ไหมไทย หรือ Thai Silk ชื่อนี้ติดปากติดหูชาวต่างประเทศไปทั่วโลก นับตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสต่างประเทศโดยทรงฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บจากผ้าไหมไทยให้ชาวโลกได้ประจักษ์ อีกทั้งเมื่อ จิม ทอมป์สัน ได้นำผ้าไหมจากแดนสยามไปสู่ตลาดโลก นับแต่นั้นเมื่อพูดถึงผ้าที่ดีที่สุด แน่นอนว่า ไหมไทย ได้ขึ้นเป็นระดับต้นๆในทำเนียบรายชื่อด้วย
ทุกวันนี้เมื่อเห็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็น ไหมไทย อาจยืนยันไม่ได้ว่าจะมีคุณภาพจริงๆ ดั่งเสียงร่ำลือ เพราะไหมไทยกินความหมายกว้าง เมื่อซื้อผ้าไหมลายไทย ที่ทอในประเทศไทย แต่เส้นไหมที่ใช้อาจเป็นไหมสายพันธุ์ต่างประเทศก็ได้ แล้วมันจะแตกต่างกันตรงไหน เรามาทำความรู้จักกับไหมสายพันธุ์ไทยแบบออริจินัลชนิดคร่าวๆ กันดีกว่า
ในภาคอีสานสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง มีพืชพื้นบ้านชนิดหนึ่งคือ หม่อน ซึ่งทนแล้งทนหนาวทนฝนทนสารพัด เมื่อมีใบหม่อนก็เลยมีผีเสื้อไหมมากินใบหม่อน เป็นวัฏจักรตามธรรมชาติ เมื่อคนอีสานมองหาเส้นใยมาทำเครื่องนุ่งห่ม ก็เลยมีไหมเป็นตัวเลือก ไหมกลายเป็นเส้นใยธรรมชาติซึ่งคนในแถบภาคอีสานเอามาใช้งานปกติ ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องของความฟุ่มเฟือย ความหรูหรา ความมีระดับแต่ประการใด พ่อเฒ่าแม่เฒ่านุ่งผ้าซิ่นไหมไปดำนาไปหาปลาเป็น เรื่องปกติธรรมดา ไหมในภาคอีสานเป็นวิถีชีวิตที่เกิดมาเนิ่นนาน
เส้นไหมที่ใช้ทอผ้าในประเทศไทย มีที่มาจากกระบวนการผลิต 2 ระบบ คือระบบโรงงาน เรียกว่า ไหมอุตสาหกรรม ซึ่งมีการนำสายพันธุ์จากต่างประเทศมาพัฒนา มีการผลิตด้วยเครื่องจักร เส้นไหมเรียบสวยสม่ำเสมอได้มาตรฐานสากล ทุกวันนี้บ้านเรามีโรงงานผลิตเส้นไหมที่ได้มาตรฐานคือ จุลไหมไทย ผลิตเส้นไหมสีขาว ซึ่งยังสามารถย้อมสีตามสั่งได้อย่างที่ผู้ซื้อต้องการ เพียงแต่ต้องมียอดการสั่งซื้อไม่ต่ำกว่าที่กำหนด เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กๆไปจนกระทั่งโรงงานขนาดใหญ่
ยังมีไหมจากการผลิตแบบดั้งเดิมเรียกว่า ไหมชุมชน ซึ่งกิจกรรมทุกอย่างในกระบวนการผลิตจะเบ็ดเสร็จอยู่ในชุมชน ตั้งแต่สายพันธุ์ไหมดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา การปลูกหม่อนที่จะมาเป็นอาหารเลี้ยงหนอนไหม จนกระทั่งได้รังไหมที่พร้อมจะสาว จากนั้นก็สาวเป็นเส้นไหมและนำมาทอผ้า นี่เป็นกระบวนการทอผ้าไหมที่มีในชุมชนมาเนิ่นนาน ซึ่งหากนับในแง่ของธุรกิจ ก็เป็นธุรกิจที่ครบวงจรอยู่ในระดับชุมชน
