xs
xsm
sm
md
lg

ขุดเส้นทาง “น้ำอบนางลอย” อีกตำนานคู่สงกรานต์ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ น้ำอบไทยจะเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่คนทั่วไปมักซื้อหา นำไปใช้สรงน้ำพระเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และเมื่อพูดถึงบรรดาน้ำอบไทยทั้งหมด ยี่ห้อที่ดังที่สุด จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “น้ำอบนางลอย” ชื่อที่ติดหูคนไทยมานาน โดยกิจการนี้ผ่านการดูแลของคนถึง 3 รุ่น แต่ยังสามารถรักษาความเป็นหนึ่งได้เสมอมา โดยหัวใจสำคัญที่สุด คือ สูตรลับที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ขุดเส้นทาง “น้ำอบนางลอย” ต้นตำรับจากชาววัง

ตำนานของ “น้ำอบนางลอย” นั้น นางฟองจันทร์ ธ.เชียงทอง คุณยายวัย 75 ปี ทายาทกิจการรุ่นที่ 2 เล่าย้อนให้ฟังว่า เมื่อมากกว่า 85 ปีที่แล้ว นางเฮียง ชาวไทยเชื้อสายจีน บ้านเดิมอยู่เขตสัมพันธวงศ์ มีเพื่อนรักเป็นชาววัง และเป็นเพื่อนคนนี้เอง แนะนำสูตรน้ำอบจากในวังให้แก่นางเฮียง เพื่อนำไปประกอบอาชีพ นอกจากนั้น ยังให้นางเฮียงใช้นามสกุล “ธ.เชียงทอง” ของตนเองด้วย

จากนั้น นางเฮียง ธ.เชียงทอง จึงเริ่มผลิตน้ำอบออกขายที่หน้าตลาดนางลอย ด้วยกลิ่นหอมสดชื่น ชื่อเสียงของน้ำอบนางเฮียงจึงกระจายเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป และมักพูดติดปากว่า ไปซื้อน้ำอบที่ตลาดนางลอย นานวันเข้า กลายมาเป็นยี่ห้อ “น้ำอบนางลอย”

กิจการของน้ำอบเจริญก้าวหน้าด้วยดีต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม การผลิตยังเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว โดยนางเฮียง และลูกๆ ทั้ง 7 คนของเธอช่วยกันดูแล และมีการขยับขยายสถานที่จากหน้าตลาดนางลอย มาอยู่ห้องแถวไม้ บริเวณ ถ.มหาไชย ซึ่งใช้เป็นร้านถาวรมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

ก้าวที่ 2 ของน้ำอบนางลอย

เมื่อลูกๆ เริ่มเติบใหญ่ขึ้น ได้เข้ามาแบ่งเบาภาระภายในร้านมากขึ้น กระทั่งปี 2502 นายอาคม ธ.เชียงทอง ลูกชายคนโต ซึ่งถูกวางให้เป็นผู้ดูแลกิจการต่อ ตามธรรมเนียมชาวจีนแต่งงานกับนางฟองจันทร์ สาวจากจังหวัดเชียงใหม่ กิจการน้ำอบนางลอย ได้เริ่มเดินทางมาถึงเจเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งไปตามยุคสมัย

“ยายลงมาจากเชียงใหม่ ปี 2502 แต่งงานกับตาอาคม ตอนนั้นมีพนักงานร้านทำอยู่ 7-8 คนเอง ชีวิตตอนนั้นทุกวันตื่นขึ้นมาก็นั่งตักน้ำอบใส่ขวดจนค่ำ แต่มันนานเสียจน จำไม่ได้ว่า สมัยนั้นขายขวดละกี่บาท เพราะขยับมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ขวดละ 1 – 2 บาท ดั้งเดิมจะมี 4 ขนาด คือ ใหญ่ กลาง เล็ก และจิ๋ว แต่ขนาดใหญ่ที่สุดเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เพราะโรงงานเลิกผลิต เราจะขึ้นบล็อกเองก็สู้ราคาไม่ไหว ” ยายฟองจันทร์ เล่าเหตุการณ์ในอดีต ครั้นยังเป็นสาวแรกรุ่น

ส่วนสัญลักษณ์ “นางฟ้าถือขวดน้ำหอม” บนขวดน้ำอบที่เห็นจนชินตานั้น เกิดจากความคิดง่ายๆ แค่อยากหารูปที่เข้ากับชื่อร้านเท่านั้นเอง

“ชื่อของร้านว่า น้ำอบนางลอย ตอนจะทำสัญลักษณ์ก็หารูปนางรำแบบต่างๆ มาดู ซึ่งตัวนี้มันลอยอยู่ เหมือนนางฟ้า ก็เลยนำมาใช้ และถือขวดน้ำอบของเรา จะได้เข้ากับชื่อ แล้วก็ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ จะเปลี่ยนก็ไม่ได้แล้ว เพราะประชาชนจำได้”

