- พลิกเส้นทางเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ปี 2548 ผ่านไอเดีย 5 บิ๊กใน 5 อุตสาหกรรม
- "เซเว่นอีเลฟเว่น" เล็งทิศทางแฟรนไชส์ค้าปลีก มีการปรับเปลี่ยนใน 3 รูปแบบ สอดรับการขยายตัวของธุรกิจ
- "นีโอ สุกี้" ชี้ธุรกิจอาหารยังมีแนวโน้มไปได้ดี โดยเฉพาะประเภทธุรกิจที่แปลงกายให้มีขนาดเล็กลง
- "บ้านใร่กาแฟ" มองแฟรนไชส์กาแฟระดับรากหญ้า ยังส่งกลิ่นหอมหวาน ถึงเวลาแตกตัวสู่ชุมชน
- "วีดีโอ อีซี่" ลั่นแฟรนไชส์ร้านวีดีโอปีระกาคึกคัก คาดโตไม่ต่ำกว่า 20%
- ปิดท้าย "คุมอง" เสียงอ่อยแฟรนไชส์การศึกษาทรงๆ เพราะค่าโสหุ้ยแพงหูฉี่
5 ธุรกิจแฟรนไชส์ เล็งแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ปี 2548 "เซเว่นอีเลฟเว่น" มองแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อยังโต มั่นใจไม่มีรายใหม่เข้าตลาด รายเก่าก็ไม่ออก พร้อมรับมีการเปลี่ยนแปลง 3 รูปแบบ ทั้งการเพิ่มธุรกิจเสริม, เพิ่มรูปแบบงานบริการ และใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน
ตามด้วย "นีโอ สุกี้" มั่นใจแฟรนไชส์อาหารต้องมีขนาดเล็กถึงกลาง พร้อมปรับสุกี้ระดับภัตตาคารให้มีขนาดเป็นคีออส และรถเข็น มองเทรนด์การเปลี่ยนแปลงปีนี้นิยมทานอาหารจานเดียว และปีหน้านิยมซื้อน้ำจิ้มสุกี้ไปทำกินเอง
ส่วน "บ้านใร่กาแฟ" ตอบรับตลาดแฟรนไชส์ระดับล่างส่ง "ไทยชง บรอก" ลงตลาดเมื่อปีที่ผ่านมา หวังทำตลาดกาแฟระดับล่างที่มีมูลค่ามหาศาล ย้ำชัดช่องทางการจำหน่ายกาแฟระดับล่างเปลี่ยนเข้าถึงชุมชนมากขึ้น พร้อมปล่อยไทยชงทั้งรถเข็น และเรือออกสนามอย่างจริงจัง
"วีดีโอ อีซี่" รับการโตของแฟรนไชส์ร้านเช่าวีดีโอคาดตลาดแฟรนไชส์โตปีนี้ 20% หรือสาขาเพิ่มเป็นเท่าตัว ย้ำตลาดเปลี่ยนเป็นทำร้านขนาดเล็กลง, ดึงเทคโนโลยีเข้าช่วยวางระบบ และแข่งกันเรื่องโปรโมชั่นรุนแรงกว่า 7 ปีก่อน
ตบท้ายตลาดแฟรนไชส์ด้วย "คุมอง" ซึ่งมองการเติบโตแฟรนไชส์การศึกษานิ่ง เพราะค่าแฟรนไชส์แพงคนเปิดน้อย ปิดเยอะ ประกอบกับการแข่งขันนิ่งต่างจาก 10 ก่อนที่มีคณิตคิดเร็วการแข่งขันสูง ย้ำเทรนด์แฟรนไชส์การศึกษาหดตัวจากศูนย์เข้าสู่โรงเรียนมากขึ้นโดยเฉพาะแฟรนไชส์ภาษาอังกฤษ คาดปีนี้แฟรนไชส์หลายแห่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของสถานที่ตั้งซึ่งอาจส่งผลให้บางแฟรนไชส์หรือบางโรงเรียนต้องปิดตัว
"เซเว่นอีเลฟเว่น"ชี้แฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อยังโต
สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อในปีใหม่นี้ ยังถือว่าเป็นธุรกิจที่น่าลงทุนสูง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีเครือข่ายที่ใหญ่ และมีสาขามากสุด นอกจากนี้ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อยังเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประชากร 60 กว่าล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้ยังต้องซื้อต้องกินต้องใช้ ส่งผลให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีโอกาสขยายตัวได้สูง
ซึ่งข้อดีของธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อคือ มีความเสี่ยงในการลงทุนที่ต่ำ เพราะแฟรนไชซอร์ทุกรายพยายามที่จะผลักดันให้ธุรกิจดังกล่าวสามารถไปได้ ให้ผลตอนแทนสูงคุ้มค่าต่อการลงทุน และยังเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องวิ่งหาลูกค้าแต่ลูกค้าจะวิ่งเข้ามาหาร้านสะดวกซื้อเอง
สำหรับการเข้ามาของแฟรนไชซอร์ร้านสะดวกซึ้อในปีนี้ คาดว่ามีปริมาณผู้ที่เข้ามาในตลาดน้อยลงหรือแทบจะไม่มีหน้าใหม่เข้ามา เนื่องจากในตลาดมีรายใหญ่ๆ คุมเกมอยู่ก่อนแล้ว และแต่ละค่ายก็มีปริมาณสาขามาก โดยปีนี้หลายแห่งจะมีการขยายทำเลไปตามชุมชนใหม่ๆ และชุมชนชานเมืองมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
"ตลาดมินิมาร์ทไม่ค่อยมีแบรนด์ใหม่เข้ามา ธุรกิจตรงนี้มีการเปลี่ยนแปลงน้อย เนื่องจากคนมาใหม่เขาก็ดูเหมือนว่าธุรกิจพวกนี้มีสาขาเยอะแล้วคนใหม่ไม่อยากเข้ามาเพราะการแข่งขันสูง หรือถ้าเข้ามาต้องเป็นการขายสินค้าเฉพาะอย่างหรือสินค้าที่มีรูปแบบใหม่ๆ มากกว่านี้ไม่ใช่มินิมาร์ทแบบเดิม ส่วนเจ้าที่มีอยู่เดิมก็มีเจ้าใหญ่ๆ หลายๆ เจ้าเก่าที่เคยเปิดมาแล้ว เขาคงไม่ออกจากตลาด เพราะว่าธุรกิจของเขายังไปได้ ไม่ได้เลวร้ายอะไร"
