ส่วน และเศษสำริด 1 ส่วน มาย่อยลงเบ้าหลอมบนเตาตี ที่โหมด้วยไฟแรงสูงต่อเนื่อง จนโลหะหลอมละลายเข้าเป็นน้ำทองเนื้อเดียวกัน ทิ้งให้เย็นเป็นก้อน จากนั้นนำมาเผาไฟแดงแล้วตี และดัด จนได้เป็นรูปทรงตามต้องการ
2.ช่างลาย ทำหน้าที่ตีเก็บรอยค้อนทำให้เนื้อภาชนะเรียบเสมอกัน ก่อนตีลายต้องทาดินหม้อให้ทั่วภาชนะ เพื่อให้ผิวมีความลื่น ไม่ฝืดเวลาตี 3.ช่างกลึง ทำหน้าที่กลึงผิวภาชนะให้เรียบเสมอกัน 4.ช่างกรอ เดิมเรียกกว่า ช่างตะไบ เพราะช่างใช้ตะไบเป็นเครื่องมือตกแต่งผิว 5.ช่างเจีย เป็นขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมาจากโบราณ ใช้เครื่องเจียไฟฟ้า เพื่อตกแต่งตำหนิต่างๆ และ 6.ช่างขัด ใช้หินเนื้อละเอียดขัดภาชนะให้ขึ้นเงา ต่อชิ้นใช้เวลารวม 4 วันนอกจากนั้น บางชิ้นมีการเพิ่มขั้นตอนแกะสลักลายบนภาชนะเข้าไปด้วย เพิ่มความแปลกใหม่มากขึ้น
เมตตา เผยว่า เครื่องทองลงหินบ้านบุ ได้รับคัดสรรเป็นสินค้าโอทอป ระดับ 5 ดาว จุดเด่น คือ ความสวยงาม ผิวเงางาม ดูสูงค่า เนื้อภาชนะเหนียว แข็งแกร่ง ไม่ขุ่นมัวได้ง่าย มีน้ำหนัก ผิวเย็น และเมื่อเคาะจะเกิดเสียงกังวานใส คล้ายเสียงระฆัง แต่ข้อเสีย คือ ดูแลรักษายาก หลังใช้งานเสร็จ ต้องล้างทำความสะอาด และเช็ดให้แห้ง ไม่เช่นนั้นจะเกิดด่าง แต่ในความเป็นจริง ทุกวันนี้ ผู้ซื้อจะนำไปเป็นของตกแต่งบ้าน หรือของที่ระลึก มากกว่านำไปใช้งานจริง
ในส่วนของรูปแบบ มีการพัฒนาให้หลากหลายยิ่งขึ้น จากโบราณที่มีแค่ขันน้ำ พานรอง และจอกลอย ได้สร้างสรรค์เป็นรูปแบบใหม่ๆ เปิดตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น เช่น ชามสลัด ชามผลไม้ ชุดกาแฟ ที่เขี่ยบุหรี่ ฯลฯ ราคาเริ่มต้นที่ชิ้นละ 600 บาท ถึง 9,000 บาท แม้จะค่อนข้างสูง แต่เมื่อดูขั้นตอน และความยากในการทำ ต้องยอมรับว่า สมควรแก่ราคา โดยตลาดจะเน้นผลิตตามคำสั่งซื้อ ส่งไปต่างประเทศ ทั้งทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกา ส่วนในประเทศส่งขายใน “คิง เพาเวอร์” ร้าน “นารายณ์ภัณฑ์” และโรงแรมระดับ 5 ดาวต่างๆ มีรายได้เฉลี่ยหลักแสนบาทต่อเดือน
เมตตา ระบุว่า จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้เครื่องทองลงหินมีปัญหาขาดช่างสืบทอดฝีมือ เพราะเป็นงานที่อาศัยความอดทนสูง ต้องทำงานหนักตีเหล็กหน้าเตาไฟร้อน แม้รายได้จะค่อนข้างสูง ช่างมีฝีมือ รายได้ไม่น้อยกว่าวันละพันบาท แต่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจจะศึกษา ขณะเดียวกัน ช่างรุ่นเก่า ก็ไม่สนับสนุนให้ลูกหลานมาทำงานนี้ เพราะไม่ต้องการให้ลำบากเหมือนตัวเอง ดังนั้น ช่างฝีมือนับวันจะลดน้อยลง นอกจากนั้น จากต้นทุนการผลิต และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียนด้วย
อย่างไรก็ตาม หลายหน่วยงานพยายามเข้ามาช่วยเหลือ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยนี้ไว้ อย่างในช่วงประมาณกลางปีที่แล้ว (2549) ที่เกิดวิกฤตเพลิงไหม้โรงงาน ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ให้เงินกู้ 500,000 บาท ในโครงการเงินทุนหมุนเวียน จนสามารถประคับประคองให้กิจการฟื้นฟูขึ้นมาได้ รวมถึง ทางกรุงเทพมหานคร ได้สนับสนุนให้ชุมชนบ้านบุ เป็นแหล่งท่องเที่ยว สำหรับชาวต่างชาติเข้ามาดูขั้นตอนการทำอย่างสม่ำเสมอ
เมตตา ทิ้งท้ายว่า เดิมชุมชนบ้านบุที่มีกว่า 100 หลังคาเรือนจะทำเครื่องทองลงหินทุกบ้าน แต่เวลานี้ เหลือช่างแค่ 24 คน อยู่ในโรงงานของเธอเท่านั้น ดังนั้น พยายามประคับประคองธุรกิจนี้ให้อยู่รอดไปให้ได้ พร้อมกับการสร้างช่างรุ่นใหม่มาทดแทน ไม่เช่นนั้น เครื่องทองลงหินบ้านบุจะกลายเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานกันเท่านั้น
* * * * * * * * *
โทร.08-1615-7840