xs
xsm
sm
md
lg

ประยุกต์ “ข้าวหลาม” ลงหม้อดิน พัฒนาต่อข้าวหลามกระป๋องส่งนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ข้าวหลาม”เป็นของหวานอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมรับประทานกันมาก เป็นภูมิปัญญาของคนไทยโบราณที่รู้จักนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาดัดแปลงเพื่อทำของหวานหรืออาหารว่าง โดยใช้ข้าวเหนียว มะพร้าวและน้ำตาล เป็นส่วนประกอบหลัก บรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ หลังจากนั้นนำไปเผาไฟด้วยฟืนไม้

ทว่า ปัจจุบัน”ไม้ไผ่” และ”ฟืน”วัตถุดิบสำคัญในการทำข้าวหลามหายากมากขึ้น จึงได้มีความพยายามที่จะค้นหาวัสดุชนิดอื่นมาทดแทน แต่ทั้งนี้จะต้องคงไว้ซึ่งรสชาติและกลิ่นของความเป็นข้าวหลาม

“ข้าวหลามหม้อดิน”ของกลุ่มข้าวหลามหม้อดิน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เป็นอีกตัวอย่างของการพัฒนาภูมิปัญญาที่นำวัสดุชนิดใหม่มาประยุกต์ใช้ในการทำข้าวหลาม ด้วยการใช้หม้อดินมาใช้ทำข้าวหลามแทนกระบอกไม้ไผ่

อนันต์ ไพธิวัฒน์ ประธานกลุ่มข้าวหลามหม้อดิน อ.กุมภวาปี ในฐานะเจ้าของไอเดียเล่าว่า การนำหม้อดินมาใช้แทนกระบอกไม้ไผ่เพื่อทำข้าวหลามดังกล่าว เป็นความพยามยามในการหาทางออกเพื่อให้คงอยู่ของข้าวหลามคู่กับสังคมไทยต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เนื่องจากไม้ไผ่ในปัจจุบันนี้หายากมาก หากจะยึดติดกับการใช้กระบอกไม้ไผ่เพียงอย่างเดียว เชื่อว่าข้าวหลามจะต้องถูกลืมและอาจกลายเป็นตำนานของอาหารหวานไทย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการทำข้าวหลามไทยโบราณ จากกระบอกไม้ไผ่มาเป็นหม้อดินนั้นตนก็ได้ประยุกต์เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตด้วย โดยนำหม้อดินที่บรรจุส่วนผสมของข้าวหลามและปิดสนิทแล้วไปอบด้วยความร้อนสูง 300-400 องศาเซลเซสแทนที่จะนำไปเผาหรือตั้งบนเตาหรือในกองฟืนที่แดงจัด

“ข้าวหลามหม้อดินของกลุ่มจะใช้หม้อดิน จากบ้านเชียง กลิ่นหอมของดินเผาโดยธรรมชาติ จากบ้านเชียง อุดรธานี ช่วยให้ข้าวหลามที่สุกแล้วมีกลิ่นหอมไม่แพ้ที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ ทั้งยังสะอาด ปลอดภัย และสามารถเก็บไว้ได้นาน 3 - 4 วัน “ อนันต์กล่าว และเล่าต่อว่า

ได้ทดลองทำข้าวหลามหม้อดินมานานถึง 3 ปี กว่าจะได้สัดส่วนการปรุง และคุณภาพที่ลงตัว จนสามารถ ขอเครื่องหมาย อย. และขอจดสิทธิบัตรภูมิปัญญาได้ เมื่อเดือน มิถุนายน 2547 หลังจากนั้นก็ได้จัดตั้งกลุ่ม “ข้าวหลามหม้อดิน” ขึ้นเพื่อผลิตข้าวหม้อดินขายให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้คนที่สัญจรผ่านไป-มา เส้นทางมิตรภาพขอนแก่น-อุดรฯ

ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากพัฒนาการชุมชน อำเภอกุมภวาปี ได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านดงเรือง ตำบลผาสุก อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

เขาเล่าอีกว่า ข้าวหลามหม้อดิน เป็นที่นิยมของลูกค้ามาก หากเป็นช่วงเทศกาลหรือวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ทางกลุ่มจะผลิตไม่ทันกับความต้องการ ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ข้าวหลามหม้อดิน มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น เชื่อว่า เป็นเพราะเคล็ดลับความอร่อยจากส่วนผสมที่ไม่เหมือนข้าวหลามในกระบอกไม้ไผ่

