xs
xsm
sm
md
lg

‘ไทยซอฟต์แวร์’ เถ้าแก่ยุคไซเบอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับต้องทำให้คนไทยมองเห็นศักยภาพ และยอมรับในการทำซอฟต์แวร์ของคนไทย“ นี่คือ หลักที่ “สมพร มณีรัตนะกูล” ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ในการสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของคนไทย เพื่อคนไทย ภายใต้แบรนด์ “ไทยซอฟต์แวร์” ซึ่งถึงวันนี้ เชื่อว่า หลายคนต้องยอมรับ และเต็มใจใช้บริการผลงานของเขา


สมพร มณีรัตนะกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซอฟต์แวร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เริ่มธุรกิจหลังลาออกมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในวงการคอมพิวเตอร์ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เพื่อเปิดบริษัทตัวเอง ด้วยทุนจดทะเบียนบริษัท 1 ล้านบาท

“ผมมองเห็นว่าธุรกิจนี้ มีโอกาสสดใส จากจำนวนผู้ใช้คอมฯ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ และความต้องการใช้โปรแกรมที่หลากหลาย มันจะเป็นโอกาสให้ผมอยากจะพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ ซึ่งธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับต้องทำให้คนไทยมองเห็นศักยภาพ และยอมรับในการทำซอฟต์แวร์ของคนไทย ผมจึงเน้นการสร้างชื่อ จากคุณภาพตัวสินค้า และความน่าเชื่อถือของบริษัท ให้ลูกค้าเห็นว่า ซอฟต์แวร์คนไทยยี่ห้อนี้ ซื้อได้”

เขาเริ่มที่การผลิตซอฟต์แวร์ด้านบัญชี เพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี กับซอฟต์แวร์ดิกชันนารี –พจนานุกรมไทย เพราะมีความชำนาญ บวกกับมีพันธมิตรที่ร่วมทำธุรกิจกันมานาน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ เมื่อเริ่มธุรกิจใหม่ก็มีตลาดทันที และในเวลาต่อมา ได้เพิ่มซอฟต์แวร์สื่อการศึกษาเข้าไปด้วย นับถึงขณะนี้ มีสินค้ามากกว่า 50 รายการ

โดยซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป อาทิ “GENEUS” ระบบบัญชีรวมสำหรับธุรกิจทั่วไป ซอฟต์แวร์ดิกชั่นนารี ฉบับ สอ เสถบุตร หรือของฉบับ ศ.ดร.วิทย์ เที่ยวบูรณธรรม รวมถึงพจนานุกรมไทย ฉบับ เปลื้อง ณ นคร เป็นต้น

สมพร บอกจุดเด่นซอฟต์แวร์ของบริษัทฯ คือ ความสามารถที่รองรับความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุม และ ใช้งานง่าย ประกอบกับมีความน่าเชื่อถือว่า ใช้แล้ว จะไม่เกิดปัญหากับเครื่องคอมพิวเตอร์

สำหรับกลุ่มลูกค้า ได้แก่ บริษัท และประชาชนทั่วไป มีช่องทางจัดจำหน่าย ตามศูนย์หนังสือ และร้านค้าสะดวกซื้อ อาทิ B2S , ร้านนายอินทร์ , 7-11 เป็นต้น

ส่วนการอัพเดตซอฟต์แวร์นั้น โดยปกติจะกำหนดไว้ปีละ 1 ครั้ง แต่ในอนาคตจะพยายามให้ได้ปีละ 2 ครั้ง เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย ถูกต้อง กับพัฒนาให้เหมาะกับเทคโนโลยีสมัยใหม่จากต่างชาติที่จะเข้ามา

เมื่อกล่าวถึงธุรกิจประเภทนี้ ปัญหาสำคัญ ไม่พ้นการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ สมพร บอกว่า ในปัจจุบัน ซอฟต์แวร์บัญชี และดิกฯ มีระบบป้องกัน ส่วนซอฟต์แวร์สื่อการศึกษา ยังขาด แต่ในอนาคต คาดว่าจะมีระบบป้องกันด้วยเช่นกัน

ส่วนการแก้ไขปัญหานี้ การลดราคาลง ปัจจุบัน เหลือแผ่นละ 200 -300 กว่าบาท เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะนอกจากป้องกันการละเมิดได้แล้ว ผู้บริโภคยังพอใจด้วย

นอกจากนี้ ปัญหาของผู้ประกอบการธุรกิจซอฟต์แวร์ ยังเกิดจากความเข้าใจเรื่องของลิขสิทธิ์ไม่เท่ากันระหว่างผู้ผลิตด้วยกัน และระหว่างผู้ผลิตกับลูกค้า

