ไม่น่าเชื่อว่า แค่ความต้องการอยากหารายได้เสริมระหว่างเรียน จะนำทางให้สามเพื่อนซี้ จากรั้วราชมงคล วิทยาเขตพายัพ ก้าวมาเป็นเถ้าแก่น้อยๆ ด้วยผลงานตุ๊กตาเชือกพัน แบบวูดู สไตล์แสนกวน ในนามของ “saan_ha” ที่สามารถสร้างรายได้ ในระดับที่มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ต้องตาร้อนทีเดียว
ตุ๊กตาวูดูแสนกวนจากไอเดีย 3 ซี้
กว่าจะมาเป็นตุ๊กตาวูดู (ตุ๊กตาที่ใช้ในพิธีกรรมทางไสยศาสตร์) แสนกวน ต้นกำเนิดอาจกล่าวได้ว่า มาจากความบังเอิญ ที่ความคิดของผู้ก่อตั้ง 3 คน คือ ทวีชัย บุญธรรม (เกรียง) , ธนยศ สายไฮคำ (ต้น) และกัญญา ถ้วยลาย (นก) มาเชื่อมต่อกันลงตัวเหมือนกับการต่อภาพจิกซอว์
เกรียง เล่าว่า สามคนเป็นเพื่อนเรียนที่ คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพายัพ จ.เชียงใหม่ ซึ่งตอนที่เขาอยู่ ปี 3 อยากหารายได้เสริมเป็นค่าทำวิทยานิพนธ์ เลยเอาลวดมาดัดเป็นของตกแต่งบ้าน ขายที่ถนนคนเดิน โดยมีต้นกับนก มาช่วยทำช่วยขายด้วย
ต้น เสริมว่า เขาได้พบตุ๊กตาหมีทำจากเชือกฟางพัน ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ขายตัวละ 200 กว่าบาท คิดในใจว่า ทำไมแพงเช่นนี้ เราเองก็น่าจะทำได้ เลยกลับมาทำขายที่ถนนคนเดินด้วย เปลี่ยนวัสดุเป็นเชือกกระสอบ และเชือกปอแทน โดยใช้ทุนเริ่มต้นแค่หลักร้อยเท่านั้น
กระทั่ง ถึงจุดพลิกผัน เมื่อ “นก” ไปไหว้พระเห็นตุ๊กตาวูดู เกิดปิ๊งไอเดีย เอาของน่ากลัวมาทำให้น่ารัก
“พวกเราก็มาออกแบบดีไซน์ของตัวเอง แต่ช่วงแรกจะออกน่ากลัวมาก ลูกค้าไม่ค่อยกล้าซื้อ บางทีเด็กๆ ชอบ แต่พ่อแม่ ไม่ยอมให้ลูกซื้อ ตอนนั้น ขายได้สักวันละ 100 บาท ก็ดีใจแล้ว” นก เล่าอย่างอารมณ์ดี
ดีไซน์โดนใจรายได้งาม
“ช่วงใกล้จบ สินค้าของเราก็พัฒนาไปมาก เน้นดีไซน์ให้หัวโต ตัวเล็ก น่ารัก เน้นกลุ่มวัยรุ่น ทำให้มีออร์เดอร์มาจากหลายๆ ที่ โดยใช้ชื่อแบรนด์แรกว่า “พัลวัน ดีไซน์” เพราะวันๆ ก็เอาแต่พันเชือก ช่วงนั้นรายได้แต่ละคนก็เดือนละ ประมาณ 20,000 – 30,000 บาท พอเรียนจบก็ทำเป็นจริงจัง” ต้น เล่าต่อ
อย่างไรก็ตาม หลังเรียนจบ มีเพียงเกรียงที่ทำเต็มเวลา ในขณะที่อีกสองคน เลือกทำงานประจำควบคู่ไปด้วย แต่ไม่นาน ก็ลาออกมาทำจริงจังเช่นกัน
“พอเรียนจบ ผมก็บอกตัวเองเลยว่า จะไม่ทำงานเป็นสถาปนิก เพราะไม่ชอบมีกรอบ พอจบผมก็มาขายของเลย และรายได้ของเราที่ผ่านมา ก็คิดว่าไปได้ ตอนแรกผมจะแยกแบรนด์ออกไปทำเอง แต่พอสองคนนี้ ลาออกมา จึงตัดสินใจใช้แบรนด์ใหม่ร่วมกันว่า “saan_ha” (สรรหา) เพราะในอนาคตเราไม่คิดจะขายตุ๊กตาอย่างเดียว แต่จะสรรหาสิ่งของต่างๆ มาขาย ใช้คอนเซ็ปท์ว่า หามาได้ไง คิดมาได้อย่างไร เข้าใจสรรหามานะ” เกรียง กล่าว
จุดเด่นทำด้วยเชือกเส้นเดียว
นก ชี้ว่า จุดเด่นของผลงาน อยู่ที่ความแปลก สามารถซื้อเป็นของฝากของขวัญ ที่ไม่เหมือนใคร โดยทุกตัวทำจากเชือกเส้นเดียว ไม่มีการขึ้นด้วยโครงลวด ซึ่งการผลิตจะยากกว่าสินค้าของคู่แข่งที่ทำออกมาเลียนแบบ อีกทั้ง การติดอุปกรณ์ต่างๆ ในตัวตุ๊กตา หลีกเลี่ยงใช้กาว เกือบทั้งหมดใช้เย็บ
ตลาดในปัจจุบัน คือ ถนนคนเดิน , ร้านหน้า ม.เชียงใหม่ และผู้รับไปจำหน่ายอีกมากมาย อาทิ ในตลาดนัดสวนจตุจักร , ร้าน Loft ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนรับไปจำหน่ายยังต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย , สวีเดน , ฮ่องกง ฯลฯ
