ใครที่มีความคิดว่า ผู้สูงอายุทำได้แค่คอยอยู่เฝ้าบ้าน แล้วรอให้ลูกหลานดูแล คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เมื่อมองไปที่กลุ่มผ้าปักด้วยมือ หมู่ 2 บ้านสันกอง ต.แม่ไร่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งสตรีผู้สูงอายุนำเวลาว่าง ร่วมกลุ่มผลิตงานหัตถกรรมผ้าปัก และพัฒนาต่อจนได้รับคัดสรรเป็นโอทอป 5 ดาว
และจากกระแสความนิยมโทรศัพท์มือถือ พลอยให้สินค้าเกี่ยวเนื่องขายดิบขายดีตามไปด้วย กลุ่มผ้าปักด้วยมือ จึงได้แปรรูปจากผ้าเป็นผืนเป็นซองใส่โทรศัพท์มือถือแบบห้อยคอ ที่มีเอกลักษณ์เป็นแบบเสื้อชาวไทยภูเขาตัวจิ๋ว ซึ่งสินค้านี้ โดนใจลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
คุณยายบุญเทียม สุธรรมรักษ์ วัย 72 ปี หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มผ้าปักด้วยมือ เล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากผู้หญิงสูงอายุในหมู่บ้าน 10 กว่าคน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 60 ปีถึงมากสุด 74 ปี ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้เหงา เช่น ไปทำบุญ ออกกำลังกาย รวมถึงทำหัตถกรรมผ้าปักลายชาวไทยภูเขา
และด้วยในหมู่บ้านนี้ มีชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า อาศัยอยู่รวมกับชาวไทยท้องถิ่นอย่างกลมกลืนมาตั้งแต่โบราณ การปักผ้ารูปแบบไทยภูเขา ถ้าเปรียบไปแล้ว ก็เหมือนอยู่ในสายเลือด คุณยายทุกคนมีพื้นฐานทำได้อยู่แล้ว ทว่า จุดประสงค์ก็แค่เป็นงานอดิเรกเท่านั้น ไม่ได้คิดออกขายแต่อย่างใด
จนเมื่อ “นิธี สุธรรมรักษ์” ลูกสาวของคุณยายบุญเทียม ได้ลองเอาผ้าปักฝีมือผู้สูงอายุ รวมถึงผ้าปักของชาวไทยภูเขา ไปลองวางขายที่ตลาดไนท์บราซ่า จ.เชียงราย ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งชาวไทย และต่างประเทศ ช่วยจุดประกายให้ยึดเป็นอาชีพหลัก และตั้งกลุ่มปักผ้าด้วยมือขึ้น เมื่อปี 2543
นิธี ในฐานะประธานกลุ่มฯ เสริมว่า สมาชิกมีทั้งคนในหมู่บ้าน และละแวกใกล้เคียง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งชาวไทย และชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ทั้งมูเซอร์ , อาข่า , ไทยใหญ่ มาร่วมทำงาน โดยการจ่ายงาน เน้นให้ชาวบ้านได้ทำงานตามความชำนาญของตัวเอง เพราะแต่ละหมู่บ้านก็จะมีงานเอกลักษณ์เฉพาะตัว
และด้วยการนำกลุ่มของนิธี พัฒนาจากแค่ขายผ้าปักเป็นผืน เพิ่มค่าด้วยการแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ ตามมากมาย อาทิ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ เข็มขัด กระเป๋า ฯลฯ ราคามีตั้งแต่ 15 บาท ถึงเกือบหมื่น เพื่อขยายตลาดรองรับลูกค้าได้ทุกกลุ่ม
นิธี เล่าว่า เธอจะเป็นคนคิดแบบ และวางแนวทางว่าควรจะผลิตสินค้าชนิดใด ด้วยการดูจากความแนวโน้มความต้องการของตลาด กับนำความคิดเห็นของลูกค้ามาปรับปรุง
ทั้งนี้ สินค้าขายดีที่สุด คือ ซองใส่โทรศัพท์มือถือห้อยคอ ทำเป็นเสื้อชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ มีกว่า 30 แบบ ราคาขายชิ้นละ 50 บาท มีจุดเด่นที่ลายต่างๆ บนเสื้อจิ๋ว เป็นลายเสื้อที่ชาวไทยภูเขาใช้อยู่จริง และขั้นตอนการทำลวดลายเหมือนกับทำเสื้อคนใส่จริง และผ้าจะอัดด้วยกระดาษกาวทำให้ได้รูปทรงที่ดีกว่า ทั้งหมดเป็นงานแฮนด์เมด
