ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ฉีกภาพมายาโอทอป” ความยาว 5 ตอนจบ โดย ทีมข่าวพิเศษ
ตอนที่ 1
ชุมชนรากหญ้ากระอักเลือด โอทอปเจ๊งไม่เป็นท่า สิ้นเนื้อประดาตัวแถมติดหนี้ท่วมหัวทุกหย่อมหญ้า ชาวบ้านครวญตะกายไม่ถึง 3 ดาว – 5 ดาว ถูกทอดทิ้งให้ตายเกลื่อนไร้การเหลียวแล เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์ตกรอบหรือคว้าได้เพียง 1-2 ดาว กว่า 30,000 ผลิตภัณฑ์ ต่างเฝ้าแหงนคอรอน้ำเลี้ยงจากนโยบาย 4 ปีซ่อมของนายช่างใหญ่ที่ป่าวประกาศขายหวยโอทอปถึงหมู่บ้าน คำลวง “พรุ่งนี้รวย” สร้างปัญหาให้ชุมชนถ้วนหน้า

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product – OTOP) หรือ “โอทอป” หนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้าที่รัฐบาลประชานิยม วางเป้าหมาย “ลดภาระ สร้างโอกาสด้านเงินทุนและการผลิต และมีตลาดรองรับ” ซึ่งร้อยรัดเชื่อมโยงกันกับโครงการพักชำระหนี้ และกองทุนหมู่บ้านฯ ดังที่ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อธิบายว่า นโยบายพักชำระหนี้แก่เกษตรกร ทำให้ประชาชนหมดห่วงกับภาระหนี้สินชั่วคราว และกองทุนหมู่บ้านฯก็เข้ามาเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุนที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้ โดยโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ คือรูปธรรมการส่งเสริมให้ชุมชนรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น
แต่ในทางความเป็นจริง นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรจบสิ้นลงด้วยความว่างเปล่า ม็อบเกษตรกรยาตราทวงสัญญาแก้ไขหนี้สินอีกครั้งในรัฐบาลทักษิณ 2 ส่วนกองทุนหมู่บ้านผลักดันให้ชาวบ้านตกอยู่ในวงจรหนี้หมุน หรือ “บ่วงหนี้อุบาทว์” ไม่สิ้นสุด โดยรัฐบาลหลงชื่นชมตัวเลขคืนหนี้กองทุนฯ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นผลสำเร็จของโครงการ
เฉกเช่นเดียวกันกับโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่มีปัญหาและความล้มเหลวเกิดขึ้นกับชุมชนทั่วประเทศ ที่เหลืออยู่คือ ความเจ็บปวดของชาวประชาชุมชนรากหญ้า หนี้สิน สิ้นเนื้อประดาตัว ความแตกแยก ความสับสนวุ่นวายที่ตามมาหลังความฝันคิดจะรวยพังทลายลง
*** ชะตากรรมโอทอปชุมชน
ดร.เสรี พงศ์พิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิสาหกิจชุมชนและประธานมูลนิธิหมู่บ้าน นักพัฒนาชุมชนอาวุโส ผู้คร่ำหวอดในวงการมาเกือบ 30 ปี ให้ภาพรวมโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ว่าจากการลงพื้นที่ตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่า ตอนนี้กลุ่มโอทอปที่เป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านจริงๆ ซึ่งเกิดจากกระแสบูมโอทอปล้มหายตายจากกันไปหมด เหลือน้อยมาก ที่เหลืออยู่คือหนี้สินกลุ่มละหลายแสนบาท พวกเขาคร่ำครวญให้ฟังปัญหาถึงสินค้าโอทอปที่ขายไม่ออก ชาวบ้านเจ๊ง ชุมชนเจ๊ง ตนอยากถามว่าคนเจ๊งคือชาวบ้านไม่ใช่หน่วยงานราชการที่ลงไปส่งเสริม ผลเสียที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ
เขาบอกว่า เวลานี้สินค้าโอทอปเต็มไปหมด อะไรที่ออกจากหมู่บ้านก็เรียกโอทอปกันทั้งนั้น กลายเป็นหนึ่งหมู่บ้านหลายผลิตภัณฑ์ งานโอทอปก็มีไม่ขาดแต่แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดขายไม่ได้ กระทั่งต้องเลิกกันไป ดังเช่นกลุ่มสุราพื้นบ้านที่รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนเมื่อสองปีก่อน เปิดงานใหญ่โต ชาวบ้านรวมกลุ่มแห่จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อจะได้ผลิตถูกต้องตามกฎหมายถึง 1,800 กลุ่ม แค่ปีเดียว กระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาบอกว่าเหลือเพียงไม่ถึงร้อยกลุ่ม หรือ 5% เท่านั้น นอกนั้นเจ๊ง ล้ม ปิดกิจการ
“กรณีศึกษา ไวน์กระชายดำที่เลื่องลือกันว่ากินแล้วซู่ซ่า โปรโมทกันเป็นบ้าเป็นหลัง อำเภอนาแห้วที่เมืองเลย ผมเป็นที่ปรึกษากลุ่มผู้ผลิตไวน์ ตอนช่วงบูมได้รับการสนับสนุนจากรัฐผุดขึ้นมา 22 โรง ชาวบ้านปลูกกระชายดำเอาเป็นเอาตาย ไปกู้ธ.ก.ส.บ้าง กองทุนหมู่บ้านบ้าง นายทุนหน้าเลือดบ้าง เพราะแรกๆ กิโลกรัมละ 2,000 บาท ชาวบ้านฝันว่าไม่รวยชาตินี้แล้วจะรวยชาติไหน ลงทุนลงแรงกันแบบเอาเป็นเอาตาย เพราะคาดว่าจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
“แต่พอถึงวันนี้ ชาวบ้านไม่มีเงินไปคืนธ.ก.ส. และเจ้าหนี้ กู้กันมาคนละหลายหมื่น ถามคนที่จังหวัดเลยวันนี้กระชายดำกิโลละ 5 บาท ยังขายไม่ได้เลย ชาวเมืองเลยเจ็บปวดกับกระชายดำ ลงทุนลงแรงจนหมดแรง หมดกำลังใจ หมดสิ้นทุกสิ่งอย่าง เป็นหนี้กันคนละหลายหมื่น กลุ่มละหลายแสน กินให้เมาเท่าไหร่ไม่ทำให้หนี้สินลดลง” ผู้อำนวยการวิสาหกิจชุมชน ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มผู้ผลิตไวน์กระชายดำ จ.เลย เล่าสภาพที่เกิดขึ้น
ดร.เสรี ยังบอกว่า ภาพของไวน์กระชายดำ สะท้อนให้เห็นชะตากรรมของผลิตภัณฑ์โอทอปอื่นๆ ทั้งหัตถกรรม เสื้อผ้า สมุนไพร แชมพู ครีม น้ำผลไม้ ซึ่งผลิตกันล้นบ้านล้นเมือง แย่งกันได้ดาวเพื่อจะได้ไปเมืองทองธานี จะได้มีคนมาติดต่อส่งออกให้ เกิดการแก่งแย่งแข่งขัน แตกแยกกันในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอที่ถูกกวาดต้อนเข้าสู่ระบบการแข่งขันทางการค้าแบบเอาเป็นเอาตาย และหลายคนก็ตายตามปรารถนา