ส่วนการเปลี่ยนแปลงของร้านสะดวกซื้อในระบบแฟรนไชส์ สุวิทย์คาดว่าจะมีการหารูปแบบของธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริมในตัวธุรกิจ อย่างการมีคอฟฟี่คอนเนอร์เข้ามาเสริมอยู่ในร้านสะดวกซื้อ หรืออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีการเปิดเป็นห้องที่สามเพื่อเป็นร้านหนังสือ "บุ๊กสมายด์" ซึ่งคาดว่าปีนี้จะเปิดให้ได้ 100 สาขา รวมกับสาขาที่มีอยู่เป็น 150 สาขา เนื่องจากมองเห็นว่าธุรกิจร้านขายหนังสือเป็นธุรกิจที่มีอนาคต และเป็นสินค้าที่มีอัตราการเจริญเติบโต
นอกจากนี้ แฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อจะมีการนำธุรกิจในรูปแบบของงานบริการเข้ามาเสริม อย่างการให้บริการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ซึ่งปัจจุบันเซเว่นอีเลฟเว่นจะมีการให้บริการ counter service ส่วนเจ้าอื่นๆ ก็มี Pay Point ซึ่งแนวโน้มการขยายรูปแบบการให้บริการลักษณะนี้จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เขากล่าวต่อว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงทั้งสองอย่างแล้วจะมีเรื่องของการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเข้ามาช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงานให้มากขึ้น อย่างเซเว่นอีเลฟเว่นก็มีการนำเรื่องของเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานเข้ามาเสริม ซึ่งสามารถช่วยลดค่ากระแสไฟฟ้าให้กับสาขาได้มากถึง50% ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นของการขยายให้ครบทุกสาขา ในขณะที่มีบางเจ้าที่มีการเอาระบบโซล่าเซลล์เข้าใช้ในการช่วยประหยัดพลังงาน
สำหรับการแข่งขันของระหว่างร้านสะดวกซื้อกับร้านสะดวกซื้อด้วยกัน เรื่องของราคาแทบจะไม่มีผลหรือมีผลน้อยมาก เนื่องจากเป็นเรื่องของความสะดวกในการซื้อมากกว่า ส่วนการแข่งขันในการหาแฟรนไชซีของแฟรนไชซอร์ร้านสะดวกซื้อแต่ละรายนั้น จะไม่เน้นเรื่องของราคา เนื่องจากแฟรนไชซอร์ต่างก็มีเรื่องต้นทุนของตัวเองเป็นตัวกำหนดอยู่แล้ว
แต่อาจจะเป็นการแข่งขันในการให้ความช่วยเหลือเรื่องต่างๆ กับแฟรนไชซี เช่น แฟรนไชซอร์อาจช่วยในเรื่องของการไปขอสินเชื่อกับธนาคารให้กับแฟรนไชซีเพื่อจูงใจให้แฟรนไชซีมาซื้อแฟรนไชส์ อย่างของเซเว่นอีเลฟเว่นก็มีการพูดคุยกับธนาคารไว้หลายแห่งเพื่อขออนุมัติการปล่อยสินเชื่อและดอกเบี้ยราคาประหยัดให้กับแฟรนไชซีของเซเว่นอีเลฟเว่นเอง
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกปี 2548 คาดว่าจะมีการขยายตัวได้อีก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงนี้ดีไม่ว่าจะเป็นสภาวะน้ำมันที่ลดลงซึ่งส่งผลทางด้านจิตวิทยาและการค้าปลีกเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงเทศกาลที่คนต้องจับจ่ายใช้สอยกันทำให้บรรยากาศดีขึ้นมาก ประมาณการธุรกิจค้าปลีกขณะนี้มีประมาณ 10,000 สาขา ซึ่งหากมีครบ 30,000 สาขาก็จะเพียงพอกับความต้องการของประชากร
"ผมว่าเป็นแรงผลักดันจากช่วงปี 2547 ที่ผ่านมาไทยต้องเผชิญกับความตรึงเครียดหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสถานการณ์ในภาคใต้ เรื่องไข้หวัดนก น้ำมันขึ้นราคา ทำให้คนหยุดจับจ่ายใช้สอยกัน เราก็เผชิญเรื่องพวกนี้มาค่อนข้างหนักถึงช่วงปลายปี 2547 มีเรื่องราคาน้ำมันและเทศกาลเข้ามาช่วยทำให้คนผ่อนคลาย และเป็นแรงผลักดันที่ส่งผลให้การค้าปลีกในช่วงปลายปี 2547 ถึงต้นปี 2548 ดีขึ้น" สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย
"นีโอ สุกี้"เล็งแฟรนไชส์สุกี้ระดับล่าง
สกนธ์ กัปปิยจรรยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอ สุกี้ ไทย เรสเตอร์รอง จำกัด ผู้ให้บริการร้าน "นีโอ สุกี้" และ "แฟรนไชส์นีโอ สุกี้" กล่าวว่า เทรนด์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจแฟรนไชส์สุกี้ ผู้บริโภคจะมีการปรับจากการทานในร้านระดับภัตตาคาร หรือทานแบบเป็นครอบครัวมาเป็นการทานแบบคีออส หรือทานคนเดียวมากขึ้น และผลจากการสังเกตพบว่าปริมาณของผู้ที่ต้องการทานคนเดียวเพิ่มมากขึ้นคิดเป็น 10% ของมูลค่าการนั่งทานในร้านทั้งครอบครัว โดยการเปลี่ยนเหล่านี้เริ่มเห็นได้ชัดเมื่อปีสองปีที่ผ่านมา ซึ่งจุดนี้เองทำให้บริษัทเกิดความคิดที่จะพัฒนานีโอ สุกี้ ระดับภัตตาคารให้ลดขนาดธุรกิจลงมาเป็นระดับคีออส และรถเข็น
