xs
xsm
sm
md
lg

“LL” พวงมาลัยไม้แต่งเท่ โอทอปเด่นจากเมืองราชบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรินทร์  ตำหนิงาม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์
แม้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 จะหยิบยื่นทางตันให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายราย แต่สำหรับกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์ จังหวัดราชบุรี กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อจุดมุ่งหมายร่วมกัน ในการสร้างอาชีพผลิตพวงมาลัยรถยนต์จากไม้จนกระทั่งคว้ารางวัล OPC ( OTOP Product Champion) มาครอง

สุรินทร์ ตำหนิงาม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์ กล่าวว่า เดิมทำงานในโรงงานผลิตพวงมาลัย พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ทำให้เขาและผู้ร่วมงานบางส่วน ลาออกกลับมาตั้งรกรากที่บ้านเกิด จ.ราชบุรี พร้อมกับบุกเบิกธุรกิจผลิตพวงมาลัยไม้ด้วยตัวเอง เนื่องจากในท้องถิ่นมีวัสดุพร้อม อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญในสายการผลิต โดยเริ่มต้นด้วยเงินทุนมาจากการขายบ้านที่กรุงเทพฯ เพื่อซื้อเครื่องจักร ราว 200,000 – 300,000 บาท และอีกส่วนเป็นทุนหมุนเวียน

“ชื่อแม่ของผม คือ กาหลง และกลุ่มสมาชิกที่มาเข้าร่วมก็คือหลานๆของคุณแม่ จึงกลายเป็นที่มาของชื่อโลโก้พวงมาลัยว่า “LL” หรือ ชื่อไทยคือ “หลานหลง” โดยเราตั้งใจจะผลักดันธุรกิจนี้ให้กลายเป็นอาชีพของคนในชุมชนต่อไป เพราะขณะนี้มีชาวบ้านสนใจเข้าร่วมราวๆ 30 คนแล้ว และถือเป็นอาชีพที่จะเสริมรายได้ให้กับพวกเขาถึงประมาณ 3,000 – 4,000 บาทต่อเดือน”

จุดแข็งที่ส่งให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เกิดจากมีผู้ผลิตน้อยราย ในประเทศไทยมีแค่ 2 ราย คือ โรงงานเดิมที่ลาออกมา กับกลุ่มของเขา ส่วนในเอเชีย มีคู่แข่งเพียงอินโดนิเชีย และจีนเท่านั้น ทำให้ความต้องการของตลาดยังสูงกว่าการผลิตอยู่มาก การทำตลาดจึงไม่ใช้เรื่องยาก

พวงมาลัย “LL” ผลิตจากไม้มะฮอกกานี หรือไม้ยางพาราขาว รวมทั้งใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบหลัก ออกสู่ท้องตลาดแล้ว แบ่งเป็น 6 แบบหลัก และ 36 แบบย่อย ราคาขายส่งอยู่ที่วงละ 1,020 บาท ส่วนราคาขายปลีกวงละ 1,400 บาท โดยตลาดขายส่งหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนตลาดค้าปลีกในขณะนี้จะส่งไปตามร้านขายสินค้าประดับยนต์ตามต่างจังหวัด อาทิ ชัยนาท นครสวรรค์ พิษณุโลก เป็นต้น

เมื่อถามถึงมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ สุรินทร์บอกว่า “LL” ได้รับการันตีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) โดยมีอายุใช้งานได้กว่า 10 ปี ส่วนขนาดจะผลิตตามกระแสความนิยมที่กำลังเป็นไป คือ เส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว สำหรับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นที่นิยมพวงมาลัยขนาดเล็ก และขนาด 13 นิ้ว

นอกจากเรื่องมาตรฐานสินค้าแล้ว จุดเด่นอีกประการ มาจากการออกแบบ แม้ว่าจะเป็นสินค้าโอทอป ทว่า รูปแบบไม่ได้เป็นรองผู้ผลิตรายใด โดยมีทีมออกแบบโดยเฉพาะ เน้นตอบสนองลูกค้า กลุ่มที่ต้องการความแปลกใหม่ และทันสมัย กำหนดว่า อย่างน้อยต้องมีแบบใหม่ 3 แบบต่อปี

“ความทันสมัยของผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ทีมออกแบบของเราจะศึกษาทิศทางของตลาดอยู่เสมอ เรามักจะไปดูเทรนด์ของผลิตภัณฑ์ตามแหล่งในประเทศ เช่นตลาดคลองถม หรือตามเว็บไซด์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพราะเราจะตกขบวนเทรนด์ไม่ได้”

สุรินทร์มองอนาคตของอุตสาหกรรมพวงมาลัยรถยนต์ทำจากไม้ว่า มีแนวโน้มที่ดี ขยายตัวตามมูลค่าการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ แม้ว่าน้ำมันจะแพง ยอดขายรถ ยังคาดว่าจะโตขึ้นประมาณ 4 – 5%

“ยอดการจองรถยนต์นับหมื่นคันจากงานมอเตอร์ โชว์ ที่ผ่านมา เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สวนกระแสราคาน้ำมันแพง อีกทั้งจำนวนผู้ผลิตพวงมาลัยรถยนต์จากไม้ในภูมิภาคเอเชียที่มีเพียง 4 ราย คือ จีน อินโดนีเซีย และในไทยอีก 2 ราย ทำให้เราคาดว่าผลิตภัณฑ์ของเราจะยังเติบโตในตลาดได้อีกมาก”

ขณะนี้กลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์ จังหวัดราชบุรี กำลังอยู่ในขั้นตอนการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย เพื่อนำมาปรับปรุงสถานที่ในการผลิตให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานได้มากขึ้น รวมทั้งนำมาเป็นเงินทุนในการขยายกำลังการผลิตจาก 100 – 120 วงต่อเดือน เพิ่มเป็น 300 วงต่อเดือน และมีแผนกระจายสินค้าผ่านช่องทางร้านจำหน่ายอุปกรณ์ประดับเครื่องยนต์ให้ครอบคลุมมากกว่า 70 จังหวัด

ทั้งนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง คือแนวทางที่สุรินทร์นำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยเลือกที่จะจำกัดวงให้เป็นสินค้าโอทอปที่จะทำให้ผู้คนในชุมชนมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ตามอัตภาพ และเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเน้นหลักการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมจากสมาชิก รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านต่างๆให้กับบุคลากร เช่น การพาไปดูงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง หรือการผลักดันให้มีการศึกษาที่สูงขึ้น
* * *โทร.0-1423-1282 * * *
กำลังโหลดความคิดเห็น