xs
xsm
sm
md
lg

ดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ ขายฝันโครงการ “ดีทรอยต์แห่งเอเซีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


SMEs TODAY - หากดูจากภูมิหลัง ดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ เป็นที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงธุรกิจยานยนต์มายาวนาน ในฐานะทายาทของตระกูล “สิทธิผลมอเตอร์” หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในอดีตเขาเคยสวมหมวกมาแล้วหลายใบ ตั้งแต่ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชน กระทั้งก้าวขึ้นมาสู่งานการเมืองระดับชาติ และปัจจุบันก็ยังคงสวมหมวกอีกหลายใบ โดยเป็นเลขาธิการสภาหอการค้าไทย และที่ปรึกษาผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถือเป็นผู้นำคลื่นลูกใหม่ด้วยวัย 40 ต้นๆ ที่มีผลงานเป็นที่น่าจับตาอีกท่านหนึ่ง

ผลงานของ ดร.วัชระ เริ่มโดดเด่นยิ่งขึ้น นับตั้งแต่เป็นแม่งานจัดการประชุมเอเปค ซีอีโอ ซัมมิท 2003 ที่ได้จบลงอย่างสวยงาม และต่อมาจึงถูกวางตัวในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นมือขวาคนสำคัญของพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสิ่งที่เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบเป็นหลักคืองานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และธุรกิจเอสเอ็มอี
แน่นอนว่านั้นคืองานที่เขาถนัดที่สุด
     กระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการในฝันที่จะปั้นให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งภูมิภาคหรือที่เรียกว่า “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” นอกจากนี้ ยังมีโปรเจ็กต์ “อีโคคาร์” ที่ไม่ใช่ยานยนต์ประเภทเอื้ออาทรอย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่เป็น “เดอะ เบสต์ ลิตเติล คาร์” หรือรถยนต์ทางเลือกใหม่สำหรับคนไทย และมีเป้าหมายสูงสุดก็คือในปี 2553 ไทยจะติดอันดับท๊อปเทนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก
ลองท้าพิสูจน์กันดูว่า อีก 6 ปีข้างหน้า โครงการในฝันทั้งหมดนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่

โครงการ “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์สำคัญของอุตสาหกรรมไทย ในฐานะของผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง ได้วางเป้าหมายไว้อย่างไร

     ยุทธศาสตร์สำคัญของอุตสาหกรรมไทยที่มีภาพชัดเจนตอนนี้มี 5 โครงการหลัก ได้แก่ ดีทรอยต์แห่งเอเชีย ครัวไทยสู่โลก กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น ซอฟต์แวร์ไอที และศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งเอเชีย สำหรับดีทรอยต์แห่งเอเชีย เป้าหมายของเราจะต้องเป็น 1 ใน 10 ท๊อปเทนของผู้ผลิตยานยนต์โลกในปี 2553 ดังนั้น ดังนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการที่ชัดเจน โดยในกลุ่มยานยนต์จะมีอยู่ 3 ส่วน คือ ผู้ผลิตยานยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน และฝ่ายผู้สนับสนุน ผมจะเชิญประธานบริษัท 6 บริษัทใหญ่ เช่น ฮอนด้า โตโยต้า เดมเลอร์ไครสเลอร์ และเชิญผู้บริหารในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เลขาธิการบีโอไอ ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรม อธิบดีกรมส่งเสริมออุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งผู้บริการต่างๆ เหล่านี้จะมาอยู่ในคณะกรรมการ โดยผมเป็นประธาน ส่วนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์เป็นเลขาฯ
     เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นเลิศทางด้านยานยนต์ที่สามารถผลิตได้ 1 ล้านคัน ในปี 2549 และ 1.8 ล้านคัน ในปี 2553 สำหรับชิ้นส่วนต้องส่งออกให้ได้ 2 แสนล้าน ในปี 2549 และส่งออกให้ได้ถึง 4 แสนล้าน ในปี 2553 และต้องทำให้มูลค่าเพิ่มของชิ้นส่วนภายในประเทศสูงขึ้นไปเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2549 และ 70 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2553

