xs
xsm
sm
md
lg

ร้อยลูกไม้ป่าเป็นโมบาย เก็บธรรมชาติมาแต่งบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ด้วยลักษณะของลูกไม้ป่าแต่ละชนิดที่ต่างกัน เมื่อนำมาร้อยด้วยเชือกตามจินตนาการจนเป็น “โมบายลูกไม้ป่า” ก็ยิ่งช่วยเพิ่มเสน่ห์ความน่าสนใจ กลายเป็นของตกแต่งบ้าน หรือสถานที่ ซึ่งถูกใจชาวต่างชาติ เพราะสร้างบรรยากาศให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่า ได้กลับไปใกล้ชิดธรรมชาติ หลบหนีความสับสนในเมือง

พิสัยรุ่งเรือง โนนน้อย
เจ้าของผลงาน เล่าว่า โมบายลูกไม้ป่า เกิดจากตัวเองเป็นคนต่างจังหวัด ตั้งแต่เด็ก ก็จะพบเห็นลูกไม้ต่างๆ อยู่เป็นประจำ ทำให้มีความผูกพัน จนเมื่อเวลาผ่านไป กลับรู้สึกว่าลูกไม้บางชนิดหายไป คนในเมืองบางคน ไม่เคยเห็น หรือรู้จักด้วยซ้ำ ทำให้เกิดความคิดว่า น่าจะนำลูกไม้ มาทำเป็นโมบาย เพื่อตกแต่งบ้าน ให้ผู้อยู่อาศัยมีความรู้สึกว่า ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ

“สาเหตุที่ลูกไม้ป่าบางชนิดมันหายไป เกิดขึ้นมาจากการที่ชาวบ้านไม่เห็นคุณค่าของต้นไม้ชนิดนั้น และไปตัดโค่นทิ้งไป เพื่อนำพื้นที่ไปปลูกต้นไม้ชนิดอื่นแทน แต่ถ้าเราสามารถที่จะทำให้ต้นไม้เหล่านั้น มันมีประโยชน์ขึ้นมา ด้วยการรับซื้อลูกไม้ ชาวบ้านมีรายได้จากการเก็บลูกไม้ขาย ทำให้ไม่ต้องตัดต้นไม้ และเมื่อชาวบ้านมีรายได้ในระดับที่พึ่งพอใจ เขาก็จะดูแลต้นไม้เหล่านั้นเป็นอย่างดี”

สำหรับลูกไม้ที่มาทำ มีหลายสิบชนิด อาทิ สะบาดำ สะบาลิง สะบาแดง ลูกยางนา ลูกยางใหญ่ มะเฟืองป่า มะค่า ฯลฯ เกือบทั้งหมดจะมาจากป่าที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีเพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นไม้ที่ปลูกทั่วไป เช่น ลูกทุเรียนอ่อน นอกจากนี้ ก็ยังมีข้าวโพด หมาก มะตูม ที่เป็นไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไป

เขายืนยันว่า งานนี้ ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะเก็บจากลูกไม้ที่ร่วงตามธรรมชาติ โดยการคัดลูกไม้ที่จะมาทำโมบาย จะพิจารณาจากคุณสมบัติเป็นหลัก เพราะรูปร่างลักษณะของลูกไม้แต่ละชนิดมีเสน่ห์ตามธรรมชาติของอยู่แล้ว

“ลูกไม้ที่นำมาทำ ต้องมีคุณสมบัติไม่เน่าเปื่อย สามารถคงรูปอยู่อย่างนั้น ไม่ย่อยสลายได้ง่าย สามารถเก็บได้นานโดยที่ไม่เกิดเชื้อรา ซึ่งลูกไม้ในป่านั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เราไม่สามารถทราบได้ว่าชนิดไหน จะมีคุณสมบัติอย่างที่เราต้องการ ต้องเก็บลูกไม้ มาทิ้งเอาไว้สักระยะหนึ่งก่อน เพื่อดูว่ามีคุณสมบัติอย่างที่ต้องการหรือไม่ โดยลูกไม้ที่เก็บมา จะเก็บในขณะที่ลูกไม้นั้นแห้งสนิทแล้ว”

ความยาก และปัญหาของงานประเภทนี้ คือ การหาวัตถุดิบลูกไม้ชนิดต่างๆ เพราะแต่ละชนิดจะออกตามฤดูกาล ทำให้บางฤดู หาชนิดเดิมไม่ได้ ก็ต้องหาลูกไม้ชนิดอื่นทดแทน โดยต้องอาศัยชาวบ้านให้ช่วยหา หรืออาจต้องเดินทางออกไปแสวงหาด้วยตัวเอง

