xs
xsm
sm
md
lg

‘เครื่องเขิน’คุณค่าที่ถูกเมิน ซบโอทอปต่อลมหายใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในอดีต “เครื่องเขิน” เป็นเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันกับใช้ในพิธีทางศาสนาของเจ้านายฝ่ายเหนือ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ แต่ด้วยความสวยงาม คงทนของเครื่องเขิน ผู้ที่พบเห็นมักขอซื้อ จนนำมาสู่ภาคผลิตเพื่อส่งขายในชุมชน และต่างถิ่น โดยแหล่งผลิตสำคัญที่สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น จวนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ หมู่บ้านนันทาราม อ.เมือง จ.เชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป เครื่องเขินถูกทดแทนด้วย อุปกรณ์ยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสแตนเลส หรือพลาสติก ส่งผลให้การผลิตและจำหน่ายเครื่องเขินบ้านนันทาราม ประสบปัญหา ยอดสั่งซื้อลดน้อยลง “ร้านประเทือง เครื่องเขิน” ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ในท้องถิ่น จึงรวมกลุ่มชาวบ้าน ตั้งเป็นกลุ่มอาชีพคัวฮัวคัวหาง บ้านเขินนันทาราม เพื่อช่วยกันประคับประคองธุรกิจการผลิตเครื่องเขินให้อยู่รอดต่อไป

นางชมสมอ ศรีบุญเรือน สมาชิกกลุ่มคัวฮัวคัวหางฯ และทายาทร้านประเทือง เครื่องเขิน เล่าว่า ร้านฯ เป็นผู้ผลิตเครื่องเขินที่สืบทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ ซึ่งมีเชื้อสายมาจากชาวรัฐฉาน ต้นตำรับการผลิตเครื่องเขิน แต่เนื่องจากความนิยมของเครื่องเขิน นับวันจะลดน้อยลง ประกอบกับมีเครื่องใช้จากวัตถุอื่นๆ มาทดแทน ทำให้ทางร้านฯ ต้องปรับตัว ด้วยการตั้งเป็นกลุ่มอาชีพฯ เพื่อระดมทุนในการผลิต รวมทั้งเปิดตลาดจำหน่ายกว้างขึ้น

“เมื่อก่อน เครื่องเขิน ส่วนมากจะทำขายเฉพาะในเชียงใหม่ มีตัวแทนรับไปขายที่ อ.สันกำแพง , ไนท์ บาซ่าร์ ตลาดก็พอจะไปได้ แต่ระยะหลัง คนไทยจะไม่รู้ว่า เครื่องเขินคืออะไร หรือไม่เห็นคุณค่า ยอดสั่งก็น้อยลง พวกเราต้องปรับตัว โดยเข้าโอทอป (โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) ตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ ตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 30 คน โดยใช้การร่วมทุน หุ้นละ 100 บาท แต่ละคนซื้อได้ 10 หุ้น สำหรับเป็นกองกลาง ซื้อวัตถุดิบอุปกรณ์ และเป็นค่าแรงสมาชิก”

ทั้งนี้ เครื่องเขินของกลุ่มฯ ได้รับคัดสรรผลิตภัณฑ์ ระดับ 4 ดาว ภาคเหนือ ประจำปี 2546 (OTOP Product Champion) และได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) อีกทั้งได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์เมืองเชียงใหม่ (Chiang Mai Brand) ทำให้ด้านการตลาดมีช่องทางจัดจำหน่ายดีขึ้น

“การเข้าโอทอปทำให้ดีขึ้นมาบ้าง เพราะเริ่มมีการตลาดเข้ามา เช่น ได้ไปออกงานแสดงสินค้าต่างๆ ของรัฐบาล กลุ่มลูกค้า ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ที่ชอบงานแฮนด์เมด และเขาจะรู้ว่า เครื่องเขินคือ ของที่มีมานานแล้ว เห็นคุณค่ามากกว่าคนไทย แต่เมื่อมีโอทอป ทำให้คนไทยตื่นตัว หันกลับมาใช้ของไทย ภูมิปัญญาชาวบ้านมากขึ้น และช่วยเหลือให้คนไทยอยู่ได้”

อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ ยังนับว่าไม่สูงนัก เฉลี่ยแล้วสมาชิกจะมีรายได้เพียงคนละไม่กี่พันบาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มฯ กำลังประสบปัญหาทุนหมุนเวียน ซึ่งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ได้ติดต่อมาจะให้สินเชื่อ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างปรึกษาเจ้าหน้าที่ของธนาคาร

นางชมสมอ อธิบายว่า การผลิตเครื่องเขิน คือ การนำเครื่องจักรสานไม้ไผ่ และการกลึงไม้เป็นรูปต่างๆ จากไม้มะม่วง มาเคลือบด้วยยางไม้ชนิดสีดำ หรือที่เรียกว่า “ยางลัก” ที่ได้จากการกรีดต้นลัก (The Black – Varnish Tree) ทำให้มีความเงางาม คงทน กันน้ำ กันความชื้น และมีพื้นเรียบ

สำหรับลวดลายมีหลายรูปแบบ เช่น ลายทอง นิยมผลิตเป็นภาชนะเพื่อสักการะบูชาทางศาสนา อาทิ บาตร , พานดอกไม้ เป็นต้น นอกจากนั้น ลายที่นิยมผลิตอื่นๆ ได้แก่ ลายรดน้ำปิดทอง , ลายขูด , ลายพู่กัน ซึ่งการผลิตส่วนมากจะเป็นตามออร์เดอร์ของลูกค้า หรือตามแต่จินตนาการของช่างแต่ละคน

นอกจากนี้ ยังมีการคิดลายใหม่ๆ เช่น ลายเปลือก โดยนำเปลือกไข่เป็ด ไข่ไก่ มาตีให้ละเอียด ติดลงบนผิวเครื่องเขิน ก่อนลงเคลือบ ทำให้ได้ลวดลายที่เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

ในขณะที่ รูปทรงได้พัฒนาให้ใช้งานได้เหมาะสมขึ้น ซึ่งขณะนี้มีแบบเป็นร้อยกว่ารายการ เช่น ทำเป็นจานรองแก้วรูปสัตว์ , ของชำร่วย , กล่องใช้ของ ฯลฯ ราคาจำหน่ายมีตั้งแต่ 30 บาท ถึงแพงที่สุดประมาณ 5,000 บาท ซึ่งจะเป็นขันโตกครบชุด

ทั้งนี้ ช่องทางจัดจำหน่ายในปัจจุบัน คือ การออกบูทตามงานแสดงโอทอปต่างๆ และมีหน้าร้านที่ประตูน้ำ เซ็นเตอร์ และบ้านนันทาราม จ.เชียงใหม่ รวมถึงร้านขายสินค้าหัตถกรรมบ้างแห่งในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ภาครัฐบาลโดยอุตสาหกรรมจังหวัด ได้เข้ามาช่วยด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ , บรรจุภัณฑ์ และการตลาด ซึ่งเชื่อว่า จะช่วยให้สินค้าสามารถขยายตลาดเพิ่มขึ้นได้

* * * * * * * *

คลิกเพื่ออ่านย้อนรอยเครื่องเขิน

คลิกเพื่อดูตัวอย่างสินค้าเครื่องเขิน กลุ่มอาชีพคัวฮัวคัวหาง


* * * * * * * *

โทร.053-272-186 , 0-1288-3927








กำลังโหลดความคิดเห็น