“ชาวบ้านไม่ใช่นักธุรกิจ จุดแข็งของชาวบ้านไม่ใช่ทำธุรกิจ มีแต่ต้องทำกินทำใช้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีอยู่มีกิน กินอยู่อย่างพอเพียง ไม่ต้องรวย เพราะไม่มีทางรวย ทำไมต้องหลอกชาวบ้านว่า พรุ่งนี้รวยในเมื่อมันไม่เคยเป็นจริงในหลายสิบปีที่มีแผนพัฒนา” ประธานมูลนิธิหมู่บ้าน กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายสยุมพร ลิ่มไทย รองอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลได้ส่งเสริมการผลิตสินค้าโอทอปมากกว่า 5 ปี จนถึงขณะนี้มีสินค้าโอทอปที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการคัดสรรแล้วกว่า 36,000 ผลิตภัณฑ์จากทั่วประเทศ โดยประมาณ 50% เป็นสินค้าระดับ 3-5 ดาว ที่เหลือเป็นระดับ 1-2 ดาว
ขณะที่รายงานสถิติการคัดสรรสินค้าโอทอป ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เมื่อปี 2547 มีผลิตภัณฑ์โอทอปทั่วประเทศทั้งหมด 37,826 ผลิตภัณฑ์ เข้ารับการคัดสรร 27,889 ผลิตภัณฑ์ ผ่านการคัดสรรตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป 7,945 ผลิตภัณฑ์ สำหรับสินค้าที่เหลืออีกกว่า 30,000 ผลิตภัณฑ์ที่ตกรอบไม่มีดาว หรือได้ดาวเพียง 1-2 ดาว ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เวลานี้ตกอยู่ในสภาพเช่นใด
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ซึ่งทำงานช่วยพัฒนาอาชีพในหมู่บ้านมานานนับสิบปี ออกบทรายงานโดยชี้ปัญหาว่า ผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่ไม่มีดาวหรือได้เพียง 1-2 ดาวกว่า 30,000 ผลิตภัณฑ์ข้างต้นนั้น ชุมชนจะบริหารวัตถุดิบหรือสินค้าที่ผลิตแล้วขายไม่ได้อย่างไร เงินกู้ยืมของกลุ่มที่นำมาลงทุนจะได้คืนเมื่อไหร่ จะหาเงินจากไหนจ่ายหนี้คืน ล้วนเป็นปัญหาที่รัฐบาลเจ้าของนโยบายโอทอปต้องทบทวน แก้ไข และให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะเวลานี้ชุมชนบางแห่งที่เจ๊งจากโอทอปก็หันไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบมาคืนเจ้าหนี้ คือ ธนาคารเพื่อประชาชน (ธนาคารออมสิน) หรือกองทุนหมู่บ้าน เป็นหนี้หมุนจนบางรายก็ใช้วิธีหนีหนี้

*** เหลือรอดไม่ถึง 5%
นางสาวอัจฉริยา เนตรเชย อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่ารูปแบบการส่งเสริมธุรกิจชุมชนในทางปฏิบัติเกือบทั้งหมด เป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันฝึกอบรม ดูงาน และให้เงินทุนอุดหนุนปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีข้อจำกัดมาก ดังนั้นธุรกิจชุมชนจำนวนมากประสบความล้มเหลว ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยเฉพาะโอทอปที่ดูเหมือนว่าจะไปได้ดี แต่ในทางปฏิบัติล้มเหลวจำนวนมาก ประมาณการจากตัวเลข 215 กลุ่มของจังหวัดพิษณุโลก ประสบผลสำเร็จไม่ถึง 10 กลุ่ม หรือไม่ถึง 5%
“หากเทียบระดับทั้งประเทศ ตัวเลขก็ไม่น่าจะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ” อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ กล่าว
ผลการศึกษาของนักวิชาการจากม.นเรศวร ชี้วัดในเชิงรูปธรรม จากคำให้สัมภาษณ์ของนายธรรมศักดิ์ ภูพันธ์วิวัฒน์ ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ในจังหวัดกระบี่ในฐานะรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์โอทอปของกระบี่ส่วนใหญ่เจ๊งไปนานแล้ว เวลานี้หน่วยงานที่จะเข้ามาขับเคลื่อนให้สินค้าโอทอปของจังหวัดที่มีอยู่ประมาณ 200 กว่ากลุ่มเพื่อให้สินค้าขายได้แทบไม่มีเลย ส่วนใหญ่แล้วแต่ละกลุ่มก็ออกหาตลาดจำหน่ายสินค้ากันเอง กลุ่มไหนยอดขายไม่ดีก็ไปไม่รอด ผลิตภัณฑ์ไหนขายไม่ได้ก็เลิกรากันไป
รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ มีข้อสังเกตว่า จุดที่ควรจะจำหน่ายสินค้าโอทอปอย่างเช่น ปั๊มน้ำมัน ก็ไม่มีการนำสินค้าโอทอปเข้าไปวางจำหน่ายแล้ว ส่วนเรื่องการประเมินผลก็ไม่มี ไม่รู้ว่ายอดขายเพิ่มขึ้นหรือลดลง ลูกค้าพอใจหรือไม่ ตัวสินค้าซ้ำกันหรือไม่ ทั้งหมดต้องมีการนำมาคิด เข้ามาช่วย ไม่ใช่ส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตเอง หาตลาดขายเอง
“ขณะนี้มีหลายผลิตภัณฑ์หลายกลุ่มได้ล้มเลิกกิจการไปแล้วประมาณ 69 แห่ง ส่วนหนึ่งก็ย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น เนื่องจากไม่สามารถทนแบกต้นทุนการผลิตและไม่มีผู้เข้ามาดูแลเรื่องของตลาด” นายธรรมศักดิ์ กล่าว
*** พลาดติดดาว ล้มลุกคลุกคลาน
นางรัตนวรรณ์ หมีนเหม กลุ่มแม่บ้านโอทอป ประเภทอาหาร “ขนมลากรอบ” หมู่ 17 ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล เปิดเผยว่า กว่า 2 ปีแล้วที่ชาวบ้านรวมกลุ่มเข้าโครงการโอทอป จากเดิมทำจำหน่ายกันในครัวเรือน เวลานี้ทางกลุ่มยังไม่สามารถพัฒนาสู่ระดับดาวที่สูงกว่า 2 ดาวได้ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน โดยทางจังหวัดไม่มีงบประมาณหรือเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาแต่อย่างใด ทำให้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ และยอมรับว่าการประชาสัมพันธ์สินค้ายังขาดความต่อเนื่องทำให้ขนมพื้นเมืองซึ่งมีเอกลักษณ์ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
