จากฝีมือของ “สมชาย แซ่ตั้ง” หนุ่มหัวใจรักธรรมชาติ พลิกโฉมเส้นลวดธรรมดา ๆ ที่มีความแข็งกระด้างให้กลับอ่อนโยนมีชีวิต โดยการถัก และดัดตามจินตนาการ กลายเป็นผลงานต่างๆ อาทิ ต้นบอนไซเหล็กที่นอกจากจะสวยงาม ยังมีรูปแบบไม่ซ้ำใคร
สมชาย แซ่ตั้ง เจ้าของผลงานลวดถักเป็นต้นบอนไซ อธิบายถึงแรงบันดาลใจ เริ่มมาจากตัวเอง เป็นคนนิยมปลูกต้นบอนไซ ซึ่งต้องใช้ลวดดัดรูปทรงของต้นเป็นประจำ กระทั่ง เมื่อย้ายมาอยู่บ้านใหม่ ไม่มีบริเวณเหมาะสำหรับปลูกต้นบอนไซอีกแล้ว จึงลองนำเศษลวดเหลือมาดัดเป็นต้นบอนไซเป็นงานอดิเรกแทนการปลูกต้นบอนไซ
“ผมเรียนมาด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก แต่ที่ทำงานลักษณะนี้ได้ มันเกิดจากความชอบ และคุ้นเคยกับการใช้ลวดดัดบ่อยๆ มากกว่า ตอนแรก ทำเพราะคิดถึงบอนไซ ก็ลองเอาลวดที่เหลือมาดัดเป็นบอนไซ ทำเป็นงานอดิเรกอยู่เป็นปีๆ ไม่ได้คิดจะขายเลย จนมีคนมาเห็น ตามที่ผมเอาไปวางประดับแต่งบ้าน เริ่มเกิดการขอซื้อ เลยเห็นว่า มันน่าจะทำเป็นอาชีพได้นะ เพราะว่า ผมไปตระเวนดูที่ต่างๆ เช่น จตุจักร ถนนข้าวสาร หรือดูตามข้อมูลของเมืองนอก ก็ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เลยออกจากงานประจำมามุ่งทำงานนี้เลย”
ชี้เสน่ห์อยู่ที่ความอ่อนช้อย
เมื่อถามถึงเสน่ห์ของงานประเภทนี้ เจ้าของไอเดีย ตอบว่า ถ้าพูดถึงลวด คนทั่วไปจะนึกถึงความแข็ง เพราะทำมาจากเหล็ก แต่งานของเขา นำเอาวัสดุนี้ มาแปลงโฉมให้ดูอ่อนช้อย เหมือนมีชีวิต ในรูปแบบที่ต่างจากงานที่มีขายตามท้องตลาด แต่ละชิ้นจะมีเสน่ห์เฉพาะตัว ตามแต่จินตนาการ ไม่มีแบบซ้ำกัน เพราะเป็นงานทำมือ 100%
และจุดเด่นอีกประการ อยู่ที่ความยากในการถักและดัด เพราะลวดแต่ละเส้นที่ใช้เป็นเส้นเดียว ไม่มีเชื่อมโลหะ หรือตัดต่อภายหลัง หากกะระยะความยาวผิดพลาด หรือดัดแล้ว ลวดหักเป็นมุมเหลี่ยม อาจเสีย ต้องรื้อใหม่ทั้งหมด
ปรับสไตล์ขยายตลาดวงกว้าง
สมชาย เล่าอีกว่า ลวดที่ใช้ถักคือ ลวดธรรมดาขายตามท้องตลาดทั่วไปทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นลวดอะลูมิเนียม ลวดทองเหลือง ลวดสแตนเลส ลวดสี เป็นต้น โดยรูปแบบ เริ่มแรกจะเป็นต้นบอนไซทั้งหมด ทำเพื่อโชว์อย่างเดียว ก่อนจะพัฒนารูปแบบงานให้หลากหลายมากขึ้น ตอบสนองลูกค้าในวงกว้าง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ งานต้นไม้ คนในอิริยาบถต่างๆ สัตว์ และสิ่งของเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น กรอบรูป เชิงเทียน โคมไฟ ฯลฯ