เหตุผลที่มีการนำเข้าสายพันธุ์ไหมจากต่างประเทศก็เพราะ ในอดีตเมื่อคนเริ่มหันมาทำไหมกันมากขึ้น ไหมชุมชนในสมัยนั้นเริ่มไม่พอ จึงความพยายามหาวิธีเพิ่มผลผลิต เพื่อให้มีเส้นไหมบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการเริ่มนำไหมญี่ปุ่นเข้ามา นับเป็นจุดเริ่มของการเข้าสู่ระบบการพัฒนาสายพันธุ์และกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม ธิดารัตน์ ติยะจามร ฝ่ายการตลาดของเครือข่ายพัฒนาหม่อนไหมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นองค์กรจากการรวมตัวของชาวบ้านผู้ผลิตไหมพื้นเมือง หรือที่เรียกว่าไหมชุมชน ช่วยอธิบายเรื่องของเส้นไหมให้เราได้รับรู้
"ส่วนใหญ่ไหมอุตสาหกรรมสาวออกมาเส้นจะเรียบสม่ำเสมอตลอดทั้งหมด เพราะความที่รังใหญ่ สามารถเข้าเครื่องสาวแบบอัตโนมัติได้ เครื่องก็จะดีดรังไหมเข้าไปเพิ่มเพื่อควบคุมให้เส้นไหมสม่ำเสมอ ในขณะที่ไหมไทยหรือไหมพื้นบ้านรังเล็ก เครื่องอัตโนมัติที่เป็นโนว์ฮาวของต่างประเทศจะใช้กับไหมไทยไม่ได้เลย ก็ต้องสาวด้วยมือเป็นหลัก เส้นไหมที่ไม่สม่ำเสมอ ช่วงไหนที่เส้นหนาเวลาเราลอกกาวออกมันก็จะมีเนื้อไหมเยอะ เวลาย้อมสี ตรงที่มีเนื้อของเส้นใยเยอะ ก็จะดูดสีเยอะ แต่ส่วนที่เส้นบาง มันก็ดูดสีได้น้อยกว่า กลายเป็นว่าในไหมหนึ่งใจมีทั้งสีเข้มสีอ่อน พอทอเป็นผ้า ผ้าก็จะด่าง ตรงนี้สีเข้ม ตรงนี้สีอ่อน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมชาวบ้านในภาคอีสานถึงทำผ้ามัดหมี่ ก็เพราะมัดหมี่เป็นวิธีที่ช่วยกลบเกลื่อนความไม่สม่ำเสมอของเส้นไหมได้ดีที่สุด ลายมัดหมี่จะไปบดบังความที่หนาบ้างบางบ้างของเส้นไหม มันจะไม่เห็นตำหนิผ้าเลย"
การผลิตในสองระบบทำให้ได้เส้นใยที่มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิง เพราะสายพันธุ์ที่ต่าง เครื่องไม้เครื่องมือ กระบวนการผลิตเส้นไหม ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาคือตัวเส้นไหมมีความต่าง หากนำเอามาตรฐานสากลในเรื่องของความสม่ำเสมอเข้ามาจับ เมื่อนำไหมพื้นบ้านไปทอผ้าแบบอุตสาหกรรม ก็จะกลายเป็นผ้าที่มีตำหนิทันที ดังนั้นระบบอุตสาหกรรมเต็มตัวซึ่งเป็นระบบออโตเมติกทั้งหมดจึงไม่พอใจกับการใช้ไหมชุมชนนัก
"ความต่างตรงนี้ ถูกมองว่าเป็นปัญหามาตลอด จากเมื่อก่อน 15 ปีที่แล้ว เรามีคนทำไหมถึง 350,000 คน แต่พอสิ่งที่ชาวบ้านผลิตไปตอบสนองอุตสาหกรรมไม่ได้ เพราะคำว่าอุตสาหกรรมคือต้องมีมาตรฐาน มีความสม่ำเสมอตั้งแต่ล็อตแรกถึงล็อตที่ร้อย ในขณะที่ไหมไทยทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเวลาที่รวมไหมเข้ามาเป็นล็อตใหญ่ๆ เราสาวกันคนละบ้าน ในเส้นไหม 100 กิโลกรัม อาจจะรวมจากหลายหมู่บ้าน เพราะเราเป็นผู้ผลิตรายเล็กๆ เส้นไหมของเรากลายเป็นไหมเกรดสอง ที่เอาไปใช้ทำผ้าที่ไม่ได้หวังเรื่องราคา แต่ถ้าจะไปใช้ทำผ้าราคาแพงอย่างที่ จิม ทอมป์สันทำ เมื่อซื้อไป 100 กิโลกรัมอาจจะต้องคัดทิ้งถึง 30 กิโลกรัม จึงต้องกดราคาชาวบ้านให้ถูกๆไว้ เพื่อเผื่อความสูญเสีย เมื่อชาวบ้านเริ่มรู้สึกว่าไม่คุ้ม บางคนพอมีทางเลือกอื่นก็เปลี่ยนอาชีพไป แต่บางคนก็ไม่มีทางเลือก"