เช่นเดียวกับนางไพลิน พุ่มเกื้อ ประธานกลุ่มแม่บ้านผลิตขนมกาละแม ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ บอกว่า การเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงของภาคัฐเพื่อยกระดับสินค้าให้เป็นที่รู้จักโดยการให้ดาวเป็นรางวัลการันตีว่าดีจริง เป็นการให้ความช่วยเหลือที่ยังไม่ถูกจุด ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุน วัสดุอุปกรณ์ เพราะขณะนี้กลุ่มต้องรับภาระเองทั้งหมดตั้งแต่การผลิตจนถึงการออกจำหน่ายสินค้า ที่ผ่านมาก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด สมาชิกกลุ่มเองก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญแล้วเนื่องจากทำรายได้น้อย ส่วนใหญ่จึงหันไปประกอบอาชีพหลักคือเกษตรกรรมหรืออื่นๆ ที่มีรายได้ดีกว่า
ส่วนที่สุราษฎร์ธานีนั้น นายสมศักดิ์ สงนุ้ย พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าโอทอปของสุราษฎร์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 394 รายการ ติดระดับ 3-5 ดาว ประมาณ 33 รายการเท่านั้น ที่เหลืออีก 361 รายการอยู่ในระดับ 1-2 ดาว โดยส่วนใหญ่จะติดปัญหาบรรจุภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นที่ดึงดูดใจของผู้บริโภค รูปแบบการนำเสนอสินค้าไม่ประทับใจ
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของคณะทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของจังหวัดสุราษฎร์ฯ พบว่า โอทอปที่ไม่ประสบผลสำเร็จส่วนใหญ่จะมาจากการรวมกลุ่มเล็กๆ ของชาวบ้าน คุณภาพยังไม่ได้มาตรฐาน บรรจุภัณฑ์ไม่ดึงดูดใจ หากจะพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ จะต้องใช้เวลาปรับปรุงทั้งตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์
“สินค้าโอทอปส่วนใหญ่ของสุราษฎร์ฯ รู้จักกันภายในท้องถิ่นหรือตำบลนั้นๆ ไม่ได้ขยายตลาดออกนอกพื้นที่จังหวัดเลย” นายสมศักดิ์ กล่าวและยังให้ข้อมูลว่า ร้านค้าหรือสถานที่จะรับสินค้าโอทอปไปวางจำหน่ายแทบจะไม่มีเลย ทางจังหวัดกำลังเจรจากับร้านค้าตามท่าเรือเฟอร์รี่ สถานีขนส่ง โรงแรมต่างๆ ห้างสรรพสินค้า เวลานี้จะต้องศึกษาทำเลที่ตั้งศูนย์สินค้าโอทอปใหม่และพัฒนาเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกลุ่มแม่บ้านที่ผลิตน้ำพริกที่จ.ระนอง ก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างไปจากการรวมกลุ่มของชุมชนอื่นๆ นางจำเนียร คล้ายศิริ ประธานกลุ่มแม่บ้านผลิตพริกแกงและน้ำพริกเผา หมู่ที่ 2 ต.บางนอน อ.เมือง จ.ระนอง กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับการคัดสรรสุดยอดโอทอประดับ 2 ดาว ซึ่งระยะแรกเป็นที่ต้องการของตลาดมาก แต่ติดปัญหาไม่ได้รับเครื่องหมายอ.ย. มีแต่เครื่องหมาย มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) ทำให้ไม่สามารถนำไปจำหน่ายตามงานตามต่างจังหวัดได้ แต่ในจังหวัดไม่มีปัญหาเพราะเป็นที่รู้จักกัน
“พอสินค้าของกลุ่มไม่ได้รับเครื่องหมาย อ.ย. ทำให้สมาชิกของกลุ่มแต่เดิมที่มีถึง 16 คน เหลือเพียง 3 คนที่ยังช่วยกันอยู่ คิดว่าหลังปีใหม่จะเริ่มหาเงินทุนมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และสถานที่อีกครั้ง และอยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาช่วยแนะนำเพื่อให้ได้เครื่องหมาย อ.ย.” นางจำเนียร กล่าว
เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ “พริกแกง ตำมือ” ของกลุ่มแม่บ้านท่าหลา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่ไม่ผ่านการคัดสรรสุดยอดโอทอปจากการส่งเข้าประกวดมาแล้วสองรอบ ผลจากการพลาดดาวทำให้สมาชิกที่เคยรวมกลุ่มกันกว่า 10 คนในช่วงแรกๆ เริ่มหายหน้าไป ทำให้กำลังคนไม่พอและไม่ได้ออกไปขายตามต่างจังหวัดหรืองานมหกรรมโอทอปที่จัดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ
นางจุรีย์ ราชพล รองประธานกลุ่มพริกแกงตำมือ กล่าวว่า ลูกค้าของกลุ่มจะเป็นคนในพื้นที่ที่สั่งซื้อไปขายหรือประกอบอาหาร รายได้ที่เกิดจากการรวมกลุ่มทำแกงจะตกประมาณเดือนละหมื่นกว่าบาท แบ่งกันก็ได้คนละพันเท่านั้น แต่สมาชิกก็พอใจอย่างน้อยก็ได้เป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน ส่วนจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำไม่ได้หวังในจุดนั้น แม้ว่าแต่เดิมเคยมีคนมารับซื้อพริกแกงของกลุ่มส่งออกไปญี่ปุ่นระยะหนึ่ง แต่เมื่อคนเคยสั่งเปลี่ยนงานก็ไม่มีคนสานต่อก็ต้องหยุด เพราะอาศัยกลุ่มแม่บ้านคงไม่มีปัญญาส่งไปขายต่างประเทศ

***โอทอป 2 ดาวตกสำรวจ โวยรัฐไม่เห็นค่า
นางขนิษฐา อุทิศวรรณกุล ผู้ผลิตผ้าบาติก สินค้าโอทอปเขตหนองเขม ได้รับเลือกสุดยอดโอทอประดับ 2 ดาว เปิดเผยว่า สาเหตุที่ผ่านมาได้ แค่ 2 ดาว ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. ซึ่งในปีแรกไม่ทราบว่า ต้องมี มผช. ทำให้พลาดไป และพอมาปีนี้ (2548) เตรียมส่งงานเข้าประกวด แต่ทราบข่าวมาว่ามีไม่มีการประกวด