ขั้นตอนการทำ หลังได้ลูกไม้มาแล้ว บางชนิดต้องนำมาอบและฆ่าเชื้ออีกครั้ง ป้องกันการเกิดเชื้อรา และป้องกันมดและแมลง บางชนิดนำมาเคลือบชแล็ค เพิ่มความมันเงา แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะชอบงานที่เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องตกแต่งอะไร เพราะจุดประสงค์ของลูกค้าต้องการงานที่มาจากธรรมชาติจริง อย่างไรก็ตาม การที่ไม่เกิดเชื้อรา หมายความว่าต้องเก็บในที่แห้ง แต่ถ้าเก็บในที่มีความชื้นมาก หรือ โดนน้ำ บางชนิดก็จะเกิดเชื้อราได้เช่นกัน

ส่วนรูปแบบของโมบาย ทุกอย่างเกิดขึ้นตามจินตนาการ นำมาร้อยและผูกด้วยเชือก ออกมาเป็นโมบาย ซึ่งส่วนตัวเคยทำงานร้อยสร้อยคอลูกปัดมาก่อน จึงนำเทคนิคดังกล่าว มาใช้กับการร้อยโมบายลูกไม้ และแม้จะมีลูกค้าบางคน ดูถูกว่า เป็นงานไม่ต้องใช้ฝีมือ ใครๆ ก็ทำได้ แค่หาลูกไม้มาแล้วร้อยเชือกธรรมดา แต่ในความเป็นจริง การจะเจาะลูกไม้แต่ละชนิด มีเทคนิคที่แตกกัน ไม่ใช่เรื่องง่าย และที่สำคัญ จุดประสงค์ของงานนี้ ต้องการขายเสน่ห์ของลูกไม้แท้ๆ ไม่ได้ต้องการแปรรูป

“งานประเภทนี้ ผมว่าเป็นการขายไอเดีย อย่างข้าวโพดได้แบบอย่างมาจากเห็นชาวบ้านที่เขาเก็บข้าวโพดพันธุ์เป็นพวงผูกไว้ที่บ้าน คนที่เขาชอบงานแนวนี้อยู่แล้ว เราทำออกมาแบบไหน เขาก็ชอบ ส่วนคนที่ไม่ชอบงานแนวนี้ แม้ว่าจะออกแบบให้สวยอย่างไรเขาก็ไม่ชอบ ลูกค้าที่เลือกซื้องานของเรา ส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานความชอบอยู่ทุกคน”

ด้านการตลาดมีหน้าร้านที่สวนลุมไนท์บาร์ซาร์ โซนลพบุรี ซอย 3 ห้อง D74 ชื่อร้าน “อาลาวี” (ARAVY) เป็นภาษาอาหรับแปลว่า ไม้เลื้อย เปิดร้านมาได้ประมาณ 2 ปี ในตอนนี้ยังไม่มีคู่แข่ง รายได้เฉลี่ยยังไม่หักค่าใช้จ่ายต่อเดือน ประมาณ 40,000 – 50,000 บาท กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ เช่น ประเทศแถบยุโรป , สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ หรือประเภทโรงแรม รีสอร์ท สปา ร้านอาหาร ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สั่งผลิตไปตกแต่งสถานที่ โดยยอมรับว่า ราคาสินค้าอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยหลักพันบาท เพราะเป็นงานทำมือและวัตถุดิบหายาก

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีร้าน และผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเองเป็นรายแรก แต่เขาไม่มีความคิดอยากจะไปจดเครื่องหมายการค้า หรือจดสิทธิบัตรสินค้าอย่างเป็นทางการ เพราะมีแนวคิดว่า ผลงานชิ้นนี้มาจากธรรมชาติ ดังนั้น ไม่ควรจะมีใครยึดถือสิทธิ์เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

“งานพวกนี้ ถ้าใครอยากทำบ้าง ผมก็ยินดี จะบอกแหล่งซื้อให้ด้วย เพราะลูกไม้เหล่านี้ คนรุ่นต่อๆ ไปอาจไม่ได้เห็นแล้ว ผมไม่คิดว่า ผมทำแล้ว ห้ามเอาไปเลียนแบบ คนเราน่าจะเปิดใจให้กว้าง บางทีอาจจะมีคนเคยคิดมาก่อนผม แต่ยังไม่ลงมือทำ ถ้าเราไปจดจองสิทธิ์ มันก็เหมือนไปเอาเปรียบเขา”

* * * * *

โทร.0-1777-2781 , 0-2378-1245





กำลังโหลดความคิดเห็น