"จากเดิมก็มีคนทำไหมทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะต้องทำใช้เอง จนปัจจุบันมีเส้นใยตัวอื่นเข้ามา เลยเหลือคนทำไหมจริงๆอยู่ประมาณ 150,000 ครอบครัว ในภาคอีสาน 19 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่ทำหนาแน่นจะมี ขอนแก่น บุรีรัมย์ มหาสารคาม โคราช สุรินทร์ เกือบทุกหมู่บ้านจะต้องมีการทำไหม จะเห็นว่าไหมชุมชนนี่ ถือเป็นฐานการผลิตเส้นใยไหมที่ป้อนให้กับอุตสาหกรรมไหมมหาศาล"
กลับมาในส่วนของ ไหมอุตสาหกรรม ซึ่งเพิ่งเกิดในประเทศไทยเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง คำว่าไหมอุตสาหกรรมนั้นเริ่มตั้งแต่สายพันธุ์ไหมซึ่งได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากต่างประเทศ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนคือรังไหมมีสีขาว และมีขนาดใหญ่กว่าให้เส้นไหมที่ยาวกว่า ในไหมแต่ละรังหากคลี่เส้นใยออกมา อาจยาวถึง 1,200 เมตรเลยทีเดียว ขณะที่ไหมไทยพื้นเมืองปกติแล้วยาวเพียงแค่ 300-400 เมตร
"ไหมขาวเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้าจากจีนจากญี่ปุ่น เขามีโนว์ฮาวที่พัฒนามานานก่อนหน้าเรา เวลาเส้นไหมพวกนี้ออกไปสู่ตลาด เราก็แข่งกับเขาได้ยาก เพราะเขาเป็นต้นตำรับ อีกอย่างไหมจีนเนื่องจากว่าอากาศของเขาเหมาะเลี้ยงสภาพยังไงก็ได้ แต่เอามาอยู่กับเรามันกลายเป็นพันธุ์พิเศษ เพราะอากาศของเราไม่เหมือนจีนไม่เหมือนญี่ปุ่น เราต้องเทคแคร์มันอย่างดี ต้องใส่ปัจจัยการผลิตเข้าไปพอสมควร ถึงจะอยู่รอดได้"
บทบาทของเครือข่ายที่ธิดารัตน์ทำอยู่คือทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นโรงทอผ้าหรือศูนย์จำหน่ายผ้าไหม รวมไปถึงส่วนราชการและกลุ่มผู้ผลิตอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
"คอนเซปต์หลักของไหมจากเครือข่ายคือ ตัวเส้นอาจจะไม่ได้มีความต่างจากอดีต แต่ก็มีมาตรฐานในเรื่องของขนาด อีกทั้งจุดด้อยเรื่องความไม่สม่ำเสมอยังสามารถนำมาเป็นจุดเด่น เพราะสามารถสาวให้ได้เส้นใยที่มีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งซื้อหาที่ไหนไม่ได้นอกจากมาที่เครือข่ายนี้ เราเป็นแค่ศูนย์จัดจำหน่ายชาวบ้านอยู่ไม่รอด เราต้องพัฒนาตัวโปรดักส์ของเราให้ตอบสนองผู้ใช้ในอุตสาหกรรมได้ด้วย ไม่ใช่ผู้ใช้แค่เฉพาะในโรงทอผ้าแถวปักธงชัย แถวชนบท คนทอผ้าด้วยกี่กระตุกธรรมดา"
