หลังจากโครงการของรัฐบาลในเรื่องการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนได้เริ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการตัวเล็กๆ อย่าง ณัฐรุจา เจ้าของธุรกิจกางเกงมวยเพื่อการส่งออก ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้ รวมถึงครอบครัวในชุมชนแฟลตคลองเตยได้มีรายได้ และมีงานทำ โดยเริ่มจากไม่มีความรู้ในการตัดเย็บกางเกงมวย แต่ได้กำลังที่ดีอย่างสามี ทำให้ปัจจุบันธุรกิจนี้มียอดการสั่งซื้อจากต่างประเทศมากมาย ถึงขั้นผลิตแทบไม่ทัน
ณัฐรุจา โคตรสมบัติ เจ้าของธุรกิจกางเกงมวยส่งออก เล่าว่า ก่อนที่จะมาจับธุรกิจตัดเย็บกางเกงมวยนั้น ตนเองได้เย็บเสื้อวัยรุ่นขายในตลาดโบ๊เบ๊ ทั้งๆ ที่ก็ไม่มีความรู้ในเรื่องการตัดเย็บ หรือแม้กระทั่งการออกแบบเลย แต่ก็อาศัยการวัดขนาดของเสื้อในตามท้องตลาด และนำมาตัดจนได้เสื้อผ้าวัยรุ่นตามต้องการ แต่เมื่อธุรกิจดำเนินไปได้สักระยะหนึ่ง ก็เจอทางตัน เนื่องจากธุรกิจของ ณัฐรุจา เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ทำกัน 2 คนกับสามีในแฟลตย่านคลองเตย ซึ่งกำลังการผลิตก็ไม่สามารถสู้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ หลังจากนั้นก็ได้มีเพื่อนแนะนำให้เปลี่ยนไปตัดกางเกงมวยแทน ซึ่งในช่วงแรกตนเองไม่มีความสนใจในธุรกิจนี้เลย เพราะคิดว่ายาก และไม่มีความรู้ในเรื่องการตัดเย็บกางเกงมวยเลย แต่สุดท้ายก็ไม่มีทางเลือกเพราะธุรกิจขายเสื้อผ้าที่ตลาดโบ๊เบ๊ยอดขายก็ลดลง
“ในช่วงแรกที่เพื่อนแนะนำให้ตัดกางเกงมวย เราไม่สนใจเลยนะ เพราะคิดว่ามันตัดยาก และเราก็ไม่มีความรู้ทางนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการตัดตัวหนังสือที่จะนำมาติดกับกางเกง แต่เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น จึงตัดสินใจลองทำดู โดยมีสามีเป็นผู้ให้กำลังใจที่ดี ซึ่งเมื่อได้ลองผิดลองถูก ก็มาลงตัวที่กางเกงมวยในรูปแบบอย่างในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะการตัดเย็บภายในครอบครัวก็เริ่มไม่เพียงพอ ทำให้เราต้องขยายงานไปให้กับแม่บ้านที่อยู่แฟลตเดียวกับเราประมาณ 5 ครอบครัว ช่วยในเรื่องการเย็บ ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้ให้กับพวกเขาตกเดือนละประมาณ 4,000-6,000 บาท”
เมื่อผ่านขั้นตอนการผลิตมาแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการจำหน่าย โดยจุดแรกที่ ณัฐรุจา ได้เข้าไปเปิดตลาดคือที่สนามมวย ลุมพินี ที่เจ้าของร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับกีฬามวย ได้ให้โอกาสในการรับสินค้าของทางร้านไปจำหน่าย แม้ว่าจะมีกางเกงมวยแบรนด์ใหญ่ๆ อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งที่สนามมวยลุมพินี นั่นเองที่เป็นแหล่งจุดประกายฝัน และสร้างแรงใจให้กับณัฐรุจาในการประกอบธุรกิจนี้ ส่วนผู้ที่ให้โอกาสต่อไปคือ ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ที่มีโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดย ณัฐรุจาได้นำหลักฐานการเช่าแฟลต บริเวณคลองเตยที่ตนเองอาศัยอยู่ไปยื่นเพื่อขอเงินกู้เป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท ทำให้มีเงินทุนในการซื้อวัตถุดิบในการผลิตกางเกงมวยเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันการตัดเย็บการเกงมวยของณัฐรุจา ได้มีออร์เดอร์จากลูกค้าต่างประเทศเข้ามา เช่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการตัดเย็บแบบ Make to Order ที่ลูกค้าจากประเทศเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด ซึ่งบางครั้งณัฐรุจา ก็อยากออกแบบเองบ้าง ให้เป็นแบบที่เราคิดเอง และเน้นความเป็นไทย แต่ยังไม่มีเวลา เนื่องจากออร์เดอร์ในการตับเย็บเข้ามาตลอดเวลา โดยกำลังการผลิตอยู่ที่ 300 ตัว/เดือน
“เราใช้แบรนด์ MongKol เป็นแบรนด์ในการส่งออก ตกราคาตัวละประมาณ 200 บาท ขึ้นอยู่กับเนื้อผ้า และแบบที่นำมาให้สั่งตัด ซึ่งหลายคนก็โต้แย้งในเรื่องราคาที่ถูกเกินไป แต่เราก็ไม่อยากขึ้นเพราะกลัวจะเสียลูกค้าไป เราขอแค่มีงานทำ มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวก็เพียงพอแล้ว แต่เรื่องคิดที่จะทำตลาดเองในต่างประเทศก็เคยคิดนะ แต่คงเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะเราไม่มีความรู้ในเรื่องของภาษาอังกฤษ ที่จะใช้ในการเจรจาธุรกิจได้ ซึ่งก็คงต้องพึ่งหน่วยงานของภาครัฐฯ คือ กรมส่งเสริมการส่งออก ช่วยเหลือในการนำสินค้าไปทำตลาดเองในต่างประเทศ”
ทั้งนี้เมื่อณัฐรุจา ได้นำชื่อแบรนด์ “ MongKol” ไปจดทะเบียนแล้ว ก็คิดจะทำแบรนด์ไปแปลงเป็นทุนตามโครงการของรัฐบาลอีกครั้งเพื่อซื้อแฟลตที่ตนเองเช่า เพื่อทำการขยายธุรกิจ และเพื่อลงทุนทำกางเกงมวยจิ๋ว สำหรับแหวนหน้ารถ หรือใช้เป็นของที่ระลึกได้ โดยหวังให้คนไทยหันมารักษ์ของไทย เพราะในปัจจุบันการจะหาเยาวชนมาเรียนมวยไทยได้น้อยมาก แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้วจะเป็นที่นิยมมาก ทั้งตัวนักมวยเองและคนทั่วไป โดยซื้อไปใส่นอน ใส่เดินชายหาด เป็นต้น และนำเงินมาลงทุนทำชุดลดน้ำหนักของนักมวย (ชุดวอร์ม) แต่ยังปัญหาเรื่องเงินลงทุน เพราะต้องซื้อผ้าอีกประเภทหนึ่งที่หนากว่า ดังนั้นจึงยังไม่มีเงินลงทุนตรงนี้ แต่หากได้รับเงินกู้จากทางธนาคารฯ ก็คาดว่าจะสามารถสานความฝันให้เป็นจริงได้
***สนใจติดต่อ 0-1492-8485, 0-9213-2421 หรือที่ www.thaiboxingone.com***