จากงานอดิเรกในครอบครัว ที่คุณแม่มักจะทำขนมไทยไปช่วยตามงานของเหล่าเพื่อนบ้านบ่อยๆ เมื่อครั้งที่คุณพ่อย้ายไปประจำที่จังหวัดทางภาคอีสาน จนเขาเรียกกันติดปากว่าขนมจากบ้านของท่านอัยการ กลายเป็นที่มาของชื่อ “ขนมบ้านอัยการ” ร้านขนมไทยขึ้นห้างฯ ร้านแรก ที่ปัจจุบันมีถึง 12 สาขา
ธนดา สุวรรณสิทธิ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า เมื่อคุณพ่อเสีย จากงานอดิเรกก็เลยกลายมาเป็นงานหลัก พอลูกๆ เรียนจบ แม้จะทำงานมีครอบครัว แต่ก็ยังช่วยกันทำขนมขายที่บ้าน
“ในปี 2535 ก็จดทะเบียนโดยใช้ชื่อร้าน “ขนมบ้านอัยการ” ลูกค้าก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ จากปากต่อปาก ในที่สุดทุกคนจึงตกลงใจลาออกจากงานมาทุ่มเทให้ร้านขนม”
ปี 2540 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จะเปิดสาขาพระราม 3 ก็เสนอพื้นที่ให้เช่า กลายเป็นร้านขนมไทยเจ้าแรกที่เช่าพื้นที่ในห้างฯ
“เป็นความโชคดีที่เราเปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัล พระราม 3 เพราะย่านสาธุประดิษฐ์เป็นย่านการค้าของคนจีน ซึ่งมีกำลังซื้อ มีงานไหว้เจ้า วันตรุษเยอะ แม้จำนวนลูกค้าจะน้อย แต่คนหนึ่งจะซื้อเป็นจำนวนมาก”
วันที่ 16 มิถุนายน 2540 จึงจดทะเบียนบริษัท ยู.เอ็ม. ไทร์ดอเตอร์ สวีท จำกัด และขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ขนมบ้านอัยการ” จากนั้นจึงขยายสาขาเพิ่ม ทั้งในห้างสรรพสินค้า สปอร์ตคลับ และร้านสแตนด์อะโลน รวมเป็น 12 สาขา
เมื่อมีหลายสาขา การผลิตเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเปิดโรงงาน โดยกู้เงินจากโครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีของรัฐบาล ผ่านธนาคารกรุงไทย โดยเน้นใช้แรงงานคนเป็นหลัก ใช้เครื่องจักรเป็นรอง เพราะมองเห็นถึงช่องทางการสร้างงานให้คนไทยด้วยกัน
“ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม-อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เราใช้วัตถุดิบจากการเกษตร เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แรงงานคนประเทศเราก็มี คนไทยยังต้องทำงานอยู่ ถ้าใช้เครื่องจักร คนก็ไม่มีงานทำ”
“ด้านการผลิตแยกเป็นสองส่วน คือ คหกรรมศาสตร์ โภชนากร มีหน้าที่ดูแลรสชาติสินค้า ให้ได้ตามสูตร อีกส่วนคือ วิทยาศาสตร์การอาหาร คอยควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้า สุขอนามัย ระบบมาตรฐานการผลิต”
จากโครงการแรกที่เริ่มต้นรับการสนับสนุนจากรัฐบาลแล้วเห็นโอกาสที่ดี “ขนมบ้านอัยการ” จึงเข้าร่วมอีกหลายโครงการ
“เข้าโครงการชุบชีวิตธุรกิจไทย เลือกบริหารจัดการองค์กร โดยมีสมาคมไทย-เยอรมัน มาช่วยวางแผน โครงการที่สองเราก็เข้าร่วมอีก ระหว่างนั้น สำนักงานพัฒนาธุรกิจ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็สนับสนุนให้เข้าโครงการ CF (โครงการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิต การจัดการ และการตลาด)”
เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเพ่งเล็งเรื่องมาตรฐานอาหารสะอาดปลอดภัย จึงนำโรงงานเข้าโครงการ HACCP (ระบบการจัดการคุณภาพด้านความปลอดภัย ควบคุมกระบวนการผลิต ให้ได้อาหารที่ปราศจากอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ สารเคมี และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ)
“ทุกชั่วโมงจะมีเสียงออด ให้พนักงานไปล้างมือ สเปรย์แอลกอฮอล์ แล้วค่อยกลับไปทำงานต่อ น้ำที่ใช้ในการผลิตก็ต้องได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก ท่อน้ำก็ต้องเป็นเกรดสำหรับอาหาร เราต้องปรับเปลี่ยนทุกอย่างในโรงงานให้ได้มาตรฐาน โดยทุก 6 เดือนจะมีการตรวจสอบ”
เมื่อโรงงานไม่เน้นเครื่องจักร แรงงานบุคคลที่เป็นหลักจึงต้องมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงส่งพนักงานไปอบรมในโครงการบริหารทรัพยากรมนุษย์
“การเพิ่มศักยภาพพนักงาน ก็เท่ากับเพิ่มคุณภาพสินค้า แม้ตอนนี้จะสรุปปิดโครงการไปแล้ว แต่เราก็ยังต้องรักษาคุณภาพพนักงานไว้ จึงเปิดศูนย์ฝึกอบรมของเราเอง ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ และกำลังจะขยายโรงงานเฟสสอง ให้พนักงานทำงานได้สบายขึ้น ไม่หนาแน่นเกินไป และมีพื้นที่ให้พักผ่อนหย่อนใจ”
จากขนมไทยขึ้นห้างฯ ไทย ไม่นานก็ได้โกอินเตอร์ จากการที่พ่อแม่ซื้อไปฝากลูกหลานที่เรียนอยู่ที่อเมริกา จนหลายคนติดอกติดใจในรสชาติ จึงมีคนซื้อไปวางขายในร้านที่นั่น
“เราปรึกษากรมส่งเสริมการส่งออก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องรูปแบบการจัดจำหน่าย การส่งออก เพื่อจดทะเบียนกระจายสินค้า โดยขณะนี้ส่งออกไปอเมริกา เยอรมนี และปลายปีเราจะส่งไปออสเตรเลีย”
แม้จะมีช่องทาง แต่ขนมไทยเจ้านี้ก็ยังไม่เน้นการส่งออกมากนัก โดยรายได้หลักขณะนี้ 90% มาจากร้านในไทย
“ลูกค้าปัจจุบันจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน คนทำงาน ตอนนี้เราจึงต้องการขยายลูกค้าไปสู่กลุ่มอื่นๆ ให้มากขึ้น”
แม้กิจการจะเติบโตสู่ขนาดกลาง แต่จุดมุ่งหมายในการทำธุรกิจก็ไม่ได้มุ่งเน้นกำไรเป็นหลัก
“เรามีต้นทุนการจัดการค่อนข้างสูง มีระบบบำบัดน้ำเสีย ราคาสินค้าเราก็ไม่แพง แต่เราได้ความภาคภูมิใจ ได้คืนกำไรให้ชุมชน”
ความหลากหลายของสินค้าในร้าน และความอร่อยที่มาพร้อมความสะอาดปลอดภัย คือจุดเด่นที่ร้านขนมแห่งนี้ภูมิใจนำเสนอ
“เราอยากให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสะอาดปลอดภัยของอาหารเป็นหลัก ถ้าผู้บริโภคตระหนัก ผู้ประกอบการก็ย่อมต้องพัฒนาตัวเองให้ได้มาตรฐาน รองลงมาคือรสชาติ แต่ต้องมาควบคู่กัน ไม่ใช่สะอาดแต่ไม่อร่อย”
ปัจจุบัน “ขนมบ้านอัยการ” มีโครงการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวโดยใช้การทำขนมมาเป็นส่วนช่วย โดยส่งโครงการนี้ไปตามโรงเรียนต่างๆ เริ่มที่โรงเรียนราชินีบนเป็นแห่งแรก
“การที่พ่อ แม่ ลูก มีกิจกรรมทำด้วยกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เพื่อเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งจิตใจเด็กให้มีที่ยึด ไม่ทำอะไรผิดๆ”