เมื่อพูดถึง “บอระเพ็ด” สิ่งแรกที่ต้องนึกถึง คือ รสชาติขมอย่างถึงขั้วของมัน และคงไม่มีใคร คิดจะนำมากินเป็นอาหารว่างเป็นแน่ แต่ด้วยความกล้าคิด กล้าทำของชาวบ้านจาก อ.ไชโย จ.อ่างทอง อย่าง “นางสุรินทร์ แก้วอ่อน” แปรรูปสมุนไพรไทยชนิดนี้ เป็น “บอระเพ็ดเชื่อม” รสชาติหวานหอม แถมมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการ กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชน ส่งไปขายถึงต่างแดน
นางสุรินทร์ แก้วอ่อน ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง เล่าสาเหตุที่คิดนำบอระเพ็ดมาแปรรูป เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีมาแล้ว เพราะต้องการหารายได้เลี้ยงชีพ ด้วยการนำพืช หรือผลไม้ในท้องถิ่นมาแปรรูป แต่ไม่ต้องการใช้วัตถุดิบเดิมๆ อย่างที่ขายกันอยู่ เพราะมากจนล้นตลาดอยู่แล้ว เลยหันมามองที่บอระเพ็ด เนื่องจากหาได้ง่าย ราคาถูก และมีความเชื่อส่วนตัวว่า น่าจะแปรรูปได้ เลยทดลองคิดค้นสูตรด้วยตัวเอง
“สูตรที่ป้าคิดขึ้น มาจากการลองผิด ลองถูกด้วยตัวเอง กว่าจะลงตัว ใช้บอระเพ็ดเป็นพันกิโลฯ เอาไปขายช่วงแรก ก็ไม่มีใครยอมรับ บางคนด่าด้วยว่า จะบ้าเหรอ เอาของขมมาทำเป็นของหวาน ป้าเลยต้องทำตลาด ด้วยการให้ลองชิม ซึ่งใช้เวลาเป็นปี กว่าจะติดตลาด”
สำหรับจุดเด่นของบอระเพ็ดแปรรูป มาจากรสชาติหวานเข้าเนื้อ จนไม่เหลือความขมแม้แต่น้อย ประกอบกับความเหนียวของเนื้อบอระเพ็ด และที่สำคัญมีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะบอระเพ็ดเป็นสมุนไพรที่ได้ชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ สรรพคุณลดคอเลสเตอรอล แก้ไข้ หวัด ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นต้น
จากที่เริ่มต้นลงมือทำคนเดียว เมื่อสินค้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงขยายการผลิตออกไป ด้วยการตั้งเป็น “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรไชโย” ในปี 2543 และสร้างเครือข่ายการผลิตไปตามชุมชนใกล้เคียง รวมแล้ว มีสมาชิกกว่าร้อยคน
นอกจากบอระเพ็ดเชื่อมแล้ว ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรไชโย ยังนำพืช และผลไม้ในท้องถิ่นชนิดอื่นๆ มาแปรรูปด้วย อาทิ เขียวไข่กา กระชาย มะระ มะกรูด ตำลึง มะเขือเทศ มะเฟื่อง และกระเจี๊ยบ แปรรูปด้วยกรรมวิธีต่างๆ ได้แก่ กวน แช่อิ่ม เชื่อม และอบแห้ง สามารถเก็บไว้กินได้นาน 8 เดือน ยกเว้นบอระเพ็ด เก็บได้นาน 3 เดือน
ทั้งนี้ สินค้าจากบ้านไชโย มียอดผลิตและขายกว่า 1,000 กิโลกรัม (กก.) ต่อเดือน ในราคาขาย กก. ละ 70 – 200 บาท (แล้วแต่ชนิด) ผ่านช่องทางการตลาดในร้านสินค้าที่ระลึกทั่วไป อีกทั้ง มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น สร้างรายได้ให้สมาชิกหลักพันถึงหลักหมื่นบาทต่อคน
นางสุรินทร์ เล่าอีกว่า จากที่หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งได้มาสนับสนุน ทำให้สินค้ามีพัฒนาที่ดีขึ้น เช่น ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ ได้มาตรฐานสินค้าต่างๆ อาทิ อย. , มผช. รวมถึง สร้างแบรนด์ในชื่อ “ภูมิใจไชโย” อีกทั้ง แนะนำให้จดสิทธิบัตรภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้แล้ว
“จริงๆ แล้ว วิธีแปรรูปพวกนี้ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งการที่ป้าไปจดสิทธิบัตรไว้ เพราะทำตามคำแนะนำของพาณิชย์จังหวัด ไม่ได้หมายความจะไปเอาผิดกับกลุ่มอื่นที่มาทำเหมือนเราบ้าง เพราะแต่ละคนก็จะมีสูตรเฉพาะตัว ป้าเน้นอยากให้คนในชุมชนเรามีอาชีพมากกว่า”
ขณะนี้ปัญหาของกลุ่มฯ เกิดจากการความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์การผลิต โดยเฉพาะตู้อบ เพราะการส่งออกไปต่างประเทศ ตามกฎหมายนำเข้าของประเทศคู่ค้า ต้องแปรรูปในแบบอบแห้งเท่านั้น แต่เนื่องจากตู้อบที่มีอยู่ ผลิตได้น้อย ในขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ครั้งละกว่า 2-3 ตัน ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ทัน ทำให้ต้องพลาดโอกาสส่งออกไป ที่ผ่านมา หน่วยงานเช่น เอสเอ็มอีแบงก์ ได้สนับสนุนเงินทุนในการทำตู้อบเพิ่มแล้ว 100,000 บาท แต่ยังไม่เพียงพอ จึงอยากฝากให้หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ให้ความสำคัญในกรณีดังกล่าว เชื่อว่า ถ้าได้รับการสนับสนุนจะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดต่อไปได้
* * * * * * * * * * * * *
คัดเลือกบอระเพ็ด ที่มีอายุ 8 –12 เดือน นำมาปอกเปลือกนอก และแกะแก่นไส้ในออก นำไปแช่ในน้ำเกลือ 10 วัน จากนั้น นำไปแช่ในน้ำปูนใส ในอัตรา บอระเพ็ด 10 กก. / น้ำปูนใส 1 กก. เป็นเวลา 1 คืน แล้วจึงนำมาล้างด้วยน้ำสะอาด ต่อด้วยลวกในน้ำต้มเดือด จากนั้น นำไปแช่ในน้ำเชื่อมที่เตรียมไว้ ในอัตรา บอระเพ็ด 10 กก. /น้ำตาล 5 กก. ทิ้งไว้อีก 2 คืน จะได้บอระเพ็ดเชื่อม สูตรของ “ภูมิใจไชโย” |