นอกจากนี้ คาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าเทรนด์การบริโภคจะเปลี่ยนจากการซื้อตามคีออส และตามรถเข็นเป็นการซื้อน้ำจิ้มไปทำเองที่บ้านมากขึ้น ซึ่งปี 2548 นี้จะเห็นว่าทิศทางของตลาดน้ำจิ้มสุกี้จะเหมือนกับตลาดชาเขียวที่เมื่อมีผู้เข้ามาทำตลาดอย่างโออิชิส่งผลให้ตลาดชาเขียวจาก 200 กว่าล้านบาทปรับเป็น 3-4 พันล้านบาท เนื่องจากน้ำจิ้มสุกี้เป็นที่รู้จักของตลาดมานานแต่ยังไม่เป็นนิยมมากนัก
"เราพยายามจะสร้างให้สุกี้เหมือนกับเป็นก๋วยเตี๋ยวคือทานง่ายราคาถูกลง เพราะผมมองว่าแฟรนไชส์อาหารต้องทำให้มีขนาดเล็กลงการลงทุนถูก โดยกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์สุกี้ที่ทำเป็นระดับภัตตาคารจะน้อยลง แต่รายเก่ายังอยู่ได้ส่วนรายใหม่หากต้องการเข้ามาคงเข้าไม่ได้"
สำหรับตลาดแฟรนไชส์สุกี้ขณะนี้ยังไม่มีรายใหญ่ที่เข้ามาเล่นในตลาดระดับคีออส และรถเข็น ซึ่งนีโอ สุกี้เป็นเจ้าแรกที่หันมาเล่นในตลาดดังกล่าวแทนการไปสู้กับรายใหญ่ๆ ในระดับภัตตาคาร แต่มีผู้ประกอบการอยู่หนึ่งรายที่ทำแฟรนไชส์สุกี้รถเข็นเหมือนกับนีโอ สุกี้ ซึ่งการแข่งขันและการปรับตัวในตลาดแฟรนไชส์สุกี้ในตลาดล่างนี้นีโอ สุกี้จะใช้ความมีชื่อเสียงของในระดับภัตตาคารมาเป็นตัวชูโรงในการขายแฟรนไชส์ และเพื่อเป็นการสร้างเทรนด์ของการทานสุกี้ในแบรนด์ระดับมาตรฐานให้กับตลาดด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างความรู้สึกให้ผู้บริโภครู้สึกว่าสุกี้สามารถทานคนเดียวได้ไม่จำเป็นต้องมาเป็นกลุ่มเหมือนอย่างในอดีต
"ผมคาดว่าคนจะรับเทรนด์การทานสุกี้แบบทานคนเดียวตรงนี้อย่างสมบูรณ์แบบประมาณปลายปี ตอนนี้เราทดลองเปิดตลาดไปเรื่อยๆ ส่วนแฟรนไชส์เราจะขายในราคาที่ไม่แพง เพราะเราจะเล่นในตลาดเล็กกับตลาดกลางเพราะผู้บริโภคตรงนี้เยอะ เราจะแข่งกับทั้งตัวเองและตลาดที่เป็นก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ คือจากการแข่งกับแบรนด์ใหญ่ก็ปรับมาเป็นแบรนด์เล็กสินค้าประเภทเดียวกันและต่างประเภท ซึ่งคาดว่าแฟรนไชส์สุกี้น่าจะเข้าไปดึงแชร์ตลาดอาหารระดับล่างที่ทานคนเดียวได้ประมาณ 10% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด"
อย่างไรก็ตาม หากการขยายตัวของร้านสุกี้ในรูปแบบแฟรนไชส์ของนีโอ สุกี้ประสบความสำเร็จ ก็คาดว่าจะมีผู้ประกอบการหน้าใหม่อาจจะแห่กันมาเปิดในรูปแบบดังกล่าวมากขึ้น
สกนธ์ กล่าวต่อว่า แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์อาหารปีนี้รายใหญ่ของไทยคาดว่ายังไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวมากนัก แต่ถ้าเป็นแฟรนไชส์ของร้านอาหารต่างประเทศโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ อย่างพิซซ่าหรือสุกี้จะลดการขยายตัวลง เนื่องจากมีการลงทุนค่อยข้างสูงทำให้ขายลำบาก ซึ่งตรงนี้ทำให้ธุรกิจอาหารระดับใหญ่หลายแบรนด์ต้องอิ่มตัวและหากทางขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศแทน
ส่วนทิศทางการแข่งขันของธุรกิจอาหารในปีใหม่นี้ จะเป็นการแข่งขันของธุรกิจอาหารรายเล็กและกลาง ซึ่งคาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น และเป็นการแข่งขันที่สู้กันเอง เนื่องจากธุรกิจอาหารขนาดเล็กและกลางมีจำนวนมากขึ้นส่งผลให้ปริมาณยอดขายของธุรกิจอาหารขนาดใหญ่มีปริมาณลดลง 20-30% ต่อสาขา
โดยการแข่งขันในธุรกิจอาหารขนาดเล็กและกลาง จะแข่งกันในเรื่องของราคาค่าแฟรนไชส์ คุณภาพอาหาร และยอดขาย ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์อาหารที่พอจะไปได้ในปีนี้คือโจ๊กกับสเต็ก ส่วนก๋วยเตี๋ยวและกาแฟมีปริมาณเยอะแล้ว นอกจากนี้ยังมีธุรกิจขนมปังปิ้งเป็นธุรกิจที่น่าสนใจในปีใหม่นี้
"บ้านใร่กาแฟ"ส่ง "ไทยชง" ตีตลาดล่าง
สายชล เพยาว์น้อย ประธานบริหาร บริษัท ออกแบบไร่นา (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการ "บ้านใร่กาแฟ และไทยชง บรอก" กล่าวว่า แนวโน้มของการทำธุรกิจกาแฟระดับล่างและกลาง แทบทุกแบรนด์จะเป็นระบบแฟรนไชส์หมด ตัวอย่างเช่น ดิโอโร่ กาแฟดอยตุง คอฟฟี่บอย ฯลฯ ขณะที่ธุรกิจกาแฟพรีเมี่ยม หรือกึ่งพรีเมี่ยม ถ้าเป็นแบรนด์ดังๆ จะไม่นิยมเน้นขยายตัวในรูปของแฟรนไชส์ ปัจจุบันธุรกิจกาแฟที่ทำในรูปแบบแฟรนไชส์ จะเน้นหารายได้จาก 2 ทางคือ 1. การทำธุรกิจหาเงินกับกาแฟ และ 2. การหาเงินจากบรรดาแฟรนไชซอร์