     ในส่วนของรถจักรยานยนต์ต้องผลิตให้ได้ 2 ล้านคัน ในปี 2549 และ 3 ล้านคัน ในปี 2553 ซึ่งทุกอย่างรัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้หมดแล้ว ฉะนั้น โครงการดีทรอยต์แห่งเอเชียจะทำให้เกิดการจ้างงานขึ้นอีกมาก เพราะรถยนต์คันหนึ่งที่ผลิตออกมาจะเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นอีกมากมายหลายร้อยบริษัท ทั้งโรงงานผลิตเหล็ก พลาสติก ปิโตรเคมี กระจก ชิ้นส่วน แม่พิมพ์และเกี่ยวข้องกับการจ้างงานอีกนับแสนคน ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด
ทั้งหมดนี้เป็นงานที่ผมรับผิดชอบโดยตรง
    นอกจากนี้ ยังมีอีก 14 โครงการย่อยโดยโครงการที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากในตอนนี้คือ อีโคคาร์ เป็นการเพิ่มรถยนต์ขนาดเล็กขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง และจะทำการส่งออกตลาดโลกด้วย โดยมีปิกอัพเป็นพระเอกและจะเป็นพระเอกต่อไป ซึ่งปัจจุบันนี้ไทยก็เป็นฐานการผลิตหลักของโลกแล้ว นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจที่เป็นของคนไทย เช่น การประกอบรถยนต์ดัดแปลงแบบไทยรุ่ง แครี่บอย รถบัส ซึ่งเราก็จะพยายามส่งเสริมให้คนไทยมีความสามารถมากขึ้น นี้ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่ง

อีกนนานไหมที่คนไทยจะได้ยลโฉมอีโคคาร์อย่างเต็มรูปแบบ
     ตอนนี้ถึงจุดที่เรากำลังพิจารณาเรื่องสเปคของอีโคคาร์ โดยเราต้องการให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถเป็นเจ้าของได้ เพราะรถยนต์ที่มีขายในปัจจุบันราคาต่ำสุดอยู่ที่ 500,000 บาท ถ้าเรามีเงินเดือนเดือนละหมื่นเศษๆ ก็คงจะลำบาก ฉะนั้น เราจึงต้องการให้อัตราการผ่อนรถต่อเดือนต่ำลงมาอีก
     สมมุติว่ารถยนต์คันหนึ่ง 500,000 บาท ดาวน์ 25 เปอร์เซ็นต์ ผ่อน 48 งวด จะต้องจ่ายค่างวดต่อเดือน 7,000 บาท แต่เราอยากให้ค่างวดลงมาสัก 5,000 เศษๆ ฉะนั้นตัวรถก็ต้องราคาต่ำกว่า 500,000 จะต่ำกว่าได้อย่างไรนั้นคงจะใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตอย่างดียวไม่ได้ เพราะถือเป็นการบิดเบือน ฉะนั้น เราก็ต้องใช้วิธีการส่งเสริมการลงทุน ให้บริษัทรถยนต์มาลงทุนเพิ่มขึ้น และให้สิทธิประโยชน์เต็มที่ในการย้ายฐานที่ผลิตมาที่เมืองไทย และหากเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกก็จะได้ปริมาณการผลิตที่มากขึ้น ราคาก็จะถูกลง ตัวรถจะมีสเปคที่ถูกต้องตามมาตรฐาน เช่น มาตรฐานด้านความปลอดภัย มาตรฐานด้านมลภาวะ และการประหยัดน้ำมัน ส่วนมิติของตัวถังก็ให้มีขนาดย่อมเยาเพื่อลดพื้นที่การจราจร ทำให้ลดติดในเมืองน้อยลง
     ขณะเดียวกัน ก็สามารถทำให้คนมีรายได้ต่ำใช้ได้ เพราะมาตรการของรัฐบาลคือการแก้ไขปัญหาความยากจน และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น
    สำหรับอีโคคาร์นี้ เราคงไม่เรียกว่าเป็นรถเอื้ออาทร แต่ผมขอเรียกเป็น The Best Little Car คือเปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้น้อยมีโอกาสซื้อรถได้มากขึ้น ส่วนการส่งออกก็จะมีตลาดนอกประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งแต่ละแบรนด์ที่เขามาผลิตก็คงตั้งเป้าเรื่องการส่งออกอยู่แล้ว

