“ชาวบ้านควนสุบรรณ” อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำ “ใบยางพารา” ที่หลายคนมองไม่เห็นค่า กลับมาสร้างเป็นสินค้าสวยงามในรูปแบบ “ผีเสื้อใบยาง” กลายเป็นสินค้าส่งออก ระดับโอทอป 5 ดาว นำรายได้มาสู่ชาวชุมชนอย่างเป็นกอบเป็นกำ
นิชนารถ มากบุญ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรควนสุบรรณ หมู่ที่ 2 ต.ควนสุบรรณ อ.บ้านาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า กลุ่มเริ่มผลิตสินค้าจากยางพาราในปี 2538 โดยได้แนวคิดมาจากเจ้าหน้าที่เคหะกิจของสำนักงานเกษตรบ้านนาสาร ที่แนะนำให้ชาวบ้านหารายได้เสริมด้วยการรวมกลุ่มกัน และหาวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในพื้นที่ คือ ใบยางพารามาประดิษฐ์เป็นสินค้าสวยงาม ได้แก่ ผีเสื้อใบยาง , พัดโบกใบยาง , พวงกุญแจ แมลงปอใบยาง , ดอกไม้จำพวกดอกกุหลาบและยิบโซ โดยทางสำนักงานเกษตรบ้านนาสารเป็นผู้จัดการอบรมวิธีการทำให้
นิชนารถ เล่าว่า วิธีการทำนั้น เริ่มจากการหาใบยางพาราสดไม่มีตำหนิ หรือเป็นโรค โดยเลือกเฉพาะใบที่ได้ขนาดไม่แก่และไม่อ่อนจนเกินไป เพราะถ้าอ่อนมากจะขาดง่าย แต่ถ้าแก่เกินไปจะดัดยาก ผุเร็วและเยื่อจะไม่อ่อนตัว แล้วนำใบยางพารามาแช่ในบ่อซีเมนต์ หรือโอ่ง ประมาณ 2 เดือน จากนั้นใช้แปรงขนนิ่มขูดเยื่อใบสีเขียวออก จนเหลือแต่เส้นใย แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วนำไปแช่ในน้ำคลอรีนที่ผสมกับโซเดียมเปอร์ออกไซด์ แช่ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วนำมาล้างด้วยน้ำเปล่า แล้วนำไปผึ่งแดดอีกครั้ง ก็จะได้ใบยางที่ฟอกขาวสะอาด หลังจากนั้นนำมาย้อมสีบาติกตามต้องการ
ในส่วนของการทำผีเสื้อนั้น ต้องใช้ใบยางถึง 2 ใบต่อปีก 1 ปีก ทากาวประกบกันทั้ง 2 ด้าน ทับด้วยปีกแบบผีเสื้อที่ฉลุไว้ จากนั้นก็จะทำบล็อกในแต่ละแบบเป็นลวดลายของผีเสื้อ ซึ่งมีประมาณ 8 แบบ แล้วใช้สเปรย์สีขาวพ่น ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วตัดตามขอบตามรูปแบบปีก ทากาวตามขอบปีกทั้ง 2 ด้าน ขั้นตอนหลังจากจะตกแต่งสีสันให้สวยงามด้วยน้ำยาทาเล็บสีต่าง ๆ
สำหรับขั้นตอนการทำตัวจะใช้ใบยางพาราที่เหลือจากการทำปีก มาย้อมด้วยสีย้อมผ้าสีดำคลุกกาวม้วนทำเป็นตัว และนำปีกมาติดกับลำตัวให้แน่น แล้วตกแต่งนวดและตาให้เรียบร้อย แล้วนำไปบรรจุกล่องเพื่อจำหน่าย ราคาจำหน่ายตั้งแต่ 40-280 บาท ตามขนาดและรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ ส่วนพัดโบกใบยาง ราคา 30 บาท , พวงกุญแจ ราคา 20 บาท , แมลงปอใบยาง ราคา 30-40 บาท ,ดอกไม้จำพวกดอกกุหลาบและยิบโซ ราคาดอกละ 15-20 บาท
ประธานกลุ่มฯ บอกอีกว่า สินค้าที่ตลาดต้องการมากที่สุด คือ ผีเสื้อ เพราะลูกค้านิยมใช้ตกแต่งบ้านและเป็นของที่ระลึก ปัจจุบันมียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 2-3 หมื่นบาท โดยวางจำหน่ายตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงแรม ร้านค้าต่าง ๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ สหกรณ์สุราษฎร์ธานี หรือ โคออป สนามบินเกาะสมุย และพุนพิน เป็นต้น ถ้ามีงานเทศกาลต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างจังหวัด ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขต 5 สาขาภาคใต้ และ สำนักงานพัฒนาชุมชน ก็จะเชิญออกบูทเพื่อจำหน่ายสินค้า ซึ่งยอดขายเฉลี่ยแต่ละงานประมาณ 50,000-100,000 บาททีเดียว
นอกจากนี้ยังได้รับการช่วยเหลือจากสโมสรโรตารี่ศรีตาปี จัดหาตลาดต่างประเทศให้ ได้แก่ ไต้หวัน ,จีน , สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ออร์เดอร์ครั้งละ 3-4 พันตัว ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะจำหน่ายได้เรื่อย ๆ ขายได้ดีในช่วงเทศกาลต่าง ๆ
ทุกวันนี้สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรควนสุบรรณ ที่มีประมาณ 45 คน หลังจากที่ทำผลิตภัณฑ์จากใบยางพารา ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะมีรายได้ถึงเดือนละ 3,000 -4,000 บาท นอกจากนี้ทางกลุ่มแม่บ้านจะอบรมเด็กนักเรียนชั้นมัธยม โรงเรียนควนสุบรรณ เพื่อนำใบยางพารามาประดิษฐ์สินค้าสวยงามด้วย เพื่อให้เด็กมีรายได้เป็นของตนเอง เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครอง อีกทั้งเป็นงานที่ไม่หนักหนาอะไร และยังจะทำให้เป็นคนรอบคอบและใจเย็นยิ่งขึ้นด้วย เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือ ความประณีต ละเอียดอ่อน
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากใบยางพาราได้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ หรือโอทอป ระดับ 5 ดาว ของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี สร้างความภาคภูมิใจให้กับสมาชิกกลุ่มแม่บ้านแห่งนี้