“ผู้ใช้บางคน ยังไม่เข้าใจว่า ซื้อซอฟต์แวร์ 1 แผ่น จะใช้กับคอมพิวเตอร์ได้เครื่องเดียว ทั้งๆ ที่ บางโปรแกรมไม่ได้ป้องกันไว้ แต่เมื่อบริษัทบอกว่า ใช้ได้เครื่องเดียว ผู้ใช้จะรู้สึก ไม่พอใจกับบริษัทนั้น ทั้งที่จริง นั่นคือ การตอบทางกฎหมาย แต่ในภาคปฏิบัติ คุณจะไปใช้หลายเครื่อง ก็ไปห้ามไม่ได้ แต่ในฐานะของเรา ไม่สามารถพูดอย่างนั้นได้”

ด้านคู่แข่งในตลาดนั้น ปัจจุบันยังเป็นผู้ประกอบการในประเทศด้วยกัน โดยซอฟต์แวร์บัญชี ส่วนแบ่งตลาดจะใกล้เคียงกันหมด ส่วนซอฟต์แวร์สื่อการศึกษา บริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 30% ในขณะที่ซอฟต์แวร์ดิกชันนารี –พจนานุกรมไทย บริษัทฯ เป็นอันดับหนึ่ง โดยผลประกอบการปีที่แล้ว (2547) มีมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท และเป้าหมายในอนาคต อยากจะส่งออกทั่วโลก

“การไปขายต่างประเทศ ถ้ามองในด้านของซอฟต์แวร์ ที่ไม่ใช่ของผู้ผลิตรายใหญ่ ช่องว่างยังมีอีกมาก เพราะซอฟต์แวร์ของคนไทย ถ้าตั้งใจทำจริง เป็นซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ ประณีต มีความละเอียดอ่อน มีความเข้าใจผู้ใช้มากกว่าซอฟต์แวร์ของต่างประเทศ แต่ปัญหา คือ ความละเอียดอ่อนเหล่านี้ มาพร้อมเงินทุนสูง ซึ่งจะหมดไปกับการทำวิจัย การปรับปรุง วิธีการรักษาโปรแกรม ซึ่งซอฟต์แวร์คนไทยจะมีเงินทุนไม่เยอะ ทำให้คุณภาพไม่ได้อยากต้องการ แต่ก็ต้องทำออกมา ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา และเงินทุน”

ทั้งนี้ เขายังมีแผนการขยายธุรกิจ ในการผลิต และการตลาด จึงนำลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไปเข้าโครงการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน ของกรมทรัพย์สินปัญญา และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ทำให้ได้รับอนุมัติสินเชื่อ จำนวน 2 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ ซึ่งแผนการขยายสินค้า จะทำซอฟต์แวร์บัญชี เจาะจงใช้ในธุรกิจเฉพาะด้าน เชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์เดิมของบริษัทฯ ที่ออกแบบใช้งานกับธุรกิจทั่วไป เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำงานได้ครบวงจร ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาว่า จะเริ่มต้นที่ธุรกิจอะไรก่อน

ทั้งนี้ ไม่คิดที่จะขยายเกมออนไลน์ แม้ว่าจะเป็นตลาด ใหญ่มากก็ตาม

“ส่วนตัวแล้ว ผมไม่ชอบให้เด็กมาเล่นเกมออนไลน์แบบนี้ แม้ว่า มันจะมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ผมคิดว่า ข้อเสียมากกว่า เช่น ใช้เวลามากไป เสียค่าจ่ายสูง ไม่ได้เสริมความรู้นัก แต่ถ้าผมมีทีมงานที่พร้อม ในอนาคตก็อาจเป็นไปได้ แต่ในปัจจุบัน คิดว่า ไม่”

สมพร ยังสะท้อนมุมมองถึงละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนไปจากการทำซ้ำออกขายทั่วไป เป็นการทำซ้ำใช้กันเองตามบ้าน แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ต กับด้วยเครื่องซีดีไรท์เตอร์ ซึ่งการป้องกันจะไปไล่จับ คงเป็นไปไม่ได้

หนทางแก้ไขที่ดีที่สุดในขณะนี้ ผู้ประกอบการต้องลดราคา ส่วนการเอาผิด ถึงขนาดให้เป็นคดีอาญา คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องมีหลักฐานพร้อมจริง ๆ และไม่คุ้มค่าที่จะทำ เพราะในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า ทุกองค์กร ทุกบ้าน ก็ละเมิดลิขสิทธิ์การใช้ซอฟต์แวร์

* * * * * *

โทร. 0-2612-0511 หรือ www.thaisoftware.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น