นักวิจัยไทย ค้นพบ และเพาะพันธุ์ไรน้ำนางฟ้าไทยสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก หวังทดแทนอาหารสำหรับปลาสวยงาม ประเภทอาร์ทีเมียที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีคุณสมบัติเด่นที่ขนาด และคุณค่าทางสารอาหารสูงกว่า เล็งพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจในอนาคต
ดร.นุกูล แสงพันธุ์ หน่วยเพาะเลี้ยงอาหารมีชีวิต คณะวิชาประมง วิทยาลัยเกษตร และเทคโนโลยีสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า เมื่อปี 2542 วิทยาลัยฯ ร่วมกับภาควิชาชีววิทยา ม.ขอนแก่น สำรวจไรน้ำนางฟ้าทั่วประเทศ พบว่า มีอยู่ 3 ชนิด โดยตั้งชื่อว่า 1. ไรน้ำนางฟ้าไทย 2. ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร พบ และ3. ไรน้ำนางฟ้าสยาม
ทั้งนี้ ไรนางฟ้า นับเป็นสัตว์ประจำถิ่นของประเทศไทย โดยมีอยู่ตามธรรมชาติมานานแล้ว โดยเฉพาะในภาคอีสานของไทย ยังไม่มีรายงานว่า พบในประเทศอื่น คนอีสานเรียกต่างๆ กันว่า แมงอ่อนช้อย , แมงหางแดง , แมงแงว หรือ แมงน้ำฝน ชาวบ้านนิยมนำมาประกอบอาหาร เช่นเดียวกับลูกอ๊อดของกบ
จากการศึกษา พบว่า ไรน้ำนางฟ้าไทย มีคุณสมบัติ ทดแทนอาร์ทีเมีย (ไรน้ำเค็ม) อาหารสำหรับปลาสวยงาม ซึ่งปัจจุบันไทยต้องนำเข้า100% จากสหรัฐฯ หรือจีนแดง ปีละกว่า 500 ล้านบาท เพราะอาร์ทีเมียจะอยู่ในทะเลสาบน้ำเค็ม ซึ่งไม่มีในไทย
ดังนั้น การทดแทนด้วยไรน้ำนางฟ้าไทย จะช่วยลดการนำเข้า และไรน้ำนางฟ้าไทย ยังมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าอาร์ทีเมีย และขนาดใหญ่กว่าอาร์ทีเมีย ถึง 3 เท่า (ขนาด 1.7-3.9 ซม.) เหมาะเป็นอาหารสำหรับปลาสวยงามทุกประเภท หรือสัตว์เศรษฐกิจ เช่น ปู กุ้ง
อีกทั้ง มีข้อดีที่เจริญเติบโตเร็ว วงจรชีวิตสั้น สามารถพัฒนาเลี้ยง แบบหนาแน่นในเชิงธุรกิจได้ คือ น้ำ 1 ลิตร เลี้ยงได้ 50 ตัว และเก็บผลผลิตได้ ทั้งเป็นตัว และไข่ การเพาะพันธุ์ออกลูกเป็นไข่ ครั้งละ 5,000-6,000 ฟอง ส่วนอาหารที่เลี้ยงคือ น้ำเขียว ซึ่งเป็นสาหร่ายเซลล์เดียว ที่ใช้เลี้ยงไรแดงอยู่แล้ว ทำให้การหาอาหารเลี้ยงไม่ใช่เรื่องยาก
ก่อนหน้านี้ กรมประมง เคยพยายามศึกษาการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้ามาแล้วเช่นกัน เพราะเป็นสัตว์ที่หายาก ตลาดต้องการสูง แต่พบปัญหา เมื่อเลี้ยงแล้วไข่ไม่ฟักตัว กระทั่ง จากการศึกษาของ ดร.นุกูล และทีมงาน จึงสามารถพัฒนาเพาะเลี้ยงสำเร็จ เป็นครั้งแรกของโลก
"หลังจากที่ตัวแม่ วางไข่ไว้แล้ว ไข่จะจมอยู่ในพื้นดิน ต้องปล่อยไว้อีกประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ตัวอ่อนพัฒนาจนสมบูรณ์พร้อมที่จะฟัก อันนี้เป็นเทคนิคสำคัญ ซึ่งเราได้จดสิทธิบัตรไว้แล้วโดยไข่ที่ได้จะฟักได้ดี และสามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิธรรมดา เป็นเวลาถึงกว่า 2 ปี จะใช้เมื่อใด ก็นำออกมาฟักได้เลย และคาดว่า ถ้าเก็บในอุณหภูมิห้องเย็น น่าจะเก็บไข่ไว้ได้นาน ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งขณะนี้ เรากำลังศึกษาอยู่"
ส่วนแนวโน้มการส่งออกมีทางเป็นไปได้มาก เพราะอาหารสดสำหรับปลาสวยงามที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหมดเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ดังนั้น ไรน้ำนางฟ้าไทย จึงมีคุณสมบัติดีกว่าในทุกด้าน จึงเป็นที่ต้องการของตลาด
ดร.นุกูล เผยว่า การวิจัยครั้งนี้ ใช้งบไปประมาณ 1 ล้านบาท ปัจจุบัน การบ่อเพาะเลี้ยงมีอยู่ที่ วิทยาลัยฯ สุพรรณ กับที่ ม.ขอนแก่น แม้ว่า การวิจัยจะได้ผลดี แต่ยังไม่พร้อมออกตลาด เพราะอยากพัฒนาให้สมบูรณ์ในด้านการหาทางบรรจุไข่ให้สะอาด รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงศึกษาระบบการเก็บรักษาไข่ให้สมบูรณ์
นอกจากนี้ ถ้าจะเลี้ยงระบบอุตสาหกรรม อาหารที่จะใช้เลี้ยงควรจะเป็นรำ หรือเศษอาหารเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่หาได้ง่าย ต้นทุนถูก และสะดวกในการใช้งานกว่าการเลี้ยงด้วยน้ำเขียว ซึ่งต้องใช้พื้นที่มาก
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน มีเกษตรกร และภาคเอกชนให้สนใจติดต่อมาทั่วประเทศ จึงเปิดอบรมการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า ถ้าสนใจติดต่อได้ที่ วิทยาลัยเกษตร และเทคโนโลยีสุพรรณบุรี โทร. 0-3559-5055-6