โดยปัจจัยที่ทำให้กาแฟระดับพรีเมี่ยม กึ่งพรีเมี่ยม ไม่สามารถทำแฟรนไชส์ได้ เนื่องจากธุรกิจที่ทำเป็นแฟรนไชส์ต้องเป็นธุรกิจที่เป็นสูตรสำเร็จถึงจะทำได้ อย่างแฟรนไชส์น้ำผลไม้ที่ใส่ขวดได้แล้ว หรือเซเว่นอีเลฟเว่นที่ขายสินค้าที่อยู่ในแพคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นกาแฟแบรนด์ใหญ่จึงไม่ทำแฟรนไชส์ แต่จะเป็นลักษณะของการให้ดีลเลอร์เป็นคนทำ อย่างเช่นสตาร์บัคส์ให้บริษัทเซ็นทรัลพัฒนาเป็นดีลเลอร์ให้ ซึ่งถ้าบ้านใร่กาแฟคิดจะไปขยายตลาดต่างประเทศก็จะต้องไปในลักษณะเดียวกับที่สตาร์บัคส์ทำ
สำหรับตลาดกาแฟของไทยสามารถแยกได้ออกเป็นสองส่วน คือตลาดกาแฟกับตลาดแฟรนไชส์ เนื่องจากเป็นคนละธุรกิจกัน ปัจจุบันธุรกิจกาแฟที่เป็นแฟรนไชส์และไม่ใช่แฟรนไชส์คาดว่ามีอยู่ประมาณครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งปีนี้ร้านกาแฟที่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดเมื่อปีที่ผ่านมาจะมีการเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์มากขึ้น เนื่องจากการขายกาแฟในระบบแฟรนไชส์ไม่ใช่สิ่งที่ยากและซับซ้อน ซึ่งปีนี้มีโอกาสได้เห็นร้านกาแฟหลากหลายแบรนด์ ลักษณะเป็นเคาน์เตอร์ขนาดเท่ากับโต๊ะทำงาน 20-30 จุดทั่วประเทศ
โดยการเติบโตของตลาดกาแฟโดยรวมยังสามารถเติบโตได้อีกมาก คาดว่าตลาดรวมปีนี้จะโต 20-30% ซึ่งประมาณการณ์นี้ไม่ได้รวมตัวบ้านใร่กาแฟไว้ เนื่องจากบ้านใร่กาแฟมีการเติบโตมาเยอะแล้ว ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจกาแฟเอสเอ็มอีมีการเติบโตกันมาก โดยจะเป็นลักษณะของกาแฟแบรนด์เล็กที่มีความตั้งใจก็สามารถขายกาแฟได้ เนื่องจากการขายกาแฟไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน แต่การเปิดร้านกาแฟก็เหมือนกับการทำธุรกิจตู้คาราโอเกะ เพียงมีเงิน มีร้าน มีทำเล ก็สามารถเปิดได้ โดยใช้เงินลงทุนตั้งแต่ 5 แสนบาทจนถึง 10 ล้านบาท
ส่วนการแข่งขันของตลาดกาแฟปีนี้ ทั้งที่อยู่ในระบบแฟรนไชส์และไม่ใช่จะเป็นสินค้าระดับราคาต่ำกว่า 40 บาทลงม าต่างจากปีที่ผ่านมาที่การแข่งขันอยู่ในตลาดบนเป็นหลัก ซึ่งปีนี้ช่องทางการจำหน่ายและทำเลของกาแฟระดับล่างจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ทุกที่ที่มีร้านขนม ร้านผลไม้ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านสะดวกซื้อ หน้าโรงเรียน หน้าโรงงาน หรือบริเวณที่เป็นจุดสะดวกซื้อ
"อย่างบ้านกาแฟใร่จะเห็นว่าปีที่ผ่านมาไม่มีการขยายสาขาเลยเรา เพราะเราคาดเดาตลาดได้เราจึงหันมาทำข้างล่างแทนเรามองว่ามีโอกาสมากกว่าเราทำกาแฟ 10 บาทในนามไทยชง บรอก ซึ่งเป็นกาแฟไทยๆ ในรูปแบบรถเข็นตอนนี้มี 40 จุด และในรูปแบบเรือซึ่งตอนนี้มี 3 ลำแล้วเพื่อขายตามตลาดน้ำดำเนินสะดวก ตลาดน้ำบางพูน ตลาดน้ำบางพลี ตลาดล่างตรงนี้มหาศาลอย่างบ้านใร่กาแฟขายได้ 120,000 คนต่อเดือน แต่ไทยชงเราได้สองแสนคนแล้วแค่เวลา 6 เดือนเอง"
"วีดีโอ อีซี่" รับตลาดร้านแฟรนไชส์เปลี่ยน
สมหวัง มุรธาธัญลักษณ์ Senior Franchise Coordinator บริษัท วีดีโอ อีซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของตลาดร้านเช่าวีดีโอในระบบแฟรนไชส์มีการเปลี่ยนจากเปิดเป็นร้านขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลงในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นสูง ต่างจากสมัยช่วงแรกที่เกิดระบบแฟรนไชส์ร้านเช่าวีดีโอจะแข่งกันในเรื่องของขนาดที่ใหญ่ 100 ตารางเมตรขึ้นไป แต่ปัจจุบันมีการลดขนาดลงให้เหลือ 50 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นผลจากการที่พื้นที่หายากและหากใช้พื้นที่น้อยลงราคาในการลงทุนจะถูกลงไปด้วย ซึ่งจะหาแฟรนไชซีเข้ามาลงทุนในตรงนี้ได้ง่ายขึ้น
"อย่างสมัยก่อนห้องใหญ่งบลงทุนก็ 3-4 ล้านบาท ปัจจุบันก็เหลือแค่ล้านกว่าสองล้านเท่านั้นเอง คนที่จะลงทุนก็มีโอกาสง่ายขึ้น ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนแฟรนไชส์ในรูปแบบของเอสเอ็มอี ก็เลยทำให้คนหันมาตื่นตัวและมองแฟรนไชส์เยอะขึ้น เพราะเขารู้แล้วว่าแฟรนไชส์เป็นการขายความสำเร็จ ไม่ต้องลองผิดลองถูกคนที่จะลงทุนก็มักจะเอาชัวร์ไว้ดีกว่าไปทำด้วยตัวเอง"