คุณยายบุญเทียม เล่าในส่วนนี้ว่า กลุ่มฯ เป็นผู้ผลิตระดับชุมชนกลุ่มแรกของประเทศไทยที่ทำสินค้าแบบนี้ออกมา โดยเปิดตัวครั้งแรกในงานโอทอป ซิตี้ ที่เมืองทองธานี ปี 2546 โดยทำมาจำนวน 300 กว่าชิ้น และขายหมดภายในเวลาแค่ 2 วัน และหลังจากจบงาน ก็มีลูกค้าสั่งเข้ามาสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบัน
ยายวัย 72 ปี บอกว่า แม้ปัจจุบัน จะมีสมาชิกกลุ่มเพิ่มเป็นกว่า 300 คน แต่ตัวเธอ และเพื่อนยุคก่อตั้ง ก็ยังทำงานนี้อยู่ด้วย เพื่อใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ นอกจากนั้น ยังได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กๆ รุ่นใหม่ในหมู่บ้าน ได้เติบโตขึ้นมาสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ต่อไป
“งานแบบนี้ แต่ละชิ้น ใช้เวลานาน ถ้าจะคิดตีราคาจากค่าแรง คงได้ไม่คุ้มกับราคาขาย แต่พวกยาย ทำไม่ให้เหงา และได้ทำก็รู้สึกว่า ชีวิตมีคุณค่า และบางคน เขาก็ภูมิใจที่มีรายได้ไปช่วยครอบครัว ไม่ต้องคอยเป็นภาระให้ลูกหลาน”
สำหรับความภูมิใจของคุณยายอีกประการ คือ ผ้าปักที่นำลายแบบชาวไทยภูเขามาผสมผสาน ได้รับคัดเลือกเป็นโอทอประดับ 4 ดาว ในปี 2546 และได้ 5 ดาวในปีถัดมา (2547) ซึ่งแต่ละผืนกว่าจะทำเสร็จ ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน ดังนั้น ราคาจึงสูง ผืนแพงสุดที่เคยทำ อยู่ที่ 6,500 บาท
กลับมาที่ นิธี อธิบายว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของงานประเภทผ้าปัก จะเป็นคนทำงาน ผู้สูงอายุ และบริษัทที่รับซื้อไปแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ อีกทั้ง มีตัวแทนรับไปขายยังตลาดต่างประเทศ อาทิ อิตาลี เป็นต้น ปัจจุบันมีช่องทางขายที่ตลาดไนท์บาร์ซ่า จ.เชียงราย และออกงานแสดงสินค้าโอทอปต่างๆ ที่รัฐบาลจัดขึ้น
นิธี บอกถึงการบริหารกลุ่มว่า รายได้จากค่าแรง สมาชิกจะต้องหัก 20% เข้ากองกลางเพื่อเป็นทุนสำรองของกลุ่ม อีก 10% หักเป็นค่าใช้จ่ายภายในกลุ่ม และที่เหลือ 70% จึงเป็นรายได้ของสมาชิก โดยเงินที่หักเก็บทั้งหมดจะมีคณะกรรมการดูแล ให้เกิดความโปร่งใสเชื่อถือได้ ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 300 กว่าคน เฉลี่ยแล้ว สมาชิกมีรายได้คนละ 1,500 บาท/เดือน
ทุกวันนี้ จะเห็นว่า มีผู้ผลิตรายอื่นๆ ทำสินค้าเสื้อจิ๋วใส่มือถือแบบใกล้เคียงกันออกแข่งจำนวนมาก ซึ่งนิธี บอกว่า เคยนำปัญหาดังกล่าว ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งได้รับคำแนะนำว่า งานประเภทนี้ ถ้าจะไปจดสิทธิบัตร ไม่สามารถช่วยป้องกันได้ เพราะคู่แข่งแค่ดัดแปลงเล็กน้อย ก็กลายเป็นสินค้าชนิดใหม่แล้ว ดังนั้น ทางแก้ กลุ่มฯ จะพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาสม่ำเสมอ และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมถึงสร้างแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งเหล่านี้จะเป็นแนวทางก้าวต่อไป
นิธี กล่าวแนะนำกลุ่มโอทอปอื่นๆ ว่า แนวทางให้กลุ่มธุรกิจชุมชนอยู่รอดได้ คือ 1. กรรมการกลุ่มต้องรวมกันเหนียวแน่น สามัคคี 2. ประธานต้องอดทนเสียสละ เพราะภาคราชการพร้อมจะให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ตัวประธานต้องใส่ใจไปดำเนินการ 3. ทำสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด และ 4. การแบ่งรายได้ให้สมาชิกต้องชัดเจน อย่างกลุ่มเราจะจ่ายเป็นชิ้น ไม่มีใครได้เปรียบ-เสียเปรียบกัน ทำมากก็ได้มาก ทำเสร็จรับค่าจ้างทันที ไม่ต้องรอให้ขายสินค้าได้ก่อนจึงรับเงิน สมาชิกจะมีกำลังใจทำงานมากกว่า ทว่า วิธีนี้ การตลาดของกลุ่มต้องเข้มแข็งด้วย
* * * * *
โทร.053-667-719 , 0-1568-9385