"บางคนบอกว่าจุดอ่อนของไหมไทยคือสาวมือ เพราะทำให้ควบคุมมาตรฐานลำบาก การสาวมือกลายเป็นจุดแข็งสำหรับเรา เพราะว่าเช้าสาวเบอร์นี้ บ่ายอาจจะสาวเบอร์นี้ ค่ำๆช่วยสาวเบอร์นี้ให้อีกกิโล มันสามารถพลิกได้เร็วมาก เพราะความที่มันเป็นแมนนวล ในขณะที่คุณไปพูดกับระบบออโตเมติก เขาต้องถามคุณแล้วว่ากี่ตัน ถึงจะเปลี่ยนลายการผลิตมาทำตรงนี้ได้ แต่เราเปลี่ยนได้ทุกเวลาที่เราต้องการเส้นใยแบบไหน เพราะฉะนั้นมันน่าจะเป็นจุดแข็งมากกว่า ที่เราสามารถปรับระบบการผลิต ให้มันสอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่ากลุ่มผู้ซื้อจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในการที่เราจะปรับตัว คราวนี้เราไม่คิดถึงตลาด mass แล้ว เรานึกถึงตลาดที่เป็น Niche Market จริงๆ"
"ทำเป็นมาตรฐานสากลทั้งหมดมันเครียด เพราะว่านั่นหมายความว่าเรากำลังพยายามเปลี่ยนคนแสนกว่าคนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วหัวระแหง ซึ่งมันยากมาก แต่ในขณะที่ถ้าเราหยิบสิ่งที่เขามีอยู่ แล้วมีคนมาช่วยกันคิด ออกแรงนิดหน่อยว่าจะยังไงกับมันดี กับสิ่งที่ชาวบ้านมีอยู่ ปรับตรงไหนได้บ้าง ที่อยู่ในวิสัยที่ชาวบ้านปรับได้ อย่างเช่น ปรับขนาดใจไหม ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ชาวบ้านปรับไม่ได้"
เมื่อไหมไทยไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อมาตรฐานสากลต่างๆตั้งแต่แรก ฉะนั้นก็หลีกเลี่ยงการเอามาตรฐานเหล่านั้นมาวัด ลองมาเน้นความพึงพอใจของผู้ซื้อซึ่งก็คือกลุ่ม Niche ที่วัดกันที่ดีไซน์และการใช้งาน บวกกับคุณค่าทางจิตใจ ลองมาพิสูจน์ดูว่า ไหมไทย แท้ๆสามารถทำตลาดสากลได้อย่างที่ตัวมันเป็นหรือไม่
หันมาดูทางด้านผู้ประกอบการดูบ้าง Silk Avenue เป็นผู้บุกเบิกนำเอาไหมไทยมาผลิตเป็นผ้าบุเฟอร์นิเจอร์และผ้าซึ่งในในงานด้านการตกแต่งภายใน ซึ่ง กมลเนตร ไกรตระกูล กรรมการผู้จัดการของ Silk Avenue ก็ให้เหตุผลของการที่ใช้ไหมพื้นเมืองว่า
"เราเห็นในเรื่องคุณภาพของไหมเหลือง ซึ่งเป็นไหมไทย ทำให้เราเองก็อยากส่งเสริมชาวบ้าน การเลี้ยงไหมไทยมันดีตรงที่ว่าเราไม่ต้องใช้เคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย ถ้าเป็นไหมรังขาวจริงๆ มันต้องอยู่อากาศเย็น ส่วนไหมรังเหลืองของเรามันเป็นธรรมชาติของพื้นที่ตรงนี้ ที่ไม่จำเป็นที่จะต้องมาประคบประหงม โดยที่ใช้ยาฆ่าโน่นฆ่านี่ใช่มั้ยค่ะ มันก็อยู่ของมันได้ ถึงไหมขาวทอง่ายกว่า ความเสียหายก็น้อยกว่า แล้วออกมาจะเนียนกว่า แต่ความคงทนแล้วเส้นเหลืองจะดีกว่า เราใช้ไหมรังเหลืองมาตลอด ซึ่งจริงๆแล้วก็ยอมรับว่าต้นทุนสูงกว่าเยอะ แต่ความทนทาน ถ้าคนใช้แล้วจะรู้ว่ามันดีกว่ามาก ไหมรังเหลืองเราสามารถซักมือธรรมดาได้ ขณะเดียวกันยิ่งซักยิ่งวาว เราต้องดีไซน์รูปแบบของไหมรังเหลืองที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช่ต้องเรียบเหมือนไหมจีน มันมีเท็กเจอร์ในตัวของมัน ซึ่งมองดูแล้วเป็นเสน่ห์มากกว่า ซึ่งคุณภาพของเส้นใยที่คงทน เราก็เลยมาทำเป็นเครื่องเฟอร์นิเจอร์ อย่างเช่นบุเก้าอี้ โซฟา แล้วก็ทำม่าน เครื่องเรือนอะไรพวกนี้ "