เคล็ดลับของความอร่อยคือการประยุกต์สูตรการทำขนมเบเกอรี่ของยุโรป มาใช้กับข้าวหลามหม้อดิน ด้วยการนำ เนย และนมสดมาเป็นส่วนผสม แทนการใช้กะทิ นอกจากนั้นยังแต่งหน้าด้วยผลไม้ที่หาได้ตามฤดูกาล และกลิ่นหอมของไอดินธรรมชาติ จากหม้อดินเผา ก็เป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้คนที่เคยลิ้มรสต้องกลับมาซื้ออีก

“ข้าวหลามหม้อดิน”จากฝีมือของเขา และสมาชิกในกลุ่มไม่เพียงแต่จะเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาไทยแล้วยังได้ช่วยอนุรักษ์ ไม้ไผ่ ไม่ให้ถูกตัดเพื่อมาเป็นวัตถุดิบในการทำข้าวหลามในอีกทางหนึ่งยังได้สนับสนุนสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ “หม้อดินเผา “จากภูมิปัญญา ของชาวบ้านเชียง ที่มีทั้งหม้อดินไม่เขียนลาย และหม้อดินที่เขียนลายมรดกโลก ให้ผู้เลือกซื้อ ได้อิ่มอร่อย และได้เก็บบรรจุภัณฑ์ เป็นที่ระลึกถึงบ้านเชียง แหล่งมรดกโลกอีกด้วย

“ข้าวหลามของเรามีให้เลือกทั้งที่เป็นข้าวหลามหม้อดินและข้าวหลามหม้อเซรามิก หลังจากรับประทานข้าวหลามเสร็จแล้ว ยังเหลือภาชนะไว้เป็นใช้งานในครัวหรือใช้เป็นของตกแต่งที่บ้านก็ได้”

อนันต์ เปิดเผยถึงโครงการพัฒนาข้าวหลามหม้อดินของกลุ่มว่า ทางกลุ่มกำลังผลิต “ข้าวหลามกระป๋อง ผาสุก” ขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งเพื่อให้สามารถขายได้ในวงกว้างมากขึ้น เนื่องจาก”ข้าวหลามหม้อดิน”มีข้อจำกัดการเก็บรักษา มีอายุอยู่ได้แค่ 3 วัน ส่งไปจำหน่ายไกลๆไม่ได้ ตลาดจำกัดเฉพาะคนในพื้นที่หรือคนที่สัญจรไป-มา ขณะที่ความต้องการรับประทานข้าวหลามนั้นยังมีอยู่มาก

อนันต์ เผยถึงโครงการผลิตข้าวหลามกระป๋องผาสุกว่า ขณะนี้ขั้นตอนการเตรียมงานก้าวหน้าไปมาก โดยได้ผ่านการตรวจสอบจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว สามารถอยู่ได้นาน3-6 เดือนโดยไม่ต้องอุ่นก่อนรับประทานเหมือนกับอาหารสำเร็จรูปหลายๆประเภท

ซึ่งเป้าหมายของตลาดผู้บริโภค”ข้าวหลามกระป๋อง” สมาชิกในกลุ่มฝันไกลถึงขั้นส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีคนไทยหรือแรงงานไทยทำงานอยู่ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ซึ่งผู้ใช้แรงงานไทยเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไปจากภาคเหนือ ภาคอีสาน คนทั้ง 2 ภูมิภาคนี้บริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักอยู่แล้ว เมื่ออยู่ไกลบ้าน โอกาสที่จะรับประทานข้าวเหนียวก็แทบจะไม่มี ทั้งนี้ไม่นับรวมกับพี่น้องชาวลาว กัมพูชาที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศอีกจำนวนไม่น้อย

กลุ่มข้าวหลามหม้อดินกำหนดผลิตข้าวหลามกระป๋องในเบื้องต้น 2 ประเภท คือ ประเภทที่มีฝาปิดและไม่มีฝาปิด สถานที่ตั้งโรงงานจะอยู่ติดกับบ้านที่อนันต์พักอาศัยอยู่ เป็นโรงงานขนาดเล็ก แต่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย ขณะที่อุปกรณ์เครื่องมือพร้อมอยู่แล้ว

อนันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ”ข้าวหลามกระป๋องผาสุก”ในฐานะของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทยจะไปถึงมือผู้บริโภคในแดนไกลได้กี่มากน้อยนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของภาครัฐ พวกตนเป็นเพียงผู้ผลิตรายย่อย มีศักยภาพทำได้เพียงแค่อุตสาหกรรมเล็กๆในชุมชนเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น