นอกจากนี้ แฟรนไชส์เหล่านี้จะมีการนำเรื่องของไฮเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องของการให้บริการมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ระบบออนไลน์ เพื่อใช้ในการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์ รายชื่อภาพยนตร์ ฯลฯ ซึ่งเรื่องของเทคโนโลยีปีนี้จะมีแต่ยังไม่เห็นว่าจะเป็นรูปแบบใด
ส่วนอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้ตลาดร้านเช่าวีดีโอมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น คือการแข่งขันกันด้วยโปรโมชั่นต่างๆ ซึ่งนับว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นจากเมื่อ 7 ปีก่อนจากการเช่าสามแถมหนึ่ง สองแถมหนึ่ง หนึ่งแถมหนึ่งมาเป็นการส่งชิงโชคลุ้นรถยนต์ ซึ่งจุดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจจะส่งผลให้ธุรกิจร้านเช่าวีดีโอรายย่อยได้รับผลกระทบได้
สมหวัง กล่าวต่อว่า สัดส่วนของร้านเช่าวีดีโอที่อยู่ในรูปแบบแฟรนไชส์คาดว่ามีสัดส่วนยังไม่ถึง 10% หรือมีประมาณ 300 สาขา หากเทียบกับจำนวนร้านเช่าวีดีโอทั้งหมดทั่วประเทศซึ่งคาดว่าจะมีมากกว่า 3,000 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดต่างจังหวัดหรือจุดเล็กๆ ที่ประชาชนยังไม่หนาแน่นก็มีการเปิดเล็กๆ น้อยๆ แต่ถือเป็นร้านย่อย เพราะฉะนั้นมีปริมาณร้านจริงๆ แต่ขนาดของร้านจะเล็กมาก
สำหรับการเติบโตของธุรกิจระบบแฟรนไชส์ร้านเช่าวีดีโอปีนี้คาดว่าจะโตประมาณ 20% หรือมีจำนวนสาขาเพิ่มจาก 300 สาขาเป็น 600 สาขา โดยการแข่งขันในการหาแฟรนไชซีของแฟรนไชซอร์จะไม่มีการแข่งขันเรื่องของราคา แต่จะดูในเรื่องของโลเคชั่น การทำงานที่รวดเร็ว และการสร้างความไว้วางใจให้กับแฟรนไชซีเป็นหลัก
ส่วนการเติบโตของธุรกิจร้านเช่าวีดีโอในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถือว่าอยู่ในอัตราที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน คาดจะมีอัตราการเติบโต 30% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธุรกิจภาพยนตร์ที่มีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งผลจากการเติบโตนี้ทำให้การทำงานอย่างเป็นระบบมีความจำเป็นมากขึ้นเนื่องจากการแข่งขันในตลาดสูงขึ้น
โดยการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจร้านเช่าวีดีโอในตลาดรวมปีนี้จะเปลี่ยนจากแผ่นวีซีดีเป็นแผ่นดีวีดีมากขึ้น และเชื่อว่าปี 2549 ตลาดจะเปลี่ยนเป็นแผ่นดีวีดีทั้งตลาด เนื่องจากราคาของเครื่องและแผ่นของดีวีดีในขณะนี้มีการลดราคาลงเกือบจะเทียบเท่ากับวีซีดี ส่งผลให้ผู้ผลิตค่อยๆ เริ่มยุติการผลิตเครื่องเล่นและแผ่นวีซีดี
"คุมอง"ชี้แฟรนไชส์การศึกษายังตบยุง
ชนินทร์ ปรีชพันธุ์ ผู้จัดการอาวุโส บริษัท คุมอง (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ให้บริการศูนย์ "คุมอง" กล่าวว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการศึกษาในระบบแฟรนไชส์ขณะนี้ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยการแข่งขันในธุรกิจที่อยู่ในภาวะที่นิ่ง ต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อนที่ธุรกิจการศึกษาโดยเฉพาะคณิตศาสตร์และวิชาทางภาษาได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัญหาระบบการสอนในโรงเรียนส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาเป็นที่ยอมรับ
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องของค่าแฟรนไชส์ที่ค่อนข้างแพงถึงแพงเกินไป ส่งผลให้ผู้เป็นแฟรนไชซีบางเจ้าไม่สามารถรับสภาวะได้ก็ต้องเลิกกิจการไป เหมือนอย่างแฟรนไชส์โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ในอดีตมีปริมาณที่มากแต่ปัจจุบันมีปริมาณลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถทำเองได้ ซึ่งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษก็กำลังอยู่ในสภาวะดังกล่าว