แต่พอมาเมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวออกมาว่า อัพดาว ซึ่งก็ไม่มีใครทราบข่าวการอัพดาวของสินค้าโอทอป ซึ่งทราบกันเฉพาะกลุ่ม ทำให้พลาดโอกาสไป ทั้งที่เรื่องใหญ่แบบนี้น่าจะแจ้งให้ผู้ผลิตสินค้าโอทอป ทุกคนได้ทราบโดยทั่วกัน แรกรัฐบาลบอกว่าสนับสนุน หลังรัฐบาลบอกว่า โอทอป ต้องเดินเอง อยากถามว่า เดินเองอย่างไร พวก 4 -5 ดาว เดินเองได้ ทว่า พวก 1 - 3 ดาว ที่ยังไม่แข็งแกร่ง จะเดินเองได้อย่างไร
สำหรับสิ่งที่โอทอปทำได้ในขณะนี้ ต้องรวมกลุ่มกัน มีการประชุมส่งข่าวกัน โดยมีประธานคอยติดตามเรื่อง ซึ่งที่ผ่านมาผลิตสินค้าโอทอประดับ 4 - 5 ดาว รวมกลุ่มกัน ทำให้เขาทราบความเคลื่อนไหวต่างๆอยู่ตลอดเวลา และเวลามีอะไร จะแจ้งให้ 4 และ 5 ดาวทราบก่อน ส่วน 1 – 2 ดาว ไม่ต้องพูดถึง เหมือนโดนทิ้งไม่มีใครสนใจ ต้องช่วยเหลือตัวเอง ในขณะที่ 4 - 5 ดาวได้รับการช่วยเหลือตลอดเวลา
นอกจากนี้ การจัดงานแสดงสินค้าใดๆ ก็ตามของภาครัฐ กลุ่ม 4-5 ดาว บางงานอาจรวมระดับ 3 ดาวเข้าด้วย จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้ากลุ่ม 1 – 2 ดาว ไม่มีทางได้รับเชิญร่วม ทั้งๆที่ กลุ่มนี้ เป็นชาวบ้านจริงๆ หากต้องการออกงานก็ต้องเสียค่าเช่าบูทเอง ซึ่งบางงานเสียค่าเช่าบูทแล้ว ขายได้ไม่คุ้ม ก็ขาดทุน
นอกจากนี้ เวลาภาครัฐจะมีการจัดงานใดๆ จะแจ้งกลุ่ม 1 - 3 ดาว ที่หลังจากที่ 4 - 5 ดาว นอกจากนี้ พื้นที่ที่จัดสรรให้ ก็จะเป็นบูทที่กลุ่ม 4-5 ดาว ปฏิเสธ หรือพื้นที่เหลือไม่มีใครเอา ก็ค่อยมาจะแจ้งให้เข้าร่วมงาน ก่อนหน้างานจะเริ่มแค่ 2-3 วัน ซึ่งกลุ่มโอทอประดับ 1-3 ดาว ส่วนใหญ่จะเป็นงานฝีมือหัตถกรรม ไม่สามารถทำสินค้าจำนวนมากได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน เมื่อไม่มีสินค้าก็ไม่สามารถที่จะไปออกงานได้
*** โอทอป 3 ดาวยังร่อแร่-เจ๊ง
ถึงแม้การผ่านการคัดสรรเป็นสุดยอดโอทอป 3 ดาว 5 ดาว จะเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ แต่กรณี “น้ำปลารัฎษา” ที่ภูเก็ต โอทอป 3 ดาว ยังร่อแร่ และดอกไม้เกล็ดปลา สุดยอดโอทอป ระดับ 3 ดาว เมืองระนอง ก็ย่ำแย่ถึงขั้นเจ๊ง
นายพรชัย สวัสดิ์ศรี ประธานกลุ่มผลิตน้ำปลาเกษตร ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต บอกว่า กลุ่มผลิตน้ำปลาฯ ก่อตั้งเมื่อปี 46 ผ่านมา มีสมาชิก 143 คน โดยได้รับงบสนับสนุนทำโรงเรือนจากสำนักงานเกษตร 400,000 บาท มีผลิตภัณฑ์น้ำปลาออกวางตลาดที่รับประกันคุณภาพด้วยการได้รับคัดสรรเป็นโอทอป 3 ดาว และผ่านการรับรองจาก อ.ย. แต่ปรากฏว่า การจำหน่ายยังจำกัดอยู่ในกลุ่มสมาชิกและร้านค้าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเท่านั้น ยังไม่สามารถขยายตลาดออกไปวางขายตามร้านค้าในต่างพื้นที่ เพราะชื่อเสียงน้ำปลารัฎษา เป็นตรายี่ห้อใหม่ไม่สามารถสู้น้ำปลายี่ห้อดังที่ติดตลาดอยู่แล้วได้
“ทำมากว่า 3 ปี ตอนนี้สมาชิกยังไม่ได้รับเงินปันผล ได้เพียงน้ำปลากลับไปรับประทานกันคนละ 1-2 ขวด ปัญหาของกลุ่มนอกจากเรื่องตลาด ยังมีปัญหาด้านเงินทุนหมุนเวียนเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าขวดที่สูง และค่าซื้อวัตถุดิบขณะที่กำไรตกขวดละ 2-3 บาทเท่านั้น เวลานี้กำลังหาเงินทุนปรับปรุงโรงเรือนและเพิ่มบ่อหมักเพื่อให้มีสินค้าออกขายตลอดปี” ประธานกลุ่ตผลิตน้ำปลาเกษตร กล่าว
เขายังบอกว่า กลุ่มผลิตน้ำปลาเกษตร ยังต้องประสบปัญหาซ้ำซากในลักษณะนี้ไปอีกนาน แม้ว่าสินค้าจะได้ดาวมาก็ตาม เพราะดาวไม่ได้ช่วยให้สินค้าขายดีแต่อย่างใด
ส่วนสุดยอดโอทอป 3 ดาว คือ ดอกไม้เกล็ดปลาเมืองระนอง ก็มีปัญหาไม่แตกต่างไปจากโอทอปจากชุมชนในพื้นที่อื่นๆ กระทั่งเลือกที่จะเลิกทำ
นายเฉลย พรหมมา ประธานชุมชนด่านท่าเมือง และประธานกลุ่มผลิตดอกไม้เกล็ดปลา ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง เปิดเผยว่า ดอกไม้เกล็ดปลาของกลุ่มได้รับคัดเลือกเป็นโอทอป 3 ดาวระดับจังหวัดและระดับภาค แต่ผลิตภัณฑ์ก็มีปัญหาด้านการตลาด ผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยสูงไม่มีร้านค้าใดรับไปจำหน่าย ขณะที่วัตถุดิบค่อนข้างหายาก
นายเฉลย กล่าวว่า สมาชิกของกลุ่มที่เป็นแม่บ้านในชุมชนนำเงินมาร่วมทุนกันทำ ก่อนนี้เคยนำผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดง ที่เมืองทองธานี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จสินค้าขายไม่ได้ ขาดทุนไปหมื่นกว่าบาท ลูกค้าที่สนใจบอกกว่าราคาสูงเกินไป โดยดอกไม้ที่ผลิตจะตั้งราคา 40-70 บาทถ้าจัดลงแจกัน อย่างดอกแสงอาทิตย์ ราคา 450 บาท
“เมื่อกลับจากเมืองทองธานี สมาชิกส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าควรยุติการผลิตไว้ก่อน เพราะผลิตไปก็ขายไม่ได้ ทุนยิ่งจมมากขึ้นไปอีก แต่สมาชิกก็ไม่ย่อท้อตอนนี้หันมาประดิษฐ์ดอกไม้จากถุงน่องขายดอกละ 10-20 บาท ป้อนตลาดหลักในจังหวัด” ประธานกลุ่มผลิตดอกไม้ฯ ให้ข้อมูล
นายเฉลย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ผู้ผลิตโอทอปประสบเหมือนกันคือ ขาดการส่งเสริมด้านการตลาดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงอยากให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนให้มากยิ่งขึ้นทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การลดต้นทุน รวมถึงเงินทุนและการตลาด