เสียงตอบรับจากผู้ผลิตรถยนต์ค่ายใหญ่ๆ เป็นอย่างไรบ้าง
      ส่วนใหญ่ก็ให้ความสนใจมาก เพราะตลาดไทยยังไม่มีตลาดรถเล็ก แต่คิดว่าหลายๆ แบรนด์คงมาแน่นอน เพียงแต่เราไม่ได้เน้นความสำคัญเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยขนาดเล็กเท่านั้น ปิกอัพก็ยังเป็นพระเอกเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าต้องมีผู้ช่วยพระเอกมีพระรองเข้ามาเสริมเพราะตลาดรถยนต์มีโครงสร้างที่ค่อนข้างซับซ้อน ไม่ใช่ว่ารถรุ่นเดียวจะสามารถทำตลาดได้ ต้องมีทั้งปิกอัพ ทั้งรถเก๋ง เพราะตลาดรถเก๋งประมาณ 1,500 ซี.ซี. ก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่และมีขนาดใหญ่ด้วย เพียงแต่เราเสริมตรงนี้เพิ่มขึ้นมา โดยไม่ได้ไปแย่งตลาดกัน เพื่อให้คนไทยและผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น ถ้าต้องการเป็นท็อปเทนของโลกในปี 2553 เราก็ต้องขับเคลื่อนตรงนี้ออกไปให้มีการส่งออกมากขึ้น

หากประเมินศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะทำได้จริงหรือ
    
     ทำได้ครับ เราสู้ได้ทั้งในยุโรปและตะวันออก โดยปกติประเทศที่ผลิตรถยนต์จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ ระดับที่ 1 คือประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เช่น อเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น อันนี้คงไม่ต้องไปพูดถึงเขา เพราะเราไม่ใช่ระดับนั้น ระดับที่ 2 คือประเทศอย่างเรา มาเลเซีย ไต้หวัน สเปน ซึ่งเราแข่งตรงนี้ได้ ระดับที่ 3 คือประเทศที่เป็นผู้ซื้ออย่างเดียว
     ณ วันนี้เราอยู่ในอันดับที่ 15 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก เรากำลังจะขึ้นเป็นอันดับที่ 14 ในปี 2549 และในปี 2553 ถ้าเราแซงขึ้นมาโดยสามารถผลิตรถยนต์ได้ 1.8 ล้านคัน ก็น่าจะขึ้นมาอยู่ในท็อปเทนได้ไม่ยาก

อะไรคือแรงจูงใจให้ค่ายรถยนต์ใหญ่ๆ เข้ามาลงทุนให้ไทยเป็นฐานการผลิต ในเมื่อภาษีไม่ใช่เป็นประเด็นสำคัญ

     ภาษีสรรพสามิตซึ่งใช้กับรถเก๋งจะมีผลต่อตลาดในประเทศไทยส่วนหนึ่ง แต่ว่าเราคงไม่ไปแตะอะไรมาก เพราะโครงสร้างภาษีต้องมีความสมดุลอยู่ แต่เรามีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพราะตลาดของไทยใหญ่ขึ้น ในอาเซียนมีตลาด 550 ล้านคน เราทำ FTA กับอินเดีย 1,000 ล้านคน กับจีน 1,200 ล้านคน
     ซึ่งหากลงทุนเมืองไทยแล้วก็จะสามารถขยายผลต่อไปได้ ตรงนี้คือจุดแข็งที่เมืองไทยมี เพราะฉะนั้น การที่ท่านนายกฯ ไปทำ FTA กับประเทศต่างๆ ก็เพื่อประโยชน์ตรงนี้ เมื่อตลาดเปิดแล้วก็หมายความว่าจะเกิดถนน 2 เลนวิ่งสวนกัน แต่ในขณะเดียวกันเราเองก็คงต้องพร้อม เพราะถ้าเราไม่พร้อมที่จะส่งออกให้เขา แล้วเขาส่งสินค้าสวนกลับมาเราก็ปฏิเสธเขาไม่ได้ อยู่ที่ว่าแก้วใบหนึ่งใครจะทำได้ในราคาถูกกว่า ถ้าเราทำแก้วดีกว่า เราก็ขายเขาได้ เพราะฉะนั้น ตรงนี้เราต้องพร้อม ไม่อย่างนั้นเราต้องเป็นฝ่ายซื้อเขาอย่างเดียว ซึ่งก็ขาดดุล

