กล่าวถึงผ้าบาติก ใครๆ ก็ต้องนึกถึงภาคใต้กับผ้าสีสันสดใสลวดลายท้องทะเล แต่ที่ “เมืองไม้บาติก” อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด แห่งนี้ เขาใช้ผ้าไหมมาเพนต์แบบบาติก โดยใช้สีสันโทนธรรมชาติ และลวดลายกราฟิกแปลกตา และรับประกันคุณภาพด้วยผลิตภัณฑ์โอทอป 5 ดาว ปี 2547 ที่ผ่านมา
ต่อศักดิ์ สุทธิสา ประธานกลุ่มเมืองไม้บาติก เปิดเผยว่า ตนเรียนจบด้านศิลปะ และปัจจุบันก็ยังเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนอนุบาลร้อยเอ็ด เริ่มการทำผ้าบาติกด้วยการทำเป็นงานอดิเรก ให้เป็นของขวัญแด่เพื่อนฝูงบ้าง โดยระยะแรกก็ใช้ผ้าป่านที่ใช้ทำบาติกกันทั่วไป จนกระทั่งมีลูกค้าที่เห็นงานบาติกของตน นำผ้าไหมมาให้ลองเพนต์ดู ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มจับงานด้านบาติกผ้าไหมเป็นหลัก และรวมกลุ่มชาวบ้านตั้งกลุ่มเมืองไม้บาติกขึ้นในปี 2535
“กลุ่มของเราตอนนี้ก็มีสมาชิกทั้งหมด 18 คน เป็นฝ่ายเพนต์ลายบาติกประมาณ 6-7 คน นอกนั้นก็เป็นฝ่ายแปรรูป ตัดเย็บ และมีกลุ่มเครือข่ายเป็นกลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มทอผ้าฝ้าย และกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า”
เน้นลายเส้นกราฟิกโทนสีธรรมชาติ
การทำบาติกผ้าไหมจะแตกต่างจากการทำบาติกของภาคใต้อยู่เพียงแค่สีและลวดลายเท่านั้น ส่วนเทคนิควิธีการทำจะไม่แตกต่างกันเลย โดยสีและลวดลายของ “เมืองไม้บาติก” จะเป็นสีโทนธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาด และลายเส้นกราฟฟิกง่ายๆ จากธรรมชาติ เช่น ตัวปลา ใบไม้ ดอกไม้ หรือลายใยแมงมุม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานบุญผะเหวด ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ของ จ.ร้อยเอ็ด
“การเพนต์บาติกลงบนผ้าไหมจะค่อนข้างยาก เพราะไหมจะเส้นใหญ่ เทียนกั้นไม่อยู่ จึงต้องใช้เส้นเทียนเส้นใหญ่เหมือนกันจะได้กั้นสีได้ ก็เลยกลายเป็นเอกลักษณ์ของเราที่เส้นเทียนใหญ่ ลายกราฟิก และสีโทนธรรมชาติ แต่บางทีถ้าลูกค้าต้องการสีสดๆ เราก็ทำให้ได้ แต่ก็ทำเฉพาะให้ลูกค้านั้นๆ เท่านั้น หรือถ้าตลาดส่วนใหญ่นิยมสีสดๆ เราก็ทำแทรกบ้าง แต่ก็ไม่ทิ้งแนวสีธรรมชาติ และรับประกันได้ว่าผ้าของเราสีไม่ตก เพราะหลังจากสีแห้งแล้ว ก็ต้องนำไปต้มและล้างออกประมาณ 3 ครั้ง เพราะฉะนั้นสีที่ไม่จับบนเส้นไหมก็จะหลุดออกไปหมด”
“แต่ในหน้าฝนก็จะเจอปัญหาสีแห้งช้า หรือบางทีโรงเรือนที่ทำงานโดนฝนสาดก็จะทำให้ผ้ามีตำหนิ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เราก็พยายามปรับแก้ เช่น นำเป็นตัดเย็บเป็นเสื้อ เป็นปลอกหมอน”
