xs
xsm
sm
md
lg

'ซีพีดี ชีท บอร์ด' 16 ปีพิสูจน์ใจ จากรายจิ๋วสู่ขาบิ๊กประจำภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เดชา ยิ่งรักษ์สกุลชัย ใช้เวลากว่า 16 ปี สร้างธุรกิจโรงงานผลิตกล่องกระดาษของเขา จากร้านเล็กๆ ใน จ.เชียงใหม่ ทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท จนค่อยๆ เติบโตเป็นโรงงานใหญ่ ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 50 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับสองของภาคเหนือตอนบนในวันนี้

เดชา ยิ่งรักษ์สกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีดี ชีทบอร์ด จำกัด เล่าว่า เขาเริ่มต้นเปิดร้าน “ชนินทร์ กล่องกระดาษ” ซึ่งเป็นชื่อลูกชายคนโต เมื่อปี 2532 มีเครื่องจักรชุดเล็ก 1 ชุด โดยสั่งวัตถุดิบจากกรุงเทพฯ มาแปรรูปเป็นกล่องกระดาษอาร์เอสซีและกล่องไดคัท หลังจากนั้นเมื่อธุรกิจขยายตัวมากขึ้น ก็จดทะเบียนเป็น หจก.ชนินทร์ กล่องกระดาษ และค่อยๆ โตเป็น บริษัท ซีพีดี บรรจุภัณฑ์ จำกัด และถึงปัจจุบันเป็นบริษัท ซีพีดี ชีทบอร์ด จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท จากวันแรกที่เปิดร้านถึงปัจจุบันก็ใช้เวลา 16 ปีแล้ว

การหาตลาดตอนนั้น คือการออกไปหาลูกค้าตามนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงงานอุตสาหกรรม ไปแบบไม่มีจุดหมาย คือขับรถไปเจอก็เข้าไปหา โดยนอกจากที่เชียงใหม่ ก็ไปลำปางและเชียงรายด้วย

“เริ่มต้นค่อนข้างทุลักทุเลพอสมควร ลูกค้าที่ได้เป็นบริษัทเล็กๆ ออเดอร์ไม่มาก บริษัทใหญ่ๆ ตอนนั้นเขาจะสั่งกล่องจากกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ แต่ข้อได้เปรียบของโรงงานภูมิภาค คือต้นทุนการขนส่งที่ถูกกว่า 3 ต่อ 1 ปัจจุบันเขาจึงหันมาใช้กล่องบรรจุจากโรงงานในภูมิภาคมากขึ้น”

โดย 80 เปอร์เซ็นต์ของกล่องที่ผลิตจากโรงงาน ซีดีพี ชีทบอร์ด จะส่งให้กับผู้ส่งออกของไทย เช่น กลุ่มส่งออกด้านอิเลคโทรนิค ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ซึ่งซีดีพีฯ มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และผู้ส่งออกพืชผลทางการเกษตรต่างๆ ใน จ.เชียงใหม่, เชียงราย และลำปาง

กำลังการผลิตของโรงงานซีดีพีฯ เต็มที่ต่อหนึ่งกะ อยู่ที่ 12,000 ตันต่อปี แต่ปัจจุบันมียอดการสั่งซื้ออยู่ประมาณ 5,000 ตันต่อปี ซึ่งเดชาตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ตันต่อปี หรือประมาณ 160 กว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10 เปอร์เซ็นต์

ด้านปัญหาที่พบเจอในการทำงาน เดชา กล่าวว่า ปัญหาใหญ่คือการสร้างบุคลากร โดยเมื่อโรงงานโตขึ้น ต้องใช้บุคลากรมากขึ้น การบริหารจึงยากขึ้น และผู้ที่จบการศึกษาส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยมีสาขาที่ตรงกับที่โรงงานต้องการ จึงต้องคัดสรรและนำมาพัฒนา และปัญหาที่ตามมาคือการเทิร์นโอเวอร์ คือหลังจากที่พัฒนาแล้ว เริ่มทำงานได้แล้ว ก็เกิดปัญหาการเบื่อหรือได้โอกาสจากที่อื่น ทำให้ต้องสร้างคนใหม่อีก

“อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องระบบการจัดการ เมื่อก่อนเราใช้ระบบแมนนวล ข้อมูลจะหลุดเยอะ การติดตามแก้ปัญหาหรือบริการลูกค้าก็ไม่ดีเท่าที่ควร จึงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยใช้โปรแกรมดีซี แอคเคาท์ ของบริษัท บ้านเชียง แรกๆ ก็เจอปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีของบุคลากร ซึ่งเขาจะกลัวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแย่งงานเขา แต่ผมก็ค่อยๆ สร้างความเข้าใจว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแบ่งเบาภาระ ซึ่งบางครั้งไม่ใช่สาระสำคัญในการทำงาน ทำให้เขามีเวลาในการใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนางาน ปัจจุบันเขาก็เริ่มรับเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้การทำงานที่ซับซ้อนลดน้อยลง แต่ทั้งนี้ เทคโนโลยีไม่ว่าจะดีแค่ก็ตาม หากบุคลากรในองค์กรไม่รับหรือปรับตัวตาม แทนที่เทคโนโลยีนั้นจะมาช่วย ก็กลับจะมาฉุดแทน”

ด้านคู่แข่งตอนนี้ ซีดีพีฯ เป็นอันดับสองของตลาดภาคเหนือตอนบน โดยกำลังตีตื้นบริษัทอันดับหนึ่งที่ทำตลาดมาก่อน โดยคาดว่าภายใน 1-2 ปีก็จะแซงหน้าได้ และมีโรงงานขนาดเท่า ซีพีดีฯ อยู่อีกหนึ่งที่ ซึ่งกำลังพัฒนาเทคโนโลยี แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

เดชา กล่าวถึงหลักในการบริหารงานของเขา ว่า คือความซื่อสัตย์กับทั้งลูกค้าและลูกน้อง พูดแล้วต้องทำให้ได้ ให้เขาเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ก็ต้องได้รับความซื่อสัตย์นั้นตอบกลับมาเช่นกัน

“ปี 47 ที่ผ่านมา ผมขายกล่องลำไยให้บริษัทหนึ่ง มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับชำระเงินแล้วบางส่วน แต่ส่วนที่ยังไม่ได้รับการชำระมีมูลค่าอยู่ที่ 25.29 ล้านบาท ซึ่งทำให้เงินหมุนเวียนของบริษัทมีปัญหา”

“ส่วนเรื่องภาษีผมก็พยายามทำให้ถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง ไม่มีการหลีกเลี่ยง จะได้รู้ว่ากำไรที่เราได้มาจากการบริหารงาน หรือจากการหนีภาษีกันแน่ แต่ปัญหาก็คือยังมีซัพพลายเออร์หรือลูกค้าบางกลุ่มที่ยังใช้ระบบแบบเก่าอยู่ เราก็ต้องปรับความเข้าใจกับเขา แต่คิดว่าอีกไม่นานเขาก็คงต้องปรับตัวเหมือนกัน”

เป้าหมายในอนาคตของเดชา คือ นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI) ในปี 2550-2551 โดยวางแผนทำระบบบัญชีให้โปร่งใส ทำผลประกอบการให้ดีขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าเมื่อเข้าไปแล้ว ก็น่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนพอสมควร

“ผมสร้างองค์กรนี้ขึ้นมา โดยพยายามไม่คิดว่าเป็นของตัวเองคนเดียว แต่เป็นของทุกคนในองค์กร พอถึงจุดหนึ่งถ้าบริษัทโตขึ้น พนักงานก็น่าจะมีโอกาสที่ดีขึ้น เมื่อเข้าไปในตลาดแล้ว ผมอาจจะไม่มีความเหมาะสมที่จะบริหารบริษัทนี้ต่อไป ก็น่าจะได้คนรุ่นใหม่มาสร้างความเจริญก้าวหน้าให้บริษัทต่อไป ถึงตอนนั้นผมอาจเป็นแค่ที่ปรึกษาหรือผู้ถือหุ้นเท่านั้น”

“ผมเชื่ออยู่อย่างว่าคลื่นลูกหลังจะใหญ่กว่าคลื่นลูกแรกเสมอ ผมเคยเป็นคลื่นที่สูงเมื่อในอดีตที่ผ่านมา แต่ในอนาคตก็ต้องมีคลื่นที่สูงกว่าผม ผมยอมรับ”

ส่วนเรื่องกล่องดีไซน์สวยงาม เดชา กล่าวว่า มีความคิดที่จะทำเช่นกัน แต่ความต้องการของตลาดตอนนี้ยังไม่คุ้มที่จะลงทุน แต่หากในอนาคตมีความต้องการมากขึ้น ก็พร้อมที่จะลงมือทันที

“แพกเกจจิ้ง ไม่มีวันตายครับ เพราะไม่ว่าสินค้าใดๆ ก็ต้องการกล่องบรรจุทั้งนั้น แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจนี้จึงจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น การรับมือกับการแข่งขันของเราก็คือการปรับปรุงสินค้าให้ดีขึ้น เพื่อจะได้แข่งขันกับที่อื่นๆ ได้” เดชา กล่าว

ติดต่อบริษัท ซีพีดี ชีทบอร์ด จำกัด โทร.053-352155
กำลังโหลดความคิดเห็น