     FTA จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยมีการปรับตัวในการแข่งขันให้เร็วขึ้น คือเราจะทำตลาดแบบโปรเท็กชั่น โดยมีมาตรการภาษี มีกำแพงภาษีป้องกันต่างๆ ไม่ได้แล้ว จะเห็นว่าตลาดเหล่านี้ต้องเปิดหมด เช่น NAFTA EU เขาก็เปิดหมดแล้ว ธุรกิจการค้าทุกอย่างเป็นกลุ่มหมด ฉะนั้น ถ้าเราไม่พร้อม เราก็อยู่ในสังคมโลกไม่ได้ WTO เขาเคลื่อนไหวอย่างไรเราก็ต้องไปตามนั้น

มีความเป็นไปได้ไหมที่จะผลักดันให้มีรถยนต์ของคนไทยเอง เหมือนอย่างที่มาเลเซียทำ

     ไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่ประเทศที่ผูกขาดการค้า เราเป็นประเทศเปิดเสรี ฉะนั้นทุกแบรนด์ต้องเข้ามาทำได้หมด เพียงแต่ชิ้นส่วนอาจจะทำในประเทศไทย แต่อย่างมาเลเซียแม้จะมีถึง 3 แบรนด์เป็นของตัวเอง แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องถอยออกไป เพราะว่าเขาไม่สามารถปกป้องประเทศเขาได้ แล้วที่ 3 แบรนด์นี้ขายได้ก็เพราะเขาได้สิทธิภาษีต่างจากคนอื่นซึ่งไม่ใช้การค้าแบบฟรีเทรด แต่ของเราเป็นฟรีเทรด เราจะทำอย่างนั้นไม่ได้
     แต่ทั้งนี้เราก็จะมีแบรนด์ไทยในเชิงของอะไหล่ แบรนด์ไทยในเชิงของรถดัดแปลง เช่น ไทยรุ่ง แครี่บอย เพราะถ้าเป็นแบรนด์รถยนต์คงเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อะไรก็ตาม ขอให้ทำในประเทศไทยก็แล้วกัน ซึ่งก็ถือเป็นเมดอินไทยแลนด์แล้ว ผมต้องการแค่นี้ เพราะตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ ในตลาดโลกถ้าจะให้แบรนด์ไทยเป็นที่ยอมรับทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราทำให้รถโตโยต้า มิตซูบิชิ หรืออีกหลายๆ ยี่ห้อเป็นเมดอินไทยแลนด์ได้ ตรงนี้จะสำคัญกว่า
     ถ้าในกรณีที่มีเรื่องการนำเข้าในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเพื่อให้ภาษีลดลง ตรงนี้จะกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศหรือไม่
เราก็ต้องพร้อมที่จะแข่งขัน ถ้าไม่พร้อมก็เปิดไม่ได้ มาเลเซียนี้ไม่พร้อม เพราะเขาไม่ยอมเปิด ซึ่งจริงๆ ถือว่าผิดกติกา เขาจึงต้องไปชดใช้ด้วยวิธีอื่น ซึ่งจะเป็นปัญหา เราคงไม่ทำอย่างนั้น

ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรก็น่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลต่อโครงการอีโคคาร์

     การขาดแคลนบุคลากรถ้าจะมีผลกระทบก็กระทบหมดทั้งระบบ อย่างเช่นในช่วงวิกฤตปี 2540 เกิดปัญหาวิศวกรล้นตลาด คนก็เลือกเรียนสาขานี้น้อยลง แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นขึ้นมาเราก็ต้องกลับมาพัฒนาใหม่ ซึ่งปีนี้เราผลิตรถยนต์ได้เพียง 800,000 กว่าคัน เพราะขาดวิศวกรบุคลากรไม่พอ ตอนนี้เราต้องงการวิศวกร 4,000 คน ช่างเทคนิค 20,000 คน เพื่อจะผลิตรถยนต์ให้ได้ 1,000,000 คัน