“เมื่อเรามาทำในรูปของธุรกิจ การตลาดเป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัวให้ทัน แรกๆ ผมทำโชว์อย่างเดียวเลย แต่ปัจจุบัน ปรับให้ใช้งานได้มากขึ้น และเริ่มทำวัสดุอย่างอื่นๆ เข้าผสมผสาน ทำให้กลุ่มลูกค้าก็กว้างขึ้นด้วย แต่งานที่ขายดีที่สุด ก็ยังเป็นแบบต้นไม้”
เจ้าของผลงาน เผยถึงกลุ่มลูกค้า มีทั้งชาวไทย และต่างประเทศ ที่ชอบงานศิลปะ และงานแปลกๆ ไม่เหมือนใคร ราคาสินค้า เริ่มต้นตั้งแต่ 50 บาท ถึงหลักหมื่น ระยะเวลาในการทำ แล้วความยากง่าย ชิ้นเล็กๆ อาจจะแค่ไม่กี่นาที แต่ถ้าเป็นงานชิ้นใหญ่ ต้องใช้เวลาร่วมเดือน
ส่วนช่องทางตลาด มีหน้าร้านอยู่ที่ สวนลุมไนท์บาซาร์ โซนอยุธยา ซอย 3 ห้อง บี 100 แต่รายได้จากขายปลีกจะไม่สูงนัก รายได้หลักจริงๆ จะมาจากคำสั่งซื้อ เฉลี่ยแล้วต่อเดือนรายได้รวมราว 30,000 บาท
ระบุปัญหาขาดกำลังผลิต
แม้ว่า สินค้าจะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ปัญหาที่พบตั้งแต่เริ่มทำจนถึงปัจจุบัน คือ ไม่สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก เพราะขาดทีมงานที่จะช่วยผลิตงานได้ทันตามตลาด ถ้ามีคำสั่งซื้อจำนวนมากเข้ามา ต้องปฏิเสธไป นับว่าเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย
“ปัญหาของผม คือการผลิต เพราะงานพวกนี้ การจะหาคนมาทำงานยากจริง ๆ เพราะเขาต้องมีใจรักจริงๆ ไม่เช่นนั้น ก็จะเบื่อที่ต้องมานั่งดัดลวดทั้งวัน ผมพยายามแก้ปัญหาด้วยการฝึกคนมาทำงาน และเปิดรับสอน เพื่อรวมกลุ่มขยายกำลังผลิตให้มากขึ้น แต่ปัญหา คนที่มาฝึกแค่ไม่กี่วัน ก็เลิก”
ฝากขาก๊อปปี้พัฒนาฝีมือร่วมเป็นพันธมิตร
ส่วนปัญหาเรื่องการถูกลอกเลียนแบบ สมชายยอมรับว่า โดนบ้างแล้ว แต่ไม่มากนัก และเมื่อดูถึงรายละเอียด และเทคนิคในการดัดลวด ยังถือว่า ห่างกันมาก แต่ทั้งนี้ อยากฝากถึง ผู้ที่คิดจะมาทำงานนี้ว่า อยากให้ช่วยกันพัฒนางานลวดถักรูปแบบอื่นๆ ออกไป แล้วมารวมตัวกัน สร้างเป็นกลุ่มผู้ผลิตงานลวดถัก เพื่อเติมศักยภาพต่อรองกับลูกค้าได้มากขึ้น
“คนที่เห็นงานของผม แล้วอยากจะทำบ้าง ผมอยากให้เขาทำให้ดีกว่าผมเสียอีก อย่างผมถนัดงานต้นไม้ เขาอาจไปคิดต่อยอดไปรูปแบบอื่นๆ ที่ดีกว่าผม เพราะพวกงานแฮนด์เมดถ้าต่างคนต่างทำเลียนแบบเหมือนๆ กันออกมา ก็เท่ากับแย่งลูกค้ากันเอง อยากมากก็แค่เอาตัวรอดไปวันๆ แต่ถ้าเรารวมกลุ่มกันได้ มีงานที่หลากหลาย ผลิตได้จำนวนมาก ถ้ามีออเดอร์ใหญ่ๆ เข้ามา เราสามารถกระจายให้เครือข่ายได้ สร้างตลาดให้แข็งแรงกว่าวันนี้ได้”
สำหรับแผนในอนาคต สมชาย บอกว่า คงต้องเน้นการตลาดให้เข้มแข็งกว่านี้ เช่น ไปจดเครื่องหมายการค้า และเร่งสร้างบุคลากรรองรับการผลิตให้ทันต่อความต้องการของตลาดให้ได้
* * * * * * * * * *
โทร.0-1816-2595 , 0-2455-9147