ตอนที่ 1
ชุมชนรากหญ้ากระอักเลือด โอทอปเจ๊งไม่เป็นท่า สิ้นเนื้อประดาตัวแถมติดหนี้ท่วมหัวทุกหย่อมหญ้า ชาวบ้านครวญตะกายไม่ถึง 3 ดาว – 5 ดาว ถูกทอดทิ้งให้ตายเกลื่อนไร้การเหลียวแล เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์ตกรอบหรือคว้าได้เพียง 1-2 ดาว กว่า 30,000 ผลิตภัณฑ์ ต่างเฝ้าแหงนคอรอน้ำเลี้ยงจากนโยบาย 4 ปีซ่อมของนายช่างใหญ่ที่ป่าวประกาศขายหวยโอทอปถึงหมู่บ้าน คำลวง “พรุ่งนี้รวย” สร้างปัญหาให้ชุมชนถ้วนหน้า
โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product – OTOP) หรือ “โอทอป” หนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจรากหญ้าที่รัฐบาลประชานิยม วางเป้าหมาย “ลดภาระ สร้างโอกาสด้านเงินทุนและการผลิต และมีตลาดรองรับ” ซึ่งร้อยรัดเชื่อมโยงกันกับโครงการพักชำระหนี้ และกองทุนหมู่บ้านฯ ดังที่ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อธิบายว่า นโยบายพักชำระหนี้แก่เกษตรกร ทำให้ประชาชนหมดห่วงกับภาระหนี้สินชั่วคราว และกองทุนหมู่บ้านฯก็เข้ามาเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุนที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้ โดยโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ คือรูปธรรมการส่งเสริมให้ชุมชนรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น
แต่ในทางความเป็นจริง นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรจบสิ้นลงด้วยความว่างเปล่า ม็อบเกษตรกรยาตราทวงสัญญาแก้ไขหนี้สินอีกครั้งในรัฐบาลทักษิณ 2 ส่วนกองทุนหมู่บ้านผลักดันให้ชาวบ้านตกอยู่ในวงจรหนี้หมุน หรือ “บ่วงหนี้อุบาทว์” ไม่สิ้นสุด โดยรัฐบาลหลงชื่นชมตัวเลขคืนหนี้กองทุนฯ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นผลสำเร็จของโครงการ
เฉกเช่นเดียวกันกับโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่มีปัญหาและความล้มเหลวเกิดขึ้นกับชุมชนทั่วประเทศ ที่เหลืออยู่คือ ความเจ็บปวดของชาวประชาชุมชนรากหญ้า หนี้สิน สิ้นเนื้อประดาตัว ความแตกแยก ความสับสนวุ่นวายที่ตามมาหลังความฝันคิดจะรวยพังทลายลง
*** ชะตากรรมโอทอปชุมชน
ดร.เสรี พงศ์พิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิสาหกิจชุมชนและประธานมูลนิธิหมู่บ้าน นักพัฒนาชุมชนอาวุโส ผู้คร่ำหวอดในวงการมาเกือบ 30 ปี ให้ภาพรวมโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ว่าจากการลงพื้นที่ตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่า ตอนนี้กลุ่มโอทอปที่เป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านจริงๆ ซึ่งเกิดจากกระแสบูมโอทอปล้มหายตายจากกันไปหมด เหลือน้อยมาก ที่เหลืออยู่คือหนี้สินกลุ่มละหลายแสนบาท พวกเขาคร่ำครวญให้ฟังปัญหาถึงสินค้าโอทอปที่ขายไม่ออก ชาวบ้านเจ๊ง ชุมชนเจ๊ง ตนอยากถามว่าคนเจ๊งคือชาวบ้านไม่ใช่หน่วยงานราชการที่ลงไปส่งเสริม ผลเสียที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ
เขาบอกว่า เวลานี้สินค้าโอทอปเต็มไปหมด อะไรที่ออกจากหมู่บ้านก็เรียกโอทอปกันทั้งนั้น กลายเป็นหนึ่งหมู่บ้านหลายผลิตภัณฑ์ งานโอทอปก็มีไม่ขาดแต่แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดขายไม่ได้ กระทั่งต้องเลิกกันไป ดังเช่นกลุ่มสุราพื้นบ้านที่รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนเมื่อสองปีก่อน เปิดงานใหญ่โต ชาวบ้านรวมกลุ่มแห่จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อจะได้ผลิตถูกต้องตามกฎหมายถึง 1,800 กลุ่ม แค่ปีเดียว กระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาบอกว่าเหลือเพียงไม่ถึงร้อยกลุ่ม หรือ 5% เท่านั้น นอกนั้นเจ๊ง ล้ม ปิดกิจการ
“กรณีศึกษา ไวน์กระชายดำที่เลื่องลือกันว่ากินแล้วซู่ซ่า โปรโมทกันเป็นบ้าเป็นหลัง อำเภอนาแห้วที่เมืองเลย ผมเป็นที่ปรึกษากลุ่มผู้ผลิตไวน์ ตอนช่วงบูมได้รับการสนับสนุนจากรัฐผุดขึ้นมา 22 โรง ชาวบ้านปลูกกระชายดำเอาเป็นเอาตาย ไปกู้ธ.ก.ส.บ้าง กองทุนหมู่บ้านบ้าง นายทุนหน้าเลือดบ้าง เพราะแรกๆ กิโลกรัมละ 2,000 บาท ชาวบ้านฝันว่าไม่รวยชาตินี้แล้วจะรวยชาติไหน ลงทุนลงแรงกันแบบเอาเป็นเอาตาย เพราะคาดว่าจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
“แต่พอถึงวันนี้ ชาวบ้านไม่มีเงินไปคืนธ.ก.ส. และเจ้าหนี้ กู้กันมาคนละหลายหมื่น ถามคนที่จังหวัดเลยวันนี้กระชายดำกิโลละ 5 บาท ยังขายไม่ได้เลย ชาวเมืองเลยเจ็บปวดกับกระชายดำ ลงทุนลงแรงจนหมดแรง หมดกำลังใจ หมดสิ้นทุกสิ่งอย่าง เป็นหนี้กันคนละหลายหมื่น กลุ่มละหลายแสน กินให้เมาเท่าไหร่ไม่ทำให้หนี้สินลดลง” ผู้อำนวยการวิสาหกิจชุมชน ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มผู้ผลิตไวน์กระชายดำ จ.เลย เล่าสภาพที่เกิดขึ้น
ดร.เสรี ยังบอกว่า ภาพของไวน์กระชายดำ สะท้อนให้เห็นชะตากรรมของผลิตภัณฑ์โอทอปอื่นๆ ทั้งหัตถกรรม เสื้อผ้า สมุนไพร แชมพู ครีม น้ำผลไม้ ซึ่งผลิตกันล้นบ้านล้นเมือง แย่งกันได้ดาวเพื่อจะได้ไปเมืองทองธานี จะได้มีคนมาติดต่อส่งออกให้ เกิดการแก่งแย่งแข่งขัน แตกแยกกันในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอที่ถูกกวาดต้อนเข้าสู่ระบบการแข่งขันทางการค้าแบบเอาเป็นเอาตาย และหลายคนก็ตายตามปรารถนา