ในขณะที่ลูกชาย และลูกสะใภ้ ขึ้นมาสานต่ออย่างสมบูรณ์ ด้านนางเฮียง ผู้ก่อตั้งนั้น เมื่อเห็นว่ากิจการลงหลักปักฐานมั่นคง จึงหันไปบวชชีพราหมณ์ นุ่มขาวห่มขาว จวนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

15 วัน แห่งโปรโมชั่นรับสงกรานต์

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่ประมาณต้นเดือนมีนาคม จนถึงกลางเดือนเมษายนในแต่ละปี ถือเป็นนาทีทองของ “น้ำอบนางลอย” ยอดขายในช่วงนี้จะสูงมากกว่า 2 เท่าของยอดขายทั้งปีรวมกันเสียอีก นอกจากนั้น ถือเป็นไฮไลท์ของลูกค้า เพราะวันที่ 1 ถึง 15 เมษายน จะมีลดราคาพิเศษประจำปี ซึ่งสมัยก่อนซื้อ 2 ขวด แถม 1 ขวด แต่ปัจจุบันวัตถุดิบราคาสูงขึ้น จึงเปลี่ยนให้ส่วนลดราคาแทน

“ลูกค้าเก่าๆ จะรู้กัน ปีหนึ่งก็เจอกันที เขาจะซื้อไปขายต่อ และตุนเก็บไว้ขายตลอดทั้งปี สงกรานต์ปีหน้า ค่อยมาซื้อใหม่ เป็นอย่างนี้ทุกปี น้ำอบจะขายได้ก็ช่วงนี้ พอหลังเสร็จสงกรานต์ จะเงียบมาก ขายก็แค่นิดหน่อย พวกลูกจ้างผู้หญิง จะหยุดไปพักผ่อน หลังจากนั้น ถึงจะกลับรวมกันอีกที แล้วมาค่อยทำเก็บไว้ทีละเล็กละน้อย ตุนไว้ สำหรับมาขายช่วงนี้” คุณยายวัย 75 ปี กล่าว

เวลาเปลี่ยนไป สูตรลับไม่เปลี่ยนแปลง

ตลอดเวลามากกว่า 85 ปีที่ผ่านมา เอกลักษณ์ของน้ำอบนางลอย ที่ทำให้สามารถครองใจลูกค้าไว้ได้ คือ กลิ่นหอมคุ้นเคย และคุณภาพน้ำไม่ดำ ส่วนสำคัญนางฟองจันทร์ บอกว่าอยู่ที่การผสม และขั้นตอนผลิตอันเป็นสูตรลับเฉพาะตกทอดตั้งแต่ยุคนางเฮียง ในอดีตหัวน้ำหอมจะทำขึ้นเองโดยใช้สมุนไพรต่าง ๆ อาทิ กะดังงา , มะลิ แต่ระยะ 40 ปีหลังมานี่ พัฒนาใช้หัวน้ำหอมจากต่างประเทศแทน เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว แต่กลิ่นที่ได้ไม่เปลี่ยนไปจากเดิม

และถึงแม้จะเป็นผู้ผลิตน้ำอบที่ดัง และใหญ่ที่สุดของประเทศ ในด้านการผลิตทุกขั้นตอนยังใช้มือคนไม่มีเครื่องจักรเกี่ยวข้อง อีกทั้ง ไม่คิดจะปรับรูปแบบเป็นบริษัท หรือขยายฐานตัวแทน โดยจะส่งขายเพียงจุดใหญ่ ๆ ที่เคยส่งมายาวนาน เช่น ปากคลองตลาด ตลาดนัดสำเพ็ง บางลำพู เท่านั้น ส่วนการขายในต่างจังหวัด วางขายในห้างสรรพสินค้า หรือส่งออกยังต่างประเทศ จะเป็นตัวแทนซื้อไปขายเองทั้งสิ้น ซึ่งเจ้าของกิจการให้เหตุผลว่า ธุรกิจนี้ทำกันเองในครอบครัวมาตั้งแต่เริ่ม และพอใจในจุดที่เป็นอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เคยประสบปัญหาการผลิต เนื่องจากเดิมโรงงานอยู่ที่เขตดินแดง ในยุคนั้นยังไม่มีน้ำประปา จึงใช้น้ำบาดาลผลิตมาตลอด แต่เมื่อเปลี่ยนโรงงานมาอยู่แถวบางพลัด ซึ่งเป็นโรงงานในปัจจุบัน เปลี่ยนมาใช้น้ำประปาแทน ปรากฏว่า น้ำอบที่ออกมาเป็นสีดำ โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่หลังจากลองผิดลองถูก จึงได้เคล็ดลับนำไปวางตากแดดน้ำอบจึงเปลี่ยนสีกลับมาใสอีกครั้ง