"ถ้าค่าแฟรนไชส์แพงก็โตยาก คือการทำธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาหากวางตำแหน่งของตัวเองแพงเกินไปจะโตได้ลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่ธุรกิจแฟรนไชส์ในเมืองไทยจะแพง ซึ่งเมื่อไม่มีการลดราคาก็ไม่โต แต่ถ้าลดก็ต้องคงคุณภาพด้วย เท่าที่ดูการเติบโตของระบบแฟรนไชส์การศึกษาในบ้านเรายังถือว่าดีและต่อเนื่องเรื่อยๆ เนื่องจากระบบโรงเรียนของเรายังต้องพึ่งระบบการเรียนเสริมอยู่"
สำหรับเทรนด์ของการทำธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาในช่วงหลังเริ่มมีการหายจากระบบการเป็นศูนย์สอนเข้าไปสู่ระบบโรงเรียนมากขึ้น เห็นได้จากแฟรนไชส์สอนภาษาอังกฤษบางแห่งมีการขยายตัวเข้าไปสอนตามโรงเรียนโดยการนำทั้งหลักสูตร และครูผู้สอนเข้าไปสอนตามโรงเรียนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนเอกชน ส่งผลให้ศูนย์ข้างนอกไม่ค่อยมีการทำกิจกรรมมากนักแต่จะเป็นการทุ่มกิจกรรมเข้าไปยังโรงเรียนมากกว่า
ซึ่งเทรนด์การเติบโตลักษณะนี้ยังคงมีปริมาณที่มากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มของโรงเรียนที่ต้องการครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นชาวต่างชาติ ประกอบกับการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลทำให้โรงเรียนต้องมีการปรับตัวและสร้างคุณภาพของโรงเรียนให้มากขึ้น
ส่วนการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาคงต้องรอดูผลประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม เนื่องจากกระทรวงศึกษาได้มีการออกกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการอาคารเรียนสำหรับโรงเรียนซึ่งจะต้องเป็นอาคารที่ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองจากวิศวกร ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อแฟรนไชส์การศึกษาที่จดทะเบียนเป็นโรงเรียนซึ่งมีปริมาณเกือบทั้งหมด เนื่องจากแฟรนไชส์บางแห่งอาจต้องมีการยกเลิกไปเพราะสถานที่ไม่ได้มาตรฐาน
นอกจากนี้ การต้องปรับสถานที่ในการเรียนอาจส่งผลต่อธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาบางแห่งที่มีการกำหนดพื้นที่ในการเปิดโรงเรียน ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุมอง เนื่องจากคุมองไม่ได้มีการกำหนดในเรื่องของพื้นที่ในการเปิดสาขา
ชนินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มของธุรกิจการศึกษาในปีนี้ ยังคงเป็นเรื่องของภาษาต่างๆ และคณิตศาสตร์ เนื่องจากทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กอยู่แล้ว โดยเฉพาะวิชาทางด้านภาษาปัจจุบันมีภาษาเกิดขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ และมีคนบางกลุ่มที่เข้ามาทำเนื้อหาสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง
* * * * * * * *
ลงทุนแฟรนไชส์พันธุ์ไหนดี?
"เซเว่นอีเลฟเว่น"
"เซเว่นอีเลฟเว่น" แฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อจากสหรัฐอเมริกา นับเป็นร้านสะดวกซื้อรายแรกที่เข้าสู่ประเทศไทย ภายใต้การนำของบริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) พร้อมสร้างความแตกต่างจากร้านโชวหวยด้วยการเปิด 24 ชั่วโมง
จนกระทั่งถึงวันนี้เซเว่นอีเลฟเว่นมีสาขาทั้งหมด 2,850 สาขาเป็นสาขาแฟรนไชส์ประมาณ 40% คาดว่าถึงสิ้นเดือนนี้เซเว่นอีเลฟเว่นจะมีสาขาเพิ่มอีก 30 สาขา และถึงสิ้นปีนี้จะมีสาขาเพิ่มอีก 400-450 สาขา นอกจากนี้บริษัทฯ จะปรับร้านแฟรนไชส์ให้มีสัดส่วนเป็น 50% ภายในปีนี้
เซเว่นอีเลฟเว่นมีรูปแบบของการขายแฟรนไชส์สองรูปแบบ คือ แบบที่ 1 แฟรนไชส์สำหรับผู้ที่จบการศึกษาใหม่ๆ หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งไม่ต้องใช้เงินในการลงทุนมาก แต่ผลตอบแทนที่ได้รับจะไม่สูงตามไปด้วย โดยใช้เงินลงทุนอยู่ที่ 1,500,000 บาท แบ่งเป็นค่าค้ำประกัน 1,000,000 บาท ค่าแฟรนไชฟี 500,000 บาท ซึ่งผลตอบแทนสุทธิที่ได้จะคงที่เดือนละ 20,000 บาท อายุสัญญา 6 ปี
ส่วนแบบที่ 2 จะใช้เงินลงทุน 2,500,000 บาท สำหรับเป็นค่าค้ำประกัน 1,000,000 บาท อีก 1,500,000 บาทแบ่งเป็นค่าแฟรนไชฟี 1,000,000 บาท ค่าใช้จ่าย, ค่าอุปกรณ์, สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ 500,000 บาท อายุสัญญา 6 ปี ผลตอบแทนที่จะได้จะสูงกว่าแบบแรก
