“พาราวู้ด ดีไซน์ฯ” ผู้ผลิตเครื่องใช้ไม้ยางพารา จ.ชลบุรี ปรับแผนธุรกิจ ฝ่ามรสุมคู่แข่งจากจีน และเวียดนามบุกแย่งตลาด เดินเกมหาตลาดใหม่ ยกระดับสินค้า เน้นขายดีไซน์ เพิ่มความหลากหลาย และสร้างแบรนด์ตัวเอง
กิตติพงษ์ เดชคูหะภูมิพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาราวู้ด ดีไซน์ อินดัสทรีส์ จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา อาทิ เครื่องใช้ในครัวเรือน และของเล่นเด็ก ใน ต.หนองเหียง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เผยว่า เริ่มธุรกิจตั้งแต่ปลายปี 2539 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท รับจ้างผลิตแบบ OEM ให้แก่ลูกค้าต่างประเทศ ที่แล้วมา นับว่า ธุรกิจก้าวไปได้ดีต่อเนื่อง จากพนักงานเริ่มแรก 7 คน ขยายเป็นหลักร้อยกว่าคนในเวลาแค่ 2-3 ปี ทำรายได้ปีหนึ่งถึงเลขแปดหลัก
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่จีน และเวียดนาม เริ่มเปิดประเทศเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเต็มตัว เมื่อราว 5-6 ปีก่อน ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชาวไทยอย่างมาก ไม่เว้น ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรรูปที่โดนแย่งตลาดลูกค้าต่างประเทศ เนื่องจากทั้งสองประเทศ มีข้อได้เปรียบค่าแรงงานถูกกว่ามาก รวมถึง ค่าวัสดุไม้ยางพาราดิบขยับตัวสูงขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัวจากเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ทำให้ต้นทุนสินค้าไทยสูงกว่าคู่แข่งมาก ลูกค้าจึ่งเปลี่ยนไปจ้างผู้ผลิตจากจีน และเวียดนามแทน
“ตอนนี้จีน กับเวียดนาม มีศักยภาพสูงมาก โดยเฉพาะเวียดนาม ผมมองว่า เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวกว่าจีนเสียอีก เพราะมีคุณสมบัติต่างๆ คล้ายกับไทยมาก แล้วมาแย่งตลาด ทำให้ลูกค้าเราหายไปกว่า 50% เฉพาะแค่โรงงานใน จ.ชลบุรี ในรอบปีที่ผ่านมา (2549) เพื่อนๆ ของผม ต้องปิดกิจการไม่ต่ำกว่า 10 โรงงาน” กิตติพงษ์ เล่าถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น
**ปรับทัพสู้จีน-ญวนแย่งตลาด
เมื่อธุรกิจพบกับคู่แข่งศักยภาพสูงดังกล่าว บริษัท พาราวู้ด ดีไซน์ฯ พยายามปรับตัวหาทางรอดในหลายๆวิธี โดยวางยุทธศาสตร์ เจาะลูกค้าระดับกลาง ที่ต้องการชิ้นงานคุณภาพในปริมาณไม่สูงมากนัก ซึ่งโรงงานผลิตรายใหญ่ทำให้ไม่ได้ เพราะต้องผลิตครั้งละปริมาณมากๆ
กิตติพงษ์ ขยายความว่า ขณะนี้ เน้นหาลูกค้าที่ต้องการสั่งออเดอร์ครั้งละหลักร้อยถึงหลักพันชิ้น แล้วเสริมในส่วนดีไซน์ให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากที่สุด ตั้งแต่ชิ้นใหญ่ จนถึงชิ้นเล็กๆ ขนาดเท่าหัวนิ้วก้อย รวมแล้วมีมากกว่า 1,600 รายการ ซึ่งแนวทางนี้ ช่วยลดต้นทุน ใช้วัสดุไม้คุ้มค่า และผู้ผลิตรายใหญ่ไม่สามารถลงมาแข่งได้ รวมถึงการมีดีไซน์มาก เท่ากับเปิดโอกาสให้ตลาดกว้างขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ การจะผลิตดีไซน์มากๆ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนนำเข้าเครื่องจักรหลายตัว เคล็ดลับ คือ ออกแบบและประดิษฐ์เครื่องจักรใช้งานเองเฉพาะของโรงงาน มีคุณสมบัติ ถอดประกอบนำมาพลิกแพลงผลิตงานได้หลากรูปแบบ ยกตัวอย่าง เครื่องทำชิ้นส่วนไม้เล็กๆ ของต่างประเทศ ราคากว่า 3 แสนบาท และใช้งานได้เฉพาะแบบเดิม แต่เครื่องจักรที่โรงงานพัฒนาขึ้น ราคาเพียง 4 หมื่นบาท และสามารถถอดประกอบเปลี่ยนหัว นำไปผลิตงานชิ้นอื่นๆได้อีกตามต้องการ