“ชาวบ้านไม่ใช่นักธุรกิจ จุดแข็งของชาวบ้านไม่ใช่ทำธุรกิจ มีแต่ต้องทำกินทำใช้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีอยู่มีกิน กินอยู่อย่างพอเพียง ไม่ต้องรวย เพราะไม่มีทางรวย ทำไมต้องหลอกชาวบ้านว่า พรุ่งนี้รวยในเมื่อมันไม่เคยเป็นจริงในหลายสิบปีที่มีแผนพัฒนา” ประธานมูลนิธิหมู่บ้าน กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายสยุมพร ลิ่มไทย รองอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลได้ส่งเสริมการผลิตสินค้าโอทอปมากกว่า 5 ปี จนถึงขณะนี้มีสินค้าโอทอปที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการคัดสรรแล้วกว่า 36,000 ผลิตภัณฑ์จากทั่วประเทศ โดยประมาณ 50% เป็นสินค้าระดับ 3-5 ดาว ที่เหลือเป็นระดับ 1-2 ดาว
ขณะที่รายงานสถิติการคัดสรรสินค้าโอทอป ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เมื่อปี 2547 มีผลิตภัณฑ์โอทอปทั่วประเทศทั้งหมด 37,826 ผลิตภัณฑ์ เข้ารับการคัดสรร 27,889 ผลิตภัณฑ์ ผ่านการคัดสรรตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป 7,945 ผลิตภัณฑ์ สำหรับสินค้าที่เหลืออีกกว่า 30,000 ผลิตภัณฑ์ที่ตกรอบไม่มีดาว หรือได้ดาวเพียง 1-2 ดาว ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เวลานี้ตกอยู่ในสภาพเช่นใด
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ซึ่งทำงานช่วยพัฒนาอาชีพในหมู่บ้านมานานนับสิบปี ออกบทรายงานโดยชี้ปัญหาว่า ผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่ไม่มีดาวหรือได้เพียง 1-2 ดาวกว่า 30,000 ผลิตภัณฑ์ข้างต้นนั้น ชุมชนจะบริหารวัตถุดิบหรือสินค้าที่ผลิตแล้วขายไม่ได้อย่างไร เงินกู้ยืมของกลุ่มที่นำมาลงทุนจะได้คืนเมื่อไหร่ จะหาเงินจากไหนจ่ายหนี้คืน ล้วนเป็นปัญหาที่รัฐบาลเจ้าของนโยบายโอทอปต้องทบทวน แก้ไข และให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะเวลานี้ชุมชนบางแห่งที่เจ๊งจากโอทอปก็หันไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบมาคืนเจ้าหนี้ คือ ธนาคารเพื่อประชาชน (ธนาคารออมสิน) หรือกองทุนหมู่บ้าน เป็นหนี้หมุนจนบางรายก็ใช้วิธีหนีหนี้
*** เหลือรอดไม่ถึง 5%
นางสาวอัจฉริยา เนตรเชย อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่ารูปแบบการส่งเสริมธุรกิจชุมชนในทางปฏิบัติเกือบทั้งหมด เป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันฝึกอบรม ดูงาน และให้เงินทุนอุดหนุนปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีข้อจำกัดมาก ดังนั้นธุรกิจชุมชนจำนวนมากประสบความล้มเหลว ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยเฉพาะโอทอปที่ดูเหมือนว่าจะไปได้ดี แต่ในทางปฏิบัติล้มเหลวจำนวนมาก ประมาณการจากตัวเลข 215 กลุ่มของจังหวัดพิษณุโลก ประสบผลสำเร็จไม่ถึง 10 กลุ่ม หรือไม่ถึง 5%
“หากเทียบระดับทั้งประเทศ ตัวเลขก็ไม่น่าจะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ” อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ กล่าว
ผลการศึกษาของนักวิชาการจากม.นเรศวร ชี้วัดในเชิงรูปธรรม จากคำให้สัมภาษณ์ของนายธรรมศักดิ์ ภูพันธ์วิวัฒน์ ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ในจังหวัดกระบี่ในฐานะรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์โอทอปของกระบี่ส่วนใหญ่เจ๊งไปนานแล้ว เวลานี้หน่วยงานที่จะเข้ามาขับเคลื่อนให้สินค้าโอทอปของจังหวัดที่มีอยู่ประมาณ 200 กว่ากลุ่มเพื่อให้สินค้าขายได้แทบไม่มีเลย ส่วนใหญ่แล้วแต่ละกลุ่มก็ออกหาตลาดจำหน่ายสินค้ากันเอง กลุ่มไหนยอดขายไม่ดีก็ไปไม่รอด ผลิตภัณฑ์ไหนขายไม่ได้ก็เลิกรากันไป
รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ มีข้อสังเกตว่า จุดที่ควรจะจำหน่ายสินค้าโอทอปอย่างเช่น ปั๊มน้ำมัน ก็ไม่มีการนำสินค้าโอทอปเข้าไปวางจำหน่ายแล้ว ส่วนเรื่องการประเมินผลก็ไม่มี ไม่รู้ว่ายอดขายเพิ่มขึ้นหรือลดลง ลูกค้าพอใจหรือไม่ ตัวสินค้าซ้ำกันหรือไม่ ทั้งหมดต้องมีการนำมาคิด เข้ามาช่วย ไม่ใช่ส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตเอง หาตลาดขายเอง
“ขณะนี้มีหลายผลิตภัณฑ์หลายกลุ่มได้ล้มเลิกกิจการไปแล้วประมาณ 69 แห่ง ส่วนหนึ่งก็ย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น เนื่องจากไม่สามารถทนแบกต้นทุนการผลิตและไม่มีผู้เข้ามาดูแลเรื่องของตลาด” นายธรรมศักดิ์ กล่าว
*** พลาดติดดาว ล้มลุกคลุกคลาน
นางรัตนวรรณ์ หมีนเหม กลุ่มแม่บ้านโอทอป ประเภทอาหาร “ขนมลากรอบ” หมู่ 17 ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล เปิดเผยว่า กว่า 2 ปีแล้วที่ชาวบ้านรวมกลุ่มเข้าโครงการโอทอป จากเดิมทำจำหน่ายกันในครัวเรือน เวลานี้ทางกลุ่มยังไม่สามารถพัฒนาสู่ระดับดาวที่สูงกว่า 2 ดาวได้ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน โดยทางจังหวัดไม่มีงบประมาณหรือเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาแต่อย่างใด ทำให้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ และยอมรับว่าการประชาสัมพันธ์สินค้ายังขาดความต่อเนื่องทำให้ขนมพื้นเมืองซึ่งมีเอกลักษณ์ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