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้แฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่นเป็นที่นิยม เนื่องจากเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงทั้งกับชาวไทยและต่างประเทศ ให้ผลตอบแทนสูง และยังเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไม่ต้องวิ่งหาลูกค้า ไม่ต้องมีการทำโฆษณาส่งเสริมการขายเอง เพราะบริษัทฯ ให้การสนับสนุนในการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีทีมงานที่เข้ามาให้การสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกิจให้กับแฟรนไชซี พร้อมทั้งจัดส่งสินค้าให้กับแฟรนไชซีทุกสาขา ซึ่งจะต่างจากแฟรนไชส์บางแบรนด์ที่แฟรนไชซีจะต้องเป็นคนหาสินค้าเข้าร้านเอง
สำหรับคุณสมบัติของแฟรนไชซีเซเว่นอีเลฟเว่นจะต้องเป็นผู้ที่มาทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง, รักงานบริการ , รักการค้าปลีก และจะต้องทำธุรกิจนี้เพียงธุรกิจเดียว โดยแฟรนไชซีจะต้องผ่านการเทรนดิ่งจากบริษัทฯ เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อมาฝึกฝนในเรื่องการบริหารร้าน การบริหารพนักงาน การบริหารสินค้า ฯลฯ
"นีโอ สุกี้"
"นีโอ สุกี้" เตรียมสร้างความต่างจากภัตตาคารสุกี้ และรถเข็นขายสุกี้แบบดังเดิม ด้วยการปรับภัตตาคารระดับใหญ่ให้ย่อส่วนลงอยู่ในตึกแถว แบบคีออส และรถเข็น เตรียมเปิดขายแฟรนไชส์เดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมปี 2548 นี้ พร้อมกับตั้งเป้าเป็นหนึ่งในธุรกิจแฟรนไชส์สุกี้ระดับล่างภายใน 3 ปี
โดยแบบระดับราคาในการขายคีออสจะจำหน่ายอยู่ที่ 125,000 บาท และแบบรถเข็น 45,000 บาท ซึ่งราคาดังกล่าวเป็นราคาลดจากราคาปกติ 30-40% เพื่อดึงแฟรนไชซีให้เข้ามาซื้อแฟรนไชส์ในช่วงแรก และบริษัทฯ จะปรับราคาค่าแฟรนไชส์เป็นปกติในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายนนี้ ซึ่งบริษัทฯ จะเน้นการทำตลาดในกลุ่มของแฟรนไชส์คีออสมากกว่าแฟรนไชส์รถเข็น พร้อมทั้งตั้งเป้าว่าจะขยายแฟรนไชส์ให้เป็นอันดับหนึ่งของตลาดแฟรนไชส์สุกี้ระดับล่างให้ได้ภายใน 3 ปี
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายที่จะขยายแฟรนไชส์คีออสของบริษัทฯ ออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย เนื่องจากลักษณะความเป็นอยู่ของคนใน 2 ประเทศนี้คล้ายกับประเทศไทย คือมีคอนโดและตึกแถวเยอะเหมาะสำหรับการเปิดร้านขายอาหารในระดับล่าง
สำหรับการเข้ามาแข่งขันในตลาดแฟรนไชส์สุกี้ระดับล่าง นีโอ สุกี้ จะใช้ความมีชื่อเสียงในระดับภัตตาคารมาเป็นตัวชูโรงในการขายแฟรนไชส์ พร้อมด้วยน้ำจิ้ม 5 สูตร คือ น้ำจิ้มกวางตุ้ง, น้ำจิ้มต้มยำ, เต้าหูยี้, น้ำจิ้มโบราณ, เต้าหูยี้เด็ก ซึ่งนีโอ สุกี้ เป็นเจ้าเดียวที่ผลิตน้ำจิ้มครบทั้ง 5 สูตร
ส่วนระดับราคาในการจำหน่ายสุกี้ของบริษัทฯ จะถูกกว่าที่จำหน่ายในภัตตาคารประมาณ 40% ซึ่งในการทำตลาดช่วงแรกบริษัทฯ จะให้แฟรนไชซีทุกรายทำโปรโมชั่นจำหน่ายสุกี้ในราคา 20 บาทเป็นเวลา 3 เดือนเพื่อดึงลูกค้าและสร้างความรู้จักก่อน
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้มีการประมาณการรายได้สำหรับแฟรนไชซีของบริษัทฯ ไว้ที่วันละไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาท ซึ่งการลงทุนทั้งสองแบบคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ในเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยบริษัทฯ จะมีการเข้าไปช่วยดูในเรื่องของทำเลการจำหน่ายให้ ซึ่งทำเลที่บริษัทฯ วางไว้สำหรับแฟรนไชส์รถเข็นจะจำหน่ายอยู่ตามตลาดโตรุ่งต่างๆ ส่วนแฟรนไชส์คีออสจะต้องอยู่ตามแหล่งชุมชน คอนโดมิเนียม และแฟลต
"บ้านใร่กาแฟ"
"บ้านใร่กาแฟ" ถูกเปิดตัวเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2542 ภายใต้การดูแลของบริษัท ออกแบบไร่นา (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อจำหน่ายกาแฟอยู่ในตลาดบน แต่เมื่อปีที่ผ่านมาบ้านใร่กาแฟพบว่าตลาดระดับล่างซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ และยังมีโอกาสอีกมาก จึงได้หันไปออกสินค้าแบรนด์ใหม่เมื่อปีที่ผ่านมาภายใต้แบรนด์ "ไทยชง บอรก" ซึ่งจำหน่ายกาแฟชงแบบไทยในราคาไม่แพงภายใต้รูปแบบการขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์