นอกจากนั้น อีกปัญหา คือ ถูกผลิตสินค้าออกมาเลียนแบบ ในอดีตถึงกับเคยไปพูดคุยขอให้เลิกผลิตแบบใกล้เคียง แต่ก็ไม่เป็นผล อย่างไรเสีย ที่สุดแล้วยี่ห้อต่างๆ เหล่านั้น ก็ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้เนื่องจากคุณภาพไม่เป็นที่ยอมรับ

“เคยมีคนถามว่าทำไมไม่ฟ้องล่ะ ยายก็บอกว่า ช่างมันเถอะ ถือว่าช่วยๆ กัน เมื่อก่อนเคยตามไปพูดถึงบ้านเขาเลยนะ แต่ก็ไม่ได้ราวีอะไร แต่ไปพูดให้เขาฟังว่า ทำไมไม่ทำแบบให้มันไกลๆ จากของเรา เขาก็บอกว่า รวยแล้ว แบ่งกันบ้างสิ เราอุตส่าห์ซื้อบล็อกพิมพ์จากเขาเอาไปทิ้งแม่น้ำ หลังจากนั้น เขาก็ทำขึ้นมาอีก แล้วเราจะว่าอะไรเขาอีกล่ะ ก็เลยปล่อยให้ทำมาหากินกันไป เขาก็หากินได้ไม่นาน เพราะของเราขายได้ตลอดปี แต่ของเลียนแบบเก็บไว้ได้ไม่นานน้ำก็ดำ เพราะวิธีการทำไม่เหมือนกัน มันเป็นสูตรเฉพาะของเราที่ทำมานานจนรู้ดีกว่า”

นางฟองจันทร์ ยังฝากเคล็ดลับในการสังเกตน้ำอบนางลอยของแท้ให้ดูที่ฝา ต้องพิมพ์ตราสัญลักษณ์น้ำอบนางลอยตัวนูน ถ้าเลียนแบบจะเป็นฝาเรียบ นอกจากนั้น ข้างขวดขนาดจิ๋วจะมีพิมพ์ชื่อน้ำอบนางลอยตัวนูนไว้ด้วย ในขณะที่ขวดใหญ่และกลางจะเป็นขวดเรียบ เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา ประสบปัญหาโดนเก็บขวดเก่าไปขาย แล้วตักน้ำอบปลอมใส่แทน จึงเลิกผลิตขวดใหญ่และกลางพิมพ์นูน ส่วนขวดจิ๋วยังมีอยู่เนื่องจากเหลือขวดพิมพ์นูนอยู่ในสต๊อก ถ้าหมดเมื่อใดจะกลับไปใช้ขวดเรียบเช่นเดิม ในด้านการเก็บรักษาไม่ควรเขย่า หรือนำไปตากแดด จะช่วยให้สามารถเก็บน้ำอบไว้ใช้ได้นานถึง 3 ปี

สู่เจเนอเรชั่น 3 สานต่อและพัฒนา

สำหรับการดูแลกิจการในปัจจุบันเป็นหน้าที่ของนายอุดม ธ.เชียงทอง ลูกชาย และนางสาวชลมาศ ธ.เชียงทอง ลูกสาว รวมทั้งลูกสะใภ้ นางภาวดี ธ.เชียงทอง ซึ่งขึ้นมาทดแทนนายอาคม บิดาผู้เสียชีวิต และนางฟองจันทร์ มารดาผู้แก่ชรา

เหล่าเจเนอเรชั่นที่ 3 ได้ปรับเปลี่ยนด้วยการเริ่มนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยดูแลระบบเช็คสต๊อกสินค้า และเก็บฐานข้อมูลลูกค้าเก่า อีกทั้งใช้การตลาดเข้ามาช่วย เช่น ถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ทางร้านฯ จะส่งไปรษณียบัตรถึงลูกค้าที่เคยสั่งสินค้าประจำ เพื่อเป็นการเตือนความจำว่าใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์ โดยลูกค้าสามารถใช้ไปรษณีย์บัตรเหล่านี้ สั่งออเดอร์ ตอบกลับมาได้ทันที

นอกจากนั้น เพิ่มตัวสินค้า และดัดแปลงบรรจุภัณฑ์ เช่น แป้งผัดหน้านางลอย หรือน้ำอบนางลอย ใส่ผอบ สำหรับเป็นที่ระลึกแก่ผู้ใหญ่ ในขณะที่ พนักงานโรงงาน มีประกันสังคม ตามกฎหมายของรัฐบาล

และแม้หลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งหนึ่ง ซึ่งทุกคนในครอบครัว ธ.เชียงทอง บอกพ้องตรงกัน คือ จะคงยึดสูตรกลิ่น รวมทั้งการผลิตดั่งเดิมไว้ เพื่อให้น้ำอบนางลอยอยู่กับเทศกาลสงกรานต์และคนไทยไปตราบนานเท่านาน
กำลังโหลดความคิดเห็น