เช่นเดียวกับนางไพลิน พุ่มเกื้อ ประธานกลุ่มแม่บ้านผลิตขนมกาละแม ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ บอกว่า การเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงของภาคัฐเพื่อยกระดับสินค้าให้เป็นที่รู้จักโดยการให้ดาวเป็นรางวัลการันตีว่าดีจริง เป็นการให้ความช่วยเหลือที่ยังไม่ถูกจุด ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุน วัสดุอุปกรณ์ เพราะขณะนี้กลุ่มต้องรับภาระเองทั้งหมดตั้งแต่การผลิตจนถึงการออกจำหน่ายสินค้า ที่ผ่านมาก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด สมาชิกกลุ่มเองก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญแล้วเนื่องจากทำรายได้น้อย ส่วนใหญ่จึงหันไปประกอบอาชีพหลักคือเกษตรกรรมหรืออื่นๆ ที่มีรายได้ดีกว่า
ส่วนที่สุราษฎร์ธานีนั้น นายสมศักดิ์ สงนุ้ย พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าโอทอปของสุราษฎร์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 394 รายการ ติดระดับ 3-5 ดาว ประมาณ 33 รายการเท่านั้น ที่เหลืออีก 361 รายการอยู่ในระดับ 1-2 ดาว โดยส่วนใหญ่จะติดปัญหาบรรจุภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นที่ดึงดูดใจของผู้บริโภค รูปแบบการนำเสนอสินค้าไม่ประทับใจ
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของคณะทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของจังหวัดสุราษฎร์ฯ พบว่า โอทอปที่ไม่ประสบผลสำเร็จส่วนใหญ่จะมาจากการรวมกลุ่มเล็กๆ ของชาวบ้าน คุณภาพยังไม่ได้มาตรฐาน บรรจุภัณฑ์ไม่ดึงดูดใจ หากจะพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ จะต้องใช้เวลาปรับปรุงทั้งตัวผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์
“สินค้าโอทอปส่วนใหญ่ของสุราษฎร์ฯ รู้จักกันภายในท้องถิ่นหรือตำบลนั้นๆ ไม่ได้ขยายตลาดออกนอกพื้นที่จังหวัดเลย” นายสมศักดิ์ กล่าวและยังให้ข้อมูลว่า ร้านค้าหรือสถานที่จะรับสินค้าโอทอปไปวางจำหน่ายแทบจะไม่มีเลย ทางจังหวัดกำลังเจรจากับร้านค้าตามท่าเรือเฟอร์รี่ สถานีขนส่ง โรงแรมต่างๆ ห้างสรรพสินค้า เวลานี้จะต้องศึกษาทำเลที่ตั้งศูนย์สินค้าโอทอปใหม่และพัฒนาเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกลุ่มแม่บ้านที่ผลิตน้ำพริกที่จ.ระนอง ก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างไปจากการรวมกลุ่มของชุมชนอื่นๆ นางจำเนียร คล้ายศิริ ประธานกลุ่มแม่บ้านผลิตพริกแกงและน้ำพริกเผา หมู่ที่ 2 ต.บางนอน อ.เมือง จ.ระนอง กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับการคัดสรรสุดยอดโอทอประดับ 2 ดาว ซึ่งระยะแรกเป็นที่ต้องการของตลาดมาก แต่ติดปัญหาไม่ได้รับเครื่องหมายอ.ย. มีแต่เครื่องหมาย มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) ทำให้ไม่สามารถนำไปจำหน่ายตามงานตามต่างจังหวัดได้ แต่ในจังหวัดไม่มีปัญหาเพราะเป็นที่รู้จักกัน
“พอสินค้าของกลุ่มไม่ได้รับเครื่องหมาย อ.ย. ทำให้สมาชิกของกลุ่มแต่เดิมที่มีถึง 16 คน เหลือเพียง 3 คนที่ยังช่วยกันอยู่ คิดว่าหลังปีใหม่จะเริ่มหาเงินทุนมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และสถานที่อีกครั้ง และอยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาช่วยแนะนำเพื่อให้ได้เครื่องหมาย อ.ย.” นางจำเนียร กล่าว
เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ “พริกแกง ตำมือ” ของกลุ่มแม่บ้านท่าหลา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่ไม่ผ่านการคัดสรรสุดยอดโอทอปจากการส่งเข้าประกวดมาแล้วสองรอบ ผลจากการพลาดดาวทำให้สมาชิกที่เคยรวมกลุ่มกันกว่า 10 คนในช่วงแรกๆ เริ่มหายหน้าไป ทำให้กำลังคนไม่พอและไม่ได้ออกไปขายตามต่างจังหวัดหรืองานมหกรรมโอทอปที่จัดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ
นางจุรีย์ ราชพล รองประธานกลุ่มพริกแกงตำมือ กล่าวว่า ลูกค้าของกลุ่มจะเป็นคนในพื้นที่ที่สั่งซื้อไปขายหรือประกอบอาหาร รายได้ที่เกิดจากการรวมกลุ่มทำแกงจะตกประมาณเดือนละหมื่นกว่าบาท แบ่งกันก็ได้คนละพันเท่านั้น แต่สมาชิกก็พอใจอย่างน้อยก็ได้เป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน ส่วนจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำไม่ได้หวังในจุดนั้น แม้ว่าแต่เดิมเคยมีคนมารับซื้อพริกแกงของกลุ่มส่งออกไปญี่ปุ่นระยะหนึ่ง แต่เมื่อคนเคยสั่งเปลี่ยนงานก็ไม่มีคนสานต่อก็ต้องหยุด เพราะอาศัยกลุ่มแม่บ้านคงไม่มีปัญญาส่งไปขายต่างประเทศ
***โอทอป 2 ดาวตกสำรวจ โวยรัฐไม่เห็นค่า
นางขนิษฐา อุทิศวรรณกุล ผู้ผลิตผ้าบาติก สินค้าโอทอปเขตหนองเขม ได้รับเลือกสุดยอดโอทอประดับ 2 ดาว เปิดเผยว่า สาเหตุที่ผ่านมาได้ แค่ 2 ดาว ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. ซึ่งในปีแรกไม่ทราบว่า ต้องมี มผช. ทำให้พลาดไป และพอมาปีนี้ (2548) เตรียมส่งงานเข้าประกวด แต่ทราบข่าวมาว่ามีไม่มีการประกวด
