เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทง เราจะเห็นกระทงที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกระทงขนมปังที่นอกจากจะได้บูชา และขอขมาพระแม่คงคาแล้ว ยังได้อิ่มบุญจากกระทงขนมปังที่สามารถเป็นอาหารปลาได้อีกด้วย แต่สำหรับ "เทียนหอมลอยน้ำ" แล้ว แม้ว่าจะไม่สามารถเป็นอาหารปลาได้ แต่เมื่อจุดก็จะให้ความสว่างไสวกว่ากระทงทั่วไป เมื่อแสงไปสะท้อนพื้นน้ำ
ซึ่งกระทงเทียนหอมลอยน้ำปัจจุบัน ศุภลักษณ์ ปัญจรัตน์ วิทยากรประจำสำนักศิลปวัฒนธรรม เป็นผู้ดูแลขั้นตอนการผลิตเองทั้งหมด ส่วนแนวเกิดจากอาจารย์ภารดี สุขเกษม อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ได้คิดค้นขึ้น โดยได้เลียนแบบกลีบดอกของบัวหลวง มาทำเป็นกระทงเทียน ซึ่งความอ่อนช้อยและสวยงาม
โดย ศุภลักษณ์ กล่าวถึงขั้นตอนการทำกระทงเทียนหอมลอยน้ำว่า เริ่มแรก จะนำฟักทองที่มีเนื้อหนามาแกะสลัก ขึ้นเป็นรูปกลีบดอกบัวหลวง เพื่อใช้เป็นแม่พิมพ์ และนำไปจุ่มในน้ำเทียน เพื่อให้ได้กลีบดอกขนาดเท่ากัน ต่อจากนั้นจึงนำไปเชื่อมให้กลีบดอกติดกันด้วยน้ำเทียนร้อน ก็จะได้กระทงเทียนหอมลอยน้ำ 3 ขนาด 7 สี คือ สีฟ้า น้ำเงิน ม่วง เหลือง ส้ม แดง และชมพู ซึ่งสามารถให้ผู้ซื้อเลือกได้ตามความชอบ พร้อมทั้งยังมั่นใจ เมื่อนำกระทงไปลอยน้ำจะไม่จมอีกด้วย เพราะกระทงเทียนทุกใบจะผ่านการทดสอบการลอยน้ำมาแล้ว โดยราคาจะอยู่ที่ 35-100 บาท
แม้ว่ากระทงเทียนหอมลอยน้ำของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จะดำเนินธุรกิจมากว่า 5 ปีแล้ว แต่น่าแปลกที่ยังไม่มีคู่แข่งเลย ซึ่งศุภลักษณ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กระทงเทียนหอมลอยน้ำนั้น จะมีขั้นตอนการทำที่ค่อนข้างยุ่งยาก และมีความประณีตสูง ซึ่งผู้ทำจะนอกจากจะต้องมีความรู้เรื่องการทำเทียนแล้ว ยังต้องมีความรู้เรื่องการแกะสลักอีกด้วย เพราะพิมพ์ที่ใช้เป็นฟักทองจะต้องทำขึ้นบ่อยๆ เนื่องจากฟักทองสดจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 วัน ดังนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ยังไม่มีผู้ประกอบการหันมาทำกระทงเทียนเทียนหอมลอยน้ำอย่างจริงจัง
“การทำกระทงเทียนหอมลอยน้ำ จะมีขั้นตอนที่ค่อนข้างประณีต และผู้ทำจะต้องมีความอดทนสูง เพราะต้องอยู่กับความร้อนตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีนักศึกษาเข้ามาช่วยทำแต่จะเป็นพวกอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ประมาณ 5 คนมาช่วยกันทำ โดยใน 1 ชั่วโมง จะสามารถทำกระทงออกมาได้ประมาณ 10 ใบ ซึ่งยิ่งใกล้วันลอยกระทง ก็จะมีออเดอร์เข้ามาเรื่อยๆ จนถึง 1,000 ใบแล้ว โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อไปจำหน่าย และนำไปลอยเอง ซึ่งกระทงเทียนขนาดกลางและเล็กจะขายดี”
ส่วนความแตกต่างของกระทงเทียนหอมลอยน้ำ กับกระทงใบตอง และกระทงขนมปัง จะอยู่ที่ความสวยงามของแสงเทียนเมื่อจุดและลอยในน้ำ ซึ่งกระทงเทียนจะให้ความสว่างไสวกว่ากระทงทั่วไป เมื่อแสงไฟกระทบกับพื้นน้ำ ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำกระทงเทียนไปประดับด้วยดอกไม้เพิ่มเติมได้ แถมยังไม่ทำลายสภาพแวดล้อมอีกด้วย เพราะกระทงจะไม่จมน้ำ ซึ่งเมื่อเทียนมอดดับลง ก็สามารถช้อนกระทงเทียนเก็บขึ้นมาได้ ส่วนข้อเสียอยู่ที่การเก็บรักษา ที่จะต้องเก็บไว้ในที่เย็น ไม่อับ และร้อน ซึ่งจะส่งผลให้กระทงเทียนเกิดการยุบตัวได้
นอกจากนี้การพัฒนาในเรื่องของรูปแบบกระทงเทียนหอมลอยน้ำของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จะมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องของรูปแบบที่ต่อไปเปลี่ยนให้กระทงเทียนดัดแปลงมาจากดอกไม้ชนิดอื่นบ้าง เช่น ดอกกุหลาบ หรือดอกไม้ไทยชนิดอื่นๆ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเกิดความจำเจ ซึ่งปัจจุบันกระทงเทียนหอมลอยน้ำ มีจำหน่ายที่ม.ราชภัฏสวนดุสิต และตามสถานที่ต่างๆ ที่มีผู้ที่สนใจรับไปจำหน่าย
อย่างไรก็ตามแนวโน้มของกระทงเทียนหอมลอยน้ำ ศุภลักษณ์ คาดว่าจะมีผู้นิยมใช้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นกระทงที่มีรูปทรงและสีสันสวยงาม แตกต่างจากกระทงทั่วไป รวมถึงยังให้ความสว่างไสวมากกว่ากระทงชนิดอื่นด้วย ซึ่งหากมีการพัฒนาในเรื่องของรูปแบบให้มีความหลากหลายมากขึ้น ศุภลักษณ์เชื่อว่ากระทงเทียนหอมลอยน้ำ จะเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไปเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
***สนใจติดต่อสำนักศิลปวัฒนธรรมม.ราชภัฏสวนดุสิตโทร. 0-2244-5350-3***