xs
xsm
sm
md
lg

แนะธุรกิจสปาจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัจจุบันนี้ธุรกิจสปาในไทยมีอัตราการขยายตัวเป็นอย่างมาก ธุรกิจสปาหลายๆ ธุรกิจของไทยมีชื่อติดอันดับหนึ่งใน 2,000 สุดยอดสปาระดับโลก ที่จัดโดยนิตยสาร Travel & Leisure เช่น สปาของโรงแรมโอเรียนเต็ล บันยันทรีสปาของโรงแรมบันยันทรีภูเก็ต ลานนา สปา ของโรงแรมรีเจ้นท์เชียงใหม่ และชีวาศรมหัวหิน เป็นต้น

แต่ด้วยการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจสปา ทำให้เจ้าของธุรกิจมองข้ามสิ่งสำคัญบางอย่างที่ถือว่าเป็นส่วนที่มีความจำเป็นมากที่สุดอีกอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจสปาเลยก็ว่าได้ ซึ่งก็คือทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนทรัพย์สินทางปัญญาจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจสปาอย่างไร มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน นายชุมพล ศิริวรรณบุศย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิในทรัพย์สินอุตสาหกรรม กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจ

สปาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไร

ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าปัจจุบันนี้ ธุรกิจสปาของไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โรงแรมและรีสอร์ทระดับ4-5 ดาว สามารถดูดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละหลายพันล้านบาท ขณะที่สปารุ่นเล็กซึ่งเป็นตลาดของคนไทย ทำรายได้มากถึงปีละ 2,000 ล้านบาท รัฐบาลจึงได้ประกาศให้สปา เป็นแหล่งท่องเที่ยวรักษาสุขภาพและพักผ่อนอันดับหนึ่งของเมืองไทย และให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ส่งเสริมธุรกิจสปาไทยทุกด้าน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างเม็ดเงินให้ประเทศได้อย่างมหาศาล

จากอัตราการเติบโตข้างต้น ไม่อยากให้คิดว่า เพียงมีทุนก้อนโต มีสถานที่และพนักงาน ก็เปิดสปาได้ ขอบอกเลยว่า การทำธุรกิจสปาชั้นนำ นอกจากจะไม่มองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เยอะมากอย่างที่เจ้าของธุรกิจสปาชั้นนำหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันแล้ว ยังต้องคำนึงถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาด้วย เพราะทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นใบเบิกทางสำคัญของการทำธุรกิจสปาเลยก็ว่าได้ และยังเป็นประโยชน์ในแง่หากมีการละเมิด ก็จะได้ป้องกันปัญหาได้ด้วย

เราจะคุ้มครองธุรกิจสปาได้อย่างไรบ้าง  

อย่างแรกต้องดูว่า ถ้าอยากทำธุรกิจสปาแบบยั่งยืน ต้องเตรียมการปกป้องคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของตน โดยสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง ก็คือ การสร้างเครื่องหมายรับรอง (Certificate Mark) หรือตราสัญลักษณ์ (Brand) ของสปา เพราะการที่จะทำให้คนรู้จักสปาของเราได้นั้น ก็ต้องมีชื่อที่เหมาะสม และโดดเด่น เข้าใจได้ง่าย

“เจ้าของสปาต้องตระหนักและให้ความสำคัญต่อการตั้งชื่อและการออกแบบตราสัญลักษณ์ของสปาเป็นพิเศษ เพราะแบรนด์ดังกล่าวไม่เพียงแต่ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการค้าที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องรับประกันถึงมาตรฐานคุณภาพและความพึงพอใจในการให้บริการของสปานั้น ๆ ด้วย”

ดังนั้น เมื่อใครก็ตามที่คิดอยากจะทำธุรกิจสปา ก็ต้องยื่นจดทะเบียนคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในส่วนของแบรนด์ต่างๆ ให้ยื่นจดเป็นเครื่องหมายการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากมีการออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ เพราะการจดทะเบียนจะช่วยป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นปลอมแปลง แอบอ้างสิทธิหรือถือสิทธิโดยพลการ อีกทั้งแบรนด์ยังมีมูลค่าในตัวของมันเองและเป็นตัวชี้วัดมูลค่าทางการค้าของธุรกิจ  

นอกเหนือจากการจดแบรนด์แล้ว สปายังสามารถจดทรัพย์สินทางปัญญาอะไรได้อีก

ธุรกิจสปายังสามารถจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ได้อีกมาก นอกเหนือจากการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นการสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจ เช่น กรณีในสปามีการออกแบบอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ อาทิ ลักษณะพิเศษของรูปทรงแจกัน ลวดลายบานประตู ลายผ้า เป็นต้น เพื่อใช้เป็นเครื่องตกแต่งสถานที่ อาจจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ความคิดสร้างสรรค์เมนูให้บริการ รูปภาพและท่านวด ตำรานวดหรือบำบัด และอื่นๆ อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์และบริการ การปฏิบัติที่ให้บริการลูกค้าที่นำไปสู่ความผ่อนคลาย สลายความเครียด และรู้สึกได้ถึงการปรนนิบัติต่อผิวพรรณอย่างทะนุถนอมอ่อนโยน ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากท้องทะเล สมุนไพรธรรมชาติ และน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่คิดค้น ประดิษฐ์ขึ้นโดยเจ้าของสปา ย่อมขอจดทะเบียนสิทธิบัตรด้านการประดิษฐ์ หรืออนุสิทธิบัตรได้

ส่วนการบริหารจัดการ เช่น การจัดระบบลงทะเบียนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ข้อมูลลูกค้าแต่ละราย เจ้าของธุรกิจสปาอาจยื่นจดทะเบียนการทำธุรกิจตามกฎหมายความลับทางการค้า ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองการทำธุรกิจที่ยังไม่เคยมีการเปิดเผยรายละเอียดหรือข้อมูลใดๆ ในการดำเนินธุรกิจนั้นๆ มาก่อน

หากเจ้าของธุรกิจสปามีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจะติดต่อได้ที่ไหน

รายละเอียดในการขอรับความคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของธุรกิจสปา เจ้าของธุรกิจสามารถขอข้อมูลหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หมายเลขโทรศัพท์ 1368 และเว็บไซต์ www.ipthailand.com
กำลังโหลดความคิดเห็น