xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องติดสติ๊กเกอร์แบรนด์ไทย ท้าชนต่างแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เดิมเครื่องติดฉลากสติ๊กเกอร์ลงบนสินค้า ต้องสั่งเข้าทั้งหมด ทว่า จากสมองของคนไทย ต่อยอดเทคโนโลยี สู่ “White Mark” เครื่องติดสติ๊กเกอร์แบรนด์ไทยแท้รายแรก พร้อมเสริมจุดเด่นใช้งานหลากหลายมากกว่า

ธุรกิจเครื่องติดสติ๊กเกอร์ฝีมือคนไทย ในนาม “White Mark” เริ่มต้นจากเป็นตัวแทนจำหน่ายให้แก่บริษัทต่างชาติ ทว่า เครื่องนำเข้า หากเกิดปัญหา บริการหลังการขาย ทำได้ลำบากมาก อีกทั้ง อะไหล่สำรองหาได้ยาก จึงเกิดแนวคิด พัฒนาเครื่องติดสติ๊กเกอร์ขึ้นเอง เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ด้วยการใช้นวัตกรรมจากเครื่องนำเข้า และเพิ่มจุดเด่นให้รองรับการทำงานได้หลากหลายขึ้น

“เครื่องติดสติ๊กเกอร์นำเข้าจากต่างประเทศ จะทำออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเหมาะกับการติดสินค้าเพียงชนิดเดียว จำนวนมากๆ ถ้าลูกค้ามีสินค้ารูปทรงแปลกๆ ต้องการจะปรับเครื่อง เพื่อใช้งานกับรูปทรงแปลกๆ ได้ ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มสูงมาก ทำให้เรามาสร้างมาจุดเด่น ด้วยการออกแบบเครื่องให้เหมาะกับการทำงานของลูกค้า ในสินค้าแต่ละประเภท โดยตลาดเป้าหมายของเรา คือ ผู้ผลิตสินค้าที่ต้องติดฉลากสติ๊กเกอร์ลงบนผลิตภัณฑ์ทุกรูปแบบ” พีรภูมิ สุนทรวัฒน์ หนุ่มวัย 27 ปี ทายาทธุรกิจ ที่ปัจจุบันสวมตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ไวท์มาร์ค จำกัด อธิบาย

สำหรับเครื่องติดสติ๊กเกอร์แบรนด์ไทยรายนี้ มีทั้งเครื่อง Automatic ติดสติ๊กเกอร์ได้เฉลี่ย 100 ชิ้น/ นาที รองรับกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ และระบบ Semi – Automatic ติดสติ๊กเกอร์ได้เฉลี่ย 30 ชิ้น/นาที เหมาะกับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี และผู้ผลิตสินค้าแบบจ้างผลิต (OEM) ซึ่งต้องการเครื่องที่ใช้งานง่าย และมีความยืดหยุ่นปรับใช้งานรูปแบบต่างๆ

ทว่า อุปสรรคช่วงแรก เมื่อบอกว่า เป็นเครื่องจักรจากฝีมือคนไทย ลูกค้าจะไม่ไว้วางใจนัก จึงใช้ระบบขายตรง โดยให้พนักงานบริษัททำหน้าที่เสนอข้อมูลสินค้า และเน้นบริการหลังการขายดีที่สุด ให้ลูกค้ามั่นใจ ด้วยการรับประกันเครื่อง 1 ปี มีปัญหาซ่อมฟรีโดยไม่มีเงื่อนไข

“จุดอ่อนของเครื่องนำเข้า คือ บริการหลังการขาย ดังนั้น ถ้าลูกค้าจะตัดสินใจใช้เครื่องของคนไทย เราต้องอำนวยความสะดวกดีที่สุด มีเรื่องอะไรโทร.มาได้ตลอด เรามีทีมงานคอยบริการ บางครั้งเครื่องไม่ได้เสีย แต่ผู้ใช้ไม่ชำนาญ เราก็ไปแนะนำให้ตลอด”