นอกจากนั้น ช่วง 2 ปีหลัง พยายามเปิดตลาดใหม่ สร้างแบรนด์ของตัวเอง ชื่อ “Artemis” ทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน วางกลุ่มลูกค้าระดับเอ มีจุดเด่นที่ดีไซน์ค่อนข้างหรูหรา แปลกตา นำสินค้าไทยๆ มาผสมผสานกับไม้ยางพารา เช่น เสื่อทอ ผ้าไหม เซรามิก และเครื่องเงิน เป็นต้น ผ่านช่องทางขายในห้างสรรพสินค้า อย่างสยามพารากอน เป็นต้น
เจ้าของธุรกิจ ระบุว่า รายได้ของบริษัทเมื่อปี 2549 ประมาณ 29 ล้านบาท ลดจากปี 2548 ที่ประมาณ 36 ล้านบาท โดยรายได้หลักประมาณ 90% คือ รับจ้างผลิตส่งไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และกลุ่มอียู เป็นต้น แต่จากแนวโน้มรายได้เริ่มลดลง ทำให้ต้องหาตลาดใหม่ มีแบรนด์ตัวเอง เพราะแนวโน้ม ถ้าจะแข่งรับจ้างผลิตต่อไป ไม่เห็นทางที่จะสู้ได้
**ชี้คนไทยไม่นิยมไม้ยางพารา
ในส่วนตลาดภายในประเทศนั้น เขา ชี้ว่า ผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา ได้รับความนิยมจากคนไทยค่อนข้างน้อย ด้วยค่านิยมว่า เป็นไม้เนื้ออ่อน เกรดต่ำ ทั้งที่จริงแล้ว ไม้ยางพารามีคุณสมบัติเหนียว และแข็งแกร่งมากกว่าไม้สักเสียอีก แต่เนื่องจากมียางอยู่ภายใน ทำให้ปลวกชอบกัดกิน แต่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน ถ้าใช้งานในสภาพปกติ ไม่อยู่ในที่อับชื้น ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราสามารถใช้งานได้มากกว่า 20 ปี
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ เริ่มหันมาชื่นชอบงานไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะชอบในสี และลายไม้ยางพารา ประกอบกับคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากไม้เศรษฐกิจ มากกว่าไม้ที่ต้องโค่นจากป่า
**วอนรัฐแก้ราคาไม้ยางดิบพุ่ง
เขา ระบุว่า สถานการณ์ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราไทยเวลานี้ อยู่ในช่วงวิกฤต แม้แต่ตัวเขาเอง ซึ่งพยายามปรับตัวต่างๆ นานาแล้ว ก็ยอมรับว่า ธุรกิจอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วง เช่นเดียวกับเพื่อนๆ ในวงการ ดังนั้น จึงร่วมกันตั้งเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราภาคตะวันออก มีสมาชิกทั้งสิ้น 23 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านระหว่างกัน เพิ่มศักยภาพให้แก่สมาชิก
อย่างไรก็ตาม แม้จะรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ช่วยให้ธุรกิจดีขึ้นเล็กน้อย แต่หากแนวโน้มคู่แข่งจากจีน และเวียดนามยังบุกแย่งตลาดไปต่อเนื่องเช่นนี้ อีกไม่นาน ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมนี้อาจทรุดทั้งระบบ จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะประเด็น แก้ปัญหาราคาไม้ยางพาราดิบสูง เพื่อช่วยให้ต้นทุนผลิตของไทยลดลง สามารถจะแข่งขันกับจีน และเวียดนามได้
กิตติพงษ์ ทิ้งท้ายถึงแนวทางของบริษัทฯ ในปีนี้ จะพยายามหาช่องว่างของตลาดที่ผู้ผลิตจากจีน และเวียดนาม ไม่สามารถทำได้ แล้วเร่งเจาะตลาดตรงนั้น ที่มองไว้ คือ ผลิตงานชิ้นเล็กๆ มีคุณภาพสูง พร้อมดีไซน์แปลก ทยอยออกมาเป็นชุดต่อเนื่องกัน ตอบสนองลูกค้าที่เลือกคุณภาพมากกว่าราคาถูก
* * * * * * * * * *
โทร.08-1649-6716 หรือ www.parawooddesign.com