xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอยบาติกเมืองยอน บทพิสูจน์แกร่งพลังหญิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย” “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย” “สามัคคีคือพลัง”  ประโยคเหล่านี้ บ่งบอกความหมายได้ดีว่า ถ้ากลุ่มบุคคลใดรู้จักร่วมแรงร่วมใจทำงานเป็นทีม ก็สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ เฉกเช่นการรวมตัวของเด็กสาว 25 คน บ้านเมืองยอน ต.ลุโบะยิไร อ.มายอ จ.ปัตตานี ซึ่งร่วมกันจัดตั้งกลุ่มผลิตผ้าบาติก เป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้แก่ตัวเอง และชุมชน อย่างน่ายกย่อง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2541 วิธีชีวิตของเด็กสาวบ้านเมืองยอนกลุ่มนี้ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากชาวบ้านในละแวกเดียวกัน ตื่นแต่เช้ามืดออกไปรับจ้างกรีดยางพารา หลังจากนั้น ถ้าไม่ใช่ฤดูทำนา ก็จะว่างอยู่กับบ้านเฉยๆ แต่ละคนมีรายได้เฉลี่ย 18,500 บาทต่อปี ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพ พวกเธอขณะนั้น ซึ่งมีอายุเฉลี่ยยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยซ้ำ จึงคิดอยากจะหาอาชีพเสริมด้วยการผลิตผ้าบาติก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ตอนล่าง เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ตัวเอง และครอบครัว อีกทั้ง ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

ฟาติเมาะ อาแด แกนนำก่อตั้ง และเลขานุการกลุ่มฯ เล่าว่า สมาชิกเริ่มแรกมี 25 คน ได้รับการสนับสนุนการฝึกอบรมทำผ้าบาติกจากวิทยากรของจังหวัดนราธิวาส รวมถึง ประชาสงเคราะห์จังหวัดปัตตานีได้ช่วยประสานงานในการขอเงินกู้จากธนาคารโลก (WORLD BANK) จำนวน 120,000 บาท เพื่อพัฒนากลุ่ม สร้างอาคารโรงเรือน รวมถึงซื้ออุปกรณ์

“สตรีที่มารวมกัน จะเป็นคนมีรายได้น้อย และเป็นผู้ด้อยโอกาสมีงานทำ แต่พวกเรามีความตั้งใจในการฝึกอบรมอาชีพ อยากจะพัฒนาตัวเอง ครอบครัว และชุมชนของเรา แรกๆ ก็ท้อ ทำไม่ค่อยได้ วาดลายก็ไม่สวย แต่ก็พยายามฝึก และไปดูแบบตามงานแสดงสินค้าและนิตยสาร แล้วลองมาทำดู หลังจากฝึกกว่า 3 เดือน ก็เริ่มทำได้ดีขึ้น” แกนนำกลุ่ม กล่าว

ด้วยความที่พวกเธอ มีพื้นฐานการเริ่มต้นจากศูนย์เหมือนกัน และอายุก็อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน ความสนิทและผูกพันจึงก่อให้เกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง บริหารงานด้วยหลักประชาธิปไตย แบ่งหน้าที่ทำงานอย่างชัดเจน ทุกคนจะได้ค่าแรงเท่ากันหมด วันละ 120 บาท ทำงานหยุดเฉพาะวันศุกร์ กำไรส่วนหนึ่งเก็บเป็นกองทุนกลาง สำหรับค่าใช้จ่ายภายในกลุ่ม ที่เหลือจะเก็บไว้ และนำมาแบ่งกันในวันฮารี รายอ (วันสำคัญทางศาสนาอิสลาม ปีหนึ่งมี 2 วัน)

