“บ้านเบญจวรรณ” ถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจเทียนแฮนด์เมด ในจังหวัดเชียงใหม่ มียอดส่งออกติดอันดับท็อปเทนของไทย เจ้าของธุรกิจ คือ “เจษฏา จิรพรรณทวี” หรือที่คนในวงการมอบฉายาว่า “ปู่เทียน” จากชั่วโมงบินยาวนาน จึงเป็นที่ยอมรับ และเคารพของเพื่อนร่วมอาชีพ โดยเขาได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในธุรกิจ รวมถึงมองแนวโน้มที่จะเป็นไป
เจษฏา บอกว่า เดิมทำธุรกิจส่งออกงานดอกไม้ประดิษฐ์ทำเป็นเครื่องประดับสตรี มากว่า 25 ปี กระทั่งเกิดวิกฤตปี 2540 ยอดสั่งสินค้าตกลง ทำให้ต้องหาสินค้าใหม่มาเสริมรายได้ จึงมองมาที่ธุรกิจเทียนแฮนด์เมด เพราะตลาดต่างประเทศให้ความนิยม รวมถึง สามารถนำพื้นฐานงานปั้นที่ตัวเองชำนาญมาประยุกต์ได้
“เมื่อก่อนยังไม่มีตำราการทำเทียน ผมก็ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้ส่วนผสมที่ลงตัวเหมาะในการปั้นมือได้ แล้วใช้พื้นฐานการปั้นดอกไม้มาปั้นเทียนเป็นดอกไม้ต่างๆ แล้วอาศัยออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ทำให้มีออเดอร์กลับเข้ามา”
บ้านเบญจวรรณ ถือเป็นผู้ผลิตเทียนแฮนด์เมดรายแรกที่เข้าสู่ระบบธุรกิจจริงจัง จดทะเบียนในชื่อบริษัท ศูนย์หัตถกรรมบ้านเบญจวรรณ จำกัด โดยเอกลักษณ์ คือ เป็นงานทำมือ แต่ละชิ้นจะไม่มีทางเหมือนกัน บวกกับทุกแบบพยายามนำเทียนดอกไม้เข้าไปผสมผสาน แล้วใช้จุดนี้ เป็นตัวสร้างภาพลักษณ์ในการขายตลาดต่างประเทศ
เจ้าของฉายาปู่เทียน ระบุว่า จุดสูงสุดของธุรกิจดังกล่าว น่าจะอยู่ที่ปี 2545 ลูกค้าต่างประเทศแห่มาสั่งสินค้าเทียนของไทยจำนวนมาก อย่างเทียนของบ้านเบญวรรณเคยได้คำสั่งซื้อถึงครั้งละ 9 แสนชิ้น ทว่า ปัญหาตามมา คือ เกิดการแข่งขันสูง ผู้ผลิตรายย่อย ๆ ผุดขึ้นใหม่จำนวนมาก ลอกเลียนแบบกันเป็นว่าเล่น แล้วขายตัดราคา นำมาสู่ความร่วมมือของผู้ผลิตรายหลักเพื่อหาทางแก้ไข
“ผู้ผลิตรายใหญ่ใน เชียงใหม่ มี 3 ราย รู้จักกันหมด บางคนก็เป็นลูกศิษย์ผมเอง เราเลยมาตกลงกำหนดราคากลางขึ้น เพราะต้นทุนพอกันอยู่แล้ว ถ้าแข่งกันตัดราคาก็เท่ากับแข่งกันไปตาย เราเลยตกลงกันว่า ตลาดใครตลาดมัน แต่ละรายจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ผลิตให้ซ้ำกัน ส่วนรายเล็กๆ ที่ขายราคาถูก เราก็บอกกับลูกค้าว่า ถ้าคุณเลือกจะซื้อสินค้าแบบนั้น ต้องยอมรับจะไม่ได้สินค้าคุณภาพ และมีความเสี่ยงสูงนะ เพราะผู้ผลิตแบบนี้ เขาไม่มีหลักประกันอะไรให้คุณมั่นใจได้”
ทั้งนี้ บ้านเบญจวรรณ มีเทียนมากกว่าร้อยแบบ ซึ่งการออกแบบจะพยายามเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ให้เหมาะกับตลาดต่างๆ ราคาตั้งแต่หลักหน่วยถึงหลักพัน โดยเฉลี่ยราคาจะสูงกว่าสินค้าเกรดต่ำประมาณ 40% ตลาดส่วนใหญ่กว่า 80% คือ ต่างประเทศ อาทิ อเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ เป็นต้น ยอดขายเฉลี่ยประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี กำลังผลิตประมาณ 30,000 ชิ้นต่อเดือน จากพนักงานประจำ 25 คน กับเครือข่ายที่ได้ไปสอนวิธีการผลิตไว้ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ และใกล้เคียง สำหรับรองรับในกรณีต้องการกำลังเสริม
เจษฎา ระบุว่า ปัจจุบัน การแข่งขันลดความดุเดือดลงมาก ปัจจัยสำคัญเกิดจากต้นทุนสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบ และค่าขนส่ง เพิ่มขึ้นกว่า 40-50% กระทบให้รายเล็กๆ ที่ขายราคาถูก แบกภาระไม่ไหว ต้องทยอยปิดตัวลง เหลืออยู่แต่รายที่มีแบรนด์ค่อนข้างเข้มแข็ง และไม่ลงไปตัดราคาแข่งกับตลาดล่าง ทว่า อยู่ได้ในสถานการณ์ที่กำไรน้อยลงอย่างมาก
ส่วนแนวโน้มธุรกิจนี้ เขายังเชื่อว่า จะเติบโตเฉลี่ยในอัตราปีละ 10-20% เนื่องจากตลาดต่างประเทศ ยังคงเชื่อถือสินค้าไทย ขณะที่ ตลาดในประเทศ จะเติบโตสูงขึ้นด้วย เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ รับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามาก บวกกับกระแสสปาบูม ช่วยเสริมให้คนไทยหันมาใช้เทียนในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
สำหรับแผนธุรกิจ เพื่อนำธุรกิจให้ดำเนินต่อไป พยายามทำประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ให้สอดคล้องกับภาวะตลาด ตั้งเป้า บริษัทฯ มียอดขายโตประมาณ 10-20% เน้นสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้คงความน่าเชื่อถือไว้เช่นเดิม กับเปิดสอนการทำเทียนทุกวันเสาร์ต้นเดือน เพื่อเพิ่มเครือข่าย และเสริมรายได้ อีกทั้ง กลับมาผลิตงานดอกไม้ประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับสตรีอีกครั้ง สำหรับเป็นผลิตภัณฑ์รองรับ ด้วยความเชื่อว่า แฟชั่นนี้กลับมานิยมอีกครั้ง
****โทร.0-1913-7966 , www.benjawan.com ****