"เราเองก็ไม่ได้คิดทำธุรกิจที่ว่าจะทำเงินอย่างเดียว ก็มีคอนเซปต์ในส่วนที่อยากอนุรักษ์ไหมรังเหลืองไว้ คำว่า ไทยซิลค์ นี่เป็นอะไรที่มีคุณค่ายิ่งกว่าอัญมณีของผ้าเลย แต่กลายเป็นว่าตอนนี้คุณค่าตรงนี้มันจะค่อยๆหายสาบสูญไป เข้าใจว่าประเทศอื่นก็จ้องมองอยากจะได้พันธุ์ของเราไปพัฒนา ไปเลี้ยงที่ประเทศเขา เหมือนอย่างข้าวหอมมะลิของเรา กลายเป็นของคนอื่นไปซะแล้ว ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย ก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง อยากให้ช่วยอนุรักษ์ตัวไหมรังเหลืองให้คงอยู่ต่อไป เพราะว่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกันว่าในอนาคตข้างหน้า มันจะสูญพันธุ์ เราเสียดายคำว่าไทยซิลค์อย่างมาก "
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาท ทรงส่งเสริมให้ใช้ไหมพันธุ์พื้นเมือง โดยหมู่บ้านในโครงการศิลปาชีพทั้งหมดก็ใช้ไหมไทยพันธุ์พื้นเมือง ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฑีขะระ รองราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งดูแลงานในส่วนของศิลปาชีพ ได้ช่วยเล่าให้เห็นถึงภาพของไหมพื้นเมือง
"ไหมไทยนี่เป็นรังสีเหลือง รังเล็กไม่ใหญ่ ชาวบ้านเลี้ยงอยู่ในกระด้ง เลี้ยงเสร็จรุ่นนี้ไป เขาก็จะเก็บพันธุ์ หยิบขึ้นมาฟังดูตัวดักแด้อยู่ข้างใน ถ้าเป็นเสียงที่ดีแข็งแรงหนักแน่น เขาจะเก็บเอาไว้เพื่อผสมพันธุ์ ที่นี้ด้วยพันธุ์เดียวกันซึ่งอยู่ในบ้านเดียวกัน มันจะค่อยๆด้อยคุณภาพลง ชาวบ้านก็ต้องเดินข้ามทุ่งนาไป ไปเอาพันธุ์ไหมของอีกหมู่บ้านมาผสมกับของเขา มันก็จะทำให้พันธุ์แข็งแรงขึ้น บางทีเดินลัดทุ่งนาไปไกล เพื่อจะไปแลกกัน นี่คือพันธุ์ไทยแท้ๆ ก็จะมีชื่อพันธุ์นางน้อย นางนวล นางเหลือง ชาวบ้านทำแบบนี้มาตลอด"
"ต่อมาการนิยมผ้าไหมไทยมากขึ้น ก็ต้องผลิตให้มากขึ้น เพราะรังไหมไทยรังเล็ก สาวสั้น โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งต้องการเยอะๆ เส้นไหมที่ผลิตในประเทศก็ไม่พอ เขาก็เอาเส้นไหมจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งรังมันโต อย่าง ไหมญี่ปุ่น ไหมจีน ไหมเกาหลี แต่รังสีขาว เอามาใช้เป็นเส้นยืน แล้วก็เอาไหมไทยพุ่ง ต่อมาก็เอาพันธุ์ไทยผสมกับพันธุ์ต่างประเทศ เอาส่วนเด่นของเขามาผสมกับไอ้ของพื้นบ้านของเรา เป็นลูกผสมต่างประเทศไปแล้ว ถ้าทำอย่างนี้มากๆเข้า ไหมไทยจะถูกกลืนเลือนหายไป พันธุ์ไหมไทยแท้ๆดั้งเดิมมันก็จะหมดไปจากแผ่นดินไทย อันนี้ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯท่านทรงเป็นห่วง ทรงโปรดให้รักษาพันธุ์อันนี้ไว้ แล้วก็รับสั่งให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรเขาก็ต้องมารณรงค์ที่จะรักษาไหมอันนี้ไว้"