โดยจับกลุ่มเป้าหมายผู้ดื่มกาแฟวงกว้าง หรือตลาดแมส ที่ยังคงเน้นสูตรการชงกาแฟแบบโบราณที่ใช้นมและน้ำตาล ขายในราคา 12-15 บาท ซึ่งแฟรนไชซีจะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนค่าอุปกรณ์รวมค่าแฟรนไชส์ 55,000 บาทตลอดอายุสัญญา คาดรถเข็นแต่ละคันจะสามารถจำหน่ายกาแฟได้ 100 แก้วต่อวันประมาณการณ์จุดคุ้มทุนใน 4 เดือนครึ่งต่อคัน
ปัจจุบันรถเข็นไทยชงมีจำหน่ายอยู่ทั้งหมด 40 จุด และบริษัทฯ ยังเริ่มขยายช่องทางการจำหน่ายลงไปยังตลาดน้ำอีก 3 จุด คือ ตลาดน้ำอยุธยา ตลาดน้ำบางพึ่ง ฯลฯ เนื่องจากมองว่าช่องทางดังกล่าวยังไม่มีผู้ประกอบการที่มีแบรนด์รายใดเข้าไปทำ คาดในอีก 2-4 ปีข้างหน้าจะสามารถขายแฟรนไชส์ไทยชง บอรกได้ประมาณ 1,000 จุด
จนถึงปัจจุบันบริษัทฯ นับว่ามีสินค้าครอบคลุมตลาดได้ทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นตลาดระดับล่างราคา 10 บาทต่อแก้ว หรือตลาดระดับบนสุดราคา 400 บาทต่อแก้ว
"วีดีโอ อีซี่"
"วีดีโอ อีซี่" ธุรกิจร้านเช่าวีดีโอที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย และเริ่มเข้ามาขยายธุรกิจสู่ประเทศไทยเมื่อปี 2541 ในรูปแบบของแฟรนไชส์ จนถึงทุกวันนี้วีดีโอ อีซี่ มีสาขาทั้งหมด 142 สาขา ถือเป็นอันดับที่สองในตลาดแฟรนไชส์ร้านเช่าวีดีโอ ปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าการขยายสาขาไว้ 40 สาขา ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินการทำสัญญาและก่อสร้างแล้ว 17 สาขาเป็นพื้นที่ขนาด 50 ตารางเมตร
ปัจจุบันวีดีโอ อีซี่ มีรูปแบบการขยายแฟรนไชส์ทั้งหมดสองรูปแบบ คือแบบเอ สำหรับพื้นที่ 100 ตารางเมตรขึ้นไป และแบบบี สำหรับพื้นที่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป โดยการลงทุนในแบบเอ จะต้องใช้งบในการลงทุน 3,000,000 บาท และแบบบีใช้เงินลงทุน 1,800,000 บาท เป็นค่าแฟรนไชส์ 300,000 บาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าตกแต่ง ค่าสินค้า ฯลฯ โดยแบบเอจะใช้เวลาในการคืนทุน 3-4 ปี ส่วนแบบบีจะคืนทุน 2-3 ปี อายุสัญญาทั้งสองประเภท 10 ปี
นอกจากนี้ แต่ละร้านจะต้องมีงบสำหรับการสั่งซื้อภาพยนตร์ซึ่งจะมีมูลค่า 30% ของรายรับของแต่ละร้าน ซึ่งบริษัทฯ จะเลือกภาพยนตร์ให้แฟรนไชซีประมาณ 20% ของรายรับ ส่วนอีก 10% ของรายรับแฟรนไชซีต้องเป็นคนเลือกเอง
สำหรับโลเคชั่นของพื้นที่จะต้องเป็นพื้นที่ระดับเอถึงเอบวก โดยแบบเอจะต้องมีจำนวนบ้านเรือนไม่ต่ำกว่า 5,000 หลังคาเรือน ส่วนแบบบีต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 หลังคาเรือน ซึ่งปริมาณผู้ที่มาเช่าจะมีประมาณ 30% ของจำนวนประชากรแต่ละพื้นที่ ซึ่งปริมาณของแผ่นที่สามารถวางได้ในร้านรูปแบบเอ 6,000-7,000 แผ่น ส่วนแบบบีสามารถวางได้ 3,000-4,000 แผ่น โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นแฟรนไชส์ของบริษัทฯ จะต้องมีเงิน, มีทำเล ถ้าไม่มีบริษัทฯ จะหาให้ และต้องชอบในการทำธุรกิจ
"คุมอง"
"คุมอง" ธุรกิจการศึกษาที่หลายคนมองว่าเป็นคณิตคิดเร็ว แต่ผู้บริหารยืนยันว่า คุมองไม่ใช่คณิตคิดเร็ว แต่เป็นสถาบันพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์และภาษา ที่เข้ามาเปิดดำเนินการในไทยมาไม่น้อยกว่า 8 ปี
สำหรับผู้ที่สนใจเปิดแฟรนไชส์คุมองจะต้องเสียค่าไลเซ่น 22,000 บาท และ ค่า loyalty 40-45% ของรายได้ต่อเดือน ซึ่งหากภายใน 1 ปีแฟรนไชซีมีผลประกอบการดี บริษัทฯ จะลดค่า loyalty feeให้เหลือ 40% ต่อเดือนถือเป็นค่าแฟรนไชส์ของธุรกิจการศึกษาที่ถูกที่สุดในระบบ เนื่องจากแฟรนไชส์แบรนด์อื่นต้องเสียค่าแฟรนไชส์เป็นหลักแสนบาทขึ้นไป แต่สำหรับคุมองเสียค่าแฟรนไชส์เป็นหลักหมื่นซึ่งจะถูกกว่าแบรนด์อื่นๆ ประมาณ 10 เท่า
อย่างไรก็ดี ด้วยค่าแฟรนไชส์ที่สูงของธุรกิจการศึกษาหลายๆแบรนด์ ก็ทำให้ภาพรวมของแฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาไม่มีการเติบโตมากนัก ส่งผลทำให้ตลาดอยู่ในภาวะนิ่ง
สำหรับการก้าวเข้ามาอยู่ในพอร์ตแฟรนไชส์ของคุมอง สิ่งที่แฟรนไชซีจะได้คือตำราเรียนและอุปกรณ์การเรียนสอนฟรีตลอดชีพ นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิในการเทรนด์ของบริษัทฯ ซึ่งแฟรนไชซีจะต้องเข้ารับการเทรนด์ของบริษัทฯ ตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ในแต่ละปีด้วย