แม้ว่า “อินเทอร์เน็ต” หรือ “อีคอมเมิร์ช” จะแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยนับสิบปีแล้วก็ตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่นิยมใช้บริการซื้อสินค้าผ่านช่องทางใหม่นี้ เพราะความไม่คุ้นชิน และไม่แน่ใจว่ามีความปลอดภัยเพียงไร ?
การสร้างกรณีศึกษาด้วยเว็บไซต์ www. BananaClick.com จึงเป็นการเรียนรู้โดยการลงมือทำ (Learning by Doing) เพื่อหาข้อสรุปหรือแนวทางแก้ไขในเชิงสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่จะทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้อย่างเป็นระบบ
สิทธิเดช ลีมัคเดช ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www. BananaClick.com กล่าวว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ที่มีข้อจำกัดด้านเงินลงทุน และจำนวนบุคลากร จึงต้องนำไอทีมาช่วย แต่การใช้อีคอมเมิร์ชให้ประสบความสำเร็จยังประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่ทำเว็บไซต์เสร็จเพียงอย่างเดียว
เขาอธิบายถึงแนวคิดในการสร้างเว็บไซต์ว่า ได้ศึกษาพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมาพอสมควรทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ในส่วนผู้ขายที่ทำการค้าต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเป็นระบบค้าขายที่ก่อให้เกิดความสะดวก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับด้านการท่องเที่ยวจะพบว่ามีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับการซื้อขายสินค้าในประเทศระหว่างคนไทยด้วยกันเอง กลับพบปัญหามากมาย
“เราต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพราะรู้อยู่แล้วว่า ถ้าคนไทยหันมานิยมซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ตได้จะช่วยลดปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางด้วยรถที่ต้องใช้น้ำมัน เพราะต้องนำเข้ามาใช้ปีละนับแสนล้านบาท ผู้ขายต้องไปเปิดร้านทุกวัน โดยที่ไม่รู้ว่าวันนั้นจะได้เปิดบิลหรือเปล่า ผู้ซื้อบางครั้งไปเสียเที่ยว เพราะสินค้าที่ต้องการหมด แต่จะให้ผู้ขายสต๊อกสินค้ามากๆ ก็เสี่ยงต่อการขาดทุน รวมทั้งเรื่องของเวลาที่บางครั้งถูกใช้ไปแบบไร้ค่า ต้องมีชีวิตติดอยู่บนท้องถนน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแย่ๆ ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาเพราะอารมณ์เสีย ดังนั้นถ้าเปิดร้านบนอินเทอร์เน็ต หาสินค้าที่ตลาดต้องการและประชาสัมพันธ์ดีๆ ก็สามารถทำธุรกิจได้”
สิทธิเดช อธิบายว่า จากการเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยานเรศวร และสอนเกี่ยวกับการค้าออนไลน์การเลือกกล้วยตากจากจังหวัดพิษณุโลก เป็นสินค้านำร่อง เพราะเป็นผลไม้เลื่องชื่อจากจังหวัด และหวังจะทำเป็นตัวอย่างให้นักศึกษาเข้าใจขั้นตอนการก่อร่างสร้างตัวเป็นเถ้าแก่ออนไลน์อย่างเป็นระบบ
“นวัตกรรมไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่เป็นสินค้าเท่านั้น หากเราสร้างระบบค้าขายใหม่ให้คนไทยยอมรับได้ ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมแล้ว แต่ต้องอาศัยเวลา การไปสอนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร สะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการค้าใหม่ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ขอให้มีอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องอพยพแรงงานเข้ามาหางานทำในเมืองหลวงอีกต่อไป”
