xs
xsm
sm
md
lg

"ELEGA" เฟอร์นิเจอร์ไทยโกอินเตอร์ การันตีรางวัลสุดยอดดีไซน์ ปี47

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโลก ในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป การแข่งขันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ราคาหรือเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้าด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องอาศัยความชำนาญและความประณีตของแรงงาน เฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ผู้ประกอบไทยต้องหันมาพัฒนาคุณภาพเพื่อการแข่งขัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม้ไทย กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้สำคัญรายหนึ่งของโลก สร้างรายได้ให้ประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่ดี คุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน
รางวัลออกแบบผลิตภัณฑ์ดีเด่น ประจำปี 2547 หรือ Prime Minister’s Export Award 2004 ถือเป็นผลสำเร็จในการพัฒนาองค์กร ของนายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์ กรุ๊ป จำกัดที่ใช้เวลานับ 10 ปี พัฒนากิจการของครอบครัว ขึ้นสู่เป้าหมายการเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ระดับแถวหน้าของไทย เป็นการการันตีคุณภาพระดับประเทศ จากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ที่สามารถใช้เป็นจุดขาย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้

อีสต์โคสท์ กรุ๊ป เป็นอุตสาหกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกและจำหน่ายในประเทศ ภายใต้เครื่องหมาย “ELEGA” ปัจจุบันอีสต์โคสท์ กรุ๊ป ประกอบด้วย บริษัท อีสต์โคสท์ อินดัสทรี จำกัด, บริษัท อีสต์โคสท์ ดีไซด์ จำกัด และบริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค จำกัด มีพนักงานกว่า 700 คน ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เป็นที่ยอมรับและรู้จักดีในตลาดต่างประเทศ โดยมีสินค้ากระจายอยู่ทั่วโลกภายใต้แบรนด์ลูกค้า

“นอกจากการออกแบบ การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของแรงงานด้วย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสม่ำเสมอ จึงได้ขอเข้ารับการสนับสนุน จากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเฟอร์นิเจอร์ และโครงการการพัฒนาการตรวจสอบคุณภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา”
โดย สวทช.ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำ เพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจ ถึงลักษณะธรรมชาติของไม้ยางพารา การตรวจสอบความชื้นและความแห้งของไม้ รวมทั้งได้วางระบบกระบวนการการตรวจสอบคุณภาพ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และยังช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดของพนักงาน ให้รู้สึกถึงการมีส่วนร่วม และความเป็นเจ้าของมากขึ้น มีความสุขุม รอบคอบ และมีวินัย ช่วยลดปัญหาความมักง่ายในการทำงาน นอกจากนี้ ยังช่วยให้ของเสียจากกระบวนการผลิตลดลงอย่างมาก ไม้ที่ตัดถูกนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น ก่อให้เกิดผลดีต่อชิ้นงานที่ผลิตออกมา ส่งผลให้บริษัทมียอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

“ภาครัฐควรเข้ามาดูแลปัญหาการ Loading และ Packageing ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 10–15% ของต้นทุนทั้งหมด หากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาจัดอบรมให้ความรู้ที่ถูกต้อง ก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไทย สามารถแข่งขันในต่างประเทศได้มากขึ้น และพัฒนา Loading ซอฟแวร์ ราคาถูกออกมาใช้เป็นมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันที่มีอยู่มีราคาค่อนข้างแพง”

น.ส.วลัยรัตน์ จังเจริญจิตต์กุล ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี ITAP กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์จากไม้ เหมือนกับสินค้าอื่นๆ จึงต้องขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของผู้ประกอบการ แต่หากทุกฝ่ายโดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำ ตระหนักถึงคุณภาพของวัตถุดิบ พัฒนาคุณภาพไม้จากต้นน้ำให้ดีแล้ว เมื่อนำมาผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำ ก็จะสามารถนำไม้นั้นมาทำประโยชน์ได้มากขึ้น และสามารถส่งออกไปแข่งขันกับต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รายใด ที่สนใจต้องการขอเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ ITAP สามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2564-8000 หรือที่เว็บไซต์ "http://www.nstda.or.th/itap"
กำลังโหลดความคิดเห็น