ฟาติเมาะ บอกถึงจุดเด่นของผ้าบาติกของกลุ่ม ลวดลายจะละเอียด ไม่ซ้ำแบบใคร เน้นลายเกี่ยวกับดอกไม้ ท้องทะเล และสัตว์น้ำ เนื้อผ้ามีลักษณะคล้ายผ้าไหม สีเน้นโทนสดใส และที่สำคัญสีไม่ตก โดยได้รับการการันตีคุณภาพด้วยรางวัลชนะเลิศผ้าบาติก ในงานกาชาดจังหวัดปัตตานี ปี 2545 อีกทั้งได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 3 ดาวของ จ.ปัตตานี

สำหรับราคาขายส่งขนาด 4 หลา 400 บาท ส่วนผ้าเช็ดหน้า ผืนละ 40 บาท รายได้รวมต่อเดือนทั้งกลุ่มประมาณ 40,000 บาท สินค้าวางจำหน่ายที่ศูนย์สาธิตการตลาดจังหวัดปัตตานี ซูเปอร์ดีพารต์เมนท์สโตร์ปัตตานี เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และงานแสดงสินค้าโอทอปต่างๆ ทั้งนี้ ทางกลุ่มกำลังขยายประเภทสินค้า เช่น ชุดเสื้อผ้า , กล่องทิชชู ,รองเท้า ฯลฯ โดยใช้เศษผ้าที่เหลือ หรือผ้ามีตำหนิ มาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ จึงอยากได้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ ในการจัดหาวิทยากรมาช่วยสอนในการแปรรูปสินค้าต่างๆ

ปัญหาสำคัญของกลุ่มผ้าบาติกเมืองยอนในปัจจุบัน คือ แม้จะมีออร์เดอร์สั่งเข้ามาจำนวนมาก แต่ผลิตไม่ทัน เพราะทุกวันนี้ เหลือสมาชิกเพียง 12 คน เนื่องจากสมาชิกส่วนหนึ่งเมื่อแต่งงานแล้ว จะต้องตามสามีไปทำงานขายข้าวสารที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีรายได้ดีกว่า แม้จะพยายามชักชวนชาวบ้านในชุมชนคนอื่นๆ เข้ามาทำงานแทน ก็ไม่มีใครเห็นความสำคัญ

“ทุกวันนี้การผลิตไม่ค่อยทัน เพราะสมาชิกน้อย พยายามจะชักชวนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง หรือคนแก่ในชุมชนมาทำบ้าง แต่ก็ไม่มีใครสนใจ พยายามบอกเขาว่า ดีกว่าอยู่เฉยๆ นะ มาทำงานตรงนี้ ก็เป็นรายได้เสริม ตอนนี้ก็เริ่มจะไปชวนคนหมู่บ้านรอบๆ มาร่วมทำบ้างแล้ว”  ฟาติเมาะ กล่าวอย่างเป็นกังวล และทิ้งท้ายว่า กลุ่มเมืองยอน สามารถยืนหยัดอยู่ได้จนถึงวันนี้ นอกจาก เพราะความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกแล้ว ต้องขอบคุณหน่วยงานภาครัฐต่าง อาทิ ประชาสงเคราะห์ปัตตานี พัฒนาชุมชนอำเภอ และ อบต. ที่ช่วยเหลือมาตลอด ไม่เช่นนั้น กลุ่มก็คงยุบเลิกไปเช่นเดียวกับกลุ่มอาชีพชาวบ้านส่วนใหญ่ของท้องถิ่นนี้

การลุกขึ้นมารวมกลุ่มสร้างงานของเด็กสาวบ้านเมืองยอน จ.ปัตตานี อาจไม่ยิ่งใหญ่ น่าเทิดทูน เทียบเท่าชาวบ้านบางระจัน ซึ่งสละชีพรักษาผืนแผ่นดิน แต่ก็เป็นการยืนยันได้อีกครั้งว่า พลังแห่งความสามัคคีนั้น มีค่าเพียงใด

* * * *

กลุ่มผ้าบาติกเมืองยอน โทร.01-094-8392
กำลังโหลดความคิดเห็น