“ผมอยากให้บัณฑิตเหล่านี้กลับไปช่วยวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดของเขา พัฒนาผลิตภัณฑ์และรู้จักใช้ช่องทางนี้ทำธุรกิจ เลยเลือกสินค้าพื้นบ้านของเขามาทำตัวอย่างให้ดู ปรากฏว่าหลังประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อไปสามเดือน ก็มีคนกรุงเทพฯ, เชียงใหม่, หนองคาย, สุราษฏร์ธานี ใช้บัตรเครดิตสั่งซื้อเข้ามาแบบเกินความคาดหมาย ยังไม่นับออร์เดอร์จากประเทศบรูไน, สหรัฐฯ ที่ตอนแรกกลัวคนไทยไม่ซื้อก็ไปประกาศขายในเว็บไซต์อาลีบาบาด้วย จนมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบผลิตป้อนตลาดไม่ทัน ทั้งที่มีหน้าร้านอยู่ที่ร้านสวัสดี สนามบินดอนเมืองแห่งเดียวเท่านั้น”
ปัจจุบัน www.BananaClick.com ไม่ได้เป็นเพียงเว็บจำหน่ายกล้วยตากเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เปิดเป็นชุมชนให้ผู้ที่สนใจค้าออนไลน์ได้ศึกษา ตั้งแต่การคัดเลือกสินค้ามาจำหน่าย, การวางแผนตลาด ไปจนถึงขั้นตอนการสั่งซื้อสินค้าโดยใช้บัตรเครดิต รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัย และการคุ้มครองสิทธิของผู้ซื้อ
“อีคอมเมิร์ชตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่อยากขาย แต่น้อยรายจะเป็นผู้ซื้อ เพราะกลัวปัญหาข้อมูลรั่วไหล จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ และวิธีป้อนกัน ผมเลยตั้งชมรมขึ้นมาเริ่มจากกลุ่มเล็กก่อน เพราะดูแลทั่วถึง ตอนนี้มีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการเกือบร้อยคนแล้ว พยายามสร้างกลุ่มนี้ให้เข้มแข็ง ให้ความรู้เรื่องอีคอมเมิร์ซ เช่น การอบรม พยายามสร้างมิติใหม่ ไม่ใช่มาเรียนแค่สองวัน”
“เรามีอบรมเดือนเว้นเดือน อย่างกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องนวัตกรรม เพราะพื้นฐานต้องทำสินค้าให้แตกต่างก่อน ต่อมาเรื่องแบรนด์และบรรจุภันฑ์ในวันที่ 20 เมษานี้ แล้วมิถุนาไปคุยเรื่องการตลาด, สิงหาการทำเว็บไซต์ และการส่งออกช่วงปลายปี ช่วงก่อนและหลังสัมมนา ในเว็บไซต์จะมีการปูพื้นฐานให้สมาชิกอ่านเป็นความรู้เบื้องต้น วันสัมมนาเข้าประเด็นเลย”
สิทธิเดช ย้ำว่าที่สำคัญการอบรมแต่ละครั้ง จะทำของจริงให้ดู ลงทุนจ้างสมาชิกทำของ เช่น เสื้อยืด หรือเฟอร์นิเจอร์ เรียนรู้การออกแบบลาย หาความต้องการของตลาด นำมารวมกับจุดแข็งของสมาชิกสร้างสินค้าใหม่ ล่าสุดออกแบบเก้าอี้มีช่องเก็บของ เพราะที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มีพื้นที่จำกัด เมื่อนำไปเปิดตัวในงานสัมมนา มีผู้สนใจทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่ม และเกิดการพัฒนาโดยไม่ต้องเลียนแบบ
สำหรับโครงการอนาคต สิทธิเดช กล่าวว่า การค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ตสำหรับคนไทยจะขยายตัว แต่มีปัญหาผู้ซื้อส่วนใหญ่มักจะใช้เว็บไซต์เพื่อดูข้อมูลมากกว่า และขอให้ส่งสินค้าทางไปรษณีย์ก่อน จึงจะโอนเงินภายหลัง หรือต้องไปส่งสินค้าและรับเงินเลย จึงคิดสร้างรูปแบบสำนักงานใหม่กลางเมือง เป็นศูนย์รับส่งสินค้า พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการทำอีคอมเมิร์ซ
“สมาชิกหลายรายมีปัญหาเรื่องช่องทางจำหน่ายเหมือนกัน ก็จะใช้ศูนย์แห่งนี้ เป็นศูนย์กลางประชาสัมพันธ์ เพราะอยู่ย่านชุมชนทำเลดี รถไฟฟ้าใต้ดินผ่าน ซึ่งไม่ได้ต้องการเนื้อที่มาก มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อก็ทำงานได้แล้ว กำลังตกแต่งคิดว่ากลางปีจะใช้เป็นศูนย์บ่มเพาะและสร้างนวัตกรรมธุรกิจอีกแห่งหนึ่งของไทย” เจ้าของเว็บไซต์ BananaClick.com กล่าวในที่สุด