xs
xsm
sm
md
lg

“ภูดาหลา” ปาเต๊ะไทย ไม่แพ้บาหลี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตามคำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า ปาเต๊ะ ไว้ว่า “ชื่อผ้าโสร่งชนิดหนึ่ง ใช้เคลือบด้วยขี้ผึ้งเหลวบางตอนที่ไม่ต้องการให้มีสีสันหรือลวดลาย” และมีคำกำกับเป็นภาษาอังกฤษว่า Batik หากดูจากความหมายและภาษาอังกฤษแล้ว ปาเต๊ะกับบาติกก็คงไม่ต่างกัน แต่สำหรับคนไทยแล้ว บาติกคือการลงลายด้วยมือ แต่ปาเต๊ะคือการทำลายด้วยบล็อกพิมพ์

สุกิมา พันธุลาภ ตัวแทนจำหน่ายผ้าปาเต๊ะของกลุ่มภูดาหลา ผลิตภัณฑ์โอทอป 4 ดาวของ จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า กลุ่มภูดาหลาผลิตผ้าปาเต๊ะมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยการรวมกลุ่มเกิดขึ้นเพราะชาวบ้านอยากรักษากรรมวิธีการพิมพ์ลายผ้าด้วยมือนี้ไว้ ไม่อยากให้หายไป

“ปาเต๊ะ เป็นงานฝีมือของชาวภาคใต้ตอนล่าง ไปจนถึงแถบมาเลเซียและอินโดนีเซีย กระบวนการผลิตเริ่มต้นจากการแกะลายบนบล็อกด้วยมือ ซึ่งมีสองแบบคือบล็อกที่ทำจากทองเหลือง และบล็อกไม้ จากนั้นนำบล็อกไปจุ่มน้ำเทียนร้อนๆ แล้วนำมาพิมพ์ลงบนผ้า ให้ลายต่อเนื่องกัน แล้วจึงค่อยนำผ้าไปย้อมสี โดยส่วนที่พิมพ์น้ำเทียนลงไปก็จะไม่ติดสี ก่อนจากนำไปตากแดดให้แห้ง แต่ถ้าต้องการให้ส่วนที่พิมพ์น้ำเทียนมีสีก็ลงสีด้วยพู่กันเพิ่มเติมได้”

สุกิมา เล่าถึงกลุ่มภูดาหลา ว่า มีหลายๆ ชมรมมารวมตัวกัน ใช้เวลาว่างหลังจากการกรีดยางซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน โดยสมาชิกส่วนมากจะเป็นแม่บ้าน การแบ่งงานคือชมรมไหนถนัดอะไรก็ทำอย่างนั้น เช่น ถนัดการลงสี ถนัดการแกะลายบล็อก ซึ่งปัญหาหลักในการทำผ้าปาเต๊ะคือเรื่องแดด เพราะภาคใต้ฝนตกตลอดปี และไม่สามารถใช้การอบแห้งได้ เพราะสีที่ออกมาจะหม่น ไม่เหมือนการตากแดดที่ได้สีสด
“ยิ่งถ้าแดดแรงตลอดวัน ตากแค่วันเดียวก็แห้งดีแล้ว และจะได้สีสดสวย บางวันแดดสว่างมากน้อยไม่เท่ากัน สีทีได้ก็จะออกมาแตกต่างกันไป ทำให้กำลังการผลิตไม่แน่นอน แต่ช่วงหน้าร้อนเราก็จะเร่งผลิตเก็บไว้เป็นสต็อก”

ผลิตภัณฑ์ปาเต๊ะของกลุ่มฯ มีเสื้อ กระโปรงป้าย กางเกงเล และสินค้าเด่นคือผ้าพันตัว เพราะสามารถโชว์ลายได้ทั้งผืน และพันได้หลายแบบ ตามแต่ผู้ใช้ต้องการ ซึ่งวัยรุ่นก็สามารถสวมใส่ให้ดูทันสมัยได้เช่นกัน และตอนนี้กำลังพัฒนาสินค้าให้หลากหลาย โดยผลิตเป็นสินค้าตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าปูโต๊ะ หรือเซ็ทผ้าบนโต๊ะอาหาร และเริ่มออกแบบลายใหม่ๆ เพื่อความแตกต่าง

สุกิมา กล่าวต่อว่า ตนทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่เป็นคนนราธิวาส และเห็นว่าสินค้าพื้นเมืองบ้านเกิด ถ้าจะสูญหายไปก็เสียดาย จึงช่วยนำมาทำตลาดที่กรุงเทพฯ โดยตอนนี้ยังไม่มีหน้าร้าน แต่กำลังติดต่อที่สวนลุมไนท์บาร์ซ่าอยู่

แรกๆ ในการหาตลาดนั้น สุกิมาได้แนะนำเสนอตามโรงแรมต่างๆ เพื่อนำไปตกแต่ง และให้เขารู้ว่าบาติกแบบพิมพ์ลายที่เมืองไทยก็มี ไม่ใช่มีแต่ที่บาหลี ซึ่งโรงแรมเหล่านั้นก็ให้ความสนใจ แต่ติดที่ต้นทุนสินค้าสูง ทำให้ตกลงกันไม่ได้เรื่องราคา จึงต้องหาตลาดด้วยการออกงานแสดงสินค้าต่างๆ โดยรายได้เข้ากลุ่มฯ ขณะนี้อยู่ในหลักแสนต่อเดือน

“เป้าหมายการตลาด ตอนนี้เรายังเป็นกลุ่มเล็กๆ กำลังการผลิตน้อย อีกอย่างคือมีปัญหาเรื่องแรงงานด้วย เพราะค่าแรงสูง จึงต้องการให้รัฐช่วยเหลือเรื่องการออกแบบลวดลาย ตอนนี้เราเหมือนกำลังลองผิดลองถูกว่าแบบไหนที่ถูกใจตลาด และอยากให้รัฐช่วยเรื่องตลาดต่างประเทศ เพราะอยากให้ต่างประเทศรู้ว่าสินค้าตัวนี้ในเมืองไทยก็มี คนไทยก็ทำได้ดีไม่แพ้มาเลเซียหรืออินโดนีเซีย”

สุดท้าย สุกิมากล่าวถึงปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ว่า สร้างปัญหาให้ทางกลุ่มฯ เหมือนกัน เพราะชาวบ้านจะไม่ค่อยกล้าออกมาทำงานที่กลุ่มฯ และพวกเขาก็ต้องการกำลังใจในการใช้ชีวิตและการทำมาหากินเช่นกัน

ตัวแทนจำหน่ายกลุ่มภูดาหลา โทร.0-9777-2847


กำลังโหลดความคิดเห็น