ตะเกียงเทียนหอมเซรามิกดินเผา เป็นผลงานสร้างสรรค์ของกลุ่มประติมากรรมดินเผา โบราณ จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นการฉีกรูปแบบงานเซรามิกเครื่องปั้นดินเผาที่ซ้ำซากจำเจ ให้เกิดทางเลือกใหม่แก่ผู้ที่ชื่นชอบงานเซรามิกเครื่องปั้นดินเผา จุดเด่นของตะเกียงเซรามิกอยู่ที่ การดึงลายของเวียงกาหลงมาใช้ เพื่ออนุรักษ์ลวดลายเวียงกาหลงซึ่งเป็นตำนาน8 จังหวัด ล้านนาให้ยังคงอยู่ต่อไป
นายนิพันธ์ ทองศิริ เจ้าของผลงานตะเกียงเทียนหอมเซรามิก กล่าวว่า รูปแบบของตะเกียงเทียนหอมเซรามิก เป็นการเลียนแบบมาจากตะเกียงเจ้าพายุ เป็นตะเกียงโบราณที่ปัจจุบันหาดูได้ยาก และเพื่ออนุรักษ์ สืบทอด ตำนาน 8 จังหวัดล้านนา โดยพยามดึงลวดลายเล็กบนเครื่องปั้นดินเผาของ เวียงกาหลงที่เห็นว่าสวยงามให้เด่นออกมา ซึ่งลายเหล่านี้ถ้าไม่สังเกตจะมองไม่เห็น แต่เมื่อนำมาทำลายบนตะเกียงมีความสวยงามไม่แพ้ลายเด่นๆของเวียงกาหลงเลย
“นอกจากลายเวียงกาหลง มีลายช้าง ลายกระดองเต่า เป็นต้น ลายต่างๆ จะมีความหมายและที่มาตามความเชื่อด้วยส่วนหนึ่ง และเป็นลายที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความเป็นไทย และตำนานล้านนา ด้วย ส่วนสีจะดูตามความต้องการของลูกค้า ถ้าเป็นลูกค้าแถบยุโรป ชอบสีเข้ม ทึบๆ ถ้าเป็นลูกค้าคนไทย หรือเอเชีย ก็จะชอบที่มีสีสันขึ้นมาหน่อย อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่ชอบทำจะออกแนวโบราณ งานบางชิ้นทำแบบศิลาดล เพิ่มออกไซด์เพื่องานออกมาไม่โบราณเกินไป และมีความเป็นสากล ซึ่งงานออกแบบต่างๆ ของเราจะมีเรื่องของงานศิลปะเข้ามาเสริมด้วย สังเกตเห็นได้จากผลงานที่ทำอยู่จะออกแนวอาร์ต และแต่ละชิ้นจะไม่ซ้ำกันเพราะเป็นงานทำมือทุกชิ้น” นายนิพันธ์ กล่าว
สำหรับรูปแบบของตะเกียงดินเผา มี 2 แบบ ตะเกียงเทียนหอม และตะเกียงน้ำมันหอมระเหย กลุ่มลูกค้า จะมีลูกค้าทั่วไป กลุ่มรีสอร์ท สปา และลูกค้าต่างประเทศ ปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่ที่ กาแล เซ็นเตอร์ บ้านถวาย ร้านขายงานศิลปะในกรุงเทพฯ (ตลาดนัดสวนจตุจักร) เทรดเดอร์รับไปจำหน่ายในต่างประเทศ และออกงานแสดงสินค้ากับหน่วยงานราชการ เพราะได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์โอทอปของจังหวัดลำพูน
การออกงานแสดงสินค้าจะได้ลูกค้าสั่งสินค้าตามมาเยอะ และได้ลูกค้าประจำ ในอนาคตต้องการหาแหล่งจำหน่ายตามสถานที่ท่องเที่ยวในภาคใต้ อย่าง เกาะสมุย ซึ่งสัดส่วนของลุกค้าคนไทย และต่างประเทศ ใกล้เคียงกัน ส่วนราคาของตะเกียงดินเผา อยู่ระหว่าง 350 บาท ถึง 450 บาท ส่วนรูปแบบอื่นๆ เริ่มต้นที่ 100 บาท ไปจนถึง 500 บาท ราคาขึ้นอยู่กับแบบ และความยากง่าย
“ส่วนรูปแบบของตะเกียงไม่ได้กลัวเรื่องการลอกเลียนแบบ เพราะเป็นงานทำมือจริง แต่สิ่งที่น่ากลัว คือ การผลิตในลักษณะของโรงงาน เพราะโรงงานจะผลิตครั้งละมาก สินค้าก็จะออกมาสู่ตลาดทั่วไปหมด และตัดราคากันเอง การหลีกหนีมาทำในลักษณะของงานทำมือ ทำได้จำนวนน้อยชิ้น ไม่ต้องกลัวว่าสินค้าจะล้นตลาด และเตรียมแบบใหม่ออกมาอยู่เรื่อย มีการผสมผสานกับวัสุดอื่น เช่น ไม้ อะลูมิเนียม ฯลฯ เมื่อมาแมทกับงานเซรามิก ทำให้เกิดอารมณ์ของงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงงานทำไม่ได้ เราไม่ได้ต้องการแข่งกับใครแต่จะแข่งกับความต้องการของลูกค้ามากกว่า”
นายนิพันธ์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของประติมากรรมดินเผา ลำพูน เริ่มมาจากตนเองคลุกคลีอยู่กับวงการเซรามิกมากว่า 14 ปี โดยทำงานอยู่ที่โรงงานเซรามิกแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ซึ่งสะสมประสบการณ์มาพอสมควร ก่อนตัดสินใจมาทำกิจการของตัวเอง ที่เลือกทำตะเกียงเทียนหอม และตะเกียงน้ำมันหอมระเหย เพราะช่วง เริ่มต้นเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จนถึงปัจจุบัน จะปรับเปลี่ยนเพียงรูปแบบ แต่เน้นใช้ใส่เทียนหอม และน้ำมันหอมระเหย จนถึงวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่พอใจประมาณ 80 % ตลอดระยะเวลา 3 ปี มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น การต่อเติมโรงงาน มีพนักงานเพิ่ม และโชคดี ที่ได้พนักงานที่เคยทำงานเซรามิกมาช่วย ซึ่งช่วยได้เยอะมาก
สนใจ โทร. 0-6191-1811 , www.athandmade.com