"เวลานี้ผสมโน่นผสมนี่กันใหญ่ คนก็คิดเก่ง คิดไหมประดิษฐ์ขึ้นมาอีก คิดวัสดุขึ้นมาแทนไหม เป็นใยสังเคราะห์ แต่ทำให้มันเหมือนกับไหม ทำเทียมไหมแล้วก็เรียกว่า silk ซึ่งมันไม่ถูก ชาวต่างประเทศไม่รู้เขาซื้อไปใส่ แล้วคุณภาพมันไม่เหมือนกับไหมที่เคยรู้จัก คำว่า Thai Silk มันก็จะไม่มีขอบเขต ควรที่จะให้รู้ว่าคำว่า Thai Silk คืออะไร ต้องช่วยกันรณรงค์ไว้ แล้วก็ให้รักษาพันธุ์ไหมไทยดั้งเดิมของเราเอาไว้ ให้มันยังมีอยู่ติดกับแผ่นดินไทย
"เดี๋ยวนี้ชาวบ้านบางทีขี้เกียจปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแล้ว บางคนกลัวหนอนไหม แต่ว่าชอบทอผ้า ก็ไปหาซื้อไหมรังสีเหลือง เพราะไหมรังสีขาวนี่เราไม่รับอยู่แล้ว ไอ้ไหมรังเหลืองอันนั้นมันเป็นลูกผสมต่างประเทศมาแล้วเรียบร้อย บางคนทอผ้าไปไม่รู้หรอกว่าไหมจริงๆแล้วเป็นอย่างไร เราก็ต้องอธิบาย ต้องให้ความรู้ว่าอันนี้มันไม่ใช่ไหมไทย มันเป็นไหมลูกผสม ไหมไทยจริงๆที่ปู่ย่าตายายเราเลี้ยงต้องเป็นอย่างนี้ เราก็จะค่อยๆ ต้องตีกรอบไว้"
"ควรจะแยกไหมอุตสาหกรรมก็ไหมอุตสาหกรรม แต่ไหมไทยยังต้องมีอยู่ แล้วไหมไทยนี่แข็งแรงทนทานมาก ชาวบ้านเลี้ยงไม่ค่อยตายหรอก คิดง่ายๆแบบนี้นะ ต่างชาติมาอยู่บ้านเราอาจจะไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศเรา เพราะฉะนั้นไหมพันธุ์ลูกผสมต่างประเทศนี่ บางครั้งเลี้ยงทั้งกระด้งตายหมด ไหมไทยมันทน เพราะฉะนั้นควรจะเก็บอนุรักษ์ไหมไทยเอาไว้ เราก็จะเอาแต่ไหมไทยพันธุ์แท้ไปให้สมาชิกศิลปาชีพเลี้ยง เราจะรู้ว่าไข่หนึ่งแผ่น จะเลี้ยงได้ไหมโดยเฉลี่ยกี่กิโล ตรงนี้ที่เราจะการันตีได้ว่า นี่แหละ เป็นไหมไทยแท้ๆ ไหมที่ผลิตในประเทศไทยแต่เป็นลูกผสมต่างชาติ เราต้องแยกให้เห็น"
"ไหมไทยทำให้เรียบได้โดยใช้ไหมรังส่วนที่อยู่ข้างใน เวลาสาวเส้นไหมไทยก็จะแยกสองส่วน สาวเส้นที่อยู่ข้างนอกก่อน เส้นที่อยู่ข้างนอกมันจะเป็นเส้นหยาบ แล้วเส้นละเอียดยิบเลยมันจะอยู่ข้างใน ติดกับตัวหนอนข้างในเรียกว่า ไหมน้อย เป็นไหมชั้นในสุด คนไทยเราก็เก่งมาก เอาเส้นไหมชั้นในมาเป็นเส้นยืน แล้วเอาเส้นไหมหยาบมาเป็นเส้นพุ่ง คุณได้ผ้าทอออกมาที่เนื้อหยาบสวยเป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนไหมของประเทศอื่น ไหมจีนไหมอะไรเขาเรียบหมดเลยไม่มีปุ่มมีปม"
"เวลาย้อมสี มันจะดูดซึมสีดี ความพรุนของเส้นไหมที่จะซึมซับสีได้ดี แล้วสีจะสวย สีจะแปลก คิดดูสิ ไหมอื่นสีขาว ย้อมสีลงไป ย้อมแดงมันก็เป็นแดงดังใจคุณ ย้อมเขียวมันก็เป็นเขียว เพราะพื้นมันขาว แต่ไหมไทยเรานี่ ฟอกเอากาวไหมออกไปแล้ว เส้นไหมมันจะเป็นสีเหลืองนวลๆ คุณเอาสีแดงลงไป แดงมันจะแปลก เพราะมันจะเป็นแดงที่ลงไปผสมกับเหลือง มันจะมีความสวยที่ใครก็ทำได้ไม่เหมือน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเรา เพราะฉะนั้นชาวต่างชาติเขาถึงได้ตื่นเต้นกับไหมไทย"