แต่พอมาเมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวออกมาว่า อัพดาว ซึ่งก็ไม่มีใครทราบข่าวการอัพดาวของสินค้าโอทอป ซึ่งทราบกันเฉพาะกลุ่ม ทำให้พลาดโอกาสไป ทั้งที่เรื่องใหญ่แบบนี้น่าจะแจ้งให้ผู้ผลิตสินค้าโอทอป ทุกคนได้ทราบโดยทั่วกัน แรกรัฐบาลบอกว่าสนับสนุน หลังรัฐบาลบอกว่า โอทอป ต้องเดินเอง อยากถามว่า เดินเองอย่างไร พวก 4 -5 ดาว เดินเองได้ ทว่า พวก 1 - 3 ดาว ที่ยังไม่แข็งแกร่ง จะเดินเองได้อย่างไร
สำหรับสิ่งที่โอทอปทำได้ในขณะนี้ ต้องรวมกลุ่มกัน มีการประชุมส่งข่าวกัน โดยมีประธานคอยติดตามเรื่อง ซึ่งที่ผ่านมาผลิตสินค้าโอทอประดับ 4 - 5 ดาว รวมกลุ่มกัน ทำให้เขาทราบความเคลื่อนไหวต่างๆอยู่ตลอดเวลา และเวลามีอะไร จะแจ้งให้ 4 และ 5 ดาวทราบก่อน ส่วน 1 – 2 ดาว ไม่ต้องพูดถึง เหมือนโดนทิ้งไม่มีใครสนใจ ต้องช่วยเหลือตัวเอง ในขณะที่ 4 - 5 ดาวได้รับการช่วยเหลือตลอดเวลา
นอกจากนี้ การจัดงานแสดงสินค้าใดๆ ก็ตามของภาครัฐ กลุ่ม 4-5 ดาว บางงานอาจรวมระดับ 3 ดาวเข้าด้วย จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้ากลุ่ม 1 – 2 ดาว ไม่มีทางได้รับเชิญร่วม ทั้งๆที่ กลุ่มนี้ เป็นชาวบ้านจริงๆ หากต้องการออกงานก็ต้องเสียค่าเช่าบูทเอง ซึ่งบางงานเสียค่าเช่าบูทแล้ว ขายได้ไม่คุ้ม ก็ขาดทุน
นอกจากนี้ เวลาภาครัฐจะมีการจัดงานใดๆ จะแจ้งกลุ่ม 1 - 3 ดาว ที่หลังจากที่ 4 - 5 ดาว นอกจากนี้ พื้นที่ที่จัดสรรให้ ก็จะเป็นบูทที่กลุ่ม 4-5 ดาว ปฏิเสธ หรือพื้นที่เหลือไม่มีใครเอา ก็ค่อยมาจะแจ้งให้เข้าร่วมงาน ก่อนหน้างานจะเริ่มแค่ 2-3 วัน ซึ่งกลุ่มโอทอประดับ 1-3 ดาว ส่วนใหญ่จะเป็นงานฝีมือหัตถกรรม ไม่สามารถทำสินค้าจำนวนมากได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน เมื่อไม่มีสินค้าก็ไม่สามารถที่จะไปออกงานได้
*** โอทอป 3 ดาวยังร่อแร่-เจ๊ง
ถึงแม้การผ่านการคัดสรรเป็นสุดยอดโอทอป 3 ดาว 5 ดาว จะเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ แต่กรณี “น้ำปลารัฎษา” ที่ภูเก็ต โอทอป 3 ดาว ยังร่อแร่ และดอกไม้เกล็ดปลา สุดยอดโอทอป ระดับ 3 ดาว เมืองระนอง ก็ย่ำแย่ถึงขั้นเจ๊ง
นายพรชัย สวัสดิ์ศรี ประธานกลุ่มผลิตน้ำปลาเกษตร ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต บอกว่า กลุ่มผลิตน้ำปลาฯ ก่อตั้งเมื่อปี 46 ผ่านมา มีสมาชิก 143 คน โดยได้รับงบสนับสนุนทำโรงเรือนจากสำนักงานเกษตร 400,000 บาท มีผลิตภัณฑ์น้ำปลาออกวางตลาดที่รับประกันคุณภาพด้วยการได้รับคัดสรรเป็นโอทอป 3 ดาว และผ่านการรับรองจาก อ.ย. แต่ปรากฏว่า การจำหน่ายยังจำกัดอยู่ในกลุ่มสมาชิกและร้านค้าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเท่านั้น ยังไม่สามารถขยายตลาดออกไปวางขายตามร้านค้าในต่างพื้นที่ เพราะชื่อเสียงน้ำปลารัฎษา เป็นตรายี่ห้อใหม่ไม่สามารถสู้น้ำปลายี่ห้อดังที่ติดตลาดอยู่แล้วได้
“ทำมากว่า 3 ปี ตอนนี้สมาชิกยังไม่ได้รับเงินปันผล ได้เพียงน้ำปลากลับไปรับประทานกันคนละ 1-2 ขวด ปัญหาของกลุ่มนอกจากเรื่องตลาด ยังมีปัญหาด้านเงินทุนหมุนเวียนเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าขวดที่สูง และค่าซื้อวัตถุดิบขณะที่กำไรตกขวดละ 2-3 บาทเท่านั้น เวลานี้กำลังหาเงินทุนปรับปรุงโรงเรือนและเพิ่มบ่อหมักเพื่อให้มีสินค้าออกขายตลอดปี” ประธานกลุ่ตผลิตน้ำปลาเกษตร กล่าว
เขายังบอกว่า กลุ่มผลิตน้ำปลาเกษตร ยังต้องประสบปัญหาซ้ำซากในลักษณะนี้ไปอีกนาน แม้ว่าสินค้าจะได้ดาวมาก็ตาม เพราะดาวไม่ได้ช่วยให้สินค้าขายดีแต่อย่างใด
ส่วนสุดยอดโอทอป 3 ดาว คือ ดอกไม้เกล็ดปลาเมืองระนอง ก็มีปัญหาไม่แตกต่างไปจากโอทอปจากชุมชนในพื้นที่อื่นๆ กระทั่งเลือกที่จะเลิกทำ
นายเฉลย พรหมมา ประธานชุมชนด่านท่าเมือง และประธานกลุ่มผลิตดอกไม้เกล็ดปลา ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง เปิดเผยว่า ดอกไม้เกล็ดปลาของกลุ่มได้รับคัดเลือกเป็นโอทอป 3 ดาวระดับจังหวัดและระดับภาค แต่ผลิตภัณฑ์ก็มีปัญหาด้านการตลาด ผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยสูงไม่มีร้านค้าใดรับไปจำหน่าย ขณะที่วัตถุดิบค่อนข้างหายาก
นายเฉลย กล่าวว่า สมาชิกของกลุ่มที่เป็นแม่บ้านในชุมชนนำเงินมาร่วมทุนกันทำ ก่อนนี้เคยนำผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดง ที่เมืองทองธานี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จสินค้าขายไม่ได้ ขาดทุนไปหมื่นกว่าบาท ลูกค้าที่สนใจบอกกว่าราคาสูงเกินไป โดยดอกไม้ที่ผลิตจะตั้งราคา 40-70 บาทถ้าจัดลงแจกัน อย่างดอกแสงอาทิตย์ ราคา 450 บาท
“เมื่อกลับจากเมืองทองธานี สมาชิกส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าควรยุติการผลิตไว้ก่อน เพราะผลิตไปก็ขายไม่ได้ ทุนยิ่งจมมากขึ้นไปอีก แต่สมาชิกก็ไม่ย่อท้อตอนนี้หันมาประดิษฐ์ดอกไม้จากถุงน่องขายดอกละ 10-20 บาท ป้อนตลาดหลักในจังหวัด” ประธานกลุ่มผลิตดอกไม้ฯ ให้ข้อมูล
นายเฉลย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ผู้ผลิตโอทอปประสบเหมือนกันคือ ขาดการส่งเสริมด้านการตลาดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงอยากให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนให้มากยิ่งขึ้นทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การลดต้นทุน รวมถึงเงินทุนและการตลาด