ดีไซน์ 3 คน 3 สไตล์
ด้านดีไซน์ แบ่งเป็น 3 แบบ แต่ละคนจะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่อยู่บนแนวทางเดียวกัน คือให้เป็นตุ๊กตาเชือกพัน หัวโต ซึ่งขณะนี้มีแบบรวมกันกว่า 60 แบบ ราคาตั้งแต่ 49 บาทถึง 120 บาท ใช้เวลาทำ 20 - 30 นาที /ตัว กำไรหลังหักต้นทุนประมาณ 50% / ตัว
ทั้งนี้ การผลิต และรายได้ จะแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด เวลาไปเสนองานให้ลูกค้า จะมีงานของทุกคนลงในแคตตาล็อก ถ้าลูกค้าเลือกแบบของใคร ก็ถือเป็นออร์เดอร์ของคนนั้น ไม่มีอิจฉาหรือแยกงานกัน
เกรียง แจงในส่วนนี้ว่า แต่ละคนจะกลับไปจ่ายงานให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นตัวเอง โดยตนอยู่ อ. ชัยปราการ นกอยู่ อ. แม่ริม ส่วนต้นอยู่ อ.ดอยสะเก็ด ซึ่งให้ค่าจ้างชาวบ้านเป็นรายชิ้น
ชี้หนักใจโดนเลียนแบบ
ต้น บอกว่า สำหรับจุดอ่อนของธุรกิจขณะนี้ แม้จะผลิตได้หลายพันตัวต่อเดือน แต่ก็ยังไม่พอต่อคำสั่งซื้อ ในขณะที่การเพิ่มกำลังผลิตทำได้ยาก เพราะต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือ และมีใจรัก และปัญหาสำคัญที่สุด คือ เรื่องลิขสิทธิ์ เพราะปัจจุบัน มีคู่แข่งทำเลียนแบบมากมาย แม้จะจดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว แต่สินค้าประเภทนี้ แค่พลิกแพลงเพียงเล็กน้อย ก็ถือเป็นสินค้าใหม่แล้ว การแก้ปัญหาจึงต้องออกแบบตัวใหม่มาเรื่อยๆ
ทั้งนี้ การบริหารธุรกิจ พวกเขาลุยเองทั้งหมด ไม่ว่าจะการขนส่ง , หาลูกค้า , การตลาด , ด้านบัญชี จากธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษา ทุกวันนี้ พวกเขามีรายได้ในระดับน่าอิจฉา รวมแล้วเป็นเลข 6 หลัก ซึ่งแน่นอนว่า กรมสรรพากร ย่อมจับตาเป็นพิเศษ ซึ่งพวกเขาได้ปรึกษา สรรพากรจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่ขอดูฐานรายได้ในรอบปีนี้ ก่อนพิจารณาว่า เข้าเกณฑ์ชำระภาษีประเภทใด
ยอมรับเป็นก้าวเดินที่เกินฝัน
เมื่อถามถึงแผนในอนาคต เกรียง บอกว่า อยากนำตุ๊กตาวูดูเข้าไปผสมกับเฟอร์นิเจอร์ และของตกแตกบ้านต่างๆ ให้เป็นสินค้าชนิดใหม่ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในขณะที่ ต้น อยากพัฒนากิจการให้เป็นศูนย์ขายส่งสินค้ากิ๊ฟท์ชอปของภาคเหนือ ส่วนนก บอกว่า จะทำตุ๊กตานี้ต่อไปเรื่อยๆ ก่อน แต่พัฒนาดีไซน์ให้ดีขึ้น หวังว่าสักวันหนึ่งข้างหน้า แบรนด์ “saan_ha” อาจจะดังเท่า “Sanrio”
สิ่งหนึ่งที่พวกเขา พูดตรงกัน คือ ไม่เคยคิดว่า จะมาถึงวันนี้ ทุกอย่างเกินคาดจากวันแรกที่เริ่มหยิบเชือกมาพันเป็นตุ๊กตา แต่ตอนนี้ ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบในชีวิตของพวกเขาแค่ 3 คน แต่ยังมีครอบครัวของชาวบ้านที่มีรายได้หลักจากการรับจ้างพันตุ๊กตา ซึ่งถือเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ ที่พวกเขาต้องประคับประคองธุรกิจนี้ ให้ดำเนินต่อไป
* * * * *
คลิกเพื่อดูตัวอย่างสินค้า โดยเกรียง
คลิกเพื่อดูตัวอย่างสินค้า โดยต้น
คลิกเพื่อดูตัวอย่างสินค้า โดยนก
* * * * * *
ติดต่อ โทร.0-1961-4410 , 0-1706-9931 , 0-9554-0519