โอทอป 5 ดาว ปี 47 หนึ่งเดียวของร้อยเอ็ด
ผ้าไหมบาติกของ “เมืองไม้บาติก” ได้รับ 5 ดาว ในการคัดสรรผลิตภัณฑ์โอทอป ปี 2547 และเป็นผลิตภัณฑ์ 5 ดาวหนึ่งเดียวของ จ.ร้อยเอ็ดอีกด้วย โดยผ้าผืนที่ส่งเข้าคัดสรรเป็นลายเส้นกราฟิก และใช้เทคนิคซ้อนสี คือการเขียนเทียนสองรอบและลงสีสองรอบ ทำให้สีมีน้ำหนัก มีมิติ มีระยะของสีที่ทับซ้อนกันเป็นเหลือบๆ โดยหลังจากได้โอทอป 5 ดาว ก็มีคำสั่งซื้อลูกค้าจากทั่วทุกภาค เช่น สุโขทัย แพร่ น่าน ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี และกระบี่ จากแรกๆ ที่เป็นลูกค้าที่ขับรถผ่าน และบอกต่อๆ กันไป
“เราคิดค่าเพนต์ลายเมตรละ 200 บาท ถ้าเป็นลูกค้าย่อย แต่ถ้าเป็นออเดอร์จำนวนมากคือ 100 เมตรขึ้นไป จะคิด 180 บาทต่อเมตร หักต้นทุนต่อเมตรทั้งค่าแรงงาน ค่าคนเขียน ค่ารีด ค่าเก็บรายละเอียดต่างๆ ประมาณ 80-100 บาท ก็จะได้กำไรประมาณ 100 บาทต่อเมตร แต่ละเดือนก็จะมีเงินเข้ากลุ่มประมาณ 5 หมื่นถึง 1 แสนบาท”
ส่วนกำลังการผลิตนั้น เนื่องจากการทำผ้าไหมบาติกใช้เวลาไม่นาน ผืนหนึ่งแค่ 2 ชม. ถ้าขึงผ้าครบทุกเฟรม ก็จะทำได้ถึงวันละ 50 เมตร ซึ่งเพียงพอกับความต้องการของตลาด
คาด “เส้นทางสายไหม” ช่วยเพิ่มลูกค้าเข้าร้าน
“ที่ร้านเมืองไม้บาติก ก่อนหน้านี้ก็มีทัวร์มาแวะบ้าง แต่ไม่เยอะ แต่ตอนนี้ยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดร้อย-แก่น-สาร คือร้อยเอ็ด ขอนแก่น และมหาสารคาม มีโครงการเส้นทางสายไหม เป็นการเดินทางท่องเที่ยวไปตามแหล่งผ้าไหมต่างๆ ก็จะมาแวะเมืองไม้บาติกด้วย โดยเขาจะได้เห็นขั้นตอนการทำผ้าไหมบาติกครบวงจร รวมถึงการแปรรูปด้วย ยกเว้นการทอซึ่งก็จะไปเจอได้ที่อื่นๆ ต่อไปตามเส้นทาง คิดว่ายุทธศาสตร์นี้ ก็จะช่วยให้เรามีลูกค้าเข้าร้านเยอะขึ้นอีก” ต่อศักดิ์ กล่าว
ด้านการขาย นอกจากที่ร้านเมืองไม้บาติกแล้ว ก็จะมีออกบูทตามงานต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างการคัดสรรของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะผลักดันส่งออกผลิตภัณฑ์โอทอป 5 ดาว โดยจะรู้ผลในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้
“เรื่องส่งออกเราพร้อมอยู่แล้ว บรรจุภัณฑ์เราก็ออกแบบให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตให้ เพราะเขามีงบประมาณให้เราในช่วงแรก แต่ต่อไปเราก็ต้องรับผิดชอบเรื่องการผลิตเอง ตอนนี้การขายในต่างประเทศก็มีคนมาซื้อเราไปขายต่ออีกที ส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์” ต่อศักดิ์ กล่าว
ติดต่อ “เมืองไม้บาติก” อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด โทร. 0-4356-9048, 0-1261-4800