     งานพัฒนาการผลิตถ้าไม่มีระดับวิศวกรเครื่องกล วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรด้านคอมพิวเตอร์งานก็ไม่เดิน ฉะนั้น ผมจึงได้ประสานงานไปยังท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พอต่อสายตรงกันแล้วทำให้งานเดินเร็วขึ้น โดยเราจะเริ่มผลิตกำลังคนในอุตสาหกรรมยานยนต์ให้สอดคล้องกับดีมานด์-ซัพพลาย และทางโรงเรียนหรือสถาบันศึกษาก็ต้องผลิตบุคลากรให้มีคุณสมบัติตรงกับที่โรงงานต้องการ เพื่อให้ซับพลายสอดรับกับดีมานด์
     จะเห็นได้ว่าการพัฒนาวิศวกรด้านยานยนต์ไม่ได้เกิดจากสถาบันการศึกษาอย่างเดียว บริษัทใหญ่ๆ เขาก็มีโรงเรียนสอนวิศวกร รวมถึงสถาบันราชภัฏและราชมงคลที่มีอยู่นับร้อยวิทยาเขตก็สามารถขับเคลื่อนได้ เพียงแต่ว่าอย่าสอนเฉพาะหลักสูตรพื้นฐานทั่วไปอย่างเดียว ต้องสร้างคนให้ออกมาตรงตามความต้องการของตลาด คือเรียนจบออกมาแล้ว การันตีได้ว่ามีงานทำแน่

ใน 14 โครงการย่อยของดีทรอยต์แห่งเอเชีย จะมีภาคอุตสาหกรรมอะไรอีกบ้างที่เกี่ยวข้องและจะได้รับการส่งเสริม

     ดีทรอยต์แห่งเอเชียไม่ได้หมายถึงตัวรถยนต์เพียงอย่างเดียว เรายังมีชิ้นส่วนรถยนต์ด้วยซึ่งชิ้นส่วนมีอยู่ 2 ประเภท คือ OEM (Original Equipment Manufacturing) อีกส่วนคือ REM (Replacement Equipment Manufacturing ) สำหรับ OEM จะเป็นชิ้นส่วนที่ผลิตเพื่อส่งให้กับผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง มีทั้งส่งให้กับทางโรงงานรถยนต์และส่งออก ส่วน REM คือ อะไหล่ที่ส่งไปขายเป็นชิ้นๆ สำหรับการเปลี่ยนแลซ่อมแซม ซึ่งส่วนหลังเรามีศักยภาพมากพอสมควร
     ถ้าเปรียบเทียบจำนวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ของเราเป็นเหมือนพีระมิด ชั้นบนสุดคือผู้ประกอบการรถยนต์อ14 โรงงาน ชั้นที่ 2 คือผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ 709 ราย รองลงมาชั้นที่ 3 และ 4 จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอีประมาณ 1,100 ราย ซึ่งเราต้องการเพิ่มเป็น 2,000 ราย เราต้องขับเคลื่อนตรงนี้ให้เกิดขึ้น โดยในปี 2546 เราสามารถส่งออกชิ้นส่วนได้ 114,000 ล้านบาท เราต้องการขึ้นเป็น 200,000 ล้านบาท ในปี 2549 และมีมูลค่าเพิ่มของชิ้นส่วนสูงขึ้นเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของเรา

สำหรับภารกิจอีกด้านหนึ่งของท่าน คือ การส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอี จะมีการปรับเปลี่ยนทิศทางการทำงานอย่างไรบ้าง

     ภายใต้การดูแลกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นกระทรวงแห่งเอสเอ็มอี จะประกอบไปด้วย 4 หน่วยงานหลักๆ คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ธนาคารเอสเอ็มอี (ธพว.) และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) ซึ่งทั้ง 4 หน่วยงานนี้เราจะทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน
     ขณะนี้ในประเทศเรามีเอสเอ็มอีอยู่ทั้งหมดประมาณ 1.6 ล้านราย ซึ่งถือว่าเยอะมากและเป็นกำลังสำคัญที่สุดของประเทศไทย เพราะถ้าเป็นธุรกิจใหญ่ๆ เขาเอาตัวรอดด้วยตนเองได้อยู่แล้ว แต่ธุรกิจขนาดเล็กยังไม่พร้อมและต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้น ทั้ง 4 หน่วยงาน ที่กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลอยู่คือ สสว. จะเป็นเหมือนซุปเปอร์บอดี้ ถือเป็นองค์กรแม่ตามพระราชบัญญัติที่ให้มา มีหน้าที่ดูแลภาพรวมรวมและมีกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital Fund) ที่มีความสำคัญมากในการให้ความช่วยเหลือด้านการร่วมลงทุนกับบริษัทขนาดเล็ก ส่วนธนาคารเอสเอ็มอีก็ปล่อยกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยถูกๆ ทางด้านกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเน้นเรื่องการพัฒนาฝีมือ การออกแบบดีไซน์ และมีโครงการต่างๆ เช่น ชุบชีวิตธุรกิจไทย โครงการพี่เลี้ยงน้อง ส่วนทางด้าน สพว. จะดูเรื่องการฝึกอบรมทั้งหมดที่เกี่ยวกับการฝึกฝีมือให้เก่งขึ้น

ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งหลายคนมองว่าลักษณะการทำงานยังมีความทับซับซ้อนกันอยู่หลายด้าน จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

     ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานมีบทบาทของตัวเองชัดเจนอยู่แล้ว แต่สถานที่แยกกันอยู่หมดเลยเราจึงแบ่งหน้าที่กันใหม่ ให้ทั้ง 4 หน่วยงานนี้ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน เรียกว่าเป็นทีมเอสเอ็มอีของกระทรวงอุตสาหกรรม เราจะมีห้องประชุมร่วมกันที่เรียกว่า “ศูนย์ปฏิบัติการเอสเอ็มอี” (SMEs Operation Center) อยู่ที่ตึกกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมชั้น 2 เปิดทำการไปเมื่อประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยทุกๆ ระยะจะมีการประชุมร่วมกัน มีข้อมูลที่อัพเดทตลอดเวลา เพราะเราตัดสินใจเรื่องเอสเอ็มอีหน่วยงานเดียวไม่ได้ ต้องให้ทั้ง 4 หน่วยอยู่ด้วยกันจึงจะเกิดการบูรณาการขึ้น เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ยังไม่ได้มาทำงานร่วมกันเท่าไร ผมจึงมีหน้าที่เข้ามาจัดสรรตรงนี้ใหม่ เป็นเหมือนผู้จัดการทีม ซึ่งจะเข้ามาช่วยจัดการลูกทีมเล่นเข้าขากัน เพราะทุกคนมีความสามารถอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องแบ่งหน้าที่กันให้ชัดว่าใครเล่นกองหน้า ใครเล่นกองหลัง แต่ถ้าถึงนาทีสำคัญก็ต้องช่วยกัน ถ้าถูกฝ่ายตรงข้ามบุกเข้ามาก็ต้องลงมาช่วยกันอุดประตู

     ที่ศูนย์ปฏิบัติการเอสเอ็มอี เราจะจัดให้มีการประชุมใหญ่ทุกๆ 2 อาทิตย์ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมารายงานผลความคืบหน้าของงานที่ตนเองทำ เพื่อให้อีก 3 หน่วยงานได้รับทราบร่วมกันว่ามีใครทำอะไรไปบ้างแล้ว จะได้ไม่ต้องทำงานทับซ้อนกัน ฉะนั้น จะทำให้งานเดินเร็วขึ้น ซึ่งหมายความว่าแต่ละหน่วยงานจะมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน และช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานได้ถูกต้องตามหน้าที่ เพราะการช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งหมด 1.6 ล้านรายนั้นยากกว่าการช่วยบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท
     วันนี้เราจึงทำงานในชิงรุกมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร เพียงแต่ให้ทุกคนมีภารกิจที่ชัดเจนขึ้น ผมพยายามไม่ก้าวก่ายงานของใคร ผมไม่ได้ไปล้วงลูกเขา พูดง่ายๆ ผมเป็นผู้จัดการทีมผมไม่ต้องไปเตะแทนเขา ไม่ใช้ว่าผมเปลี่ยนตัวนักเตะเอง ไม่ใช่คือเท่าที่ผ่านมาหัวหน้าหน่วยงานราชการในระดับที่เท่าๆ กัน จะให้เขาไปนั่งฟังกันก็คงยาก เพราะว่าเขาเท่ากัน แต่ผมเข้าไปทำหน้าที่ประสานงานให้ง่ายขึ้น

ผลของการผนึกกำลังเพื่อให้เกิดทีมเวิร์คนี้จะส่งผลต่อผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง

     เรามีตัวชี้วัดในการขับเคลื่อนเอสเอ็มอี คือ ปัจจุบันนี้มีธุรกิจเอสเอ็มอี 38.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทั้งประเทศ ซึ่งจะต้องทำให้ขึ้นมาเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2549 ถ้าเอสเอ็มอีไม่แข็งแรงจริงก็คงไม่สามารถขึ้นมาถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ได้ อย่าลืมว่าเอสเอ็มอีทั่วโลกที่เกิดขึ้นใหม่มีอัตราการอยู่รอดแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ตอนนี้ถ้าเทียบกับมาตรฐานโลก เอสเอ็มอีของไทยขึ้นมาถึง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ถือว่าสอบผ่านแล้ว

อุปสรรคของการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี มีปัจจัยใดบ้างที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ

     ปัญหาของเอสเอ็มอีจะมีอยู่ 4 ปัจจัยที่สู้เขาไม่ได้ก็คือ 1. เรื่องของเงินทุน เพราะธุรกิจขนาดเล็กจะมีสายป่านสั้น ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ของธนาคารเอสเอ็มอีเข้ามาช่วยเหลือ 2. เรื่องของเทคโนโลยี เราจะนำเทคโนโลยีมารองรับให้มากขึ้น โดยสถาบันไทย – เยอรมันจะนำเทคโนโลยีของเยอรมันเข้ามาช่วยมากขึ้น และบีโอไอจะพยายามหาคู่ค้าทางธุรกิจให้ 3. เรื่องทักษะฝีมือ ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะมีหน้าที่ฝึกอบรมโดยตรง เพื่อฝึกฝนและพัฒนาฝีมือให้เกิดความชำนาญ 4. การหาตลาดใหม่โดยเราจะประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ และมีการจับคู่ทางธุรกิจ ( Business Matching ) กับประเทศอื่นๆ ให้มากขึ้น ทั้ง 4 ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องได้รับการช่วยเหลือไปพร้อมๆ กัน
อยากทราบถึงทัศนคติของท่านที่มองเห็นภาวะของผู้นำยุคใหม่นี้ว่าควรจะมีบุคลิกภาพลักษณะแบบใด

    ตัวผมเองเป็นคนแอ็คทีฟ ผมทำงานในภาคธุรกิจมาตลอด สิ่งเหล่านี้สอนให้เราอยู่นิ่งไม่ได้ เพราะถ้าเราอยู่นิ่งในฐานะผู้นำองค์กร บริษัทก็คงอยู่ไม่ได้ เราต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า และผมก็พยายามนำเอาคุณสมบัตินี้มาใช้ในงานของกระทรวง
ผมเรียนจบบริหารธุรกิจตั้งแต่เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องมีตำราแล้วทุกอย่างอยู่ในอินเตอร์เน็ตหมด ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ การค้นคว้าหาความรู้ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งจำเป็น ต้องรู้เขารู้เรา เราจะขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ของประเทศชาติ เราก็ต้องดูว่าคู้แข่งของเราเป็นใคร เหมือนการทำธุรกิจก็ต้องอาศัยหลัก 4P
     เราต้องเอาความรู้ตรงนี้มาใช้และต้องพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลาเพราะการเปลี่ยนแปลงการยืดหยุ่น ทำให้เราอยู่รอดได้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะว่าปรับตัวไม่ได้ แต่จระเข้ กิ้งก่า จิ้งจก อยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะมันปรับตัวได้ ไดโนเสาร์เป็นสัตว์ใหญ่ ทรงอำนาจมาก นั่นคือมหาอำนาจสมัยโบราณ แต่สุดท้ายแล้วไม่ปรับตัวก็ต้องสูญพันธุ์

จากที่เคยมีบทบาทในภาคเอกชนมานาน จนพลิกผันตัวเองมาทำงานในส่วนของภาครัฐได้เตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้บ้างหรือไม่

    ก่อนมาผมก็เตรียมตัวแล้ว โชคดีที่มีโอกาสทำงานกับภาคราชการมานานพอสมควรผมเป็นเลขาธิการหอการค้าไทยมา 5 ปี เป็นกรรมการหอการค้ามา 11 ปี มีโอกาสทำงานร่วมกับกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ บ่อยครั้ง และในธุรกิจที่ทำอยู่ก็ได้ร่วมงานกับหน่วยงานราชการพอสมควร พอมาถึงจุดนี้ก็ปรับตัวได้ไม่ยาก ในส่วนของการทำงานก็เรียกว่าสนุก โชคดีที่มีโอกาสได้จับงานที่ตนถนัด ทั้งยานยนต์และเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทาย และงานที่ทำก็เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สิ่งไหนที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สิ่งไหนที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ผมทำเต็มที่ และทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ผมถือเป็นเฟืองจักรตัวหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยไปด้วยกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น