ส่วนราคา ใช้ระบบตั้งเท่ากันทุกเครื่อง โดยแบบ Automatic อยู่ที่ 350,000 บาท และ Semi-Automatic อยู่ที่ 295,000 บาท ซึ่งราคาดังกล่าว แม้จะเมด อิน ไทยแลนด์ แต่ไม่ได้ถูกกว่าเครื่องนำเข้าจากยุโรป หนำซ้ำยังแพงกว่าเครื่องนำเข้าจากจีน เพราะเลือกใช้วัสดุคุณภาพสูง จากแตนเลน ป้องกันสนิม อีกทั้ง ใช้ระบบลมแทนน้ำมัน ช่วยลดการสึกหรอของเครื่อง

“ผมพยายามบอกลูกค้าว่า ราคาถูกไม่ได้คุ้มค่าเสมอไป เพราะถ้าซื้อของจีน ต้องคอยมาซ่อม สุดท้าย ก็จะแพงกว่า ส่วนกลยุทธ์ราคาเดียว ไม่ว่าลูกค้าจะสั่งแบบไหน เพื่อแก้ปัญหาของฝ่ายจัดซื้อของลูกค้าแต่ละราย ที่อาจต่อรองราคา แล้วเกิดความแตกต่างขึ้นในลูกค้าแต่ละราย”

พีรภูมิ เผยว่า ธุรกิจมีอัตราเติบโตต่อเนื่องปีละ 20-30 % ปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ100 ราย ทั้งรายใหญ่ และรายย่อย ส่วนใหญ่จะเป็นขาประจำสั่งซื้อสม่ำเสมอ รวมถึง ได้ลูกค้าจากกระแสบอกปากต่อปาก โดยเครื่องแบบ Automatic ในประเทศมีส่วนแบ่งตลาดอยู่อันดับที่ 2 ส่วนเครื่อง Semi-Automatic เป็นอันดับ 1 มียอดขายตลาดกว่า 90% โดยยอดขายปีละกว่า 10 ล้านบาท หักสุทธิเหลือประมาณ 3 ล้านบาท ยอดขายเฉลี่ย 4 เครื่อง/ เดือน ลูกค้ารายใหญ่ที่สุด คือ เครือสหพัฒน์ และปีนี้ คาดว่า จะโตอีก 20% และไม่เกิน 2 ปีจะคืนเงินลงทุนได้ทั้งหมด

“ทุกวันนี้ มีโรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเครื่องติดสติ๊กเกอร์กว่า 14,000 โรง และกลุ่มเอสเอ็มอีที่รัฐบาลกำลังสนับสนุน หรือบริษัทที่มีการผลิตสินค้าโดยไม่ต้องจดทะเบียนอีกกว่า 10,000 โรง ซึ่งผู้ผลิต ส่วนใหญ่เน้นแพ็คเกจจิ้งมาก สินค้าใหม่พยายามออกแบบให้แตกต่างจากที่เป็นมา ซึ่งผมมองว่าเครื่อง Semiฯ สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ตรง ด้วยเงินลงทุนไม่สูงเกินรับได้”

ทั้งนี้ เครื่องติดสติ๊กเกอร์ทุกแบบ จะไม่จดสิทธิบัตร โดยเขาให้เหตุผลว่า สิ่งประดิษฐ์แบบนี้ แค่ดัดแปลงเล็กน้อย จะกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ดังนั้น การจดสิทธิบัตรจึงไม่ใช้คำตอบ ทว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นเคล็ดลับของแต่ละบริษัท

ด้านแผนการตลาดต่อไป จะเปิดตัวผ่านงานแสดงสินค้าสม่ำเสมอ โดยเฉพาะทุกๆ ปี จะออกบูทในงาน Pro Pack Asia ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นเป้าหมายโดยตรง และยังมองไปที่การบุกตลาดต่างประเทศ อาทิ จีน และเวียดนาม รวมถึง มีความเป็นไปได้ที่จะร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ เพื่อขยายกิจการในเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น